ฉบับที่ 138 กระแสต่างแดน

ข่าวร้ายในข่าวดี สถิติการสูบบุหรี่ของคนอเมริกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขาหันไปสูบซิการ์หรือสูบไปป์กันมากขึ้น ข้อมูลจากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่าระหว่างปี ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2011 การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบลดลงร้อยละ 27.5 แต่การบริโภคยาสูบในรูปแบบที่ไม่ใช่บุหรี่นั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 123 ในช่วงเวลาเดียวกัน สาเหตุหลักคือราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในช่วงตกต่ำและการว่างงานในอัตราที่สูง หลังจากอเมริกาประกาศเก็บภาษีสรรพสามิตเมื่อสามปีก่อน บรรดายาเส้นและซิการ์ ถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าบุหรี่มาก   ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ที่ดูคล้ายซิการ์ขนาดเล็กออกมาวางตลาดมากขึ้น เพราะผู้ผลิตต้องการจ่ายภาษีถูกลงเพื่อจะได้ขายในราคาที่ถูกใจวัยโจ๋ ซิการ์มินิพวกนี้ราคาเพียงแพ็คละ 44 บาท ในขณะที่บุหรี่หนึ่งแพ็ค ราคาเกือบ 160 บาท วัยรุ่นอเมริกันทุกวันนี้สูบซิการ์กันมากขึ้น โดยเริ่มสูบก่อนอายุ 26 ด้วยซ้ำ การสูบบุหรี่หรือซิการ์เป็นสาเหตุการตายของคนอเมริกัน ปีละ 500,000 คน ด้วยโรคปอด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลปีละ 6 ล้านล้านบาท   ปฏิบัติการใหม่ของฮีโร่? เด็กทุกคนล้วนมีซูเปอร์ฮีโร่ในดวงใจ ไม่ว่าจะเป็น ซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน หรือ แบทแมน  แต่บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่โคคา-โคล่า ในประเทศเม็กซิโก กำลังทำให้ฮีโร่ในดวงใจของพวกเขาเปลี่ยนไป ในโฆษณาชิ้นล่าสุดที่พุ่งเป้าหมายไปยังลูกค้ากลุ่มเด็ก โคคา-โคล่าใช้ภาพเด็กผู้ชายหลายคนใส่ชุดซูเปอร์ฮีโร่ ถือขวดโค้กไว้ในมือข้างหนึ่ง พร้อมกับข้อความว่า “จำได้ไหม? ตอนที่เป็นเด็ก พวกเราล้วนเป็นซูเปอร์ฮีโร่กันทั้งนั้น” มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู หลังจากโฆษณาชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกไป หลายคนมองว่ามันเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้องแก่เด็ก ที่อาจเข้าใจว่าน้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แม้แต่ซูเปอร์ฮีโร่ที่พวกเขารัก ก็ยังเลือก El Poder del Consumidor องค์กรผู้บริโภคของเม็กซิโก ออกมาเรียกร้องให้บริษัทยุติการเผยแพร่โฆษณาชิ้นนี้ พร้อมกับส่งจดหมายแสดงความกังวล ไปถึงนางมากาเร็ต ชาน เลขาธิการองค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้มีการประเมินการทำงานของสหพันธ์องค์กรอาหารและเครื่องดื่มสากล หรือ IFBA ที่มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเสริมสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ว่าทำงานเต็มที่หรือไม่ แถมด้วยการเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกตั้งกฎห้ามไม่ให้ผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดก็ตามทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าวัยเด็ก เว้นแต่อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณค่าอาหารก่อน   เมื่อสถานออกกำลังกาย..ไม่ฟิต สมาชิกกว่า 300 คน ของสถานออกกำลังกาย กาแลคติกา ในเมืองเซนปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ออกมาเรียกร้องขอเงินค่าสมาชิกคืน หลังจากได้ข่าวว่ามีสมาชิกประมาณ 1,500 - 3,000 คนถูกฟิตเนสเจ้านี้หลอกลวงเงิน ไม่เพียงแต่สมาชิกเท่านั้น พนักงานของกาแลคติกา อย่างน้อย 3 สาขา ก็ออกมาทวงเงินค่าจ้างที่บริษัทค้างพวกเขาอยู่ด้วย เรื่องนี้ช่างคล้ายกับเหตุการณ์ที่บ้านเราอะไรเช่นนี้ อดีตสมาชิกคนหนึ่งของกาแลคติกา สาขาในเขตยูลิตซา บาคูนินา บอกว่าสาขาปิดตัวลงโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องปิดชั่วคราว “เนื่องจากขัดข้องทางเทคนิค” ซึ่งความจริงแล้วสาขานี้ถูกสั่งปิดลงโดยเจ้าของอาคาร เพราะค้างค่าเช่านานเกินไป หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ สาขาอื่นๆ ในเครือของ กาแลคติกา ฟิตเนส รีบออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับสาขาที่ปิดตัวลง โดยอ้างว่าสาขาดังกล่าวมีการบริหารแยกออกไปโดยอีกบริษัทหนึ่ง  นอกจากนี้ยังเข้าไปลบชื่อสาขานี้ออกจากรายชื่อสาขาในเว็บไซด์ของบริษัท และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก กาแลคติกา ฟิตเนส เป็น กโลบัส ฟิตเนส ด้วย ความแตกเมื่อสมาชิกกว่า 100 คน ส่งจดหมายร้องเรียนไปตามที่อยู่สำหรับรับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก แต่ปรากฏว่าที่อยู่นั้นกลับเป็นสถานที่ตั้งของตลาดแห่งหนึ่ง หาได้เป็นที่ตั้งของสาขาใหญ่อย่างที่เข้าใจกัน กาแลคติกา ฟิตเนส ไม่ได้มีตัวตนเป็นบริษัทด้วยซ้ำ และอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เห็น ก็เช่าเขามาทั้งนั้น  สรุปว่าไม่ได้ฟิตจริงอย่างที่สร้างภาพไว้เลยนะนี่   “มัน” มีเงื่อนไข  เป็นที่รู้กันว่างานกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก นั้นเป็นโอกาสที่บริษัทใหญ่ๆ จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่คราวนี้ออกจะเกินไปนิดเมื่อคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกปีนี้ ได้ทำข้อตกลงมอบสิทธิในการขายฟรายส์และชิปส์ ในบริเวณโอลิมปิก พาร์ค ให้แก่ แมคโดนัลด์ แต่เพียงผู้เดียว ร้านอื่นๆ จะไม่สามารถขายฟรายส์หรือชิปส์เปล่าๆ หรือขายชิปส์กับอย่างอื่นนอกเหนือจากปลาทอดได้ สร้างความหงุดหงิดใจให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเตรียมงานพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกมิใช่น้อย เรื่องนี้สร้างความกดดันให้ร้านเหล่านี้ จนต้องเขียนประกาศไปติดไว้เพื่อชี้แจงเหตุผลให้ผู้บริโภคเข้าใจ จนนักข่าวคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟไปเห็นเข้าจึงโพสต์ลงในทวิตเตอร์ ทำให้มีคนรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นและสร้างแรงกดดันให้กับทางผู้จัดและแมคโดนัลด์พอสมควร สุดท้าย แมคโดนัลด์ยอมผ่อนผันให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถสั่งชิปส์เปล่าๆ จากร้านอื่นมากินได้ แต่สำหรับผู้เข้าชมกีฬา ข้อตกลงเรื่องสิทธิในการขายยังคงอยู่ เพราะแมคโดนัลด์เขาอุตส่าห์ลงทุนสร้างสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีที่นั่งถึง 1,500 ที่ ไว้ในโอลิมปิก พาร์คเพื่อรอให้บริการคุณแล้ว เรียกว่า... คุณจะมีทุกอย่าง ... ยกเว้นอิสระในการซื้อ “มัน” นี่แหละ   ทำไมต้องเป็นเจ้าภาพ คำถามที่เกิดขึ้นมากที่สุดเกี่ยวกับ การเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิปิกคือ สิริรวมแล้วเขาได้กำไรหรือขาดทุนกันแน่? อย่างเช่นคราวนี้ รัฐบาลอังกฤษควักกระเป๋าลงทุนไปประมาณ 8,500 ล้านปอนด์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างสนามแข่งขัน ที่พักนักกีฬา การรักษาความปลอดภัย ไหนจะการปรับปรุงภูมิทัศน์หรือบูรณะสถานที่เสื่อมโทรมต่างๆ เพื่อต้อนรับผู้คนที่จะมาเยือน แถมด้วยพิธีเปิด พิธีปิดที่อลังการงานสร้างอย่างยิ่ง ตามข่าว รัฐบาลเขาคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการลงทุนครั้งนี้ถึง 13,000 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 4 ปีหลังจากโอลิมปิกจบลง เรามาดูสถิติย้อนหลังกันบ้าง บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินโกลด์แมน แซคส์ พบว่า ตลาดหุ้นของประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก จะคึกคักขึ้นมาในช่วงหนึ่งปีหลังการแข่งขัน และราคาที่อยู่อาศัยก็เพิ่มสูงขึ้น การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และถ้าผลของมันยังมีอยู่ถึง 10 ไตรมาส ก็หมายถึงราคาบ้านจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เควิน ดาลี นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ วิเคราะห์ว่าโอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอังกฤษให้โตขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ... แต่ทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิมในไตรมาสที่ 4 แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เจ้าภาพจะได้มากขึ้นแน่นอน นั่นคือจำนวนเหรียญรางวัล เขามีสถิติที่ยืนยันได้ เจ้าภาพไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าเหรียญทองเสมอไป แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะมีโอกาสได้เหรียญมากกว่าตอนที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 เลยทีเดียว กรุงเทพฯ จะลองเป็นดูบ้างไหม ...   ขาช็อปฮ่องกงเมินแฟร์เทรด แม้ว่าตลาดสินค้าแฟร์เทรดทั่วโลกจะมีการขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 27 ตามข้อมูลรายงานตลาดประจำปี 2553 ขององค์กรแฟร์เทรดสากล (The Fairtrade International หรือ FLO) แต่สินค้าที่มีตราแฟร์เทรดกลับยังไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวฮ่องกงเท่าไหร่นัก การสำรวจความเห็นของผู้บริโภคกว่า 620 คน โดยมูลนิธิแฟร์เทรดของประเทศฮ่องกง พบว่าผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าดังกล่าวเพราะราคาของสินค้าชนิดนี้สูงกว่าราคาสินค้าทั่วไป ร้านที่จำหน่ายสินค้าเหล่านี้มักไม่อยู่ในเขตที่สะดวกต่อการเดินทาง และผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความเชื่อว่าคนที่อุดหนุนสินค้าที่มีตราแฟร์เทรดหมายถึงพวกต่อต้านระบบทุนนิยม ผลสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังถูกดึงดูดโดยโฆษณาลดราคาตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 76 ของผู้ที่ซื้อสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์แฟร์เทรดบอกว่า ที่ซื้อสินค้าเหล่านี้เพราะต้องการสนับสนุนผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม เมื่อถามว่าพวกเขาพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากผู้ผลิตพร้อมที่จะผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าแฟร์เทรดออกมาจำหน่าย กว่า 56 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคที่ไม่เคยรู้จักนโยบายนี้มาก่อนตอบว่าจะไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสินค้าเหล่านั้น แต่ประธานองค์กรแฟร์เทรดฮ่องกงเขาก็ไม่ท้อ เขาเชื่อมั่นว่าการพัฒนาของสินค้าแฟรเทรดในฮ่องกงจะต้องเป็นไปในทางบวก หากได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลมากพอ และประชากรฮ่องกงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่ารัฐบาลควรจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสินค้าแฟร์เทรด สรุปว่าเป็นธรรมน่ะชอบ แต่ต้องถูกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >