ฉบับที่ 261 แจ้งขอความช่วยเหลือการล่วงละเมิดทางเพศทางเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com

        ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มักมีความสนใจและความอยากรู้อยากลอง จึงเป็นกลุ่มที่ชอบติดตามโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ ชอบการสื่อสารโต้ตอบกันผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถรู้จักเพื่อนใหม่ทางโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้โซเชียลมีเดียก็กลับกลายเป็นแหล่งรวมโจรที่พร้อมจะหลอกกลุ่มวัยรุ่นนี้ได้เช่นกัน อาจด้วยความเยาว์วัย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กล้าได้กล้าเสีย ความคึกคะนอง ฯลฯ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดทางเพศแบบไม่รู้ตัว         นอกจากกลุ่มวัยรุ่นที่กล่าวมาแล้วนั้น กลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้เท่าทันโซเชียลมีเดียก็ออาจพบเจอกับอาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดทางเพศได้ไม่ต่างกัน         สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำโครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ได้จัดทำเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com มารับข้อร้องเรียนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและสื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการช่วยเหลือได้ทันที         เมื่อต้องการความช่วยเหลือให้เปิดเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com กดเลือกที่เมนูที่ชื่อว่า แจ้งเหตุและติดตาม ด้านบนหน้าจอ จากนั้นหน้าจอจะให้เลือกประเภทการแจ้งเหตุ กดเลือกขอความช่วยเหลือสำหรับต้องการร้องเรียนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและสื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์         เริ่มกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่นหรือนามแฝง เบอร์ติดต่อ ต่อด้วยข้อมูลผู้ถูกละเมิด และข้อมูลผู้ละเมิด พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ สิ่งที่กังวล สิ่งที่อยากให้ช่วย รูปแบบการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้น         ทั้งนี้ข้อมูลที่แจ้งไปนั้นจะถูกเก็บเป็นความลับ และเจ้าหน้าที่จะได้นำไปสืบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แต่ถ้ามีการให้ข้อมูลเพื่อกลั่นแกล้งกันหรือเรียกว่าการให้ข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือเพื่อให้ผู้อื่นต้องรับโทษนั้น จะมีความผิดอาญา ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ         หลังจากแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ผู้แจ้งสามารถเข้ามากดเลือกเมนูติดตามผลการแจ้งเบาะแส เพื่อติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง         นอกจากการแจ้งขอความช่วยเหลือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตแล้ว เว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com ยังมีช่องทางให้แจ้งเบาะแสทั่วไปได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 184 ระวังถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว

ใครจะไปคิดว่าการบอกข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไปกับบริษัทประกันภัย จะสามารถสร้างปัญหาหนักใจให้เราภายหลังได้ และเราควรจัดการปัญหานั้นอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสุชาติถูกชักชวนให้ทำประกันทางโทรศัพท์จากบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ซึ่งภายหลังฟังข้อเสนอต่างๆ เขาก็ไม่มีความประสงค์ที่จะทำประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามก่อนวางสายพนักงานก็พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไป เช่น ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ และแน่นอนเขาได้บอกไปตามความจริงทุกอย่าง เนื่องจากไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ภายหลังได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงรู้ว่าตัวเองถูกหลอกให้ทำประกันไปซะแล้ว เมื่อโทรศัพท์กลับไปสอบถามที่บริษัทดังกล่าวก็ได้รับการชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ไม่ได้หลอกผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะผู้ร้องเป็นคนบอกข้อมูลส่วนตัวให้ทำประกันเอง ซึ่งมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงการสนทนาในครั้งนั้นอีกด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องยกเลิกประกันภัยทางโทรศัพท์ โดยส่งหนังสือยกเลิกสัญญา พร้อมหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ไปยังบริษัทประกันภัย และธนาคารเพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บเงิน หรือตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งต้องส่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มของหนังสือยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์มาขอคำแนะนำได้ที่เบอร์ 02 - 2483737 (จันทร์ – ศุกร์, 09.00 – 17.00 น.)นอกจากนี้สำหรับใครที่ไม่อยากเกิดปัญหาสมัครประกันแบบไม่รู้ตัว สามารถทำได้โดยการปฏิเสธอย่างชัดเจน หรือในกรณีที่สนใจข้อเสนอของประกันภัยนั้นๆ เราควรขอกรมธรรม์มาศึกษาก่อน และหากไม่แน่ใจรายละเอียดยิบย่อย สามารถโทรศัพท์สอบถามที่สายด่วนประกันภัย คปภ. ที่เบอร์ 1186 ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >