ฉบับที่ 137 กรุงเทพเมืองจักรยาน ความฝัน...ที่ไม่ไกลเกินฝัน

“ถ้าเรามองจากมุมมองของจักรยาน  คุณจะได้ทุกอย่างที่เป็นมิตรกับมนุษย์  เพราะจักรยานเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์ และราคาถูก ทุกอย่างเราคุมได้ ความเร็ว สิ่งแวดล้อม และทำให้คุณเข้าถึงได้ทุกซอกมุม  อย่างการได้พูดคุยกับคนขายซาลาเปา ได้รู้เรื่องราว เกิดรายละเอียดขึ้นมาในชีวิต ต่างกับรถยนต์ที่ต้องวนหาที่จอด พอหาที่จอดไม่ได้ก็ไม่ซื้อ”   ฉลาดซื้อฉบับนี้ “พาคุณ” ไปขี่จักรยานกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์  เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กับโครงการดีๆ จักรยานกลางเมือง ซึ่งมูลนิธิโลกสีเขียวทำงานสองส่วนนั่นก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของคน และการทำแผนที่ทางจักรยาน  มาค่ะ มาปั่นไปพร้อมกับเธอ   ขี่จักรยานแก้ปัญหาเมืองได้อย่างไร 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจักรยานถูกพูดถึงในทิศทางการพัฒนาเมือง อาจจะยังไม่เป็นกระแสหลัก เริ่มจากบทความ แมกกาซีน   เพราะจักรยานสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในสังคมได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ความเหลื่อมล้ำ  พื้นที่สาธารณะ ปัจจุบันก็มีหลากหลายกลุ่มเกิดขึ้นมาใหม่  ติดต่อกันเป็นโครงข่าย เพื่อจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมือง   ถ้าเรามองจากมุมมองของจักรยาน  คุณจะได้ทุกอย่างที่เป็นมิตรกับมนุษย์  เพราะจักรยานเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์ และราคาถูก ทุกอย่างเราคุมได้ ความเร็ว สิ่งแวดล้อม และทำให้คุณเข้าถึงได้ทุกซอกมุม  อย่างการได้พูดคุยกับคนขายซาลาเปา ได้รู้เรื่องราว เกิดรายละเอียดขึ้นมาในชีวิต ต่างกับรถยนต์ที่ต้องวนหาที่จอด พอหาที่จอดไม่ได้ก็ไม่ซื้อ   คนที่เริ่มขี่จักรยานใหม่ๆ หลายคนเริ่มที่เหตุผลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  พอเริ่มขี่จักรยานชีวิตคุณก็จะเริ่มเปลี่ยน  มีการทักทายกัน พูดคุยกัน เกิดเป็นชุมชน ไปแตะรากของปัญหาต่างๆ ทั้งความไม่มีชุมชน สิ่งแวดล้อมไม่ดี  ไม่มีพื้นที่สาธารณะ ไม่มีเวลา แต่พอได้เปลี่ยนมาใช้จักรยาน ทุกปัญหาก็จะถูกแก้ไปเอง   เมืองจักรยานตอนนี้ที่อื่นมีไหม จากการเริ่มต้นของหลายๆ เมืองอย่างโบโกต้า ที่มี “เมืองไบซิเคิลซันเดย์” ซึ่งเป็นวันที่มีการปิดถนนเพื่อให้เป็นเมืองจักรยาน คำว่าเมืองจักรยานไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องขี่จักรยาน แต่เป็นเมืองที่ทุกคนสัญจรได้อย่างไม่เบียดเบียนกันและกัน ขับรถยนต์ก็ได้แต่ต้องไม่ปล่อยให้รถยนต์เข้ามายึดชีวิต  และรัฐต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดี พอเราดูบทเรียนจากที่อื่นๆ เราก็จะเห็นว่าการที่จะส่งเสริมเมืองจักรยานก็ต้องอาศัย “เจตจำนงทางการเมือง” ต้องอาศัยแนวความคิด  ต้องเกิดการเปลี่ยนกระบวนทรรศน์  เพราะว่าพวกเราเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเมืองที่ถูกเปลี่ยนเป็นรถยนต์ ถนนก็สร้างให้รถยนต์  ทั้งที่ถนนเป็นของทุกคน  ใช้ภาษีของเราในการสร้าง  เราก็ต้องสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่ปล่อยให้รถยนต์เข้าใช้หมด กรุงเทพฯ เรากลายเป็นเมืองที่ถูกรถยนต์บุกรุกไปแล้ว ต้องมีการขยายถนน