ฉบับที่ 143 ร่ายมนต์ “รักษ์” แม่กลอง

  “ค่าหัวผม 1 ล้านบาท ตอนโรงทอผ้ามาสร้าง เขาให้เลือกว่าจะเอาอะไร ‘เงินหรือลูกปืน’” ศิริวัฒน์ คันทารส ผู้ประสานงานประชาคมคนรักแม่กลอง เอ่ยถึงค่าหัวของเขาเมื่อครั้งเขาและทีมลงให้ข้อมูลกับชาวบ้านทั้งข้อมูลชุมชน  สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เมื่อตอนที่โรงงานทอผ้าจะมาสร้างในพื้นที่กับชาวบ้าน ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณไปคุยกับ “กลุ่มประชาคมคนรักแม่กลอง” ว่า “ร่ายมนต์แบบไหน” คนแม่กลองถึงรักกันหนักหนา วิถีคนแม่กลองเป็นอย่างไร แม่กลองถือเป็นเมืองสวนกระแสโลก ถึงแม้จะแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  แต่วิถีชีวิตผู้คนยังคงอยู่กับวิถีเดิมๆ และเป็นเมืองที่อยู่กับทรัพยากร  สิ่งแวดล้อมเพราะทรัพยากรเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต และกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมือง  คนยังอยู่น้ำ  ลม ทรัพยากรและภูมิปัญญา เป็นสังคมเกษตรกับสังคมประมง ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้ายังทำอาชีพยังทำเกษตรกับประมงเป็นหลัก การดูแลรักษาธรรมชาติก็ไม่ต้องพูดถึงละเพราะเขายังหาอยู่ หากินกับสิ่งเหล่านี้  หาอยู่หากินเองได้คนจึงทะนงตัว และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เพราะว่าไม่ต้องพึ่งใคร และมีวัฒนธรรมรวมกลุ่มน้อยมาก มีศักดิ์ศรีอยู่ในตัวสูง   เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ในปี พ.ศ. 2518 - 2521 ที่เปลี่ยนเพราะนโยบายรัฐ จุดเปลี่ยนจุดแรกก็คือการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ กับเขื่อนวชิราลงกรณ์ที่ส่งผลทำให้คนอพยพออกนอกพื้นที่  ส่งผลต่อระบบนิเวศ สร้างเขื่อนศรีนครินทร์ส่งผลอย่างไรกับชาวบ้าน พอน้ำจืดถูกกักก็ทำให้น้ำเค็มดันขึ้น ทำให้ต้นไม้ในสวนต่างๆ  ตาย พืชผลต่างๆ ตายหมด บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนคิดว่าเป็นภัยแล้ง คนในพื้นที่ก็อพยพย้าย  แล้วคนนอกพื้นที่ก็เริ่มเข้าซื้อที่ดินทำนากุ้ง  คือพอน้ำทะเลหนุนพื้นที่สวนจะแย่ แต่พื้นที่ทางทะเลจะดี ก็เลยกลายเป็นยุคทองของประมงชายฝั่ง แล้วก็มาเจอนโยบายเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ถือเป็นโอกาสของคนแม่กลองเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืน คนออกรถใหม่เป็นว่าเล่น เพราะราคากุ้งดี แต่ทำสัก 3 ปี ยุคทองก็หมด สักปี 2530 ที่ดินก็เริ่มเปลี่ยนมือไปสู่ผู้ประกอบการทั้งซีพี  ปตท. กระทิงแดง แล้วก็พวกพ่อค้าที่ดินที่กว้านซื้อเป็นร้อยๆ ไร่ ก็เลยมีคำๆ หนึ่งว่า “กุ้งกินโฉนด” ตอนแรกก็กินอาหารเม็ด แต่หลังๆ เริ่มกินโฉนด ชาวบ้านก็ยังไม่รู้สึกอะไร  แต่เราสูญเสียป่าชายเลนไปเยอะมาก ตอนนี้เราเหลือเพียง 100 เมตรจากชายฝั่ง  สักปี 2534 ก็เริ่มมีการรวมตัวของชาวบ้านที่คลองโคลนในการอนุรักษ์ป่าชายเลนเพราะระบบนิเวศหาย ทรัพยากรมันเปลี่ยน  และไม่อยากให้ผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐสร้างความลำบากยากแค้นแก่ชาวบ้านชาวเมืองที่ไม่เคยรับรู้ว่าจะมีผลกระทบเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ปัญหาอะไรที่ทำให้เห็นพลังคนแม่กลอง ทั้งที่คนแม่กลองไม่ชอบการรวมตัว รวมหมู่ วิกฤตโรงไฟฟ้าราชบุรีเป็นจุดเริ่ม ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีแนวคิดขนส่งน้ำมันเตาผ่านลำน้ำแม่กลอง ไปยังโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี จึงมีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งสองฝั่งปากน้ำแม่กลองที่อาจเกิดขึ้น จากวิกฤตนี้  ผู้คนจึงรวมกันได้มากขึ้น องค์กรต่างๆ เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา [LDI] ได้เข้ามาร่วมทำงาน  ตามมาด้วยการจัดประชาพิจารณ์ของสภาพัฒน์ฯ  ในเวทีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ช่วงปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) และถือว่าเป็นการจัดตั้งกลุ่มประชาคมรักแม่กลองขึ้นอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 9/9/99 เพื่อดูแลและ ติดตามผลจากการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่มีผลกระทบต่อผู้คนและสังคมท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงคราม  แล้วก็มาต่อด้วยโรงฆ่าหมู เป็นการสร้างโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ 2,000 ตัวต่อวัน บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างน้ำเค็มกับน้ำกร่อย ซึ่งก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างไปในทะเล ประชาคมฯ ทำงานกับชาวบ้านอย่างไร การทำงานระยะแรกของกลุ่มประชาคมฯ ใช้บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรฯ เป็นสถานที่พบปะพูดคุย มี หอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามเป็นแนวร่วมสำคัญ เราเริ่มพูดคุยชวนคน ทำข้อมูลความรู้  เสนอข้อมูลว่าความเป็นอยู่ในชีวิตเป็นอย่างไร  ระบบนิเวศเป็นอย่างไร ถ้าได้รับกระทบจะเกิดอะไรขึ้น ก็ได้มวลชนจากพื้นที่ชายคลองเยอะทั้งยี่สาน ปลายโพงพาง บ้านแพรก หนามแดง บางกระบูน การให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่มีความสำคัญมาก เพราะเราเชื่อว่าคนผูกพันกับสิ่งแวดล้อม พี่ๆ ในประชาคมลงทำข้อมูลกับชาวบ้าน เก็บข้อมูลต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าบ้านที่เราอยู่เป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร แล้วถ้ามีโรงงานเข้ามาจะส่งผลอย่างไร แล้วก็นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการทำงานสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน  การต่อสู้เรื่องโรงฆ่าสัตว์ครั้งนั้นก็เลยได้ประกาศจังหวัดเรื่องการกำหนดประเภทโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสงคราม ว่าต้องเป็นโรงงานที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบท้องถิ่น ประมาณปี 2548 หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องเส้นทางลัดสู่ภาคใต้จะได้มวลชนแถบชายฝั่งทะเล  คลังแก๊ส โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชายทะเลบางแก้ว แล้วก็เริ่มขยับเป็นเครือข่ายจังหวัด หัวใจของการทำงานคือ หัวใจสำคัญในการผลักดันกระบวนการทำงานร่วมกัน คือ เน้นการใช้ฐานข้อมูลพื้นฐานที่เป็นภูมิปัญญา ที่สั่งสมมาจากรากเหง้าของคนแม่กลองผสมผสานกับความรู้ในระดับครัวเรือน ทำให้มี ข้อเท็จจริงเป็นเครื่องมือในการผลักดันการแก้ไขปัญหา ผนวกกับความรักแบบจริงใจต่อท้องถิ่นที่เป็น บ้านเกิดเมืองนอนมากกว่าการเน้นรักษาเพียงอย่างเดียวจึงทำให้มีทิศทางหรือเป้าหมายการดำเนินงานเดียวกัน มีการทำข้อมูลทางทะเล ข้อมูลน้ำ ข้อมูลลม เพราะเราเชื่อว่าแนวคิดหลักของประชาคมคนรักแม่กลองคือไม่ได้ทำหน้าที่ไปบอกชาวบ้านว่าทำอะไรไม่ดี หรือจะเกิดผลกระทบอย่างไร แต่เรามีหน้าที่ไปทำให้เห็นว่า ‘ชีวิตมันเป็นแบบนี้  โครงการต่างๆ ของโรงงานมันเป็นแบบนี้ ก็ให้ชาวบ้านช่วยกันตัดสินใจ ว่าเป็นอย่างไร’ เคยถามน้องๆ ที่ไปเจอตอนร่วมต่อต้านโรงไฟฟ้า ว่าไม่อยากมีเมืองที่เจริญเหรอ น้องตอบกลับมาว่าถ้าอยากเห็นความเจริญก็ไปเที่ยวกรุงเทพฯ ได้ ห้างสรรพสินค้าก็ไปเดินกรุงเทพฯ  อยากเก็บเมืองนี้ไว้อยู่  เก็บเมืองนี้ไว้ตาย อยากให้เมืองนี้อากาศดี น้องเขาตอบแบบนี้   ถ้าจะเห็นภาพชัดก็คือการลุกขึ้นสู้โรงไฟฟ้าของคนแม่กลอง มีทั้งชาวบ้าน นักเรียน เยาวชน พระ มีการทำหนังสือ “คนแม่กลองไม่เอาถ่าน” ระดมทุนเพื่อสู้โรงไฟฟ้า  มีคนช่วยทำเว็บไซต์  หาข้อมูลมาสู้กับโรงไฟฟ้า  ชาวบ้านสามารถพูดได้ ให้ข้อมูลได้ทุกคน  เพราะเขารู้ เขาเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงไฟฟ้า  ถึงที่สุดแล้วชาวบ้านก็จะเข้าใจได้และรวมกลุ่มกันสู้เพื่อบ้านของตัวเอง ปัญหาที่คนแม่กลองรับมืออยู่เปลี่ยนไปจากเดิมไหม ความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาตอนนี้ไม่ใช่มาแบบ โครงการใหญ่ ๆ แต่จะเข้ามาแบบเล็กๆ อย่างโรงแรมขนาดเล็ก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่เหมือนโครงการใหญ่ของรัฐที่เหมือนยักษ์ที่เราดูออกว่า  เราต้องถูกกินแน่ๆ จะมาแบบเทพบุตรที่นำผลประโยชน์ต่างๆ มาให้ชาวบ้าน  ทำให้ชาวบ้านมองผลประโยชน์ตัวเองเป็นตัวตั้ง ตัวเองได้ประโยชน์ ชุมชนได้ประโยชน์ อย่าง “ชูชัยบุรี ศรีอัมพวา” ชูชัยบอกว่าจะให้ไปขายของ อ่ะได้ประโยชน์   โรงงานเหล็กมาให้เงิน 2,000 บาท อ่ะฉันได้ประโยชน์  โรงงานทอผ้ามาบอกว่าจะดูแลรับคนเข้าทำงาน อ่ะฉันได้ประโยชน์  ชุมชนได้ประโยชน์ก็อย่างเช่น โรงเรียนได้เงิน วัดได้เงิน แต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ร่วมกับที่อื่นจะไม่สนใจ  ค่อยๆ ถูกแยกออกไป ภาพก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปจากภาพกว้างที่มองเห็นประโยชน์ร่วมกัน  ถูกทำให้มองแยกเป็นส่วนย่อย ทางออกกับปัญหารูปแบบใหม่นี้ควรจะทำอย่างไร ผมคิดว่าเราต้องทำข้อมูลให้เยอะขึ้นมากกว่าความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจให้กับคนให้มากกว่านี้   พยายามทำงานแบบเป็นภาคีเครือข่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้นำเดี่ยวตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งส่วนบุคคลไปให้มากที่สุด แต่พยายามให้ข้อมูลเชิงข้อเท็จจริง เพื่อให้สามารถใช้ในการประสานงานหรือรู้สำนึกในการทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด การเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของชีวิต และทำงานแบบมีภาคีเครือข่าย เพราะชุมชนไม่สามารถจัดการปัญหาได้เพียงลำพังแต่จะอาศัยพลังทางสังคมในการประสานความร่วมมือขับเคลื่อนร่วมกันปัญหาทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ครับ   ถ้าจะเห็นภาพชัดก็คือการลุกขึ้นสู้โรงไฟฟ้าของคนแม่กลอง มีทั้งชาวบ้าน นักเรียน เยาวชน พระ มีการทำหนังสือ “คนแม่กลองไม่เอาถ่าน” ระดมทุนเพื่อสู้โรงไฟฟ้า  มีคนช่วยทำเว็บไซต์  หาข้อมูลมาสู้กับโรงไฟฟ้า  ชาวบ้านสามารถพูดได้ ให้ข้อมูลได้ทุกคน  เพราะเขารู้ เขาเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงไฟฟ้า  ถึงที่สุดแล้วชาวบ้านก็จะเข้าใจได้และรวมกลุ่มกันสู้เพื่อบ้านของตัวเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point