ฉบับที่ 132 น้ำท่วมก่อนงานวิวาห์ ขอเรียกค่าจัดงานแต่งคืน

คุณพลวิษฐ์ ได้ฤกษ์หามยามดีกำหนดแต่งงานกับเจ้าสาวในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เลยเถิดถึงขั้น “เอาไม่อยู่” ในช่วงเวลานั้นพอดีตอนนั้นกำหนดสถานที่จัดงานแต่งไว้ที่หอประชุมกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากะว่าได้บรรยากาศสุดๆ  ลงทุนว่าจ้างธุรกิจรับเหมามืออาชีพจัดงานแต่งอย่างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์มาจัดโต๊ะจีนเลี้ยงแขกเหรื่อในวันงาน วางเงินไปถึง 70,000 บาทเป็นค่ามัดจำการจัดงานยังไม่ทันจะเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มวลน้ำก้อนใหญ่ก็ถาโถมถล่มเข้ากรุงเทพฯ เสียก่อนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม เห็นแววว่าจะ “เอาไม่อยู่” ผู้คนเริ่มทยอยอพยพหนีภัยน้ำท่วมกันจ้าละหวั่น คงไม่มีใครจะมีกะจิตกะใจมางานแต่ง และขืนฝืนจัดงานไปอาจมีเพียงแค่สองบ่าวสาวลอยคอพิสูจน์รักกันอยู่กลางน้ำเป็นแน่ เลยตัดสินใจเลื่อนงานแต่งไปเป็นวันคริสมาสต์วันที่ 25 ธันวาคม 2554 และเปลี่ยนสถานที่หนีน้ำไปที่โรงแรมมณเฑียรแทนเมื่อรู้แน่ว่าจะไม่แต่งงานในวันและสถานที่เดิมด้วยเหตุมีภัยน้ำท่วม คุณพลวิษฐ์จึงมีอีเมล์แจ้งบอกยกเลิกโต๊ะจีนที่ว่าจ้างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์จัดหาให้ โดยแจ้งบอกเลิกก่อนวันแต่งวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นเวลา 12 วัน และขอเงินค่ามัดจำ 70,000 บาทคืนคำตอบที่ผู้รับเหมาจัดงานแต่งแจ้งกลับมาคือ คุณพลวิษฐ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทมีสิทธิยึดเงินดังกล่าวทั้งหมด คุณพลวิษฐ์จึงตั้งคำถาม ถามมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า  การที่จะยกเลิกโต๊ะจีนเพราะมีเหตุคาดว่าน้ำจะท่วมและขอเงินมัดจำคืนในทางกฎหมายนั้น จะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ เพราะทางบริษัทบอกแต่เพียงว่าเราเป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องคืนเงินมัดจำ“ผมว่ามันไม่เป็นธรรมกับผมเลยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่ไปว่าจ้างให้ใครมาจัดงานแต่ง เป็นธุระจัดหาโต๊ะจีนมาเลี้ยงแขกแทน ต้องมีซุ้มดอกไม้ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวยืนถ่ายรูปกับแขกเป็นที่ระลึก มีน้ำแข็งแกะสลักปล่อยให้ละลายเป็นน้ำอยู่ในงาน หรือต้องมีเค้กให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ตัดแบ่งแจกเป็นทานให้กับแขกที่มาร่วมงาน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587 คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นตามแต่ถ้ากิจกรรมที่จ้างไปแล้วยังทำไม่แล้วเสร็จ อาจจะทำไปแล้วเพียงบางส่วน เช่น ผู้รับจ้างเริ่มติดต่อประสานงานหาคนมาออกไอเดียว่าจะแกะน้ำแข็งเป็นรูปหมาหรือรูปควายคู่ตั้งไว้กลางงานดี จะทำซุ้มประตูเข้างานแบบไหน เค้กจะเป็นรูปอะไรจะทำกี่ชั้น ซึ่งเป็นงานทางความคิดที่ต้องดำเนินเตรียมการกันเป็นอาทิตย์ก่อนจะทำกันจริงในก่อนวันงานวันหรือสองวัน แต่เมื่อมาถูกผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียกลางคันไม่ว่าเหตุที่เลิกจ้างจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 605ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ สมควรใช้วิธีการเจรจากันเพื่อที่จะตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการไป ไม่ใช่จะไปเจรจาเพื่อขอเงินค่ามัดจำคืนทั้งหมด ตรงนี้ก็จะไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายผู้รับจ้างได้เช่นกัน เพราะเขาอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้วในบางส่วนก็เป็นได้ผลของการเจรจาปรากฏว่า คุณพลวิษฐ์ได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 49,000 บาท ถูกหักเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับการบอกเลิกสัญญาไป 21,000 บาท เงินที่เสียไปจำนวนนี้หากคุณพลวิษฐ์พอมีเวลาอาจจะยื่นเรียกค่าเสียหายฟ้องรัฐบาลในฐานที่ประกาศว่า “เอาอยู่” แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับ “เอาไม่อยู่” ก็ได้  

อ่านเพิ่มเติม >