ฉบับที่ 111 การเป็นอาจารย์นี่ก็ทวีคูณเหมือนกัน

ฉบับนี้ฉลาดซื้อพาคุณมารู้จัก “เรือจ้าง” อีกหนึ่งลำที่แจวพาผู้โดยสารไปส่งถึงฝั่งมาครั้งแล้ว ครั้งเล่าอย่าง อาจารย์รุจน์ โกมลบุตร อดีตนักข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการข่าวและหนังสือพิมพ์ ผู้ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมุ่งหวังที่จะผลิตนักสื่อสารคุณภาพออกสู่สังคม ท่ามกลางกระแสสังคมสื่อที่เน้นความรวดเร็วและผลกำไรจนหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรม อาจารย์รุจน์มีวิธีการสอนนักศึกษาอย่างไร ฉลาดซื้อจะพาไปคุยกับ “เรือจ้าง” ลำนี้กันค่ะ เลือกเรียนสื่อสารมวลชนเพราะใจรักอาจารย์รุจน์สนใจเกี่ยวกับข่าวสารบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะที่บ้านจะรับหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ครั้นพออ่านแล้วก็สงสัยว่า เขาทำอย่างไร ไปสัมภาษณ์คนอย่างไร เขียนบทความ เขียนสารคดี ทำให้อาจารย์ได้รู้ว่างานหนังสือพิมพ์สามารถบอกข้อมูลคนได้เยอะ และถ้าหากเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์จะยิ่งมีประโยชน์ แล้วถ้าหากว่าตนเองได้ไปทำงานแบบนั้นเราคงมีเรื่องไปเล่าเยอะ ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาเลือกเรียนสื่อสารมวลชน “มาย้อนอดีตกันเลย ความจริงเลือกอยู่ 2 คณะคืออันดับ 1 เลือกสื่อสารมวลชน ที่ธรรมศาสตร์ อีกคณะที่อยากเรียนและเลือกเป็นอันดับสองคือคณะสังคมศาสตร์ เพราะได้รับอิทธิพลจากนวนิยาย”ปุลากง” แต่สุดท้ายก็ได้เรียนสื่อสารมวลชนที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีสี่ทางคณะให้ฝึกงานก็ฝึกงานที่ นสพ.ไทยรัฐ พอจบก็ทำงานที่นั่นอยู่ 4 ปี ถ้าเรามองหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คนเรามักจะมองที่เรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่ถ้าเราต้องการจะสื่อสารอะไรออกไปเป็นจำนวนมาก ไทยรัฐจะช่วยเราได้เยอะเพราะถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เสียงดัง ตอนเข้าไปก็ประจำอยู่ที่ โต๊ะข่าวกลาง แต่ที่ไทยรัฐเรียก “โต๊ะข่าวจเร” เป็นนักข่าวทั่วไปทำทุกข่าว อะไรที่ไม่มีเข้าหมวดข่าวก็จะตกมาที่นี่หมด อย่างข่าวม้อบที่มาร้องเรียนที่ทำเนียบ ที่กระทรวงเกษตร “โต๊ะข่าวจเร” ก็จะไปล่ะ หรือบางข่าวที่เขาต้องการความต่อเนื่องก็จะส่ง “โต๊ะข่าวจเร” ไป โต๊ะข่าวนี้จะไม่มีแหล่งข่าวประจำ และจะไม่เชี่ยวชาญอะไรเป็นเรื่องๆ แต่ก็ส่งผลดีที่เราสามารถพลิกแพลงและหาข้อมูลได้ทุกเรื่อง เราก็จะได้เดินทางเยอะ รู้เยอะ ชีวิตเปลี่ยนหลังช่วงพฤษภาทมิฬ เบื่อการเมืองไทยก็หาทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ในคณะสังคมวิทยาการสื่อสาร ตอนนั้นยังไม่ได้ลาออกจากไทยรัฐนะ กลับมายังไม่อยากกลับไปทำงานหนังสือพิมพ์ มันเหนื่อยๆ แต่ 4 ปีที่ไทยรัฐมันสนุกนะ มันเติมเต็มอะไรหลายๆ อย่าง เราได้บอกเรื่องราวให้คนรู้ในหลายๆ เรื่องอย่างเรื่องราวของพระประจักษ์ ที่เข้าไปรักษาป่าหยุดการทำลายป่าดงใหญ่ แต่ถูกมองว่าเป็นพระตัวแสบสำหรับราชการและนายทุนที่ต้องการทำลายป่า รางวัลที่ท่านได้รับคือ การถูกคุกคาม ตามล่าเอาชีวิต จนต้องหนีออกจากพื้นที่ ถูกบีบให้สึก ถูกทำลายชื่อเสียงต่างๆ นานา ซึ่งมันไม่ใช่ เราก็ไปนำเสนอข่าวออกมาว่าเป็นอย่างไร การทำงานที่นี่มันสนุกและเติมเต็มสิ่งที่เราฝันไว้ตอนเด็กๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็ดึงพลังเราส่วนหนึ่ง อย่างเราทำงาน 7 โมงเช้ากว่าจะกลับบ้านก็ 5 ทุ่ม หรือไม่ก็เที่ยงคืน เป็นแบบนี้ทุกวันไม่มีวันหยุด พอกลับมาก็ไม่อยากจะตกอยู่ในวังวนเดิมๆ อีก ก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้เอ็นจีโอ ที่เป็นเพื่อนๆ กัน ก่อนจะไปสมัครเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนวิชาหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2540 ลึกๆ แล้วผมก็เสียดายงานหนังสือพิมพ์นะ เพราะงานหนังสือพิมพ์มันเป็นงานทวีคูณ เราเขียน 1 ข่าวแต่คนรู้เป็นล้าน การเป็นอาจารย์นี่ก็ทวีคูณเหมือนกัน การจับไมค์อยู่หน้านักศึกษา 30 – 40 คนนี่ก็ถือว่าทวีคูณล่ะ เพราะพอพวกเขาจบไปเป็นนักข่าวแล้วทำได้ดีก็คือว่าเป็นการขยายต่อที่ดีละ ทวีคูณเหมือนกัน ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง อาจารย์รุจน์บอกกับฉลาดซื้อว่าที่สนใจงานสอนหนังสือก็เพราะว่า ตอนที่ตนเองเรียนนั้นมีบางเรื่องที่นักศึกษาไม่เคยถูกบอก อย่างเรื่องของความเป็นจริงกับโลกในตำราต่างกันอย่างไร เพราะว่าโลกในความเป็นจริงไม่ได้สวยงามเหมือนในตำรามันมีเรื่องสีเทาๆ ที่นักศึกษาต้องถูกเตรียม ก่อนจะออกสู่โลกของความจริง ไม่งั้นถ้าหากไปเจอแล้วจะเกิดอาการเหวอ “โลกที่นักศึกษาถูกบอกก็คือโลกสีขาว สอนว่าอะไรไม่ดีอย่าไปทำ แต่พอออกไปแล้วไอ้ที่บอกว่าไม่ดีอาจจะทำอยู่ก็ได้ เราก็เลยคิดว่าเราต้องเตรียมนักศึกษาก่อนว่าโลก 2 โลกนี้มันต่างกัน มันจะมีจุดฟันหลอ จุดสีดำอยู่ในนั้น ถ้าหากรักที่จะทำอาชีพนี้จริงๆ ต้องเข้าใจว่าทางที่จะเดินนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบดังที่ฝันไว้ ผมก็เลยพยายามจะเชื่อมทั้งสองเข้าด้วยกันว่ามันมีข้ออ่อน ข้อดีอย่างไร ลึกๆ แล้วผมก็เสียดายงานหนังสือพิมพ์นะ เพราะงานหนังสือพิมพ์มันเป็นงานทวีคูณ เราเขียน 1 ข่าวแต่คนรู้เป็นล้าน การเป็นอาจารย์นี่ก็ทวีคูณเหมือนกัน การจับไมค์อยู่หน้านักศึกษา 30 – 40 คนนี่ก็ถือว่าทวีคูณล่ะ เพราะพอพวกเขาจบไปเป็นนักข่าวแล้วทำได้ดีก็คือว่าเป็นการขยายต่อที่ดีละ ทวีคูณเหมือนกัน” แต่ถึงแม้ว่าจะมีการสอนและเชื่อมโลกสองส่วนนี้เข้าด้วยกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่อาจารย์รุจน์ห่วงก็คืองานหนังสือพิมพ์ ที่มองกำไรเป็นเป้าหมาย และนับวันกำไรจะเป็นเป้าหมายชัดขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เป้าหมายที่จะช่วยกันคลี่คลายปัญหาให้สังคมกลับอ่อนแรงลงๆ สวนทางกับกำไรที่เริ่มแสดงตัวชัดชึ้นเรื่อยๆ “ไม่ใช่แค่เฉพาะธุรกิจสื่ออย่างเดียวต้องเรียกว่าทั้งโลก เรื่องกำไรอย่างรวดเร็วมันครอบทั้งโลกแล้ว สื่อมวลชนก็หนีสายพานนี้ไม่พ้น จึงต้องเตรียมพวกเขาอย่างแรง แล้วเด็กนักศึกษาสมัยนี้ก็ถูกครอบด้วยระบบเศรษฐกิจระบบตลาดเหมือนๆ กันหมด สังเกตง่ายๆ ก็คือ พอผมพานักศึกษากลับมาจากพื้นที่ ทุกคนจะกระหายร้านสะดวกซื้อมาก พอเจอเซเว่นเข้าไป ‘เย้ๆ เจอเซเว่นแล้ว’ ซึ่งต่างกันลิบลับกับเมื่อวานที่อ้อยอิ่งกับการลาชาวบ้านอยู่เลย ซึ่งผมก็คิดว่านี่ก็เป็นภาระหนึ่งของระบบการศึกษาไทยที่ต้องทำให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจระบบตลาด ซึ่งไม่ง่ายเลย” หาคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านนอกจากนักศึกษาจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวจากชีวิตของอาจารย์รุจน์แล้วยังมีโอกาสได้ลงไปศึกษาข้อเท็จจริงถึงในพื้นที่นั่นก็คือหมู่บ้านปีละ 1 ครั้ง“สิ่งที่ผมสอนพวกเขาอย่างเรื่องการนำโลกความเป็นจริงข้างนอกมาเล่าให้พวกเขาฟัง แล้วก็หรือยกสถานการณ์ขึ้นมา ถ้าเกิดเหตุแบบนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ผมไม่ได้ให้ “ความรู้” พวกเขานะ เพียงแต่ผมอยากให้เขา “ได้รู้สึก” เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขาควรทำอย่างไร เพราะถ้าหากว่าเราให้ความรู้เขา ไม่นานเขาก็จะลืม แต่ถ้าเราสอนให้เขาได้รู้สึก เขาก็จะทำได้และน่าจะพอนึกออกเมื่อต้องเจอกันสถานการณ์จริงๆ อีกอย่างก็การทำให้พวกเขาได้เข้าถึงความจริง ข้อเท็จจริง ของเจ้าของประเทศนั่นก็คือประชาชนจึงได้ทำโครงการศึกษาชนบท ปีละ 10 วัน โดยให้นักศึกษาไปอยู่ไปกินกับชาวบ้าน ให้ไปอยู่กับชาวบ้านหลังละคนเลยทีเดียว จะเป็นนักศึกษาปีที่ 3 กับ 4 ซึ่งจะเป็นวิชาเรียน คล้ายๆ ลักษณะไปค่าย แต่เราจะไม่ไปสร้างนั่น สร้างนี่ จะกลับกันก็คือเราจะให้ชาวบ้านเป็นผู้บรรยาย