ฉบับที่ 158 ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี

ข้าวที่ชาวบ้านปลูกนั้น เขาไม่กล้ากินเองเพราะกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีที่ปนมาจากเหมืองอะไรพวกนี้ น้ำดื่มก็ไม่กล้าดื่มน้ำบ่อ น้ำประปาในชุมชนของเขาเอง เพราะเขาก็เกรงว่าน้ำนั้นมันถูกปนเปื้อนด้วย เลยกลายเป็นว่าต้องไปซื้อน้ำขวดมากิน นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านนะที่จะดำรงชีวิตได้ จะเห็นว่าพอมันมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามามันก็กระทบการเป็นอยู่ของประชาชน เภสัชกรบุคลิกสุภาพ อ่อนโยน ใจดียิ้มแย้ม พร้อมท่าทีเกรงอกเกรงใจแม้กระทั่งกับผู้อ่อนวัยกว่า  คือลักษณะเด่น ของผู้ชายวัยห้าสิบกว่า มองผ่านๆ อาจไม่เชื่อว่า  หมอยาท่านนี้คือ  ผู้ผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขคนสำคัญของไทย ท่านเป็นหนึ่งในทีมงานที่โค่นระบบทุจริตยา(คดีคอร์รัปชั่นในตำนาน ปี 2540) เป็นผู้นำที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติเรื่องสารตะกั่วในตู้น้ำเย็นโรงเรียนจนขยับไปสู่การปลดแอกสารตะกั่วจากหม้อก๋วยเตี๋ยว  ทั้งยังผลักดันให้เกิดสารทดสอบค่าโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำที่ได้ผลค่อนข้างดีในราคาไม่แพง ซึ่งช่วยให้การรณรงค์เรื่องน้ำมันทอดซ้ำง่ายขึ้นมาก นอกจากนี้ยังเฝ้าระวัง ดูแลความปลอดภัย ตลอดจนให้ความรู้ ในเรื่องปากท้องของชาวบ้าน อย่าง อาหารการกินประจำท้องถิ่น เช่น น้ำปลา หน่อไม้ปี๊บ จนล่วงเลยไปถึงถึงสินค้าข้ามพรมแดนจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราที่ผ่านเข้ามาทางด่านชายแดนต้อนรับ AEC พื้นที่การทำงานในบทบาทของผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี  ที่ท่านเพิ่งจะมารับตำแหน่ง  หลังจากที่ทำงานในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 1 ทศวรรษ  “ ฉลาดซื้อ “ ฉบับนี้จึงขอนำแนวคิดที่น่าสนใจและมุมมองในการทำงานของ ภก.วรวิทย์  กิตติวงศ์สุนทร   ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี มาเล่าสู่กันฟัง   พอย้ายที่ทำงานใหม่มีปัญหาเหมือนที่เดิมไหมคะ ปัญหาที่พบแตกต่างนะพอย้ายจากอุบลฯ มาอุดรฯ ที่นี่มีการทำเหมืองแร่ทองคำ มีเรื่องแก๊ส ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะมากกว่าตอนอยู่อุบลฯ เพราะอุบลฯ นั้นไม่มีนิคมอุตสาหกรรม ไม่มีกิจการพวกนี้   ปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภคที่พบมีเรื่องอะไรบ้าง ดูแล้วมีปัญหากว่าภาคอีสานตอนใต้นะ เพราะว่าทางอุดรฯ มันต่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีการเข้า-ออกกันเยอะ สามารถเชื่อมไปถึงเวียดนามได้โดยสะดวก เพราะฉะนั้นเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพนั้นมีแนวโน้มอะไรที่ซับซ้อน นี่เป็น 1 เรื่อง เรื่องที่ 2 คือสิทธิของผู้บริโภคที่เขาควรจะมีหลักประกันว่าปัจจัย 4 ที่ประชาชนควรจะได้รับความปลอดภัย เนื่องจากเมื่อสักครู่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะพบว่าข้าวที่ชาวบ้านปลูกนั้น เขาไม่กล้ากินเองเพราะกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีที่ปนมาจากเหมืองอะไรพวกนี้ น้ำดื่มก็ไม่กล้าดื่มน้ำบ่อ น้ำประปาในชุมชนของเขาเอง เพราะเขาก็เกรงว่าน้ำนั้นมันถูกปนเปื้อนด้วย เลยกลายเป็นว่าต้องไปซื้อน้ำขวดมากิน นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านนะที่จะดำรงชีวิตได้ จะเห็นว่าพอมันมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามามันก็กระทบการเป็นอยู่ของประชาชน นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องอากาศนะ แต่ที่แน่ๆ มันมีปรากฏการณ์แล้วว่าชาวบ้านปลูกข้าวแล้วไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูก น้ำดื่มต้องไปซื้อเขากินจากเมือง ซื้อเป็นน้ำขวดมาดื่ม   จากการที่เจอปัญหาในพื้นที่มามากนั้น  การทำงานในเชิงนโยบาย เช่นการบริหารในส่วนกลางจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่าหรือไม่ เป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัวและโดยความเชื่อด้วย ความรู้สึกส่วนตัวคือ ไม่ชอบกรุงเทพฯ รู้สึกว่าเป็นเมืองที่คุณภาพชีวิตมันแย่ และคิดว่าการที่เรามีฐานชนบทนั้นคิดว่าลักษณะที่ชาวบ้านอยู่จริงนั้น คิดว่าการที่เราอยู่ตรงโน้นนั้นมันช่วยให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดีทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับประเทศได้ เลยคิดว่าอยู่ตรงโน้นถูกจริตตัวเองมากกว่านะ อันที่ 2 คิดว่าการที่เราอยู่กับฐานล่างนั้นที่มันจะส่งผลกับนโยบายสาธารณะในระดับประเทศ เลยไม่ได้สนใจที่จะอยู่ส่วนกลาง หรือกระทรวง ปัจจุบันก็เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลแล้ว สื่อมันมีช่องทางมากขึ้น ตรงนี้คิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีภูมิป้องกันจากเรื่องที่เข้ามาจากสื่อเหล่านี้ โดยส่วนตัวคิดว่าฐานชุมชนน่าจะเป็นคำตอบ เนื่องจากว่าสังคมทางอีสานนั้นถ้าเกิดระดับหมู่บ้านมันก็ยังมีความเป็นชนบทอยู่นะ แม้ว่าจะถูกพฤติกรรมการบริโภค การเข้าถึงสื่อ การคมนาคมที่คนจะเข้ามาปรึกษาหารืออะไรพวกนี้มันยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้ชุมชนเข้มแข็งรู้เท่าทัน ตระหนักว่ามันคือปัญหา และลุกขึ้นมาปรึกษาหารือกันได้ว่าจะจัดการอย่างไรไม่ให้คนในชุมชนถูกหลอกลวง คนในชุมชนนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่ไปเอาของมาขาย มาบอกกล่าวในเรื่องที่ตัวเองก็อาจจะไม่รู้ว่ามันเป็นเท็จเพื่อจะขายของอะไรแบบนี้ โดยส่วนตัวก็คิดว่าฐานชุมชนเป็นจุดที่น่าสนใจ และชุมชนสมัยนี้ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน คือทรัพยากรทั้งหลายก็ไปพอสมควร เช่นไปทางองค์กรปกครองท้องถิ่น และทางกระทรวงสาธารณสุขเราก็มีมีฐาน รพสต. อสม. เพราะฉะนั้นถ้าเราจะผสมผสานอะไรเหล่านี้ในชุมชนมันก็จะยั่งยืนในระยะยาว รัฐกลางนั้นเราก็สนับสนุนให้เขาทำในสิ่งดีนะแต่ว่าดูแล้วเงื่อนไขเขาเยอะมาก สถานีโทรทัศน์ 1,000 ช่อง วิทยุชุมชนอีก 1,000 กว่านั้น ถ้ามีปัญหาแค่ 10 % เขาก็แก้ไม่ไหวแล้ว ที่เราเห็นๆ กันอยู่ นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องอินเตอร์เน็ต เรื่องอะไรต่อมิอะไรอีก ก็คิดว่ารัฐกลางคงไม่สามารถทำอะไรได้รวดเร็วนะ ส่วนใหญ่ก็ทำในหน้าที่ของเขาให้ดี เพราะว่าถ้าเขาทำได้ดีมันจะส่งผลในวงกว้าง   อย่างนี้การให้ความรู้ในชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยใช่ไหม ครับ  คือถ้าเรากระตุ้นให้ชุมชนเขารู้ก่อนว่าปัญหาอะไรบ้างที่เขาเจอมันคือปัญหา เพราะบางทีเขาก็ไม่รู้ที่ไปหลอกขายยา อาหารเสริมอะไรพวกนี้ ถ้าเราอาศัยพลังคือท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่น รพสต. พี่น้อง อสม. และอาจจะมีปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นแกนในการทำให้คนในชุมชนมาปรึกษาหารือกัน และตระหนักว่าเรื่องพวกนี้เราโดนหลอกนะ แล้วเราจะมีทางเลือกทางออกว่าจะจัดการอย่างไร น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าถามว่าถ้าเขาจะดูแลกันเองนั้นมันก็ต้องมีรัฐกลางที่มีหน้าที่บอกข้อมูลว่า ของพวกนี้ไม่ดี ชุมชนเรามีไหม ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาไปหาไปค้น เขาก็เข้าใจได้ง่าย เพราะร้านในชุมชนก็ญาติพี่น้องกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นของพวกนี้เราต้องไม่เอามาขาย ครีมยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี่นะ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องความพร้อมใจกันที่จะทำดีให้กับสังคมตัวเอง มันก็ยากนะเพราะเหมือนเราฝืนกระแสโลก เพราะกระแสโลกคือ กระตุ้นให้มีการบริโภค แต่เราให้เลือกบริโภคที่ดี และอะไรที่เราจะไม่บริโภค มันก็เป็นเรื่องที่ยากเป็นธรรมดา ถ้าเสนอก็มีว่า ได้มีโอกาสไปทำในหลายๆ ชุมชนนั้น มันมีตัวอย่างที่เป็นไปได้ และเขาลุกขึ้นมาจัดการกันเอง รถเร่ หนังขายยาไม่มีสิทธิได้เข้ามาพื้นที่เขาเลย เพราะฉะนั้นถ้าเขารู้ว่ามีเขาจะมีระบบของเขาเอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรู้ก็จะบอกตำรวจ หรือไปคุยกับเขาดีๆ ว่าพื้นที่นี้ไม่ได้นะ ถ้ามันแข็งแรงเฉพาะบางพื้นที่ บางพื้นที่ไม่แข็งแรงนั้น ไอ้พวกที่จะหากินแบบนี้มันก็จะไปพื้นที่ที่ไม่แข็งแรง ซึ่งมันก็ไม่ดีหรอก ก็ไปสร้างภาระให้ประชาชนคนอื่นอีก   แล้วการเป็นพลเมืองธรรมดา ก็สามารถช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้การคุ้มครองผู้บริโภคแข็งแรงได้เหมือนกันใช่ไหมคะ ที่เราพูดถึงเรื่องชุมชน บางชุมชนที่ยกตัวอย่างซึ่งไม่ใช่ระดับสิบนะ หลักร้อยขึ้นเท่าที่เรารู้จักนะ แต่มันอาจจะมากกว่านี้ แต่เราไม่มีโอกาสได้เจอ จะเห็นว่าที่เขาดูแลกันเองได้นั้นก็ด้วยพลังของคนของเขาเอง ที่เราเรียกว่าพลเมืองเพราะหน้าที่ของพลเมืองนอกจากจะดูแลสิทธิตัวเอง ยังต้องดูแลสังคมที่ตัวเองอยู่ด้วย //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point