ฉบับที่ 159 ความมั่นคงด้านอาหารเป็นเรื่องของทุกคน

ฉลาดซื้อ ฉบับนี้จะพาไปพบกับนักกิจกรรมทางสังคมด้านการเกษตร แถวหน้าของประเทศไทย วิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ( BioThai ) ที่มีความฝันว่าวันหนึ่งเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันดับต้น ๆ ของโลก แต่มีปัญหามากมายเหลือเกินที่ยังไม่มีการแก้ไข และทำให้ผู้ชายคนนี้ตัดสินใจเลือกจะเดินทางเพื่อเป็นนักกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยจนเมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจทำงานรณรงค์เป็นอาชีพ  และทำงานรณรงค์เรื่อยมาจนกระทั่งมีผลงานเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อเนื่อง ยาวนาน  ผลงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ เกาะติดการเจรจาเขตการค้าเสรี  หรือ FTA , การรณรงค์ไม่ใช้สารเคมีในพืชผัก และที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อกลางปี 2556 ที่ผ่านมาคือ การตรวจข้าวหอมมะลิ ในปีนี้มูลนิธิชีววิถีทำกิจกรรมหลักอะไรบ้าง ก็มี 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกสุดคือ ฟื้นฟูทรัพยากรอาหาร เช่น พวกเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เราใช้คำว่า ทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของเรื่องอาหาร คือระบบอาหารสมัยใหม่นั้น ถ้าใครสามารถยึดตัวพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ในทางชีวะได้ เขาจะสามารถกำหนดระบบการผลิตอาหารได้เลย เราเคยได้ยินเรื่องการตัดแต่งพันธุ์พืช ตัดแต่งพันธุกรรมใช่ไหม มันกำหนดได้ว่าจะต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชยี่ห้ออะไร เป็นต้น เช่นเดียวกัน เราเปลี่ยนมาเป็นพันธุ์สัตว์ หรือพันธุ์ไก่สมัยใหม่ นอกเหนือจากซื้อพันธุ์มาแล้วเราต้องซื้ออาหาร อย่างเรื่องอาหาร มูลนิธิฯ จะเน้นทรัพยากรชีวภาพ พวกเราก็พยายามสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นให้ฟื้นฟูและพัฒนาพวกสายพันธุ์พืช สายพันธุ์สัตว์ต่างๆ ก็ทำครอบคลุมหลายพืช ตั้งแต่ข้าวไปจนถึงไก่พื้นเมือง แม้กระทั่งข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย เราก็ไปสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยนั้นสามารถปรับปรุงพัฒนา และผลิตพันธุ์พืชเหล่านี้ได้เอง ก็ทำร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรในท้องถิ่นนะ อันนี้เป็นงานพื้นฐานสำคัญ   งานที่สองนั้น เป็นงานที่ว่าด้วยเรื่อง การผลิตที่ยั่งยืน หมายความว่าเกษตรกรรมที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเป็นการเกษตรที่ใช้สารเคมีเยอะ การผลิตที่เกษตรกรรายย่อยในชุมชนนั้นไม่ได้ประโยชน์ และมีแนวโน้มจะถูกแทนที่โดยระบบเกษตรอุตสาหกรรม เกษตรกรรมแบบนี้นั้นต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก ประเด็นนี้เราก็พยายามเสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนการผลิตที่ไม่ยั่งยืน อย่างเช่น เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ  เกษตรอินทรีย์เป็นต้น ก็ทำมาตั้งแต่ปี 2530 จุดเริ่มต้นคือปี 2527 ก็เกือบ 30 ปีแล้วที่ทำงานพวกนี้มาตลอด ปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเกษตรยั่งยืน แต่เดี๋ยวนี้คนเขาอาจจะฮิตเกษตรอินทรีย์กันซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเกษตรยั่งยืนที่เป็นงานของเรานะ ส่วนอันที่สามนั้น คือเกี่ยวข้องกับ วิธีการจัดการอาหารเพื่อสุขภาพวิถีไทย งานที่ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการบริโภค การตลาดที่เกื้อกูล เอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและสุขภาพของผู้บริโภค ก็เป็นแนวความคิดว่าเรื่อง กินเปลี่ยนโลก ส่งเสริมวิถีการบริโภคที่ดี เกื้อกูลต่อความยั่งยืน คำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม และงานบริโภคนั้นมันจะเกี่ยวข้องกับการตลาด การตลาดเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เราเองก็พยายามส่งเสริมตลาดท้องถิ่น หรือตลาดเกษตรกรนะ (Farmer Market) เพราะเล็งเห็นว่าระบบตลาดสมัยใหม่นั้นมีแนวโน้มที่อาหารการกินจะมาจากระบบอุตสาหกรรม เน้นการผลิตที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก รวมไปถึงระบบอาหารมันจะไม่หลากหลายอีกต่อไป ซึ่งปัญหาแบบนี้ในตะวันตกก็มี แต่จริงๆ มีงานส่วนที่สี่ด้วยนะ ว่าด้วยเรื่องนโยบาย ติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหารต่อเนื่องตั้งแต่ประมาณปี 2540 ประมาณ 17 ปี ที่ทำงานด้านนโยบายมาต่อเนื่อง เช่นเราก็ติดตามประเด็นเรื่องจำนำข้าว เป็นต้นนะ ก็ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตามดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อข้าวถูกสต๊อกไว้จนมันเน่า ประเด็นเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรามีเครือข่ายชื่อว่าไทยแพน ( Thai-Pan)  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญในส่วนที่เป็นการเฝ้าระวัง การตรวจสอบข้าวสาร เรื่องผัก ไปจนถึงเรื่อง FTA ที่เราทำไปกับ EU นั้นประเด็นที่มีผลกระทบกับเกษตรและอาหาร หรือทรัพยากรชีวภาพ ก็มีการทำงานร่วมกับนักวิชาการ เครือข่ายเกษตรกร และรวบรวมปัจจัยต่างๆ ในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพื่อให้รัฐบาลมีจุดยืนที่ถูกต้องในการเจรจา FTA ในภาพรวม งานก็ค่อนข้างเยอะแต่คนทำงานเราก็ไม่ได้มากมายนะ อาศัยที่ว่าเครือข่ายที่ทำง่านกับพวกเรานั้นมันมีมิตร มีเพื่อนที่เป็นเครือข่ายกัน งานมันก็เลยทำออกไปร่วมกันได้ อีกเรื่องเราพบความจริงว่าผักและผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดทุกระดับ ที่โฆษณาว่าเป็นผักผลไม้ปลอดสารได้มาตรฐาน GAP มันไม่ได้ปลอดภัยมากไปกว่าผักผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดสด ในหลายกรณีเราพบว่ามันแย่กว่าด้วยซ้ำ ขณะนี้ สาธารณการณ์ด้าน FTA , สารเคมีในผัก อยู่ ณ จุดไหน ประเด็นเรื่อง FTA นั้นเป็นนโยบายระดับประเทศ ซึ่งคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว การที่รัฐบาลจะไปเจรจากับ FTA กับใครอย่างไง คนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริโภคที่จะไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หลังจากที่เราติดตามเรื่อง FTA เราพบว่ากระทบโดยตรงกับเกษตรกรและผู้บริโภค ยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือว่า กรณีการเจรจา FTA แรกๆ ที่ประเทศไทยมีการเจรจา เช่น ในปี 2546 เราเจรจากับไทยและจีน ซึ่งมีการตกลงให้มีการเปิดเสรีผักและผลไม้ ปรากฏว่าเมื่อมีการลดภาษีเป็นศูนย์ ผักและผลไม้ที่มาจากจีนก็จะทะลักเข้ามาในประเทศ เกษตรกรที่ปลูกกระเทียม เป็นต้น ที่ได้รับผลกระทบ พื้นที่การผลิตลดลงฮวบฮาบ เหลือประมาณ 60 % เพราะกระเทียมจีนราคาถูกกว่า แต่ว่าเมื่อผ่านไประยะหนึ่งเมื่อเกษตรกรเลิกผลิตและไม่หวนกลับมาผลิตแล้ว กระเทียมจีนก็ราคาสูงพอๆ กับกระเทียมไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วกระเทียมไทยมีคุณภาพมากกว่าด้วยซ้ำ ที่เราเคยคิดว่าการทำ FTA มีผลกระทบใบเชิงบวกต่อผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูกลงก็ไม่ใช่ อีกกรณีที่เห็นชัดเจนตอนนี้ คือเรื่องส้ม เมื่อก่อนเรามีส้มไทยเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันส้มจีนทะลักเข้ามา แต่มันมีสาเหตุอื่นด้วยนะ คือ มีการเปลี่ยนพื้นที่การปลูกผลไม้ไปเป็นยางพาราก็มีผลต่อราคาผลไม้ แต่ว่าสาเหตุอีกอันก็คือเรื่อง FTA ส้มจีนราคาถูกกว่า ที่นี่ส้มไทยก็กลับมีราคาแพง แล้วถ้าไปดูการบริโภคผลไม้ท้องถิ่นของคนไทยนั้นเริ่มลดลงไปบริโภคผัก และผลไม้เมืองหนาวมากขึ้น ยกตัวอย่าง ตอนนี้ในขณะที่เราส่งออกทุเรียนหรือมังคุดนั้นได้ตัวเลขไปดูข้อมูลจากเฟซบุค ของมูลนิธิชีววิถี  ไบโอไทย ( BioThai ) แต่เรานำเข้าส้ม แอปเปิ้ล องุ่น จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่เรานำเข้ามานั้นก็ผ่านเรื่อง FTA ด้วย ไม่ว่าจะเป็นส้มมาจากจีน แอปเปิ้ลจากจีนบ้าง จากออสเตรเลียบ้าง คนไทยแทนที่จะกินผลไม้ได้หลากหลายก็ต้องกินผลไม้ที่ไม่หลากหลาย มิหนำซ้ำยังไม่ถูกอย่างที่เราเคยตั้งใจ แล้วผักและผลไม้พวกนี้เราพบว่ามันมีปัญหาเรื่องมาตรฐานความไม่ปลอดภัยด้วย เพราะว่ากลไกการนำเข้ามานั้นมันมีการผลิตอยู่ในต่างประเทศ เรายิ่งไม่สามารถไปควบคุมได้ นี่เป็นปัญหาที่ยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องการเจรจา FTA แต่ที่จริงมีอีกหลายเรื่องที่น่าห่วงใยมากกว่านี้ เช่น ไก่ รัฐบาลที่ผ่านมาเริ่มเจรจากับทาง EU ซึ่งมีการเจรจาเป็นรอบที่ 3 ทาง EU เรียกร้องให้ไทยยอมรับกฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืช การใช้ระบบกฎหมายที่เรียกว่า ยูปอฟ (UPOV) 1991เข้ามาบังคับใช้ ซึ่งในระยะยาวจะมีผลทำให้ไม่สามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ต่างประเทศสามารถเข้ามาใช้ทรัพยากรชีวภาพในประเทศ และในที่สุดจะส่งผลให้ผักนั้นราคาแพง ถูกผูกขาดยิ่งขึ้น อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ก็เบาใจที่ว่าการเจรจานี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้เพราะปัญหาทางการเมือง ก็น่าเป็นห่วงว่าการเจรจาต่อจากนี้จะไปในทิศทางไหน ทีนี้เรื่องที่เราตามเรื่องสถานการณ์การใช้สารเคมีเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวเนื่องกับบทบาทของบริษัทสารเคมี เกี่ยวเนื่องกับกลไกของระบบราชการที่ว่าด้วยการจัดการสารเคมี เกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลผลิตอาหาร และแน่นอนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรด้วย สารเคมีเป็นเรื่องใหญ่ที่พบว่าหลังจากที่เราทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วนั้น สถานการณ์ในประเทศเราย่ำแย่มากๆ  เราติดตามเฝ้าระวัง 2 ระดับ ระดับ 1 นี่คือดูปัญหาผัก ผลไม้ที่เราส่งออกว่ามันมีปัญหาอย่างไร คือประเทศไทยนั้นส่งออกผลไม้ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร แต่ว่าน้อยกว่าหลายประเทศ อย่างเช่น ตุรกี จีน แต่เรากลับพบว่าในหลายปีทางฝั่งยุโรปพบว่าสารตกค้างของไทยนั้นมันมากกว่าของประเทศที่เขาส่งออกมากกว่าเราหลายสิบเท่าตัว อันที่ 2 คือเรามาดูเรื่องของการตรวจสอบเฝ้าระวังตลาดในประเทศ ซึ่งทำงานร่วมกับฉลาดซื้อ สถานการณ์นี้ก็น่าสนใจมาก เราพยายามทำข้อมูลให้ต่อเนื่องเพื่อที่เราจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่า ผักและผลไม้ที่ขายอยู่ในประเทศที่เราซื้ออยู่ในปัจจุบันนั้นประมาณ 30 % ขึ้นไปที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน อีกเรื่องเราพบความจริงว่าผักและผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดทุกระดับ ที่โฆษณาว่าเป็นผักผลไม้ปลอดสารได้มาตรฐาน GAP มันไม่ได้ปลอดภัยมากไปกว่าผักผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดสด ในหลายกรณีเราพบว่ามันแย่กว่าด้วยซ้ำ ที่ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าการไปซื้อผักผลไม้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ผักที่ติดตรา GAP จะได้รับความปลอดภัยมากกว่าแต่ผลการตรวจสอบมันไม่ใช่ นี่คือความจริงที่โหดร้ายนะที่สาธารณูปโภคทุกระดับมีความเสี่ยงภัยพอๆ กัน มันน่าจะเป็นสัญญาณให้เราจัดการกับการใช้เรื่องสารเคมีกันได้เสียที เพราะฉะนั้นนอกจากการตรวจสอบเฝ้าระวังเรายังทำงานอีก 2 อย่างควบคู่ไปด้วย อันที่ 1 คือ การควบคุมต้นทาง คือ รณรงค์ยกเลิกการใช้สารเคมี 4 ชนิด ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เมื่อรัฐบาลมีมติให้ยกเลิกสารเคมี 2 ชนิด คือ อีพีเอ็นและ ไดโครโตฟอส ส่วนอีก 2 ชนิดนั้นยังไม่มีการยกเลิกแต่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน คือคาร์โบฟูรานและ เมโทมิล ถือว่าการทำงานของพวกเราก็บรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง แต่แน่นอนมันยังไม่พอแน่ๆ เพราะเราเคยประมวลว่าถ้าต้องมีการปฏิรูประบบการจัดการสารเคมีมันควรจะต้องแบสารเคมีมากกว่านี้ เพราะว่าทั้งในอเมริกาและยุโรปบางประเทศหลังจากปฏิรูประบบนั้น เขากวาดล้างสารเคมีที่เป็นอันตรายออกไปประมาณ 40 – 60 ชนิด ทางไทยแพนก็เลยทำงานร่วมกับนักวิชาการในหน่วยงานราชการ เช่น กรมการข้าว ,กรมควบคุมมลพิษ ,อย. และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ เราพยายามดึงนักวิชาการการเกษตรให้เข้ามาทำงานตรงนี้ ล่าสุดคณะทำงานมีข้อเสนอให้มีการแบนสารเคมีเพิ่มเติม ซึ่งภายใน 2 – 3 ปีนี้เราจะเสนอการยกเลิกอีก 15 ตัว แต่ว่าในช่วง 7 – 10 ปี ข้างหน้านั้นเราจะเสนอให้ยกเลิก 70 – 90 ตัว ซึ่งจะมีการศึกษาข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง พลังของผู้บริโภคสำคัญกับการขับเคลื่อนงานอย่างไร พลังผู้บริโภคนั้นสำคัญมาก อาจจะสำคัญที่สุดก็ว่าได้ที่จะทำให้ระบบอาหารของเรามีความยั่งยืน ปลอดภัย และมีความเป็นธรรม เราพบว่าการทำงานร่วมกับที่สำนักงานเชิงนโยบายนั้นมันได้ผลส่วนหนึ่งแต่ว่าในปัจจุบันถ้าผู้บริโภคซึ่ง จะว่าไปแล้วผู้บริโภคทุกคนแม้กระทั่งผู้กำหนดนโยบาย เกษตรกรต่าง แม้แต่ผู้ประกอบการต่างๆ ก็ต่างใช้สารเคมีนะ คนเหล่านี้คือผู้บริโภค เราเล็งเห็นว่าถ้าผู้บริโภคได้รับรู้ว่ามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อตัวเอง ต่อคนในครอบครัว