ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ผมอาถรรพ์ : ผม...ใครคิดว่าไม่สำคัญ

        ผม” มีสถานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แม้ว่าตามนิยามในพจนานุกรมจะมองว่า เส้นผมเป็นเพียงแค่ “ขนที่ขึ้นอยู่บนศีรษะ” หากทว่าผมก็อาจมีความสำคัญเกินกว่าที่เราจะตระหนักรู้ได้ โดยเฉพาะกับบรรดาคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย         ในละครโทรทัศน์แนวภูตผีเรื่อง “ผมอาถรรพ์” ก็ดูเหมือนจะออกแบบเนื้อหาให้เวียนวนอยู่กับความสำคัญของเส้นผมที่ขึ้นอยู่บนหนังศีรษะของผู้หญิงและคนเรา แบบเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง         เรื่องของเส้นผมที่ “ใครๆ อาจคิดว่าไม่สำคัญ” เริ่มขึ้นเมื่อเกิดเหตุ “เกศินี” นางแบบสาวสวยที่กำลังโด่งดังเปรี้ยงปร้าง ได้ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากคอนโดหรูของเธอ แม้หลักฐานของตำรวจจะยืนยันว่า เกศินีฆ่าตัวตายเอง แต่เพื่อนสนิทของเธอที่ชื่อ “มินตรา” กลับไม่ยอมรับ และเห็นว่า นั่นน่าจะเป็นฆาตกรรมอำพรางมากกว่า โดยมีพระเอกหนุ่มไฮโซอย่าง “กวิน” เป็นผู้ต้องสงสัยนับจากฉากเปิดเรื่อง         ด้วยเลือกจะฝืนอำนาจแห่งยมทูตไม่ให้นำพาดวงวิญญาณของเธอไปยังปรภพ เกศินีจึงกลายสภาพเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนและโดดเดี่ยว เมื่ออีกด้านหนึ่งเธอเองก็ไม่หลงเหลือไฟล์ความทรงจำว่า เกิดอะไรขึ้นในวันที่เธอร่วงหล่นมาจากตึกจนเสียชีวิต         คู่ขนานไปกับการดำรงอยู่เป็นวิญญาณเร่ร่อนเดียวดายนั้น อีกเงื่อนปมหนึ่งซึ่งละครได้ผูกเกลียวไว้ ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “เจน” แฟนคลับโรคจิตที่เคยมีเรื่องโกรธแค้นเกศินีตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ลอบมาเปิดโลงศพ และตัดผมอันยาวสลวยที่เกศินีทั้งรักทั้งหวงไปจากศพของเธอ เพื่อจะนำไปทำวิกผม         แต่เพราะเส้นผมเป็นสิ่งที่เกศินีรักยิ่งชีวิต วิญญาณของเธอจึงได้เข้ามาสิงสถิตอยู่ในวิกผม และเปล่งอำนาจคืนชีพขึ้นมา เพื่อสืบค้นความจริงเรื่องการฆาตกรรม และแก้แค้นตัวละครทั้งหลายที่เคยทำร้ายจนเป็นต้นเหตุให้วิญญาณเธอถูกพรากออกไปจากร่างก่อนวัยอันควร         ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เกศินีถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในวังวนของการถูกกระทำทั้งกาย วาจา และจิตใจ เพราะเมื่อเธอต้องเล่นบทบาททางอาชีพเป็นดารานางแบบชื่อดัง ทั้งความงาม เรือนร่าง และเส้นผมสีดำสลวยของเธอ ก็ไม่ต่างจาก “ปัจจัยการผลิต” อันนำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียง แต่ในเวลาเดียวกัน ความงามและเส้นผมก็กลายเป็นภัยคุกคามที่รายล้อมอยู่รอบตัวเธอตลอดเวลา         ตั้งแต่การต้องกลายเป็นศัตรูกับคนในแวดวงนางแบบอย่าง “เจ๊จิ๋ว” และ “แพรทอง” ผู้ทำให้เกศินีเรียนรู้ว่า ในสังคมเยี่ยงนี้ มนุษย์อาจไม่มีมิตรแท้ หากแต่เป็นศัตรูที่มาแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างกัน หรือการที่เกศินีถูกหักหลังจาก “หยก” พี่เลี้ยงนางแบบที่เธอไว้ใจ แต่อีกด้านก็เป็นประหนึ่ง “แม่เล้าไฮโซ” ที่คอยจัดหานางแบบสาวๆ มาป้อนบำเรอแก่ “เสี่ยมงคล”         และยิ่งไปกว่านั้น การที่เธอแอบคบหากับ “ปกรณ์” ช่างภาพหนุ่ม ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็ให้บทเรียนแก่เกศินีว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” เพราะเขาเองไม่เพียงแต่อยู่เบื้องหลังเป็นฆาตกรที่ผลักเธอตกตึกจนถึงแก่ชีวิต หากทว่ายังหลอกใช้เธอ ไม่ว่าจะตอนยังมีลมหายใจ หรือแม้จะตายกลายเป็นวิญญาณผีร้าย ก็ยังถูกชายคนรักหลอกเลี้ยงไว้เป็นเครื่องมือก้าวขึ้นสู่อำนาจและความมั่งคั่งร่ำรวย        เพราะที่ผ่านมา ชีวิตของเกศินีแทบจะหาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจจริงๆ ได้เลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตายลง เธอก็ยังถูกพรากเส้นผมอันเป็นของรักของหวงออกไปจากเรือนร่างที่ไร้ชีวิตอีก จึงไม่แปลกที่ความแค้นอันสั่งสมเหล่านี้ ทำให้จิตสำนึกที่ฝังลึกในใจของเธอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป         หากเราย้อนกลับไปดูวิธีคิดของสังคมยุคก่อน เส้นผมกับผู้หญิงถือเป็นตัวแปรที่ต่างกำหนดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บทชมโฉมนางในวรรณคดีก็ไม่พ้นต้องมีการชื่นชมเส้นเกศเกศาของอิสตรี หรือเครื่องประดับของทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้านก็ต้องมีส่วนที่เกี่ยวพันกับเส้นผมของผู้หญิงอยู่เสมอ         ด้วยเหตุนี้ เส้นผมจึงเป็นเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของสตรีเพศ ขณะเดียวกับที่ผู้หญิงก็ดูจะมีความรื่นรมย์ในการบำรุงรักษาเส้นผมของเธอมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และที่สำคัญ ทุกครั้งที่สังคมจะมีการลงทัณฑ์ต่อสตรีผู้มีวิถีปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐาน การกล้อนผมเพื่อประจานต่อสาธารณะ ก็เป็นหนึ่งในกุศโลบายแห่งการใช้อำนาจที่สังคมกระทำต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิง        เนื่องจากเส้นผมกลายเป็น “ปัจจัยการผลิต” ของผู้หญิง ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สังคมยุคอดีต ดังนั้น การพรากเอาเส้นผมที่เกศินีรักยิ่งไปจากร่างที่ไร้ชีวิตของเธอ จึงไม่ต่างไปจากการลงโทษลงทัณฑ์ที่สังคมกระหน่ำทำร้ายตัวละครที่เป็นวิญญาณผีเร่ร่อนอยู่นั่นเอง        เหตุแห่งปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาที่วิญญาณของเกศินีต้องออกอาละวาดเข่นฆ่าทุกตัวละคร ซึ่งต่างเป็นต้นเหตุแห่งความอาฆาตแค้น ด้วยวิธีบีบบังคับให้ใครต่อใครสวมวิกผมอาถรรพ์ เพื่อกำกับควบคุมร่างกายและจิตวิญญาณของจำเลยเหล่านั้น พร้อมกับประโยคที่เธอกำกับสั่งการว่า “สวมวิกเดี๋ยวนี้...!!!”         ภายใต้อำนาจอาถรรพ์แห่งวิกผมที่ตอบโต้ต่อกรกับอำนาจของสังคมที่กระทำต่อวิญญาณเกศินี เธอเองก็ได้คำตอบเมื่อเริ่มลิ้มรสของการเข่นฆ่าครั้งนี้ว่า “มันอาจจะยากตอนแรก แต่ตอนหลังมันก็เริ่มง่าย และมันทำให้ฉันมีความสุขมาก...ฉันจะส่งคนเลวๆ ที่รังแกฉันให้ตายไปลงนรกทุกคน”        การออกไล่ล่าและเข่นฆ่าตัวละครที่ตกเป็นจำเลยของเกศินีคนแล้วคนเล่า อาจสื่อความเป็นนัยได้ว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือหมดสิ้นลมปราณไป พวกเธอก็ยากจะหลุดพ้นจากบ่วงของกติกาอำนาจบางอย่างที่สังคมเข้ามากำกับเอาไว้ แต่เมื่อเธอได้ลิ้มรสชาติความรู้สึกแห่งการลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจนั้น แม้อาจจะยากในช่วงแรก แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักที่ผู้หญิงจะเริ่มต้นและเรียนรู้แต่อย่างใด         มาถึงฉากจบของเรื่อง ในด้านหนึ่งละครก็ยังเลือกใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ที่พระเอกหนุ่มกวินกับนางเอกสาวมินตราได้ลงเอยครองคู่กันอย่างมีความสุข หรือฉายภาพไฟแค้นที่มอดไหม้ลงของเกศินี หลังจากที่เธอได้ฆ่าปกรณ์คนรักหนุ่มให้ตายตกไปตามกัน พร้อมๆ กับเสียงอโหสิกรรมที่เกศินีกล่าวโทษตนเองว่า เธอเป็นคนผิดตั้งแต่เริ่มต้นไปรักเขา จนเป็นเหตุให้ “เพราะรักจึงยอมไว้ใจ” และ “เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง”         แต่ถึงกระนั้น อย่างน้อยละครก็เปิดมุมเล็กๆ ให้เกศินีได้ไตร่ตรองและทดลองเรียนรู้ว่า หาก “ชีวิตที่เป็นของผู้หญิง” “จิตวิญญาณที่เป็นของผู้หญิง” หรือ “เส้นผมที่เป็นของผู้หญิง” ถ้าผู้หญิงไม่ลุกขึ้นมาพิทักษ์ปกป้องสิทธิบนร่างกายและจิตวิญญาณของเธอเองแล้ว กลไกอำนาจบางอย่างก็พร้อมจะพรากสิทธิอันชอบธรรมเหล่านั้นไปจากร่างและวิญญาณของพวกเธอเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >