ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด  หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18  ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร  และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน  อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม  ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 สมัชชาผู้บริโภคไทย ปี 2558 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ หลังรอมา 17 ปี

ในทุกวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ทั้งประเด็นที่องค์กรสิทธิผู้บริโภคสากลกำหนดเป็นเรื่องเด่นประจำปี และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ ซึ่งในปี 2558 นี้ เครือข่ายผู้บริโภคไทย ก็ยังคงติดตามและพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 15 มีนาคม ปี พ.ศ. 2558 นี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และ สสส. จัดงานวัน “สมัชชาผู้บริโภค” ขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีประเด็นหลักในการจัดงานคือ สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเด่นประจำปี ขององค์กรผู้บริโภคสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมปฏิรูปการคุ้มครองตัวเองในเรื่องอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมายถึง ความปลอดภัยจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินในการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น  การควบคุมสินค้าจำพวกอาหารเจือปนสารพิษ ยารักษาโรคที่หมดอายุและมีสารพิษ ตลอดจนของเล่นหรือเครื่องใช้ที่ก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น ซึ่งภายในงานได้ชวนให้ผู้บริโภคร่วมกันผลักดันในเรื่องของอาหารปลอดภัย ควรมีฉลากอาหารที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และการควบคุมคุณภาพอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงส่งเสริมและติดตามการกำหนดมาตรการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ภายในงานมีการนำตัวอย่างอาหารปลอดภัยมาตั้งร้านได้แก่ ผักปลอดสารพิษ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีราคาเพียงแค่ถุงละ 10 บาท หรือ กุ้งแห้งตัวใหญ่ๆ เนื้อแน่นถุงละ 100 บาท ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานพากันจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารที่ทั้งถูกและปลอดภัยกันอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมี ทั้งยังมีการนำตัวอย่างของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาเปิดเผยด้วยเช่นกัน โดยแสดงจำนวนปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่เกิดกำหนดอย่างไม่ปิดบังตรายี่ห้อ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจว่าอาหารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้น เป็นอาหารที่พวกเราต่างก็บริโภคกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูงลิบ มากกว่าปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณโซเดียมที่เราควรได้รับต่อวัน คือ วันละ 6 กรัม หรือ 2,400 มิลลิกรัม หรือน้ำตาลปริมาณมากในชาเขียวสำเร็จรูป ที่ไม่โฆษณากันด้วยเรื่องคุณค่าแล้วแต่ใช้วิธีการชิงโชครถยนต์แทน   ความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ที่หลังจากได้มีการรณรงค์องค์การอิสระมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี จนเรื่องเข้าสู่ สส. และ สว. ไปแล้ว แต่ก็ยังโดนเคราะห์ถูกยกกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้ลดพลังของผู้บริโภคในการผลักดันกฎหมายนี้ต่อแต่อย่างใด เพราะ หากกฎหมายนี้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน ขณะนี้สถานะปัจจุบันของกฎหมายองค์การอิสระ คือ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปช. ซึ่งหากผ่านแล้วขั้นตอนต่อไปคือเข้าสู่ ครม. โดยการทำงานขององค์การอิสระ จะร่วมมือกับ สปช. ในการปฏิรูปโดยการใช้พิมพ์เขียว (blueprint) เพื่อการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศ หากเราจะพูดถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ ก็สามารถสรุปเป็นประเด็นสั้นๆ ได้ 6 ประการดังนี้ ประการแรก กฎหมายฉบับนี้จะทำให้สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ ประการที่สอง เป็นปากเสียงของผู้บริโภคในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ประการที่สาม เผยแพร่ข้อมูลเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประการที่สี่ รับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้บริโภคแบบครบวงจร (one stop service) ประการที่ห้า ตรวจสอบงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งรัฐและเอกชน และประการสุดท้าย ดำเนินงานเชิงรุก ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เรียกได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิได้เต็มที่ในฐานะพลเมือง เป็นการสร้างความเข็มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาคือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจับปรับลงโทษผู้กระทำผิด และในส่วนขององค์การอิสระทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ องค์กรผู้บริโภค ตรวจสอบและให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐ สำหรับใครที่พลาดอดไปก็ไม่เป็นไร รอพบกันใหม่อีกครั้งในปีหน้า เพราะ กิจกรรมดีๆ แบบนี้ยังคงจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงสิทธิในการคุ้มครองตนเองและพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิผู้บริโภคสากล โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับข้อมูลความรู้อันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทันในยุคบริโภคนิยมเช่นนี้ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point