เราเชื่อว่าผู้บริโภคนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ข้อจำกัดของผู้บริโภคที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าผู้บริโภคอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริงว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น การเลือกบริโภคของตัวผู้บริโภคเองนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกรณีที่ผักและผลไม้ แม้กระทั่งข้าวที่เห็นว่ามันไม่ปลอดภัยนั้น เราก็ไปเลือกซื้อไอ้ที่มันปลอดภัย อย่างที่เรารู้แล้วว่า GAP ที่เราคิดว่ามันปลอดภัยนั้นมันไม่ปลอดภัย สิ่งที่เราทำได้คือ ไปเลือกซื้อเกษตรระบบอินทรีย์เสีย ซึ่งตอนนี้ตลาดพวกนี้กำลังเติบโตมากขึ้นๆ ทุกที และการเติบโตนั้นก็มาจากการเลือกซื้อของเราด้วย การเลือกพวกนี้อาจจะไม่ง่ายเหมือนเลือกซื้อผลผลิตทั่วไป แต่ว่ามันก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันที่ 2 คือว่าเราเองสามารถผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวระบบ เช่น เราพบว่าผักชี พริก ถั่วฝักยาว มะเขือที่เราซื้อจากห้างขนาดใหญ่ ราคามันแพงมากแต่คุณภาพเลวกว่า เรามีสิทธิที่จะไปเรียกร้องให้ห้างเหล่านี้เขาปรับปรุงต่อการผลิต การตรวจสอบคุณภาพได้ ยกตัวอย่างล่าสุดเราตรวจผักแต่ยังไม่แถลงข่าว แต่ก็ได้เชิญห้างค้าปลีก ตลาดสดมาคุยกันให้แก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งเขาก็รับรองกับเราว่าจะมีการปรับปรุง จะเห็นว่าถ้าผู้บริโภคมารวมตัวกันเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องนี้ร่วมกัน เราก็จะมีระบบที่ดีได้ ซึ่งเรามองการบริโภคคือความปลอดภัย แต่ที่เราเห็นทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่ความปลอดภัยอย่างเดียวมันมีความมั่นคงด้านอาหาร ระบบอาหารที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจนี้มันยั่งยืน มีความเป็นธรรมเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมมันมีอีกหลายประเด็น เช่น ความไม่หลากหลายของอาหาร บางทีเราอาจลืมนึกไป เห็นว่าสะดวกสบายเข้าไปซื้อในห้าง แต่จะเห็นว่าอาหารพวกนี้มันไม่หลากหลายนะ เพราะฉะนั้นเราต้องผลักดันไปมากกว่านี้ คือมองไปที่ว่าทำอย่างไรจะสร้างระบบที่มันสามารถมีการผลิตที่หลากหลายขึ้นมาได้ ในต่างประเทศมันมีการขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคและเกษตรกรบางราย บางกลุ่มร่วมกันทำตลาดที่เป็น Farmer Market ขึ้นมา โดยการเอาผลผลิตจากเกษตรกรที่มีความหลากหลาย มีความสด เอามาจัดจำหน่าย แล้วเกิดกระจายขึ้นมาหัวเมือง ชุมชนต่างๆ ระยะทางการขนส่งอาหารก็ใกล้ขึ้น มันก็จะสด เกษตรกรได้สัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยตรง บางอย่างเราไม่เคยกิน เกษตรกรจะแนะนำได้ว่าผักเหลียงนั้นมันต้องปรุงอย่างไร คนในเมืองไม่เคยกิน กินแต่ผักบุ้งก็ได้กินผักเหลียงต้มกะทิ ผักเหลียงผัดไข่ มันเป็นอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการด้วย และยังปลอดภัยเพราะไม่มีการใช้สารเคมีเลย เป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่ผู้บริโภคมาอุดหนุนตรงนี้นั้นมันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นี่คือจะทำให้เห็นว่าการกินเปลี่ยนโลก การกินของเรามันคือการตัดสินใจของเรา การเปลี่ยนแปลงของเรา  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point