ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ห้างดังวางขายอาหารหมดอายุ

        ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง         เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย         แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ         คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้        1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน        3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น)         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เหตุผลที่ “สก๊อต” ไม่แสดงวันหมดอายุ

 คุณพรทิพย์ร้องเรียนมาว่า เครื่องดื่มสกัดเข้มข้น สก๊อต เพียวเร่ แสดงฉลากระบุเฉพาะวันที่ผลิต แต่ไม่มีการระบุวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน และการระบุวันที่ผลิตบนฉลากผลิตภัณฑ์บางส่วนพิมพ์ทับอยู่บนรูปภาพเครื่องหมายทางการค้า ขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยตรวจสอบให้ด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้มีหนังสือแจ้งข้อร้องเรียนข้างต้นไปถึงผู้ประกอบการคือ บริษัท สก๊อต อินดัสเตรียล(ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)บริษัท สก๊อตฯ มีหนังสือตอบกลับมาว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ข้อ 11.2 (ตามจริงคือ ข้อ 3(11.2)) กล่าวคือ  แสดง เดือนและปีที่ผลิต หรือ วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภคสำหรับอาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เข้าข่ายตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงเลือกระบุเฉพาะเดือนและปีที่ผลิตลงบนฉลากผลิตภัณฑ์ ส่วนตัวเลขด้านหลังที่ต่อจากเดือนและปีที่ผลิตตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า เลือนรางนั้น เป็นตัวเลขแสดงรหัสสินค้าการผลิตสำหรับใช้ตรวจสอบภายในบริษัทฯ เท่านั้น ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ(อย.) ขอความร่วมมือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีตรวจสอบสถานที่ผลิตบริษัทสก๊อตฯ พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มพรุนสกัดเข้มข้น ตราสก๊อตเพียวเร่ และเครื่องดื่มตราสก๊อตเพียวเร่ เท็นเบอร์รี่ ที่ฉลากไม่มีระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน และวันที่ผลิตมีการระบุไว้แต่ไม่ชัดเจน เนื่องจากพิมพ์ทับบนตราสินค้า แต่อาหารประเภทเครื่องดื่มสกัดเข้มข้น มิได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดงวันหมดอายุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือกับทางบริษัทฯ ให้แสดงวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ และแสดงวันที่ผลิตให้ชัดเจน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคสรุปว่า อาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ตามกฎหมายปัจจุบันไม่จำเป็นต้องแสดงวันหมดอายุก็ได้ จะบังคับเฉพาะอาหารที่เก็บได้ไม่เกิน 90 วันเท่านั้นที่ต้องแสดงวันหมดอายุบนฉลาก คำถามคือว่า แล้วชาวบ้านธรรมดาๆ เขาจะรู้ไหมนะว่า อาหารไหนเก็บได้เกินหรือไม่เกิน 90 วัน อันที่จริงหากจะเก็บได้เกิน 90 วัน ก็ควรจะมีขอบเขตอายุการขายอยู่บ้างน่าจะดีกว่ากระมัง

อ่านเพิ่มเติม >