ฉบับที่ 260 ดูแลริมฝีปากช่วงหน้าหนาว

        เริ่มเข้าช่วงเดือนแห่งความหนาวกันอีกรอบ (ช่วงเวลาหนาวแต่อากาศไม่หนาว)  หลายคนคงหนีไม่พ้นปัญหาสุดคลาสสิกผิวแห้ง แตก ผิวหน้าลอกเป็นขุย รวมถึงริมฝีปากที่แตกแห้งน่ารำคาญ ริมฝีปากบางคนถึงขั้นสามารถดึงลอกผิวที่ปากออกมาได้เป็นแผ่นๆ        ริมฝีปากหากไม่ดูแลก็สร้างความผิดหวังหรือลดทอนความสง่างามของบุคลิกได้ การดูแลริมฝีปากควรเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรให้ความใส่ใจและดูแลเป็นประจำ ถึงแม้ว่าช่วงสถานการณ์โควิดจะทำให้เราใส่หน้ากากอนามัยจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับริมฝีปากมากนัก แต่การดูแลให้มีสุขภาพดีไม่แห้งแตกคงจะดีมากกว่าปกปิดไปเรื่อยๆ ฉลาดซื้อจึงมีวิธีดูแลรืมฝีปากง่ายๆ มาฝาก         สาเหตุริมฝีปากแห้ง หลักๆ ก็คือสภาพอากาศที่ความชื้นในอากาศลดน้อยลง หรืออากาศเย็นขึ้นทำให้ร่างกายผิวของเรานั้นมีการสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าปกติ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงสมดุลของผิวหนัง ทำให้ผิวแตกแห้งได้ง่ายกว่าปกติ         วิธีดูแลริมฝีปากไม่ให้แห้งแตก        ·     แบบง่าย คือการบำรุงด้วยความชุ่มชื้น เช่น ลิปมัน ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม ขี้ผึ้ง หรือลิปมันปกติที่มีค่าการป้องกันแดดได้ เพราะแสงแดดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุเช่นกัน และควรที่จะทาเป็นประจำ เช้า ระหว่างวัน และก่อนนอน แม้จะไม่ใช่หน้าหนาวก็ตาม เพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา        ·     การดื่มน้ำบ่อยๆ ให้เพียงพอ 8-10 แก้วเป็นประจำ        ·     ระมัดระมัดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาริมฝีปาก เช่น พวกที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายอย่างลิปสติกที่มีน้ำหอมเป็นส่วนประกอบเป็นต้น ดังนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ควรอ่านฉลากเช็กให้ละเอียด        ·     หากเกิดอาการที่ไม่ใช้แค่แห้งแตก ลอกเป็นขุย แต่เป็นอาการแพ้คัน ให้สังเกตว่าอาจจะเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อย่างพวก ยาสีฟัน หรือลิปสติกที่มีส่วนประกอบที่ทำให้ระคายเคือง ดังนั้นควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยนั้นทันที        ·     ในกรณีสงสัยว่าจะแพ้จากสารเคมีอื่นจริงๆ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยทำ patch test ทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง        ·     สิ่งที่ไม่ควรทำหากริมฝีปากแตกแห้ง คือ การใช้น้ำลายเลียที่ปากนั้นเอง เพราะหากสังเกตดีๆ คนที่เคยทำจะพบว่าเหมือนริมฝีปากเรานั้นมีอาการที่แห้งแตกยิ่งกว่าเดิม          ทั้งนี้ นอกจากการเลียริมฝีปากแล้วก็ห้ามทำพฤติกรรม เช่น กัดริมฝีปากเนื่องจากเวลาเราปากแห้ง ต่อมา ถ้าไม่มีการบำรุงหรือให้ความชุ่มชื่นแก่ริมฝีปากมากพอก็จะก่อให้เกิดการแตกและบางคนก็อาจจะกัดผิวที่แตกลอกออกมา รวมถึงการใช้มือแกะหรือเกาอีกด้วย จนทำให้เกิดแผลที่ริมฝีปากเล็กๆ ได้ ที่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะริมฝีปากเป็นสิ่งที่บอบบางพอสมควรหากเกิดแผลแล้วอาจจะก่อให้ติดเชื้อได้ด้วย ที่สำคัญลิปสติกหรือลิปบาล์มแบบกระปุกก็ไม่ควรที่จะใช้ร่วมกับผู้อื่นด้วยเหมือนกัน         อีกเรื่องที่ฉลาดซื้ออยากให้ระวังคือพวกลิปสติกปลอม เพราะก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ริมฝีปากพังได้ เกิดการระคายเคือง พุพอง แสบคัน ลอก จากสารเคมีที่ไม่รู้ว่าใส่อะไรเข้าไปบ้างและตรวจสอบได้ยาก ซึ่งน่ากลัวกว่าการที่ปากเราแห้งแตกจากอากาศหนาวอีกนะคะ         ข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81        https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81-%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B9%89        https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=961

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากอย่างไร ให้สวยและปลอดภัย

การมีริมฝีปากที่สวยงามได้รูป ถือเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน เพราะสามารถช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับใบหน้าและช่วยสร้างความมั่นใจได้ ทำให้เกิดกระแสการศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากให้เป็นทรงกระจับ หรือการฉีดปากให้อวบอิ่ม อย่างไรก็ตามหากเราไม่อยากเจ็บตัวฟรีๆ ข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนการศัลยกรรมริมฝีปากมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลย รู้จักประเภทการศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากกันก่อนรูปแบบการตกแต่งริมฝีปากที่คนส่วนใหญ่นิยมมี 3 ประเภทดังนี้ 1. การศัลยกรรมปากกระจับหรือทรงปีกนก เป็นการตัดหรือเย็บริมฝีปากด้านบนเข้าไป เพื่อให้ได้รูปทรงที่ต้องการ เหมาะสำหรับผู้ที่มีริมฝีปากหนาไม่ได้รูป โดยอาจมีการทำศัลยกรรมปากบางทั้งริมฝีปากบนและล่างควบคู่ไปด้วย ซึ่งการศัลยกรรมดังกล่าวจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต การหาข้อมูลก่อนตัดสินใจทำจึงสำคัญมาก ทั้งนี้เราควรทำเมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไปแต่ไม่ควรเกิน 45 ปี เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้นปากจะตกตามธรรมชาติ การศัลยกรรมริมฝีปากในลักษณะดังกล่าวอาจออกมาไม่สวยดั่งใจได้ 2. การฉีดริมฝีปากให้อวบอิ่ม หรือการฉีดฟิลเลอร์ด้วยสารเติมเต็มที่เรียกว่า ไฮยาลูโลนิค แอซิด (Hyaluronic acid) ซึ่งเป็นสารที่ได้รับรองมาตรฐาน อย. ทำให้มีความปลอดภัยสูง สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ เหมาะกับผู้ที่มีริมฝีปากบาง ขอบปากไม่ชัดเจนหรือผู้ที่มีร่องใต้มุมปากและมุมปากตกนิดๆ โดยหากทำแล้วจะอยู่ได้นานประมาณ 6 เดือน - 1 ปี (ขึ้นอยู่กับการดูแลเป็นหลัก) 3. การศัลยกรรมยกริมฝีปาก เพื่อปรับริมฝีปากให้ได้สัดส่วนที่ดูเป็นธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่ริมฝีปากเสียรูป โดยขณะพูดหรือยิ้มอาจมองไม่เห็นส่วนของฟันบน ทั้งนี้อัตราค่าบริการการศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากแต่ละประเภท ในสถานพยาบาลต่างๆ นั้นไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่ราคาจะเริ่มที่ 10,000 บาทขึ้นไป   ควรเปรียบเทียบข้อมูลก่อนตัดสินใจในยุคแรกของการทำศัลยกรรมริมฝีปากมีจุดประสงค์เพื่อรักษา หรือแก้ไขข้อบกพร่องของผู้ที่มีความพิการ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ หรือผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุจนทำให้มีแผลเป็นบริเวณริมฝีปาก เช่น ผู้ที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกหรือเสียโฉม แต่ปัจจุบันมักทำเพื่อความสวยงามโดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ทำศัลยกรรมปากกระจับหรือปากบาง มักต้องการให้ริมฝีปากได้รูปเหมือนกำลังยิ้มอ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้ที่ฉีดริมฝีปากให้อวบอิ่มมักเน้นให้ปากดูเซ็กซี่ ซึ่งบางส่วนยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากคนดังฝั่งตะวันตก เช่น ไคลี่ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) หรือเพื่อให้หน้าดูเด็กลง เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ริมฝีปากจะเริ่มบางและริ้วรอยบริเวณริมฝีปากก็มากขึ้น การเพิ่มขนาดของริมฝีปาก ด้วยการฉีดริมฝีปากให้อวบอิ่ม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยลดรอยย่นและร่องที่ริมฝีปากได้ อย่างไรก็ตามการทำศัลยกรรมในลักษณะดังกล่าวก็สามารถส่งผลข้างเคียงได้ เช่น - การทำปากกระจับเกินไป อาจทำให้ปิดริมฝีปากไม่สนิท เพราะตัดเนื้อบริเวณริมฝีปากบนออกไป ทำให้แม้เกร็งกล้ามเนื้อให้ปากบนล่างปากประกบกันแล้วก็อาจเห็นช่องว่างระหว่างปากอยู่ดี หรือเวลายิ้มก็จะเห็นเหงือกมากขึ้น - การทำปากบาง โดยหากทำกับศัลยแพทย์ที่ไม่ชำนาญหรือไม่พอใจภายหลัง แม้สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดปากให้อวบอิ่มขึ้น (ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน) แต่ไม่สามารถทำศัลยกรรมปากกระจับได้ เพราะไม่เหลือเนื้อปากให้ทำต่อแล้ว นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้นริมฝีปากก็จะยิ่งบางไปอีกเรื่อยๆ จนอาจมองไม่เห็นริมฝีปากเลย - การทำปากอวบอิ่ม แม้จะฉีดด้วยสารที่มีความปลอดภัย แต่บางคนก็อาจแพ้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสารที่ไม่ได้รับมาตรฐานก็สามารถทำให้เกิดผลร้ายแรงได้มากขึ้น เช่น ฉีดผิดตำแหน่งจนสารดังกล่าวเข้าไปในกระแสเลือด จนเกิดการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เนื้อตาย หรืออาจติดเชื้อจนเน่า เทคนิคการเลือกทำให้ “สวยและปลอดภัย”1. เลือกศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ ทั้งนี้ควรตรวจสอบรายชื่อศัลยแพทย์ตกแต่งที่ได้รับวุฒิบัตร และการอนุมัติจากแพทยสภาก่อนรับการรักษาที่เว็บไซต์ http://www.tmc.or.th/ 2. เลือกสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานและดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย 3. เลือกฉีดสารเติมเต็มที่ได้รับมาตรฐาน อย. 4. สำรวจความพร้อมของตัวเอง เช่น ไม่เป็นคนเลือดออกง่าย ไม่มีประวัติการแพ้รุนแรง หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งหากมีข้อสงสัยใดๆ ควรสอบถามศัลยแพทย์ให้แน่ใจก่อน 5. เลือกเทคนิคการทำปากอวบอิ่มหรือปากบางด้วยตนเองง่ายๆ ด้วยเครื่องสำอาง เช่น การเขียนขอบปากให้หนาขึ้นด้วยลิปสติกเขียนขอบปาก (Lip liner) หรืออาจจะใช้ลิปสติกสีแดงเข้มระบายด้านในริมฝีปากบน โดยทำเป็นทรงกระจับด้วยตัวเอง ข้อมูลอ้างอิง สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย : http://www.dst.or.th/html/index.php /  สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย : http://www.surgery.or.th/topics/thin-lip.pdf  และ http://www.plasticsurgery.or.th/pub_method.php  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ริมฝีปากดำคล้ำ เพราะลิปสติก

ต่อให้ไม่ได้เป็นสาวที่รักการแต่งหน้าเท่าไหร่ แต่หนึ่งในเครื่องสำอางที่สาวๆ ทุกคนต้องมีติดกระเป๋าไว้คงหนีไม่พ้น “ลิปสติก” เพราะไม่ว่าจะเป็นลิปสติกแบบมีสีสัน หรือลิปมัน ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ริมฝีปากของเราชุ่มชื้นและมีสีสันที่สวยงาม แต่หากเราทาแล้วริมฝีปากดันแห้ง แตก ลอกเป็นขุย คันยิบๆ หรือมีตุ่มใสขึ้นบริเวณริมฝีปาก จนทำให้ริมฝีปากสีชมพูสดใสกลายเป็นดำคล้ำ เพราะแพ้ลิปสติกแทน เราจะทำอย่างไรดี   มารู้จักตัวการสำคัญที่ทำให้เราแพ้กันก่อน อย่างที่เรารู้กันดีกว่าการแพ้เครื่องสำอางเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ยี่ห้อและราคาไม่ได้การันตีว่าจะดีสำหรับเราเสมอไป เพราะคนอื่นใช้แล้วไม่แพ้ แต่เราใช้แล้วอาจจะแพ้ก็ได้ ซึ่งสาเหตุหลักอันดับแรกที่ทำให้เราแพ้ลิปสติก มาจากส่วนผสมของลิปสติกนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ในลิปสติกจะประกอบไปด้วย สี น้ำหอม สารแต่งกลิ่น/รส และสารกันเสีย ซึ่งเราอาจจะแพ้สีที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแพ้สารกันเสียจำพวก paraben นอกจากนี้เราอาจจะแพ้เพราะใช้ลิปสติกแท่งเดิมมาเป็นเวลานาน โดยไม่รู้ว่ามันหมดอายุไปแล้ว ดังนั้นหากเราซื้อมาและเปิดใช้งานมากกว่า 2 ปี หรือพบว่ามีกลิ่น สี หรือลักษณะที่เปลี่ยนไปก็ควรตัดใจทิ้งและเปลี่ยนแท่งใหม่ได้เลย เพราะลิปสติกต้องสัมผัสกับริมฝีปากเราเป็นเวลานานและหลายครั้งต่อวัน หากเราไม่ดูแลรักษาดีๆ ก็อาจใช้เวลานานกว่าจะกลับมามีริมฝีปากสุขภาพดีเหมือนเดิม หากแพ้ลิปสติกแล้วควรแก้ปัญหาอย่างไรดี การแพ้ลิปสติกสามารถเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ แบบฉับพลันและเรื้อรัง โดยหากเป็นแบบฉับพลัน จะเกิดอาการคันที่ปากทันที หรืออาจลุกลามมากขึ้นกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ ได้ แต่หากแพ้เรื้อรังก็จะทำให้ปากแห้ง แตก ลอกเป็นขุย ซึ่งนำไปสู่ริมฝีปากที่ดำคล้ำนั่นเอง ดังนั้นการแก้ไขเบื้องต้นหลังจากหยุดใช้ลิปสติกแท่งนั้นคือ การใช้ขี้ผึ้ง / ลิปมันที่ไร้การการแต่งกลิ่นหรือสีอย่างวาสลีน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก และไม่ลืมดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ปากไม่แห้ง รวมทั้งเลือกใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีรสไม่ซ่าหรือเผ็ดน้อย เพราะฟลูออไรด์หรือแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง สามารถส่งผลให้ริมฝีปากคล้ำกว่าเดิมได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจรักษาด้วยการไปพบแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง   เทคนิคเล็กน้อยก่อนเลือกลิปสติกแท่งใหม่ การเลือกใช้ลิปสติกมักเปลี่ยนไปตามโอกาสต่างๆ เช่น หากเราต้องออกงานสำคัญแล้วอยากให้ลิปสติกติดทนนาน ก็ควรเลือกใช้ลิปสติกประเภทเนื้อ Cream หรือเนื้อ Matte เพราะมีความเข้มข้นของเนื้อสีมากที่สุด มีส่วนผสมที่ช่วยให้เนื้อลิปสติกแห้งไม่ลบเลือนง่าย หรือหากเราไม่ต้องการแต่งหน้าจัด ก็อาจเลือกใช้ลิปสติกประเภทเนื้อ Sheer ไม่ก็ Lip gloss หรือ Tint เพราะสีจะอ่อนๆ ให้ริมฝีปากเนียนสวยเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะเลือกลิปสติกประเภทไหน ก็ควรพิจารณาจากคุณภาพเป็นอันดับแรกคือ ไม่ควรมีรสชาติ ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ไม่หลอมเหลวระหว่างเก็บ ไม่พองตัวหรือมีหยดน้ำเกาะที่ตัวผลิตภัณฑ์ และควรเป็นลิปสติกที่มีฉลากภาษาไทยกำกับ โดยให้มีรายละเอียดตามประกาศของ อย. ดังนี้ 1. ชื่อสินค้า 2. ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง 3. สารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง เรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย 4. วิธีใช้เครื่องสำอาง 5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต 6. ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางนำเข้า 7. ปริมาณสุทธิ 8. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต 9. เดือน ปีที่ผลิต และ 10. เดือน ปีที่หมดอายุ ทั้งนี้หากฉลากมีพื้นที่น้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร ให้แสดงเฉพาะชื่อสินค้าและเลขที่แสดงครั้งที่ผลิตก็ได้ เพราะหากเราซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ก็อาจมีส่วนผสมของสารห้ามใช้ในลิปสติก เช่น ปรอท ตะกั่ว ซึ่งส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ก็อาจทดสอบการแพ้ในเบื้องต้น ด้วยวิธีพื้นฐานอย่างการทาลงในบริเวณที่บอบบางอย่าง ใต้ท้องแขนหรือข้อพับแขน เพื่อดูว่ามีผดผื่นหรืออาการแพ้อื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่  

อ่านเพิ่มเติม >