ฉบับที่ 139 สังคมรีไซเคิล สังคมโลกใหม่ของคนทันสมัย

“ป้าคะ รู้จักโรงงานรับซื้อของเก่าของวงษ์พาณิชย์ไหม” ฉันถามป้าขายก๋วยเตี๋ยว เพราะเหลือบไปเห็นกองขวดพลาสติก  กระดาษ กองอยู่หลังร้าน “ขับรถตรงไปแล้วก็เลี้ยวขวาข้างหน้า ขับไปเรื่อยเดี๋ยวก็เจอ โรงงานเขาใหญ่” ป้าว่าพลางทำก๋วยเตี๋ยวให้ลูกค้าต่อไป ........................ ทันทีที่เลี้ยวรถเข้าโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์  พบป้ายสีฟ้าโดดเด่นเขียนว่า “ศูนย์กระจายสินค้าวัสดุรีไซเคิลสี่แยกอินโดจีน” ประกบกับป้ายบอกทาง คุนหมิง หลวงพระบาง ปีนัง ย่างกุ้ง อยู่ข้างถนน ด่านแรกของวงษ์พาณิชย์เป็นจุดคัดแยกขยะรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีราคากลางบอกไว้ ทั้งกระดาษ พลาสติก  ขวด-แก้ว  เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์  โลหะ หลังรับซื้อแล้วก็จะถูกคัดแยกออกไปตามแผนกต่างๆ เศษเหล็ก  กระดาษ ขวดแก้ว อะลูมิเนียม โลหะ พลาสติก เครื่อง ใช้สำนักงาน-เครื่องใช้ไฟฟ้า เศษอาหาร และอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิง พนักงานแต่งตัวด้วยเครื่องแบบสีเขียว ยืนเรียงกันตามสายพาน การคัดแยกพลาสติกดูจะมีพนักงานมากสุด  ด้านหลังพนักงานแต่ละคนจะมีสุ่มหงายอยู่  แต่ละคนมีสีพลาสติกของตัวเอง สีเขียว  สีฟ้า สีขาว ของใครมาก็หยิบใส่สุ่ม เต็มแล้วก็แบกไปเทในส่วนการจัดแยกสีไว้เพื่อนำไปเตรียมย่อย ล้าง และส่งโรงงานนำไปรีไซเคิลต่อไป ด้านกระดาษแยกเป็นกระดาษขาว  กระดาษลัง แล้วนำมาอัดเป็นก้อน ก้อนละ 1 ตัน ส่งขายให้กับโรงงานผลิตกระดาษ  เช่นกันกระป๋องอลูมิเนียม  ขวดเพ็ต ก็ถูกอัดเป็นก้อน เพื่อสะดวกในการขนส่ง ปัจจุบันวงษ์พาณิชย์มี 1,112 สาขาทั่วประเทศไทย ในประเทศลาว 4 สาขา ในประเทศมาเลเซีย 2 สาขา  ในประเทศพม่า 1 สาขา  กับประสบการณ์กว่า 37 ปี ในการบริหารจัดการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล   พาคุณผู้อ่านไปชมข้างในโรงงานแล้ว เราไปคุยกับ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธาน กรรมการ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ กันดีกว่าค่ะ ในฐานะที่จัดการขยะมา 37 ปี เคยคิดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการขยะไหม เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลไม่เคยคิด  ไม่เคยเลย คิดเพียงแค่จะช่วยรัฐได้อย่างไรเท่านั้นเอง  ทุกวันนี้ที่ทำอยู่ไม่ต้องการมีอำนาจอะไร ต้องการอย่างเดียวคือเป็นคนดี  ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนทำมาหากินอยู่ในสังคมได้  อันนี้เป็นแนวความคิดอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็มองว่าอาชีพการจัดการขยะอย่างเรานั้น  มันไปสร้างผลกระทบให้กับรัฐบาลระดับใหญ่ ระดับกลาง  ระดับเล็ก  ได้ประโยชน์มาก ข้อแรก มันไปลดขยะบ้านเมืองลงได้ 100 % อย่าง “โครงการขยะเหลือศูนย์” ในงบประมาณ 1 ปีของรัฐใช้เงินเป็นแสนล้านบาท ที่เสียไปกับการจัดการขยะนั่นคือ หนึ่งซื้อที่ดินฝังกลบ  สองทำบ่อฝังกลบ สามตั้งโรงงานเผาขยะ และต้องจัดการกับขยะ  สี่ซื้อรถขนขยะให้เทศบาล แล้วไหนจะต้องจัดการกับเรื่องร้องเรียนกับชาวบ้านอีก  โครงการของเราก็ไปกระทบกับสิ่งเหล่านี้  ถ้าหากว่ามีการส่งเสริมและพัฒนาให้อาชีพรีไซเคิลผงาดขึ้นมาได้เมื่อไร  หรือถ้าหากภาครัฐมีน้ำใจสนับสนุน  ผมเชื่อว่าประโยชน์จะตกไปสู่สังคม ประชาชน คณานับทีเดียว เหมือนทำบุญให้กับคนและโลกครั้งใหญ่  เพียงแค่มีน้ำใจให้กับวิถีรีไซเคิล สังคมรีไซเคิล นโยบายของทรัพยากรหมุนเวียน จะช่วยโลก และถึงวันยุติที่จะก้าวร้าวทำร้ายโลกลงได้แล้ว วัตถุดิบ แร่ต่างๆ มันไม่ตายนะ เราเองต่างหากที่คิดว่ามันตาย พอเราคิดแบบนี้มันก็จะทำให้เราตายไปด้วยเช่นกัน  แต่ก็ดีใจนะที่รัฐบาลใหญ่ๆ ของโลกให้ความสำคัญกับการดูแลโลกแล้ว ระบบการจัดการขยะในบ้านเรา วางระบบการทิ้งดี แต่พอเห็นรถขยะเทศบาลมาเก็บ ก็รวมกันไป... เพราะอะไรล่ะ  ยกตัวอย่างคนในกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านพยายามจะแยกขยะ นักวิชาการก็ให้แยกขยะ มีการให้ความรู้ด้านการแยกขยะ ชาวบ้านก็พยายามแยกขยะแต่รถก็มาขนรวมกันไป  ความไม่พร้อมของใคร? ภาครัฐไม่พร้อมไง  ถูกไหม... เท่านั้นยังไม่พอ การเกิดศูนย์รีไซเคิลในกรุงเทพมหานครเกิดไม่ได้นะ  หลายเขตที่เข้าใจเรื่องรีไซเคิลก็เกิดได้  แต่สำนักงานเขตบางเขตไม่เข้าใจเรื่องรีไซเคิล  มาสั่งปิดโรงงานรีไซเคิลของวงษ์พาณิชย์ 3 เขตในกรุงเทพและดำเนินคดีอาญา และขึ้นศาล  ผมถามว่าแล้วชาวบ้านที่แยกขยะ จะเอาขยะที่แยกไปส่งตรงไหนล่ะ? ศูนย์รีไซเคิลถูกภาครัฐตั้งข้อหาว่าทำลายทัศนียภาพของเมือง  ผมบอกว่านั่นมันร้านค้าของเก่าโบราณที่ใช้ถนนเป็นโกดัง  ศูนย์รีไซเคิลยุคใหม่เขาทำระบบเป็นดีพาร์ทเม้นท์สโตร์กันแล้ว  มีการแยกหมวดหมู่สินค้า  การแต่งตัวของพนักงานสะอาด  มีวินัย มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อม แต่ศูนย์อย่างนี้กลับถูกดำเนินคดีและขึ้นศาลอาญา เมื่อไรหนอประเทศไทยที่มีความคิดกว้างไกลด้านสิ่งแวดล้อมได้มาจุติและมาบริหารบ้านเมือง ให้เมตตาโลก แต่ก่อนรัฐบาลญี่ปุ่นก็เหมือนประเทศไทย ผลักดันศูนย์รีไซเคิลให้ออกไปนอกเมือง ปรากฏว่าขยะท่วมเมืองโตเกียว แต่ตอนนี้สนับสนุนให้ศูนย์รีไซเคิลเข้ามาเปิดในเมืองโตเกียวทำให้ขยะลดลงไป  ไม่ต้องขนขยะ  ซึ่งเป็นความชาญฉลาดของญี่ปุ่นที่รู้จักเปลี่ยนแปลง  ในบ้านเรารัฐบาลใหญ่ก็งานเยอะมากอาจจะมองไม่เห็นงานนี้ซึ่งมันสำคัญมาก ขยะในกรุงเทพวันหนึ่งมีขยะ 9,500 ตัน  ถ้าขนไปกองรวมกันที่สนามหลวง 4 วันเท่ากับตึก 4 ชั้นเลยนะ   ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดที่จะซื้อของด้วย ไม่ใช่ซื้อแต่ของถูก แต่ไม่มีคุณภาพและของนั้นทำร้ายโลก เช่นแบตเตอรี่ที่มาจากจีน  ถูกจริง แต่ซื้อแล้วกลับเป็นสารพิษมาทำโลกอีก นั่นไม่ใช่ฉลาดซื้อ  ฉลาดซื้อต้องเมตตาโลกด้วยนะ ถ้าอย่างนั้นแล้วมีวิธีการทำให้คนเห็นขยะมีมูลค่า ได้อย่างไร คนที่จะคิดเรื่องมูลค่าของขยะ อาจจะพูดได้ว่า “คนทันสมัยเท่านั้นที่จะรู้คุณค่าของขยะ” ไม่ว่าเด็ก  วัยกลางวัน หรือผู้สูงวัย  คนเหล่านี้เป็นคนทันสมัยหรือเปล่า  ถ้าหากว่าเป็นคนทันสมัยละก็ ต้องรู้และเห็นคุณค่าของขยะ ทำอย่างไรคนเราถึงจะคิดและปฏิบัติได้จริงเป็นรูปธรรม  1) ก็ต้องเริ่มจากการให้ความรู้ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมหาวิทยาลัย แทรกเนื้อหาเรื่องการรีไซเคิล หัวใจรีไซเคิล สังคมรีไซเคิล  2) สร้างแนวความคิดอีโคดีไซน์ (ผลิตภัณฑ์ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม) ต้องคิดเป็นว่าของแต่อย่าง แต่ละชิ้น ในการบริโภคในชีวิตประจำวัน  สิ่งของต่างๆ เกิดขึ้นบนพื้นฐานอีโคดีไซน์หรือเปล่า  วิศวกรแต่ละโรงงานรู้จักออกแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไหม  สินค้าทุกคนสามารถนำไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่  ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นขยะอีกต่อไป  รัฐบาลจึงจะออกตราสัญลักษณ์ “ฉลากเขียว” ให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าเป็นสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และนำกลับมาใช้ใหม่ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มโครงการนี้แล้ว  สินค้าที่จะเข้ามาในห้างฯ ทุกชิ้นต้องไม่เป็นวัตถุดิบที่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ต้องเป็นสินค้าที่อยู่บนพื้นฐานอีโคดีไซน์เท่านั้นจึงจะเข้ามาขายให้ห้างฯ ได้ เห็นไหมเจ้าของห้างฯ ยังตระหนักเรื่องนี้แล้ว ที่น่าจับตามองอีกประเทศก็คือประเทศอังกฤษ  คนเริ่มมีความคิดเรื่องอีโคดีไซน์ทำให้เกิดกระแสว่า ห้างฯ ไหนรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมห้างฯ นั้นก็จะขายดี  ห้างฯ ไหนไม่รับผิดชอบก็จะขายตกไป หรือขายไม่ได้  ขาดทุนจนอาจจะต้องปิดกิจการในอนาคตก็ได้ พูดถึงฉลากเขียว บ้านเรามีการบังคับใช้หรือยังคะ สำนักงานจัดซื้อสีเขียวนานาชาติ  ที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันมีการประชุมใหญ่ให้ความรู้เรื่อง “หน่วยงานจัดซื้อสีเขียว” ของทุกๆ รัฐบาลใหญ่ในโลก  ไทยเราก็ไปร่วมประชุม แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกำหนดเป็นนโยบายปฏิบัติกันเมื่อไร ถ้าหากว่าองค์กรภาคใหญ่ระดับรัฐบาล  กรม  กระทรวง  หรือสำนักงานต่างๆ  หน่วยงานจัดซื้อเขามีความรู้เรื่องการจัดซื้อสีเขียวนานาชาติ  มีการเข้ามาดูโรงงานรีไซเคิล และก่อนจะซื้อทุกครั้งต้องผ่านการเซ็นชื่อ อนุมัติว่า สินค้าที่จะซื้ออยู่ในมาตรฐานฉลากเขียว  อยู่ในการจัดซื้อสีเขียวได้ เป็นมาตรฐานที่ไม่ทำลายโลก วิศวกรผู้ออกแบบโรงงานทุกโรงงาน ก็ต้องมาเรียนรู้เรื่อง LCA (Life-cycle assessment) ต้องรู้ว่าตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ของเขา ต้องสะดวกต่อการรีไซเคิล ต้องลดการใช้ความร้อน ใช้พลังงานอย่างไร  ลดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร ถึงจะเป็น LCA ได้ ต้องคิดถึงขนาดนี้จึงจะผลิตสินค้าสู่ตลาดผู้บริโภคได้ ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดที่จะซื้อของด้วย ไม่ใช่ซื้อแต่ของถูก แต่ไม่มีคุณภาพและของนั้นทำร้ายโลก เช่นแบตเตอรี่ที่มาจากจีน  ถูกจริง แต่ซื้อแล้วกลับเป็นสารพิษมาทำโลกอีก นั่นไม่ใช่ฉลาดซื้อ  ฉลาดซื้อต้องเมตตาโลกด้วยนะ   ทีนี้พอมีการปลูกฝังให้ความรู้ความคิดแล้ว ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการจัดการขยะได้บ้างไหม เพื่อช่วยภาครัฐ พูดถึงประชาชน  ประชาชนนี่ล่ะเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเป็นนักรีไซเคิล  เป็นนักจัดการขยะ  โรงงานจัดการขยะที่ทันสมัยที่สุดของโลกอยู่ที่ไหนรู้ไหม โรงงานจัดการขยะที่ทันสมัยที่สุดของโลก จริงๆ แล้วอยู่ทุกมือของประชาชน  และความรู้ที่อยู่ในตัวประชาชน เป็นโรงงานที่ไม่ต้องใช้งบประมาณใดๆเลย เพียงแต่ 1) ต้องฉลาดซื้อสินค้าที่จะเข้าบ้าน ของที่จะเข้าบ้านต้องรีไซเคิลได้  2) สามารถให้ความรู้ประชาชนในการจัดการแยกขยะรีไซเคิลได้สำเร็จ โดยใช้หลัก “มันมาอย่างไร ก็ให้มันไปอย่างนั้น” เช่นเราไปซื้อของห้างฯบิ๊กซี  โลตัส  แมคโคร หรือแม้แต่ 7 มันมาถุงเล็ก ใส่ถุงหิ้วมานะ มันมาถุงใหญ่ใส่ถุงหิ้วมานะ เราก็มาตอกตะปูไว้ข้างฝาบ้านเรา ถุงใหญ่  ถุงกลาง  ถุงเล็ก ตอก ไว้ แล้วก็เขียนป้ายติดไว้ถุงนี้กระดาษ  กก.ละ 5 บาท ถุงนี้กระป๋องอลูมิเนียม กก.ละ 38 บาท  ถุงนี้กระป๋องสังกะสี กระป๋องกาแฟ กก.ละ 4 บาท  ถุงนี้พลาสติก กก.ละ 20 บาท  ถุงนี้ขวดแก้ว  แล้วก็เขียนชื่อผู้ดูแลรับผิดชอบไว้ด้วยเลย อย่างลูกสาว  ลูกชายของเรา กรณีมีข้อสงสัยติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ นั่นไง เห็นไหมมีนักสิ่งแวดล้อมอยู่ในบ้านของเราแล้ว ทั้งกระป๋องเบียร์ น้ำอัดลม หมดแล้วเราก็เหยียบแบนๆ ใส่ถุงไว้ กล่องกระดาษทำให้แบนๆ มัดรวมกันไว้ ไม่เกะกะ พอได้เต็มถุงก็ใส่รถแท็กซี่ไปขายที่ศูนย์รีไซเคิล ไปทีหนึ่งก็ราวๆ 2,000 กว่าบาท ต่างจังหวัดไม่มีปัญหา แต่กทม.ก็จะรถติดนี่สิ กว่าจะไปถึงก็หมดไปกับค่ารถแท็กซี่  นี่ไงการไม่ยอมมีศูนย์รีไซเคิลในเมือง รัฐบาลมีนโยบายให้แยกขยะจากที่บ้าน แต่บางเขตก็มองเรื่องรีไซเคิลเป็นภาพลบ ก็ไม่รู้อย่างไรเหมือนกัน เคยได้ยินเรื่องธนาคารขยะ วงษ์พาณิชย์มีแนวคิดอะไรในการตั้งขึ้นมา วงษ์พาณิชย์ เป็นต้นกำเนิดธนาคารขยะ  เป็นคนคิดครั้งแรกของโลกที่ตั้งธนาคารขยะประวัติศาสตร์ขึ้นมาที่  ร.ร.เทศบาล 5 วัดพันปี ในปี 1999 ตอนนี้ในประเทศไทยเกิดธนาคารขยะกว่า 2,000 ธนาคาร  มีที่ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ญี่ปุ่น ถึงสหรัฐอเมริกา ธนาคารขยะที่เกิดขึ้นตอนนั้น เป็นปีที่ฟองสบู่แตก ธนาคารต่างๆ ก็ปิดตัวลง เราก็เลยคิดตั้งธนาคารที่มั่นคงที่สุดในโลกขึ้น โดยไม่ใช่เงิน นั่นก็คือการตั้งธนาคารขยะ ไม่ต้องกลัวโจรที่ไหนมาปล้น  เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก อย่างคิดไม่ถึง พอตั้งธนาคารขึ้น 1) เราก็ให้เด็กบริหารจัดการ  มีการเลือกตั้ง ทำให้รู้จักการจัดการ รวมทั้งรู้จักประชาธิปไตย 2) ทำให้เด็กรู้จักการแยกขยะ และนำขยะมาแปลงเป็นเงิน ทำให้เด็กรู้จักการออม รู้จักสิ่งแวดล้อม 3) พอเด็กรู้วิธีการแยกขยะ ก็นำกลับไปบอกที่บ้านให้รู้จักแยกขยะ “ขวดน้ำปลา  กระดาษ ของหนู เป็นเงินค่าขนมของหนู” เด็กเอาไปบอกยายอายุ 70 ให้รู้วิธีการแยกขยะ ซึ่งยายเกิดมา 70 ปียังไม่รู้เลยว่าขยะเอามาขายได้  ให้เด็กเป็นครูให้กับที่บ้านด้วย การลงทุนธนาคารครั้งแรก เอาไม้มากั้นข้างฝา เอาสีเขียวที่ทากระดาษดำไปทาให้สวยๆ หน่อย แล้วติดป้ายว่า “ธนาคารขยะ” ถ้าภาครัฐสนับสนุนให้มีธนาคารขยะทุกโรงเรียน ทุกชุมชน สนับสนุนให้มีการรีไซเคิลขยะ รัฐก็จะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณไปหาวิธีการจัดการขยะ  ไปซื้อที่ดินหาที่ทิ้งขยะ  เสียดายงบประมาณมาก ขยะมันไม่ตายนะ เอามันไปฝังที่ป่าช้า อย่าคิดว่ามันตายนะ เพียงแต่มันรอวันระเบิดขึ้นมา... “ขอบคุณนะครับที่มาเที่ยวบ้านคนเก็บขยะ” เจ้าสัวราชาขยะทองคำ กล่าวคำลาก่อนจะจากกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point