ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมลิขิตรัก : ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก”

ลิขิตรัก : ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก”                                                                                                                        มนุษย์เรามีความต้องการปรารถนาเฉพาะตนกันอยู่แทบจะทุกคน แต่ทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดบ่อยครั้งความต้องการของปัจเจกบุคคลจึงมิอาจเป็นไปในแบบที่เราคิดอยากให้เป็นได้?             ด้วยแก่นหลักของเรื่องที่ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก” ที่คุกรุ่นอยู่ในจิตใจของ “เจ้าหญิงอลิซ” รัชทายาทแห่งประเทศสมมติที่ชื่อฮรีสอซ กับ “ผู้พันดวิน” พระเอกหนุ่มองครักษ์ผู้พิทักษ์เจ้าหญิงในละครโทรทัศน์เรื่อง “ลิขิตรัก” คงบอกกับเราได้ไม่ยากว่า ความต้องการปรารถนาแห่งปัจเจกไม่เคยเป็นอิสระจากกรอบบางอย่างที่สังคมขีดวงกำหนดเอาไว้ได้เลย            ปมของละครเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหญิงอลิซถูกวางตัวและแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาทสืบต่อจาก “คิงเฮนรี่” ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ เธอจึงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งกับบรรดาพระญาติคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าชายอังเดร” ผู้เป็นลุง “โมนา” ป้าสะใภ้ รวมไปถึง “เจ้าหญิงเคธ” และ “เจ้าชายอลัน” ลูกพี่ลูกน้อง ที่ทุกคนต่างไม่พอใจและไม่ยอมรับการขึ้นสวมมงกุฎของเจ้าหญิงรัชทายาท            ภายใต้ “บทบาท” และ “หน้าที่” ที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่นี้ เจ้าหญิงอลิซยังต้องเผชิญกับภารกิจที่มากมาย และอันตรายรอบด้านที่มาจากศัตรูซึ่งมองไม่เห็น เธอจึงตัดสินใจหลบหนีมาพักผ่อนชั่วคราวที่ประเทศไทยแบบเงียบๆ             และเป็นเพราะการเมืองที่ไม่เข้าใครออกใคร แถมการเมืองก็ยังไม่เลือกเวลาและพื้นที่ว่าใครจะอยู่ตำแหน่งแห่งที่ใด เมื่อเจ้าหญิงอลิซมาอยู่เมืองไทย เธอก็ยังถูกไล่ล่าหมายชีวิตจากคนร้ายและกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจจากฮรีสอซ ซึ่งก็แน่นอนว่า ที่เมืองไทยนี่เอง พระเอกหนุ่มผู้พันดวิน หัวหน้าหน่วย D-Team ก็ได้เข้ามาถวายการอารักขา และเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างตัวเลือกที่เป็น “หน้าที่” กับ “ความรัก” ของเจ้าหญิงและผู้พันหนุ่ม            หาก “ความรัก” เป็นตัวแทนของความต้องการปรารถนาแห่งปัจเจกบุคคลดังที่กล่าวมาแล้ว คำถามก็คือ “หน้าที่” ได้เข้ามากำหนดความปรารถนาของมนุษย์เอาไว้อย่างไร            ตามหลักทฤษฎีสังคมศาสตร์มีคำอธิบายไว้ว่า เงื่อนไขหนึ่งในความเป็นมนุษย์ก็คือ การมีพันธกิจ “หน้าที่” ที่ต้องดำเนินไปตามข้อเรียกร้องบางอย่างของกลุ่มสังคมที่ตนสังกัด และข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ก็สัมพันธ์กับ “บทบาท” ที่ปัจเจกชนแต่ละคนสวมและเล่นอยู่            คำว่า “บทบาท” นั้น เป็นศัพท์ที่มักใช้กันอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดง เพื่อสื่อความหมายเมื่อนักแสดงสวมบทบาทหนึ่งๆ เป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวร้าย หรือตัวละครใด เธอหรือเขาก็จะมีสคริปต์ให้เล่นไปตามบทบาทที่กำหนดไว้นั้น และเมื่อถอดบทบาทดังกล่าวออกมาสวมบทบาทใหม่ นักแสดงคนเดิมก็จะมีสคริปต์ชุดใหม่ให้ได้เล่นแทน            ฉันใดก็ฉันนั้น ในเงื่อนไขของแต่ละสังคม ปัจเจกบุคคลก็มักถูกกำหนดให้ต้องสวมและเล่น “บทบาท” ทางสังคมไม่ต่างจากนักแสดงละครบนเวทีเลย และด้วย “บทบาท” ที่สังคมขีดวงเอาไว้นี้เอง คนแต่ละคนก็จะรู้ว่าตนต้องมีสคริปต์แบบใดให้ได้เล่นได้แสดงแตกต่างกันไป            เพราะฉะนั้น เมื่อครั้งที่อลิซสวมบทบาทเป็นแค่หลานปู่ของคิงเฮนรี่ เธอก็อาจจะเล่นสคริปต์เป็นหลานสาวที่น่ารักใสซื่อโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ มากมายนัก แต่เมื่อถอดบทบาทเดิมออก และหันมา “สวมมงกุฎ” เป็นเจ้าหญิงรัชทายาท บทบาทที่เปลี่ยนไปซึ่งพ่วงมากับหน้าที่ใหม่ๆ ก็ทำให้เจ้าหญิงอลิซต้องมีภาระรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น และถูกเรียกร้องให้ต้องสละความสุขส่วนตัว กลายมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในอนาคตของฮรีสอซแทน            กับเรื่องบทบาทที่สวมเข้าออกได้เฉกเช่นนี้เอง เจ้าหญิงอลิซได้รู้ซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อเธอต้องมาปลอมตัวเป็นภริยานายทหารเรืออย่างผู้พันดวิน ทั้งนี้ เพื่อหลบซ่อนตัวจากคนร้ายที่ตามล่าชีวิต เจ้าหญิงต้องยอมเข้าพิธีแต่งงานหลอกๆ และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นางนารี สมุทรยากร”            เพราะบทบาทใหม่กับหน้าที่ทางสังคมที่ต่างออกไป แม่บ้านทหารเรืออย่างเจ้าหญิงอลิซจึงต้องย้ายออกจากพระราชวังมาพำนักอยู่บ้านพักทหารเรือหลังเล็กๆ ที่ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ หากแต่ต้องอยู่และทำหน้าที่แบบภริยาข้าราชการด้วยเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงของนายทหารเรือคนหนึ่งเท่านั้น             ประโยคที่เจ้าหญิงอลิซได้พูดกับผู้พันดวิน เมื่อต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวละครนารี สมุทรยากร ว่า “ถ้าเราถอดมงกุฎออก เราก็คือคนเหมือนกับนาย” คงบ่งบอกนัยชัดเจนว่า ด้วยบทบาทที่ต่างออกไป ไม่เพียงแต่จะมีสถานภาพและหน้าที่ต่างกันเท่านั้น หากแต่บทบาทก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่สังคมหนึ่งอุปโลกน์และขีดเขียนกติกาให้ปัจเจกบุคคลต้องเล่นไปด้วยนั่นเอง            และเมื่อมาถึงช่วงท้ายของเรื่อง ละครได้เริ่มเฉลยให้เห็นว่า ตัวละครที่ต้องเล่นบทบาทต่างกันนั้น ลึกๆ แล้ว ธาตุแท้ของ “จิตมนุษย์นั้นไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” จริงๆ แบบที่เจ้าหญิงเคธผู้ไม่พอเพียงกับบทบาทหน้าที่แค่เจ้าหญิงที่ไม่มีใครสนใจ แต่เลือกจะชักใยความขัดแย้งต่างๆ ในเรื่อง เพื่อให้ตนได้ขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทแทนน้องสาว ตรงกันข้ามกับเจ้าชายสายปาร์ตี้อย่างอลันก็ยอมละทิ้งความสุขส่วนตัวมาสวมบทบาทใหม่เป็นรัชทายาทแห่งฮรีสอซแทนเจ้าหญิงอลิซ            แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อโครงเรื่องถูกออกแบบให้เป็นละครแนวรักโรแมนติก ประเด็นเรื่องบทบาทและสถานภาพความแตกต่างของชั้นชนที่ค้ำคอทั้งเจ้าหญิงอลิซและผู้พันดวิน ก็ทำให้เธอและเขาเดินมาถึงทางสองแพร่ง ที่ต้องเลือกว่าจะประสานประโยชน์ของ “หน้าที่” กับ “ความรัก” กันได้อย่างไร            บนทางทั้งสองแพร่งที่ตัวละครกำลังเลือกที่จะขีดเขียน “ลิขิตรัก” ของตนอยู่นั้น ในฉากจบของเรื่อง อลิซเองก็ได้เลือกที่จะสละตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งฮรีสอซ เพื่อหวนกลับมาเล่นบทบาทเป็นภริยานายทหารเรือไทยอย่างผู้พันดวินอีกคำรบหนึ่ง             หาก “หน้าที่” เป็นกฎกติกาที่สังคมกำหนดเอาไว้ และหาก “ความรัก” เป็นปรารถนาและอารมณ์ของมนุษย์แล้ว สำนึกของปัจเจกบุคคลทุกวันนี้ก็น่าจะเชื่อมั่นว่า ทั้ง “หน้าที่” และ “ความรัก” ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินไปบนเส้นขนาน ซึ่งก็คงไม่ต่างจากประโยคที่ผู้พันดวินได้กล่าวกับอลิซท่ามกลางภูเขา ท้องฟ้า และผืนน้ำที่เป็นฉากหลังว่า “มันก็ห้าสิบห้าสิบ…ชีวิตอาจจะถูกกำหนดมาส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือ เราก็ต้องเลือกด้วยตัวเราเอง”

อ่านเพิ่มเติม >