ไล่รื้อบ้านของชาวบ้านเพื่อสร้างถนน ซึ่งมันตรงกันข้ามกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน โบโกต้าสร้างความเปลี่ยนแปลงของเมืองโดยให้ “คนเป็นศูนย์กลาง” ไม่ใช่ให้ “รถยนต์เป็นศูนย์กลาง” ถ้าพัฒนาเมืองให้รถยนต์ก็จะไม่ได้เมืองให้กับมนุษย์  แต่ถ้าจะพัฒนาเมืองให้มนุษย์ก็จะไม่สามารถให้รถยนต์สบายที่สุด เป็นสิ่งที่ต้องเลือกว่าจะพัฒนาอะไร หลายๆ เมืองทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จเรื่องการใช้จักรยานจะเห็นเลยว่ามีปัจจัยเดียวกันคือ มีโครงข่ายเส้นทางจักรยานที่ขี่ถึงกันทะลุปรุโปร่ง เราไม่ได้ต้องการทางจักรยานที่สวยหรือแพงๆ แต่เป็นทางที่รู้จักผสมผสาน อาจจะแบ่งเลนหรือเป็นส่วนหนึ่งของถนนก็ได้  และควรจะมีข้อบังคับต่างๆ เช่น ประกาศจำกัดความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคนใช้ถนน และการเก็บภาษีค่ารถติด เช่นที่สิงคโปร์ ลอนดอน และหลายๆ เมืองทำอยู่   การจะเป็นเมืองจักรยานได้ต้องทำอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องเริ่มคือเริ่มเปลี่ยนความคิดคน ปลุกเร้าจินตนาการขึ้นมาให้ได้ เพราะต้องสร้างความเข้าใจ  แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน ต้องมีการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคน  นั่นคือต้องให้คนได้ลิ้มรสเมืองจักรยานก่อน  มานับหนึ่งปิดถนนกันที่เมืองเศรษฐกิจก่อน เพราะเราต้องการให้คนเห็น แรกๆแม่ค้าอาจจะต่อต้านเหมือนที่อื่นๆ ที่ห้ามรถยนต์เข้า แม่ค้าก็กลัวจะขายของไม่ได้ แต่ที่ไหนได้กลับขายดีกว่าเดิม  เพราะจักรยานสามารถไปได้ทุกที่ เราจึงต้องพยายามทำ “คาร์ฟรีซันเดย์” ช่วงแรกมีการประสานงานกับ กทม.ปิดที่ถนนสีลม  แต่ปิดถนนแค่เลนเดียว คนก็ยังไม่ตื่นตัว แล้วก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งการเปลี่ยนที่แบบนี้ ตัวเราเองมองเป็นการขี่จักรยานพาไปเที่ยว  ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมของเรา ไม่ใช่ความหมายของเรา เป็นการเหนื่อยเปล่าๆ เราอยากทำอยู่ที่เดิม ให้คนได้รู้ คล้ายกับตลาดนัดมากกว่า อย่างเมืองจาการ์ตา(ประเทศอินโดนีเซีย) จากนัดทุกเดือนตอนนี้กลายเป็นทุกอาทิตย์ไปแล้ว บนถนนมีคนเดิน มีคนปั่นจักรยาน เด็กๆ วิ่งเล่นได้ เต้นรำได้บนถนน กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ  และจะเกิดการยอมรับและสร้างระบบ อย่างในจาการ์ตามีระบบคาร์พูล สามารถโบกรถแล้วขึ้นมาด้วยกันได้ แต่ถึงที่สุดแล้วการจะพัฒนาสู่ความเป็นเมืองจักรยาน ก็ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง อย่างโบโกต้า ก็มีปัญหารถยนต์ขึ้นมาจอดบนฟุตบาท รถติด  แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาก็สร้างระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมาตรฐาน เกิดโครงข่ายขนส่งมวลชน แต่รถยนต์ก็จะเข้าถึงได้ในบางพื้นที่ โครงข่ายที่ขนส่งที่จะเข้าถึงทุกพื้นที่ก็คือจักรยานนั่นเอง ต้องเปลี่ยนทัศนคติให้คนไม่รำคาญจักรยาน  และทำให้คนที่มีรถยนต์ใช้รถยนต์ให้น้อยลง  ไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้  เพราะส่วนหนึ่งก็จำเป็นแต่ใช้ให้เป็นเครื่องมือไม่ใช้เพราะเป็นทาสมัน  คนที่นั่งอยู่ข้างในรถต้องเปลี่ยนความคิดเพราะคุณกำลังเบียดเบียนคนอื่นอยู่   เริ่มต้นการเป็นนักปั่นในเมืองอย่างไรดี ในขณะที่เมืองบ้านเรายังไม่อำนวยทั้งถนนหนทาง เราก็ต้องปรับ ต้องทำอย่างผสมผสาน ทั้งขี่จักรยาน ขึ้นรถไฟ อย่างส่วนตัวใช้จักรยานพับ บ้านอยู่สุขุมวิท ก็ปั่นจากถนนที่บ้าน  มาขึ้นรถไฟใต้ดินที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ลงที่หัวลำโพง แล้วก็ปั่นจักรยานมาที่ทำงาน  ถ้าเราจะทำยังไงมันก็ต้องมีหนทางให้มาจนได้  ลองแล้วจะรู้ว่ากรุงเทพฯ มันไม่ได้ไกล แต่ที่รู้สึกว่ามันไกลก็คือรถมันติด  คนส่วนใหญ่ก็จะขี่เฉพาะใกล้ๆ แต่ก็ต้องขี่ให้ได้ทั้งใกล้และไกล อย่างที่ทำงานก็มีคนขี่จักรยานมาทำงานครึ่งหนึ่งของพนักงานที่เรามีเลยทีเดียว   ทางจักรยานบ้านเรามีไหม การพัฒนาเมืองต้องมีแผนการพัฒนา  ต้องมีเรื่องจักรยานเข้าไปด้วยในแผน  ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการพัฒนาเมืองเพื่อรถยนต์ วันหนึ่งเกิดอยากจะมีการทำทางจักรยาน ก็ทำให้แล้วคนทำ คนวางแผนไม่ได้ใช้ พอทำเสร็จแล้วก็ตั้งคำถามว่าทำไมคนไม่ใช้ก็มันใช้ได้ไหม ขี่จักรยานไปแล้วก็ต้องยก  ต้องแบกจักรยาน หรือขี่ๆ ไป อ้าวมีสะพานลอยโผล่มา   ซึ่งการจะพัฒนาตรงนี้ก็ต้องให้คนใช้มาบอก มาช่วยคิด ซึ่งมันง่ายมาก ตอนนี้มูลนิธิโลกสีเขียวเราก็ทำเส้นทางจักรยานในกรุงเทพฯ โดยใช้ข้อมูลของคนที่ขี่จักรยานใช้กันอยู่ ใครอยู่ส่วนไหนก็แบ่งโซนกัน แล้วก็นำข้อมูลแต่ละโซนมารวมกัน  จะมีอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยต่อเติมในเส้นทางในส่วนที่เส้นทางยังเชื่อมกันไม่ได้ แล้วก็จะได้เป็นโครงข่ายเส้นทางจักรยานเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็จะนำเสนอเส้นทางตัวอย่าง 2 เส้นทางต่อรัฐเพื่อให้ปรับปรุง เส้นทางแรกก็เส้นคลองไผ่สิงโต ชื่อว่ากรีนเวย์ เป็นเส้นทางจักรยานลอยฟ้าเชื่อมสวน 2 แห่ง เป็นเส้นที่ดีในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ในระยะทางกิโลกว่าๆ ที่ต้องแบกจักรยานขึ้น – ลง บันไดถึง 6 ครั้ง แล้วบางจุดชันมาก  อีกเส้นก็คือถนนทรงวาด ซึ่งมีการทำเป็นถนนวันเวย์เยอะมาก จักรยานไม่ควรที่จะวันเวย์ เพราะมันจะอ้อม แต่ควรจะขี่ไปมาได้เลย   ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบว่าการที่รัฐทำเส้นทางจักรยานแล้วคนไม่ใช้ ซึ่งมันไม่ใช่  เพราะว่ามันใช้ไม่ได้ต่างหาก พอเราเสนอเส้นทางที่มีคนใช้อยู่แล้วก็น่าจะเป็นรูปธรรม  ให้รัฐพัฒนาเส้นทางจักรยานต่อไปได้   ถ้าจะเมืองจะเปลี่ยนไปใช้จักรยาน แล้วรถยนต์จะเป็นอย่างไร พอกลุ่มจักรยานเริ่มชัด ก็จะมีการออกมาเคลื่อนของกลุ่มรถยนต์ว่า “อยู่ในรถยนต์ปลอดภัยกว่า” แต่ก็จะมีบริษัทรถบางเจ้าที่ฉลาด พวกที่ไม่ฉลาดก็จะมองเราเป็นศัตรูที่จะทำอุตสาหกรรมของเราพัง แต่ถ้าฉลาดอย่างบริษัทรถในแคนาดาก็จะทำรถยนต์แนวกรีน  และมุ่งการขายรถยนต์ไปที่กลุ่มคนขี่จักรยาน อาจจะทำที่ใส่จักรยาน ย้อนมองมาในบ้านเราถึงแม้จะมีนโยบายรถคันแรกที่ทำให้ซื้อรถคันแรกได้ถูก  แต่ก็ไม่ได้มีแนวทางในการใช้  เพราะมุ่งเน้นที่จะขายรถอย่างเดียว ในขณะที่เราลดภาษีรถยนต์แต่ขอโทษทีจักรยานคุณภาพดีราคา ไม่แพง ต้องเสียภาษีนำเข้าเข้า  30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน บ้านเรายังไม่มีนโยบายอุดหนุนนโยบายสีเขียวเลยที่จะอุดหนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่เรากำลังพูดถึงพื้นที่ของถนน ที่เป็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้นะ ก็อือ...นะอะไรกันนี่...

อ่านเพิ่มเติม >