ฉบับที่ 128 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 25545 กันยายน 2554สินค้าลดราคาช่วยเหลือผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์จับมือกับผู้ประกอบการ ปรับลดราคาสินค้า 5 ประเภท รับการปรับลดลงของราคาน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสินค้าทั้ง 5 รายการประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ ลดราคาถุง (50 กก.) ละ 5-10 บาท จากราคาปัจจุบัน 135-140 บาท กระเบื้องมุงหลังคา ลดลงแผ่นละ 5 บาท จากราคา 36-40 บาท ปุ๋ยเคมี ลดลงถุงละ 5-8 บาท จากราคา 905-1,010 บาท เครื่องปั๊มน้ำ ลดลงเครื่องละ 100-200 บาท จากราคา 4,590 บาท และแป้งสาลี ลดลงถุงละ 10 บาท จากราคา 477-698 บาท  นอกจากนี้กระทรวงจะพิจารณาปรับลดราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยดูตามราคาทุนหากมีการปรับลดลง เช่น น้ำมันพืช เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล ส่วนสินค้าที่ยังไม่สามารถลดราคาได้ทันที ผู้ประกอบการได้ยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นราคา และจะตรึงราคาจำหน่ายไปจนถึงสิ้นปี ได้แก่ หมวดของใช้ประจำวัน เช่น ผงชักฟอก สบู่ ยาสีฟัน และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นกับชีวิตประจำวันทั้งสิ้น-------------   14 กันยายน 2554  แปรงสีฟัน เลือกไม่ดีอาจมีเสี่ยง เมื่อการแปรงฟันอาจเป็นฝันร้าย เพราะอันตรายจากแปรงสีฟัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผยผลสำรวจแปรงสีฟันที่ขายอยู่ตามท้องตลาดทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ พบว่าด้อยคุณภาพถึง 61% ซึ่งมีปัญหาขนแปรงแข็งเกินไป หัวแปรงใหญ่และขนหลุดง่าย แถมยังพบสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ที่บริเวณด้ามแปรง และหัวแปรง ซึ่งถือเป็นสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่พบเฉพาะในแปรงสีฟันที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น   สคบ. จึงได้ประกาศให้แปรงสีฟันจำนวน 83 ยี่ห้อ 229 รุ่น เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีการระบุลักษณะของขนแปรง ชนิดของขนแปรง วัสดุที่ใช้ผลิตด้ามแปรง และวิธีใช้ ถ้าเป็นแปรงสีฟันนำเข้าก็ต้องมีฉลากภาษาไทย สำหรับวิธีการเลือกซื้อแปรงสีฟันควรเลือกที่ขนาดพอดีกับช่องปากของเรา หัวแปรงต้องไม่มีลักษณะทรงแหลมหรือมีความคม ด้ามแปรงก็ต้องไม่สั้นเกินไป ขนแปรงต้องทำจากเส้นใยไนล่อน หรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า เป็นเส้นกลม หรือรี ขนตั้งตรง ผิวเรียบ ปลายมน ไม่มีขอบคม หรือขรุขระ ที่สำคัญคือควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม และผู้บริโภคควรเปลี่ยนแปรงใหม่ทุกๆ 3 เดือน------------     16 กันยายน 2554ห้ามตัดสัญญาณมือถือเติมเงิน ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินเตรียมเฮ เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งห้ามตัดสัญญาณคนใช้มือถือแบบเติมเงินที่ไม่ได้เติมเงินในเวลาที่กำหนด หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแบบสัญญาการให้บริการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ซึ่งเสียเวลาในการพิจารณาไปกว่า 3 ปี แต่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกลายเป็นปัญหาส่งมาถึงผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินต้องถูกกำหนดวันหมดอายุ และถูกระงับการใช้บริการ รวมถึงถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ เป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนให้กับค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องการระงับการใช้มือถือแบบเติมเงิน สิทธิในเบอร์โทรศัพท์จึงเป็นของผู้ใช้  ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการพิจารณามาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมให้เสร็จภายใน 90 วัน เพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นแนวทางในการปฎิบัติของทั้งผู้ให้บริการ และให้ผู้บริโภคได้รู้สิทธิของตัวเอง ----------  เฝ้าระวังความปลอดภัย “ของกิน – ของเล่นหน้าโรงเรียน” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ฝากข้อความร่วมมือจากครู – อาจารย์ ตามโรงเรียนต่างๆ  ไปจนถึงพ่อ – แม่ ผู้ปกครอง ตรวจตราดูอาหารและของเล่นที่ไม่ได้มาตราฐานที่วางขายอยู่ตามหน้าโรงเรียน เพราะอาจเป็นอันตรายกับนักเรียน  อย. ได้ฝากเตือนว่า อาหารที่ขายให้กับเด็กนักเรียนตามหน้าโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นพวกของทอดหรือปิ้งย่าง ถ้าเป็นขนมก็เป็นพวกขนมกรุบกรอบหรือไม่ก็ขนมที่มีสีสันน่าสงสัย ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก ส่วนของเล่นที่ขายอยู่ตามหน้าโรงเรียนนั้น แนะนำให้สังเกตสัญลักษณ์ของ สมอ. เพื่อความปลอดภัย และให้ระวังของเล่นต้องห้าม ทั้ง ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ และตัวดูดน้ำ ซึ่งเป็นของเล่นที่อันตรายมากหากหลุดเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าใครพบเจอของเล่นต้องห้ามเหล่านี้สามารถแจ้งไปยัง สคบ. ที่เบอร์ 1166 ----------------------------------     รถตู้โฟตอนไม่ได้คุณภาพ เสียทั้งค่าเช่าจ่ายทั้งค่าซ่อมสมาชิกสมาคมรถตู้ต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อรถตู้โดยสารยี่ห้อโฟตอนจาก บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์ เซลล์ จำกัด ซึ่งรถตู้ยี่ห้อดังกล่าวเป็นรถด้อยคุณภาพ ต้องนำรถไปซ่อมแซมหลายครั้ง ไม่สามารถนำรถยนต์มาประกอบอาชีพได้ ทำให้ผู้ซื้อรถต้องแบกรับภาระทั้งค่าเช่าซื้อและค่าซ่อมแซม กลายเป็นหนี้ค้างชำระกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ บางรายต้องถูกยึดรถยนต์และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีต่อศาล รวมเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท   โดยที่บริษัทยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ นายทรงผล พ่วงทอง ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า การที่มายื่นหนังสือครั้งนี้ อยากขอให้รัฐมนตรี ช่วยดำเนินการให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต่อตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 โฆษณาลดราคา แต่จ่ายเงินจริงเต็มจำนวน

การส่งเสริมการขายด้วยการลดราคาสินค้า สามารถกระตุ้นความสนใจให้กับผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้เสมอ แต่หากเราตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้นแล้ว กลับพบว่าการลดราคาเป็นเพียงลมปากเท่านั้น เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรผู้ร้องซื้อเชอร์รี่แดง 1 แพค จากร้าน ท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต สาขาเทพารักษ์ เพราะเห็นว่าลดราคาเหลือ 199 บาทจาก 499 บาท แต่เมื่อมาชำระเงินพนักงานได้แจ้งว่าถ้าซื้อเชอร์รี่แดงเพิ่มอีก 1 แพค จะลดราคาอีก 120 บาท (เน้นขายลดราคาเป็นแพคคู่) ได้ยินดังนั้นผู้ร้องจึงตัดสินใจซื้อมาเพิ่มอีกรวมเป็นทั้งหมด 6 แพค ซึ่งเขาคิดว่าควรจะมีราคาทั้งหมด 834 บาท (199 x 2 = 398 บาท ลดราคาแพคคู่ละ 120 บาท เหลือคู่ละ 278 ถ้า 6 แพค = 834 บาท) แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่ผู้ร้องคิดไว้ เพราะพนักงานคิดเงินรวมทั้งหมด 1,194 บาท หรือคิดเป็นราคาแพคละ 199 บาทเท่าเดิม เมื่อทักท้วงกับพนักงานก็ได้รับการยืนยันว่าทำตามป้ายโฆษณาที่มีอยู่ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมระบบถึงคิดเงินจำนวนเท่านี้ ผู้ร้องจึงขอเงินส่วนต่างคืนแต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ทำให้ได้รับความเสียหายและร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดใบเสร็จและภาพป้ายราคา เพื่อร้องเรียนต่อกรมการค้าภายใน และทำหนังสือร้องเรียนถึง ท็อปส์ สำนักงานใหญ่ให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมการแนวทางการจัดการปัญหานี้ในระยะยาว ซึ่งหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนผู้จัดการใหญ่ก็ขอเจรจาและแสดงความยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ยังมอบกระเช้าของขวัญและคืนเงินส่วนต่างให้จำนวน 360 บาทอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 กระแสต่างแดน

บล็อกเกอร์ต้องสำแดง ออสเตรเลียเกิดปิ๊งไอเดียจัดระเบียบการทำการตลาดทางอินเตอร์เน็ตด้วยการออกข้อบังคับให้เจ้าของบล็อกประเภท “วิจารณ์ผลิตภัณฑ์” หรือ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” แสดงที่มาที่ไปของสินค้าที่ตัวเองพูดถึงด้วย   เงินค่าจดทะเบียนน่ะมีไหม เดนมาร์กนั้นนอกจากจะเป็นประเทศที่รถมีราคาแพงจนน่าตกใจแล้ว ยังเป็นประเทศที่การจดทะเบียนรถก็แพงไม่แพ้กันอีกด้วย เดนมาร์กมีค่าจดทะเบียนรถยนต์สูงที่สุดในยุโรป ที่ประมาณ 1,180 โครเนอร์ (ประมาณ 7,800 บาท) ซึ่งองค์กรผู้บริโภคลงความเห็นว่าราคานี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และเป็นการเก็บเงินเกินไปถึง 1,000 โครเนอร์ (ประมาณ 6,500 บาท) เลยทีเดียว เขาอ้างอิงจากข้อมูลของสรรพากรที่บอกว่าค่าภาษีอยู่ที่ 160 โครเนอร์ (1,055 บาท) ส่วนตัวป้ายทะเบียนก็ราคาประมาณ 22 โครเนอร์ (145 บาท) แล้วที่เหลือนี่น่าจะเป็นค่าอะไร??? สมาคมผู้เป็นเจ้าของรถยนต์แห่งเดนมาร์กและสหพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็เห็นด้วยว่าหลักการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวดูไม่ค่อยจะโปร่งใสสักเท่าไร รัฐบาลเดนมาร์กมีรายได้จากการค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนและการโอนรถถึงปีละ 780 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท) อังกฤษ เปิดเสรีโฆษณาแฝง การโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์เคยเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ แต่หลังจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ที่เอกชนเป็นเจ้าของสามารถอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้ สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนใจ เพราะการอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้จะทำให้สถานีโทรทัศน์ของเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 100 ล้านปอนด์ (5,000 กว่าล้านบาท) แค่สถานีไอทีวีสถานีเดียวก็สามารถหาเงินเพิ่มได้ถึง 72 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,800 ล้านบาท) แล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องนี้อ้างว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ชม เพราะการที่สถานีมีทุนมากขึ้น ก็จะสามารถจัดหารายการดีๆ มาให้ดูกันมากขึ้น สตีเฟ่น บาร์เน็ท อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสมินสเตอร์ บอกว่าคนดูอาจเกิดอาการสับสนระหว่างเนื้อหาของละครกับเนื้อหาส่วนที่เป็นโฆษณาได้ และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้จัดละครจะสร้างเนื้อหามารองรับการโฆษณาแฝง เพื่อหารายได้เสริมเข้ารายการมากกว่าการเขียนบทเพื่อสร้างอรรถรสตามที่ควรจะเป็น ปีเตอร์ บาซาลเกต ผู้สร้างรายการบิ๊กบราเธอร์ที่เรารู้จักกันดีก็ออกมาบอกว่า เรื่องนี้ควรปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน ถ้าคนดูรู้สึกเลี่ยนกับโฆษณาแฝงเหล่านี้พวกเขาก็จะปิดทีวีหนีไปเอง แถมยังบอกว่าทุกวันนี้อังกฤษก็ซื้อรายการจากอเมริกาที่มีโฆษณาแผงพ่วงมาด้วยมากมายอยู่แล้ว แล้วไหนจะบรรดาเสื้อยืดพร้อมโลโก้ที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬาอีก มีเพิ่มมาอีกนิดหน่อยก็ไม่น่าจะมีใครเดือดร้อนก็คงจับตาต้องดูกันต่อไปว่าคนอังกฤษจะได้ดูรายการที่ดีขึ้นจริงๆ หรือจะมีแต่รายการที่เต็มไปด้วยโฆษณาแฝงที่อยู่ดีๆ ผู้ชมก็ได้เห็นสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลเหมือนซิทคอมในบางประเทศหรือไม่หมายเหตุ การห้ามโฆษณาแฝงในอังกฤษยังคงมีอยู่สำหรับสถานีบีบีซี และรายการสำหรับเด็กในโทรทัศน์ทุกช่อง   ของมันมีจริงๆ นะเคยไหมที่เราตั้งใจไปซื้อของลดราคา ตามที่เห็นในโฆษณา แต่ต้องผิดหวังเพราะทางร้านบอกว่าของหมดแล้ว ที่เดนมาร์กเขามีการทำสำรวจไว้ เขาบอกว่ามีผู้บริโภคที่ผิดหวังกลับบ้านมือเปล่าไปถึง 1 ใน 10 อันนี้เป็นการสำรวจกับผู้บริโภคจำนวน 500 คน เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่าในแต่ละปีจะมีประชากรชาวเดนมาร์กที่พลาดหวังถึง 250,000 คนเชียว ข่าวบอกว่าต่อไปนี้รัฐบาลจะเอาจริงแล้ว กับของที่โฆษณาว่าลดสุดๆ ลดล้างสต็อก หรือลดพลีชีพนั้น ต้องมีอยู่ที่ร้านจริงๆ และอีกหน่อยอาจจะมีกฎหมายระบุไปเลยว่าต้องมีของในสต็อกอย่างน้อยกี่ชิ้นด้วย มองในมุมกลับหรือมองในแง่ดีก็หมายความว่า มีถึง 9 ใน 10 เชียวนะที่มาซื้อแล้วได้ของกลับไปจริงๆ   โรคระบาดหลังหวัดสายพันธุ์ใหม่ข่าวนี้เก็บตกจากเกาหลีใต้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงแพร่ระบาด และเรายังคงต้องปฏิบัติตามหลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กันอยู่ ที่เกาหลีใต้นั้นหลายคนร่ำรวยอู้ฟู่ขึ้นตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาด เพราะทั้งหน้ากากอนามัย น้ำยาทำความสะอาดมือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทั้งหลายล้วนแล้วแต่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย.ของเกาหลีเลยต้องออกมาให้สติกับผู้บริโภค เพราะการแข่งขันที่สูงมากนั้นหมายถึงเจ้าของสินค้าจะต้องโฆษณาสินค้าของตัวเองว่าเลิศเกินใครและโดยมากจะเกินจริง เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค เช่น ตามกฎหมายของเกาหลีนั้น หน้ากากที่ไม่ผ่านเกณฑ์ KF94 ขององค์การอนามัยโลกไม่สามารถจะโฆษณาว่า “ป้องกันการติดเชื้อ” ได้ แต่ก็มีหน้ากากดังกล่าววางขายอยู่เกลื่อน นอกจากนี้ยังมีการจงใจสร้างความสับสนระหว่าง น้ำยาล้างมือ (ธรรมดา) กับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในขณะที่น้ำยาล้างมือนั้น จัดเป็นเครื่องสำอางซึ่งตามกฎหมายก็หมายความว่าไม่อาจนำมาโฆษณาว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แม้แต่โรงพยาบาลก็ยังกลัวตกรถไฟต้องหาประโยชน์จากความตื่นกลัวของผู้บริโภคเสียหน่อย ด้วยการแนะนำให้คนไข้รับการตรวจที่เรียกว่า Rapid Antigen Test เพื่อการยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 – 40,000 วอน (600 -1,200 บาท) โดยบอกว่าจะรู้ผลเร็วกว่าการตรวจ RT-PCR ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ทางอย.ที่นั่นออกมาประณามโรงพยาบาลเหล่านี้ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เพราะการตรวจดังกล่าวนั้นแม้จะรวดเร็วกว่าแต่ให้ความแม่นยำน้อยมาก และทำให้สูญเสียโอกาสในการได้รับการรักษาอย่างทันเวลาด้วย   นาทีนี้คนที่มีคอมพิวเตอร์และสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้มักจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตอยู่เสมอก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม และผู้บริโภคก็มักจะพบกับบล็อกประเภทที่ดูเหมือนเขียนขึ้นจากใจจริงโดยผู้บริโภคด้วยกันที่อยากแบ่งปันเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ผู้บริโภคอาจยังไม่รู้แน่ชัดคือ บล็อกเกอร์เหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนให้มาพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะปัจจุบันการกระทำดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธวิธีการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยการอาศัยช่องว่างที่ขณะนี้ยังไม่มีการควบคุมการทำการตลาดบนอินเตอร์เน็ตอย่างชัดเจน คณะกรรมการการค้าแห่งออสเตรเลียบอกว่า การใช้วิธีขายแบบนี้มีผลทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดอย่างยิ่ง จึงออกกฎว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ปีนี้เป็นต้นไป ขอให้บล็อกเกอร์ที่วิจารณ์หรือให้คะแนนผลิตภัณฑ์ในเน็ตนั้น ระบุให้ชัดเจนว่าสินค้าที่พวกเขาพูดถึงนั้น เป็นสินค้าที่บริษัทให้มาฟรีหรือไม่ และได้รับค่าตอบแทนเท่าไรจากบริษัทในการพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ บอกว่ากฎนี้มีเจตนาจะจัดระเบียบการทำการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะจำกัดเสรีภาพบล็อกเกอร์แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 รู้ทันสินค้าราคา sale!

รู้ไหมว่า การซื้อสินค้าลดราคา ก็ไม่คุ้มค่าเสมอไป ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปรู้เท่าทันกลยุทธการส่งเสริมการขายของร้านค้าปลีก ทั้งโดยสำรวจตลาดคนเดินถนน เพื่อรวบรวมกลวิธีการติดป้ายบอกราคาที่ชวนให้เข้าใจผิดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางคน และตลาดติดแอร์ โดยเจาะลึกถึงช่วงเวลาการส่งเสริมการขายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Big C, Robinsonและ Central & Zen ฉลาดซื้อสำรวจตลาดนัดสวนจตุจักร จากการสำรวจการติดป้ายราคาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กในตลาดนัดสวนจตุจักร (สำรวจเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2552) พบว่ามี 7 ร้านที่มีการติดป้ายราคาที่คลุมเครือไม่ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. การเขียนป้ายราคาขนาดใหญ่ในราคาถูก เห็นชัดเจนเพียงป้ายเดียวในร้าน แต่ราคานั้นไม่ได้ครอบคลุมสินค้าทั้งร้าน (พบ 5 ร้าน) 2. การเขียนป้ายราคาขายผลไม้ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท โดยเขียนคำว่า “ครึ่ง” ด้วยตัวอักษรขนาดเล็กมาก และคำว่า “โล 15” ขนาดใหญ่มาก (พบ 2 ร้าน) 3. รถเข็นขายสตรอเบอรี่สดใส่แก้ว เขียนป้ายราคาด้วยเลข “20” เมื่อเข้าไปถามราคาผู้ขายจะรีบตักพริกเกลือราดสตรอเบอรี่ในแก้ว พร้อมกับบอกราคาว่า 40 บาท เมื่อสอบถามก็จะบอกว่า “20 คือราคาต่อขีด ในแก้วนี้ 2 ขีดก็ 40 บาท” รถเข็นขายมะม่วงหั่นใส่ถุงพร้อมน้ำจิ้ม ติดราคา “10” เมื่อซื้อ มะม่วง 1 ถุงคนขายคิดราคา 30 บาท เมื่อสอบถามผู้ขายบอกว่า 10 บาท คือราคาน้ำจิ้ม ถ้าซื้อมะม่วงด้วยก็ 30 บาท (พบ 2 ร้าน) *กรณีร้านสตรอเบอรี่ที่ตลาดนัดจตุจักรนี้ มีผู้บริโภคหลายรายที่ถูกเอาเปรียบ บางรายพยายามจะคืนสินค้าและเอาเงินคืนผู้ขายก็จะแสดงสีหน้าไม่พอใจและต่อว่าผู้ซื้อเสียงดังเพื่อให้ผู้ซื้ออาย และไม่กล้าต่อรอง(*อ้างอิงจาก http://babyfancy.com/printer_friendly_post.asp?TID=58138) 4. ร้านขายเสื้อผ้าที่คนขายมักจะบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” อยู่เสมอ แม้ไปสำรวจครั้งที่ 2 ร้านเดิมก็ยังบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” (พบ 1 ร้าน)ดังนั้นการซื้อสินค้าทุกครั้งเราควรถามราคาพ่อค้าแม่ค้าให้แน่ใจก่อนจะซื้อสำหรับใครที่ซื้อสินค้าเพราะหลงกลเจ้าป้ายราคาแบบนี้แล้วอยากคืนสินค้า ฉลาดซื้อแนะนำว่า ถ้าการเขียนป้ายราคานั้นทำให้เราเข้าใจผิดอย่างเจตนา ก็เจรจาขอคืนสินค้ากับแม่ค้าโดยตรงเลย เรามีสิทธิคืนได้ เพราะเขาทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคแน่นอน ถ้าเขาไม่ยอม และเราไม่แน่ใจว่าเขาผิดหรือไม่ เก็บหลักฐานไว้แล้วโทรไปปรึกษากับกรมการค้าภายใน เพื่อดำเนินการร้องเรียนได้เลยค่ะที่สายด่วน 1569   ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากการสำรวจการส่งเสริมการตลาดของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ BigC, Robinson และ Central&Zen ที่มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตลอดทั้งปี 2552 โดยเลือกเฉพาะการส่งเสริมการขายในช่วงเวลาพิเศษต่างๆ ดังนี้     8 วิธีปฏิบัติ เมื่อเจอป้ายโปรโมชั่น1. นับ 1- 10 ก่อน พร้อมถามตัวเองว่าสินค้านั้นมีความจำเป็นต่อเราหรือไม่ ถ้ายังตอบไม่ได้ นับถึง 20 เลยก็ได้ 2. สำรวจเงินในกระเป๋าให้มั่นใจก่อนว่า เมื่อซื้อสินค้าแล้วจะยังมีเงินใช้ไปจนตลอดสิ้นเดือน 3. ตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าไว้ก่อน ถ้าราคาสินค้าเกินกว่านั้น ตัดใจก่อนดีกว่า 4. คำนวณดูว่าลดราคาครั้งนี้ ลดกี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มค่าไหม 5. เช็คดูสภาพสินค้ากันก่อนดีกว่า สภาพยังดีอยู่หรือเปล่า ตรวจดูทุกซอกทุกมุม อย่าลืมดูวันผลิตและวันหมดอายุด้วย 6. ถ้าเป็นสินค้าที่มีขายหลายๆ ร้าน ยอมเสียเวลาสักนิดไหม เดินไปดูราคาที่ร้านอื่นก่อน ถ้าถูกกว่า คุ้มกว่าจริง ค่อยกลับมาซื้อ 7. เห็นป้ายโปรโมชั่นติดอยู่ไม่ตรงกับสินค้าที่จะซื้อ สอบถามพนักงานให้มั่นใจก่อนว่าสินค้าที่จะซื้ออยู่ในโปรโมชั่นด้วยหรือไม่ 8. ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลดราคา แล้วอยากจะซื้อจริงๆ แนะนำให้ไปซื้อในวันแรกๆ ของการลดราคา เพราะจะมีโอกาสเลือกสินค้ามากกว่าและได้สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าวันหลังๆ ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point