บางคนอยู่ในทุ่งนา บางคนทอผ้า ก็จะมาสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้แทน การลงไปค้นความจริงกับชาวบ้านช่วยเปิดโลกทรรศน์ให้กับพวกเขา ทำให้เห็นชีวิตของเจ้าของประเทศว่า เขาอยู่กินกันอย่างไร มีปัญหาอะไรที่กำลังเผชิญอยู่ และที่สำคัญคือไปดูว่าพวกเขาเหล่านั้นมีอะไรดี เพราะถ้าเราทำให้นักศึกษาเห็นว่าชาวบ้านมีอะไร ชาวบ้านก็จะอยู่ในสายตา ว่า…เอ้ยพวกชาวบ้านก็เก่งนะ อีกอย่างก็คือทำให้นักศึกษาเราเห็นปัญหาของชาวบ้าน อย่างที่ผ่านมาก็ลงพื้นที่ จังหวัดสตูล ไปสัมผัสชีวิตชาวบ้าน ไปดูเขากรีดยาง ทำให้เรารู้ว่า ชาวสวนยางอายุสั้นลง เพราะพักผ่อนน้อย ไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ไปลงพื้นที่ดูเขื่อนปากมูล พาพวกเขาไปดู ไปสัมผัส เพื่อให้เกิดความเข้าใจเจ้าของประเทศ” นั่นเป็นวิธีการ การให้ความรู้ของ อ.รุจน์ ที่เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกห้องสี่เหลี่ยม นอกตำรา แต่ได้สัมผัสทุกรสชาติของชีวิต “พอจะเริ่มเดินทางทุกคนก็จะตื่นเต้น บางคนเป็นคุณหนูไม่เคยทำอะไรเองเลย พอได้ลงพื้นที่ได้ล้างจาน ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ได้เห็นจนเกิดจิตสาธารณะขึ้นมา ได้เรียนรู้ทุกนาทีที่อยู่ร่วมกัน ต้องยอมรับเลยนะเมื่อคนเราได้ผ่านประสบการณ์ ณ จุดหนึ่งแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดอย่างเห็นได้ชัดเลย อย่างบางคนก่อนไปไม่เคยรู้เลยว่า จิตสาธารณะคืออะไร แต่พอเขาได้ลงไปเรียนรู้และใช้ชีวิตจริงๆ เขาก็เข้าใจได้ทันที บางคนถูกทำให้คิดถึงผลกำไร และขาดทุน แต่พอลงไปเห็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทำเพื่อชุมชนซึ่งก็ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนเลย ความคิดของเขาก็เปลี่ยน” อยู่ทำเนียบทำงานในห้องแอร์ พอถึงเวลาก็สัมภาษณ์ ไปหาชาวบ้าน ไปคุยกับชาวบ้าน ไปดูปัญหาเขาเนี่ยเหนื่อยไหม อยู่กลางแดด เดินไปในทุ่ง นั่งรถไปไกล ตากแดด ข้าวปลาก็ไม่มีให้กิน พยายามทำให้เขาเห็นภาพว่าทำไมประชาชนไม่ค่อยได้เป็นข่าว เพราะฉะนั้นถ้าได้มีโอกาสเป็นนักข่าวก็อย่าลืมแล้วกัน คุยกับประชาชนบ้าง ข้อมูลต้องหลากหลายและคิดถึงคนอื่นเสมอนอกจากจะให้นักศึกษาได้ลงไปค้นความจริงของเจ้าของประเทศแล้ว การให้มองสื่ออย่างรอบด้าน คืออีกหนึ่งแนวทางของอาจารย์รุจน์ “เวลาเราทำงานด้านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านไหนไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หน้าที่ของสื่อมวลชนก็คือต้องให้ข้อมูลที่รอบด้านและต้องเป็นอิสระ เวลาสอนนักศึกษาผมจะเน้นเรื่องนี้มาก อีกอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญเปิดเทอมวันแรก ผมจะถามนักศึกษาว่า จ่ายค่าเล่าเรียนเท่าไร ใครเป็นคนจ่าย หลายคนก็จะตอบว่า ‘พ่อผมจ่าย แม่หนูจ่าย’ ‘ผมก็ย้ำว่าแน่ใจนะว่าที่คุณเรียนแปดหมื่นต่อปีแน่ใจว่าคุณจ่ายคนเดียว’‘ก็พ่อแม่ผมจ่ายก็ถูกแล้วนี่นาอาจารย์’ ‘ค่าเงินเดือนผม ค่าน้ำ ค่าไฟ คิดว่าแปดหมื่นพอไหม อ่ะที่นี้เริ่มงง เงินจำนวนมากกว่านั้นประชาชนจ่าย ภาษีประชาชนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคุณเรียนไปทำอะไร ประชาชนจ้างคุณมาเรียน แล้วคุณจะทำอะไรให้พวกเขาบ้าง’ ก็เล่นกันตั้งแต่เปิดเทอมเลย ให้เขารู้สึกว่าไม่ว่าจะทำงานหรือทำอะไรให้คิดถึงคนอื่นๆเยอะๆ อย่ามัวแต่คิดถึงตัวเองหรือสะตุ้งสตางค์อะไรหนักหนา คิดถึงคนอื่นให้มากๆ หน่อย อย่างผมสอนวิชาเขียนข่าวก็จะพยายามทำให้เขาเห็นว่า “แหล่งข่าว” มีหลายแหล่งข่าว นักข่าวทั่วไปจะใช้แหล่งข่าวที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดอำเภอ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ผิดอะไรใช่ไหม เพียงแต่ว่า ”พวกเขาใช่เจ้าของประเทศหรือเปล่า” เจ้าของประเทศตัวจริงน่ะใคร เขาเคยได้ออกหนังสือพิมพ์บ้างไหม มีนักข่าวโทรทัศน์ไปสัมภาษณ์เขาบ้างไหม คุณคิดว่าการไปตามนายกฯ กับไปตามชาวบ้านสักคนมาพูด อะไรมันง่ายกว่ากัน อยู่ทำเนียบทำงานในห้องแอร์ พอถึงเวลาก็สัมภาษณ์ ไปหาชาวบ้าน ไปคุยกับชาวบ้าน ไปดูปัญหาเขาเนี่ยเหนื่อยไหม อยู่กลางแดด เดินไปในทุ่ง นั่งรถไปไกล ตากแดด ข้าวปลาก็ไม่มีให้กิน คือจะพยายามทำให้เขาเห็นภาพว่าทำไมประชาชนไม่ค่อยได้เป็นข่าว เพราะฉะนั้นถ้าได้มีโอกาสเป็นนักข่าวก็อย่าลืมแล้วกัน คุยกับประชาชนบ้าง ผมชอบยกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นภาพชัดในวิชาทำข่าวก็คือเรื่องราวของเกษตรกรคนหนึ่งชื่อลุงชุ่มแกมาผูกคอตายอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วก็เขียนจดหมายใส่กระเป๋าไว้ว่าทำไมถึงมาผูกคอตาย ประเด็นก็คือแกถูกโกงเรื่องที่ดิน แล้วร้องเรียนมาตลอดชั่วชีวิตทั้งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการ สส. สุดท้ายก็เขียนจดหมายถึงนายกฯ ชวน แล้วนายกฯ ก็แทงจดหมายกลับให้ผู้ว่าฯ ดูแลเรื่องนี้ต่อ คิดว่าผู้ว่าฯ จะช่วยเหรอเพราะเคยร้องมาแล้ว สุดท้ายก็คิดแผนผูกคอตายเผื่อให้เป็นข่าวสำเร็จ พอผูกคอตายเรียบร้อย ท่านนายกฯ ชวน หลีกภัย เชิญภรรยาลุงชุ่มเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลถ่ายภาพออกข่าวใหญ่โต แล้วที่ดินที่ถูกยึดไปก็ได้คืนมา นี่ไงบิ๊กเนมอะไรก็เป็นข่าว