ฉบับที่ 215 ตรวจสภาพอากาศกับ windy

                จากปรากฏการณ์พายุโซนร้อนปาบึกที่เข้าถล่มจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนทั่วประเทศจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมากและคอยติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของพายุโซนร้อนปาบึกนี้อย่างใกล้ชิด        การติดตามความเคลื่อนไหนของพายุอย่างเรียลไทม์นั้น สามารถติดตามผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า windy ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน windy จะแสดงข้อมูลของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่พัด พื้นที่ที่มีฝนตก ปริมาณเมฆ อุณหภูมิความร้อน นอกจากนี้ยังสามารถเช็คความสูงของคลื่นทะเลได้ด้วย โดยให้กดสัญลักษณ์สีเหลืองด้านขวาล่างของแอปพลิเคชัน ซึ่งในเครื่องมือนี้จะสามารถเลือกรูปแบบการดูได้ตามที่ต้องการ                ภาพที่ปรากฏบนแอปพลิเคชันจะเปลี่ยนสีไปตามสภาพอากาศที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการทราบ เช่น เมื่อต้องการทราบอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ไล่ไปตามอุณหภูมิที่เกิดขึ้น หรือเมื่อต้องทราบความเร็วลมในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเขียว และสีน้ำเงิน ไล่ไปตามความเร็วของลมที่เกิดขึ้น และจะมีเส้นการเคลื่อนไหวที่แสดงทิศทางลมที่เกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจน เป็นต้น        เมื่อต้องการทราบข้อมูลสภาพอากาศในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ณ บริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ในตำแหน่งนั้น ให้เลือกรูปแบบสภาพอากาศที่ต้องการ และกดปุ่มเลือก Find my location หลังจากนั้นบนหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏจุดบริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ และขึ้นข้อมูลที่ต้องการทราบ ให้กดไปที่จุดนั้น จะทำให้ข้อมูลทั้งหมดขึ้นมาโดยแบ่งสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นรายชั่วโมง ทั้งสภาพอากาศแบบย้อนหลังและสภาพอากาศในอนาคต                หรือต้องการทราบสภาพอากาศในบริเวณใด ก็สามารถเลื่อนแผนที่ให้จุดที่เลือกเคลื่อนไปอยู่ตรงที่ต้องการได้  และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถทราบสภาพอากาศได้ทั่วโลกเลย เพียงแค่มีแอปพลิเคชันนี้ก็สามารถทราบสภาพอากาศทั้งอุณหภูมิ ปริมาณฝนตก ความเร็วลม ความสูงของคลื่นได้อย่างง่ายดาย        ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาศึกษากันดูนะคะ รับรองว่าดูง่ายและไม่ยากจนเกินไป เพราะการใช้สีและการใช้สัญลักษณ์ ทำให้เข้าใจได้ง่ายจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ประเมินความเสี่ยงสภาพจิตกับ Smile Hub

สังคมในปัจจุบันที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและเครียด เราจึงต้องพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น  เพราะหากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาพวกนี้ได้ ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่ไม่ดีตามมา  คำว่าสุขภาพจิตนั้น กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบคลุมถึงความดีงามภายในใจ ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเกิดจากภาวะกดดันและความเครียดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่ราบรื่น สิ่งที่สามารถแก้ไขและทำได้นั่นคือ การฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการสะสมสารเอ็นดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุข ซึ่งควรฝึกปฏิบัติเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย และที่สำคัญควรรู้เท่าทันสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ ฉบับนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่นประเมินความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต มีชื่อว่า “Smile  Hub” เป็นแอพพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิตที่ใส่ใจและห่วงใจสุขภาพจิตของประชาชน แอพพลิเคชั่น “Smile  Hub” จะแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ช่วงอายุ ได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 11 ปี วัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี วัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี และสูงวัย 60 ปีขึ้นไป โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นการทำแบบประเมินเพื่อประมวลผลลัพธ์ออกมา พร้อมกับมีวิดีโอแนะแนวทางการพัฒนาในส่วนของการประเมินกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 11 ปี จะให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำแบบประเมิน โดยแบ่งออกเป็นเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี จะเน้นโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก เด็กอายุ 3 ถึง 5 ปี และเด็กอายุ 6 ถึง 11 ปี จะเป็นแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์กลุ่มวัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ และแบบประเมินภาวะซึมเศร้า สำหรับกลุ่มวัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 4 ส่วน คือ แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้ใหญ่ และแบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น  ส่วนกลุ่มสูงวัย 60 ปีขึ้นไป จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุฉบับสั้น และแบบประเมินภาวะซึมเศร้าผู้เขียนไม่ได้คิดว่าการใช้แอพพลิเคชั่นนี้จะใช้เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิต แต่มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้ลองทำแบบประเมินเพื่อวัดสภาพจิต ซึ่งหมายถึงการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก เพียงเพื่อให้รู้เท่าทันความเสี่ยงและป้องกันสภาวะสภาพจิตที่มีความกดดันและความเครียดของตนเองที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยม

ตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไรผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้นอย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >