ฉบับที่ 166 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2557 ชาวซอยร่วมฤดีเฮ!!! ศาลสั่งรื้ออาคารสูง หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาต่อสู้ในศาลนานถึง 6 ปี ในที่สุด คดีที่ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวมทั้งหมด 24 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการมีอำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครอง และในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เหตุออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สิน ก็ได้มีคำตัดสินออกมาแล้วเรียบร้อย โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้สำนักงานเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ) และ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ให้เร่งรื้อถอนหรือลดความสูงอาคารไม่ให้เกิน 10,000 เมตร ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว และครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่หากจะได้รับความเป็นธรรมต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด และต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"     อย. จับอาหารเสริม "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ใส่ “ไซบูทรามีน” โดนปิดบัญชีไปอีกราย สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลอกลวงผู้บริโภค กับอาหารเสริมลดความอ้วนยี่ห้อ “โอ้โห บาย ปูนิ่ม” ที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก อย. ดำเนินการจับผู้ผลิตและยึดสินค้าของกลาง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านบาท!!! สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้เก็บตัวอย่างและทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ที่โฆษณาขายอย่างคึกโครมอยู่ในเฟซบุ๊ค  สร้างเครือข่ายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายกว่า 3 – 4 พันคนทั่วประเทศ ซึ่งจากผลทดสอบที่ได้พบว่าตัวผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่าช่วยลดน้ำหนักมีการใส่สาน “ไซบูทรามีน” ซึ่งเป็นสารต้องห้าม เพราะมีอันตรายร้างแรงต่อผู้ที่รับประทาน ทำให้หัวใจขาดเลือด เป็นเหตุให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยความผิดตามกฎหมายที่เจ้าของและผู้บริหาร บริษัท โอ้โห สลิมพลัส จำกัด เจ้าของสินค้า มีดังนี้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐานจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานโฆษณาคุณประโยชน์และคุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ฐานขายเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) ผิดกฎหมาย ห้ามให้บริการ กรมขนส่งทางบกออกคำสั่งห้าม “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) วิ่งให้บริการในประเทศ หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ หลังมีการตรวจสอบพบว่า อูเบอร์ แท็กซี่ ทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคต อูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) เป็นบริการแท็กซี่โดยสารการเรียกโดยใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นบริการที่มีมาแล้วในหลายประเทศ ในประเทศไทยของจาก อูเบอร์ แท็กซี่ แล้ว ยังมีบริษัทผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นผ่านมือถืออีก 2 บริษัท คือ บริษัท อีซีแท็กซี่ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท แกรบแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องรู้จักเลือกใช้อย่างมีข้อมูลเพื่อความปลอดภัยและคุ้มค่าในการเดินทาง     เตือน!!! กินอาหารเสริม “คลอโรฟิลล์” ระวังเจอผลข้างเคียง ไม่รู้ว่ารอบที่เท่าไหร่แล้วที่ อย. ต้องออกมานั่งยันนอนยันว่าการรับประทานอาหารเสริมหรือเครื่องดื่มที่ผสม “คลอโรฟิลล์” ไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใดๆ ที่รับรองว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยบำรุงร่างกาย ขับสารพิษ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส หรือบรรเทาอาการเจ็บไข้ใดๆ แต่ที่ยืนยันได้จริงก็คือการรับประทานคลอโรฟิลล์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ที่มีอาการแพ้ เช่นทำให้เกิดผื่นคัน ท้องเสีย ล่าสุดเกิดกรณีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งโพสภาพพร้อมข้อความเยินยออาหารเสริมที่ผสมคลอฟิลล์ยี่ห้อหนึ่งว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพ ขนาดให้เด็กทารกแรกเกิด 7 วัน กินแล้วแข็งแรง น้ำหนักตัวเยอะ ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว ทาง อย.จึงได้ตรวจสอบกลับไปยังผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏในภาพ พบว่ามีการใช้ข้อความอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ขอยืนยันอีกทีว่าการทานอาหารเสริมผสมคลอโรฟิลล์ที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานานั้น ไม่มีความจำเป็น เราสามารถได้รับคลอโรฟิลล์จากการกินผักใบเขียว ซึ่งนอกจากจะเสียเงินโดยใช้เหตุแล้ว อาจเสี่ยงผลเสียต่อสุขภาพด้วย     “รถโดยสารไทย” ถึงเวลายกเครื่องเรื่องประกันภัยและการจ่ายชดเชยเยียวยา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตัวแทนจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยา” ซึ่งในเวทีก็มีตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะและบริษัทประกันภัยร่วมแลกเปลี่ยนด้วย โดยภาพรวมของเวทีวิชาการครั้งนี้ ได้นำเสนอถึงปัญหาเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบอุบัตเหตุรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จากกระบวนการพิสูจน์ถูกผิดที่ล่าช้า ปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดความเข้มงวดและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในเวทียังได้มีตัวแทนเครือข่ายคนทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องรถโดยสารปลอดภัย มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งปัญหาเรื่องรถโดยสารที่ด้อยคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้งาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุการเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน ผู้เสียหายบางรายใช้เวลาร่วม 10 ปีในการต่อสู้ในชั้นศาลกว่าจะได้รับเงินชดเชยเยียวยา ทั้งๆ ที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งบาดเจ็บพิการและเสียชีวิต รวมถึงวงเงินชดเชยเยียวยาวคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่มองว่ายังน้อยเกินไปควรมีการปรับให้สูงขึ้น จากเดิมค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจะได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสนอให้ปรับเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ เดิมจะได้ไม่เกิน 200,000 บาท เสนอให้ปรับขึ้นเป็น 400,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 คดีประวัติศาสตร์ ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง

 ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน  เคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดีขึ้น ในครั้งนั้นรถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาในซอยเพื่อดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสภาพของซอยร่วมฤดี เป็นซอยขนาดเล็กในใจกลางเมืองใหญ่ มีความกว้างของถนนเพียงรถยนต์วิ่งไปได้กลับ 2 เลน เท่านั้น ทำให้รถดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่ เข้าไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังเป็นภาพของความหวาดกลัว และวิตกกังวลถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้อยู่อาศัยภายในซอยร่วมฤดีจวบจนปัจจุบันจนกระทั่งในปี 2548 เริ่มมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวน 2 อาคาร โดยมีอาคารที่มีความสูง 18  ชั้น ของบริษัท ลาภประทาน และ อาคารที่มีความสูง 24 ชั้น ของบริษัท ทับทิมทร  ของบริษัทเอกชน ขึ้นบริเวณปากซอยร่วมฤดี 2 ภายในซอยร่วมฤดี  โดยอ้างเอกสารการรับรองความกว้างของถนนว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างของถนน 10 เมตรตลอดแนวของสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งต่อมาชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบเขตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าวจึงขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535  ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แต่การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินการต่อไป เมื่อการร้องเรียนไม่เป็นผล กลุ่มผู้ร้องเรียน โดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก 24 คน ได้มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง  ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้นำเสนอแล้วพิจารณาเห็นว่า ซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ซึ่งได้ทำการรังวัดรังวัดสอบเขตทางตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จึงได้มีคำสั่งพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ ผู้อำนวยการเขตปุทมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่คู่กรณีทั้งสามฝ่ายอุทธรณ์และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557  ศาลปกครองสูงสุดออกอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชาบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด คือ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า     " คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว  และแม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยาวนานกว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ท้ายที่สุดอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"    นายแพทย์สงคราม  ทรัพย์เจริญ   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ การที่กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น ”

อ่านเพิ่มเติม >