แต่โนเนมอย่างลุงชุ่มต้องแลกด้วยชีวิต กว่าความจริงจะปรากฏว่าเขาต้องการอะไร ถ้านักข่าวฟังบ้างเรื่องแบบนี้ก็คงไม่ต้องแลกด้วยชีวิต” งานสื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค“นักข่าวปัจจุบันต้องตามข่าวเป็นเรื่องๆ และบางครั้งทำข่าวกันทางโทรศัพท์ไม่ได้ลงไปดูพื้นที่ด้วยซ้ำ อย่างการขุดทรายปากแม่น้ำไปขาย นักข่าวไม่ได้ดมด้วยซ้ำ ไม่ได้ดูแววตาชาวบ้านด้วยว่าเขารู้สึกอย่างไร อาจจะเพราะสื่อมีการแข่งขันกันเยอะ แต่ บก.ไม่น่าที่จะพอใจนะเพราะเนื้อข่าวมันไม่ได้ แต่ก็เข้าใจด้วยระบบเศรษฐกิจแบบนี้สำนักพิมพ์ก็ต้องลดต้นทุน เพิ่มกำไร แล้วเดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์กลัวตกข่าว นักข่าวก็ต้องแบ่งกันไปเฝ้าแหล่งข่าว แล้วมาเฉลี่ยข่าวกันส่งโรงพิมพ์ เพราะเดี๋ยวนี้เน้นความเร็วเป็นหลัก ฉะนั้นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะคล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นอ่านฉบับเดียวก็เดาได้แล้ว” ฉลาดซื้อถามถึงพื้นที่ผู้บริโภคในสื่อปัจจุบัน อาจารย์คิดเห็นอย่างไร อาจารย์รุจน์ให้ความเห็นว่า “เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือในระบบ เพราะเอาเนื้อหาไปผูกกับโฆษณา เพราะฉะนั้นระหว่างหน้าโฆษณากับเนื้อหา ถ้ามีความจำเป็นต้องตัดทิ้งเพื่อต้นทุนการผลิต คงพอจะเดาออกนะว่าเขาจะตัดหน้าอะไร หน้าผู้บริโภคก็ต้องถูกตัดไปเสมอเพราะจะนำเสนอข้อมูลที่ไปขัดกับการตลาด อีกอย่างก็คือในแง่หน้ากอง บก.จะจัดการยาก เพราะมองหาแหล่งข่าวผู้บริโภคยาก มองหาคนเดือดร้อนไม่เจอ เพราะคนเดือดร้อนเข้าไม่ถึง และมองหาแหล่งข่าวไม่เจอ อย่างมองเรื่องการเมืองเราก็นึกภาพออกใช่ไหม แต่พอมองด้านผู้บริโภค มองไม่ออก ยาก” เสพ…สื่ออย่างไรดีเบื้องต้นก็วิเคราะห์สื่อที่เรารับเข้ามาหน่อย ต้องแยกให้ออกระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น และต้องตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงนั้นได้ คือตามหลักนิตยสาร ข้อเท็จจริงมันไม่ได้เป็นความจริงนะเพียงแต่มันถูกประกอบขึ้นมาให้เป็นจริง หรือถูกบัญญัติขึ้นมาว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้นต้องอ่านและต้องวิเคราะห์ให้ออกได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดอย่างเรื่องความขาวในปัจจุบัน เหมือนความขาวกลายเป็นวาระของโลกนี้ไปแล้ว ความขาวถูกนิยามว่าสวย อะไรแบบนี้ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาว่านั่นคือความจริง ซึ่งผู้บริโภคต้องแยกให้ออกและเท่าทัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point