ฉบับที่ 144 กระแสต่างแดน

  บัตรของเรา เรทของเรา บริษัทบัตรเครดิตวีซ่างานเข้า เมื่อถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียฟ้องในข้อหาพยายามใช้อำนาจทางการตลาดผูกขาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ   ข่าวบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น นักท่องเที่ยวที่ถอนเงินจากตู้กดเงินอัตโนมัติด้วยบัตรวีซ่าจะต้องใช้อัตราแลกเงินที่วีซ่าเป็นผู้กำหนดเท่านั้น   แม้คุณจะเลือกจ่ายค่าสินค้าบริการด้วยบัตรเครดิต บริษัทเขาก็กำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ที่เปิดรับการจ่ายเงินด้วยบัตรวีซ่าใช้อัตราแลกเปลี่ยนของเขาอยู่ดีนั่นแหละ   คณะกรรมการฯ เป็นห่วงว่าจะเกิดการผูกขาดในธุรกิจบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเจ้าอื่นจะพากันล้มหายตายจาก ไม่เหลือทางเลือกให้ผู้บริโภคในที่สุด  นั่นสินะ.. เวลาจะแลกเงินเรายังต้องเสาะหาว่าจะไปแลกเงินกับเจ้าไหนดีให้ได้อัตราสูงที่สุด แต่เวลาใช้บัตรเรากลับหมดทางเลือกไปซะอย่างนั้น     ภาษีที่เลี่ยงได้ คือกำไรของเรา? เว็บไซต์ www.ethicalconsumer.org ของอังกฤษกำลังชักชวนให้ผู้บริโภคบอยคอตอเมซอน ร้านหนังสือออนไลน์ที่เรารู้จักกันดี เพื่อกดดันให้บริษัทจ่ายภาษีให้สมน้ำสมเนื้อกับผลกำไรมหาศาลเสียที   อเมซอนไม่ใช่บริษัทเดียวที่เลี่ยงภาษี แต่ที่ถูกเพ่งเล็งหนักเพราะเว็บนี้เขาเชื่อว่าอเมซอนใช้การเลี่ยงภาษีเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการทำธุรกิจ   รายงานในหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่า 1 ใน 4 ของลูกค้าของบริษัทอยู่ในอังกฤษ คิดเป็นยอดขายในประเทศนี้ถึง 7,500 ล้านปอนด์ (350,000 ล้านบาท) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา   แต่บริษัทไม่ได้เสียภาษีจากผลกำไรดังกล่าวให้กับรัฐบาลอังกฤษเลย เขาคาดว่าการสูญเสียครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 100 ล้านปอนด์ (4,600 ล้านบาท)   เมื่อพ.ศ. 2551 นิตยสาร Business Week ระบุว่าอเมซอนจ่ายภาษีให้รัฐบาลอเมริกันเพียงร้อยละ 4 ของผลกำไรเท่านั้น ... น้อยกว่าอีก 488 บริษัทที่อยู่ใน 500 อันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ   ถัดมาอีก 3 ปี อเมซอนใช้เงิน 5 ล้านเหรียญ(ประมาณ 150 ล้านบาท) สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายภาษีของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากขึ้นด้วย       ใครอยากบอยคอตก็ให้ไปซื้อหนังสือจากเว็บของสำนักพิมพ์โดยตรง หรือไม่ก็อุดหนุนร้านหนังสือแถวบ้านดีกว่า(แต่ใครจะเข้าไปเปิดดูตัวอย่างหนังสือจากเว็บของอเมซอนฟรีๆ อันนี้ไม่ว่ากัน)     เมื่อสตาร์บัคส์ชักจะไม่หอมกรุ่น หลังจากสตาร์บัคส์อังกฤษถูกเปิดโปงในรัฐสภาว่ามีมาตรการเลี่ยงภาษีที่ “ไร้จริยธรรม” บริษัทจึงรีบแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกนโยบายลดเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานเสียเลย โดยให้เหตุผลว่าต้องลดรายจ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือมาจ่ายภาษีมากขึ้น   นโยบายนี้มีผลต่อพนักงานประมาณ 7,000 คน ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์กว่า 750 สาขาในอังกฤษ ที่ต่อไปนี้จะไม่ได้ค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน 30 นาที ค่าจ้างในวันแรกของการลาป่วย เงินโบนัสพิเศษ หรือแม้แต่คูปองกินฟรีในวันเกิด   พนักงานบอกว่าพวกเขามีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ หนึ่งเซ็นรับทราบข้อตกลง/เงื่อนไขการจ้างงานใหม่ แล้วทำงานต่อไปเงียบๆ อย่าหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยเป็นอันขาด สองไม่เซ็นก็ได้ แต่ต้องลาออกไปโดยพลัน   สตาร์บัคส์แถลงว่า รายจ่ายของธุรกิจร้านกาแฟของบริษัทหมดไปกับค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานมากที่สุด บริษัทจึงใช้เวลาในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาปรับโครงสร้างรายจ่ายให้สมดุลกับการพัฒนาธุรกิจ   บริษัทบอกว่าได้ทำความเข้าใจกับพนักงานแล้ว โดยบางคนได้รับคำอธิบายจากผู้จัดการว่าสตาร์บัคส์ขาดทุนค่อนข้างมากในยุโรป จึงต้องหาวิธีลดรายจ่ายลง   แต่รายงานข่าวในช่วงก่อนหน้านี้บอกว่า ด้วยวิธีการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำให้สตาร์บัคส์เสียภาษีเพียง 8.6 ล้านปอนด์ (403 ล้านบาท) จากรายได้ทั้งหมด 3,100 ล้านปอนด์ (145,200 ล้านบาท) ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา   ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็ตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทนี้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา 15 ปีที่เปิดกิจการในอังกฤษ ทั้งๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 30   และที่สำคัญยังแถลงต่อผู้ถือหุ้นว่าบริษัททำกำไรได้ร้อยละ 15 ต่อปีด้วย   ตกลงมันยังไงกันแน่? แล้วทำไมภาระภาษีถึงมาตกอยู่กับพนักงานรายได้น้อยไปเสียได้?     บอกแล้วให้ซื้อรถใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์สิงคโปร์ (คล้ายๆ สคบ.บ้านเรา) ปีนี้ได้แก่ “รถมือสอง” ที่เบียดแชมป์เก่าอย่าง “ผลิตภัณฑ์ความงาม” ตกถนนไปเลย   ข่าวบอกว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถมือสองที่เคยครองอันดับ 9 ในปีที่แล้ว ขึ้นจากมาครองตำแหน่งแชมป์ในปีนี้ ด้วยสถิติเรื่องร้องเรียนถึง 2,255 กรณี (เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80)   สาเหตุเพราะปัจจุบันการจะซื้อรถใหม่ที่สิงคโปร์นั้นต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่อง “ใบรับรองการเป็นเจ้าของรถ” ที่สูงถึง 92,100 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ... โอ้แม่เจ้า ... นี่ยังไม่ได้รวมราคารถเลยนะ) ที่สำคัญเขาบอกว่าใบรับรองฯ ที่ว่านี้ยังสามารถแพงได้อีก   ก็คงมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อรถใหม่ได้ ส่วนครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางก็ต้องพึ่งรถมือสองซึ่งนอกจากจะเกเรอยู่บ่อยๆ แล้วยังจะฝ่าฝืนนโยบายลดมลพิษด้วยการพ่นควันดำกระจาย...ให้รัฐบาลปวดหัวอีกด้วย     เวียดนามร้องซีพีขายไข่ไก่แพง หลังจากชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามามากว่าราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี   กรมอุตสาหกรรมและการค้าแห่งนครโฮจิมินห์เรียกตัวแทนของซีพีเวียดนามเข้าชี้แจงนโยบายการตั้งราคาไข่ไก่ของบริษัทโดยด่วน   กรมฯ บอกว่า ไข่ที่นำเข้าตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วก็ยังเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ  ราคาอาหารไก่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แล้วเหตุใดซีพีท่านจึงขึ้นราคาเสียเล่า   ซีพีออกมายอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับราคาไข่ไก่ขึ้นหลายครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเทศกาลเต๊ดหรือตรุษจีนของเวียดนาม ที่ความต้องการสูงเป็นพิเศษ แต่สัญญาว่าต่อไปนี้จะตั้งราคาให้เป็นธรรมขึ้น   เกษตรกรขายไข่ให้ซีพีในราคาฟองละ 1550 ด็อง (2.2 บาท)  รวมค่าขนส่งค่าบรรจุหีบห่อแล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ด็อง (2.4 บาท) แต่ ณ วันที่ 15 มกราคม ซีพีเวียดนามขายที่ราคา 2,500 ด็อง (3.5 บาท)   ตามกฏหมายเวียดนาม การฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีความผิด ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 5 – 10 ของรายได้บริษัท   ปี 2011 ซีพีเวียดนามมีรายได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (44,670 ล้านบาท) //

อ่านเพิ่มเติม >