ฉบับที่ 123 ละครไม่พึ่งโฆษณาและบทไม่ต้องตบตี มีได้ไหม?

  รัศมี เผ่าเหลืองทอง  นักเขียน นักแปล ผู้กำกับ ที่หลายคนรู้จักในนาม คณะละคร สองแปดนักเขียนบท มือรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีหรือ ตุ๊กตาทอง  บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2528   จากเรื่องผีเสื้อและดอกไม้  และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม  พ.ศ. 2534  จาก  วิถีคนกล้าโดยมีประโยคเด็ดที่เป็นจั่วหัวของเรื่องคือ "ทำให้คนอื่นกลัว ทำให้ไม่กลัวคนอื่น” ประโยคนี้อาจจะเป็นประโยคต้นแบบที่ให้ความหมายเหมาะสมกับคนใน“ วิถี ”แห่งยุคการบริโภคสื่อ อย่างในปัจจุบันก็ได้  เมื่อครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำมีโฆษณา ถ้าพูดถึงอิทธิพลของสื่อ “โฆษณา” จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นชัดเจนมากที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคน การทำโฆษณามันเป็นการพยายามที่จะทำให้คนอยากได้ พอเราไปเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนปี 2533 ช่วงที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องวิถีคนกล้า (ภาพยนตร์วิถีคนกล้าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2534 กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเรื่องเดียวกันของ มาลา คำจันทร์ และเขียนบทภาพยนตร์โดย อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง) ต้องเดินทางไปบนดอย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรถเข้าไม่ถึงนะ ก็ได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนที่เป็นนายอำเภอว่าชาวเขาได้ดูทีวี ซึ่งการที่จะดูทีวีได้ต้องใช้ไฟเสียบจากแบตเตอรี่รถยนต์  แล้วทีนี้พอลงดอยเข้าเมืองไปซื้อของใช้ก็จะบอกกับร้านค้าว่า “เอารีจ้อยส์ขวดนึง” นึกภาพออกเลยว่าเขาคงเห็นภาพผมพลิ้ว สลวย หอม แน่นอนละเขาต้องอยากเป็นแบบนั้น พอเข้าเมืองก็ซื้อทันที เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดมากในสิ่งที่สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ทำกับคนดู   การทำโฆษณา 1 ชิ้นมีงบประมาณเยอะมากทั้งการใช้ดารา ใช้ซูเปอร์สตาร์ของประเทศมาโฆษณา ค่าตัวกี่ล้านบาท ไหนจะค่าการผลิตอีกรวมแล้วก็ไม่น่าต่ำกว่า 20 ล้าน เพื่อโฆษณาลูกอมขาย 2 เม็ดบาท 3 เม็ดบาท เขาต้องขายให้ได้มากเท่าไรเพื่อที่จะคุ้มทุน และภาพโฆษณามันก็จะฝังเข้าไปเป็นค่านิยมของคนโดยไม่รู้ตัว ถูกกระตุ้นให้เกิดความยาก ต้องซื้อ ต้องใช้ เพื่อให้เหมือนกับคนอื่นๆ จะได้ไม่ตกยุค เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเรื่องที่น่ากลัว   ในต่างประเทศการทำโฆษณามีจริยธรรมมาก เขาจะใส่อารมณ์ขันเข้าไป ต่างกับเมืองไทยที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่ดูติด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ใช้แรงดึงดูดทางเพศในการโฆษณา เพื่อให้คนติดตาและจำสินค้าได้ ไม่ว่าสินค้าจะมีคุณภาพหรือไม่ก็ตาม   ที่เราต้องคิดกันต่อก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็เลยมองไปว่าข้อแรกตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องแข็งแรง ต้องเท่าทันโฆษณา แม้แต่คนที่มีความรู้ก็ตกอยู่ในความอยากได้เมื่อดูโฆษณา ข้อสองก็คือคนที่ทำโฆษณาต้องมีสำนึกและต้องรู้ว่าสิ่งที่เขาทำและสื่อออกมาส่งผลอย่างไรบ้าง ไม่ใช่หลอกล่อผู้บริโภคอย่างเดียว ข้อสามก็คือการควบคุมโฆษณาให้ไม่เกินเลย ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารส่วนหนึ่งอยู่ได้ด้วยโฆษณา แต่ก็ต้องมีการควบคุมด้วยว่าไม่ควรจะเกินเลยมากไปเช่นการโฆษณาแฝงในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อย่างการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ถูกนำเสนออยู่หน้าข้างๆ แถบจะแยกไม่ออกเลยว่าเป็นการโฆษณา เพราะเจตนาที่จะหลอกล่อ เหมือนดูถูกสติปัญหาของคนอ่าน สิ่งที่กองบรรณาธิการทำเหมือนดูถูกสติปัญญาของคนอ่านชัดเจน เหมือนโฆษณาแฝงในละครก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ วางประกอบฉาก บางรายการทีวีนึกว่าทำรายการโฆษณา ซึ่งเราต้องเฝ้าระวังและต้องมีการควบคุมด้วยเช่นกัน   การให้เราต่อต้านบริโภคนิยม แต่ทั้งๆ ที่เรายังปล่อยให้มีโฆษณาแบบนี้อยู่ แล้ววันๆ ก็ไม่มีสาระอะไร เป็นเพียงคำขวัญที่พูดกันไปวันๆ   การควบคุมในเรื่องการทำโฆษณามีมานานแล้ว ทั้งการเฝ้าระวังโฆษณาที่เกินจริง ที่ถี่เกินไป ถ้าการควบคุมไม่ได้ผลจริงๆ ก็ต้องออกมาเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงาน อีกส่วนก็คือต้องเรียกร้องกลุ่มผู้บริโภคให้ออกเคลื่อนไหวโดยการใช้สื่อนี่ละในการออกมารณรงค์และเรียกร้อง ซึ่งต้องต่อสู้อย่างมากทั้งกลุ่มทุน ทั้งผู้ผลิต ก็ต้องลองดู   โซเชียลเน็ตเวิร์คกับการผลิตสื่อเพื่อผู้บริโภค ถ้าหากเราทำสื่อที่มีเนื้อหาก็ต้องค่อยๆ ทำไป อาจจะไม่ต้องดังตูมตาม เหมือนโฆษณาลดเหล้า แต่เราค่อยๆ ซึมลึกก็น่าจะดีนะ อย่างการนำเสนอเรื่องทดสอบ ข้อมูลวิชาการต่างๆ ของฉลาดซื้อ ก็น่าจะมีคนสนใจ และคิดว่ามีความจำเป็นที่จะขยายสื่อของเราออกไปในสื่อวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ อย่างสื่อวิทยุทำได้ง่าย อีกอย่างก็คือมีเนื้อหาอยู่แล้วและคนเราก็ฟังเป็นหลัก ทำงานบ้าน ขับรถ ก็ฟังวิทยุได้ ทำเป็นละครวิทยุหรือทำเป็นเรื่องเล่าก็ได้ อย่างเรานำเรื่องราวจากหนังสือฉลาดซื้อมาเล่าให้คนฟังได้ แล้วก็จะเป็นช่องทางรับสมาชิกได้เพิ่มขึ้น เปิดช่องทางการมีส่วนร่วมให้เพิ่มขึ้นอย่างการเปิดรับสายโทรศัพท์ให้เข้ามาพูดคุยในรายการ ซึ่งปัจจุบันก็ง่ายขึ้น และต้องหาบุคลิกของรายการของตัวเราให้เจอ เรื่องมีสาระไม่จำเป็นต้องเครียด ทำให้เป็นเรื่องสนุกๆ ได้ น่าจะทำได้นะเพราะเรามีเครือข่ายวิทยุชุมชนหรืออาจจะประสานงานกับเครือข่ายพุทธิกา หากไม่มีคนจัดรายการก็เปิดรับคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษา เปิดรับอาสาสมัครเข้ามาจัดรายการ ให้เขาเหล่านั้นได้เข้ามาเรียนรู้โลกจริงๆ เพื่อเป็นการเปิดให้มีส่วนร่วมทางสังคมด้วยก็น่าจะดี   ละครดี ไม่ต้องตบตีคนก็ติดได้ ละครไทยผ่านไปกี่ปีก็ยังเหมือนเดิม ถ้าบอกว่าคนดูชอบ...ซึ่งถ้ามองไปที่คนดูก็ต้องบอกว่าเอ่อ..ดูละครแล้วมันสะใจ ดูแล้วมาคุยได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความถ้ามีละครที่ดีแล้วพวกเขาจะไม่ดู หรือดูแล้วไม่ได้ความคิด ไม่งั้นทำไมเขาถึงดูหนังจีนเปาบุ้นจิ้น สามก๊ก คนที่ดูละครน้ำเน่ากันอยู่ก็ดู ดูแล้วเขาก็ได้ความคิด แต่ทำไมไม่เอาละครดีๆ มาให้ดู ก็เพราะว่าคนทำละครไม่มีจิตสำนึกทางสังคมเลย แล้วก็มักง่าย  เมื่อตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำเรื่องที่มันยากๆ ลึกซึ้ง ที่ซับซ้อน ให้ง่ายต่อความเข้าใจ แบบเรื่องเปาบุ้นจิ้น เรื่องสามก๊ก หรือของญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงาน แต่ละครที่เราเห็นฉายกันอยู่เราจะรู้ว่ามันไม่ได้ใช้เวลา หรือใช้ความคิดสักเท่าไรเพราะว่ามันใช้สูตรเดิมๆ  ตัวละครจะมีอาชีพ เหตุการณ์ ฉาก คำพูด ประเด็นขัดแย้ง ก็แบบเดิม ก็จะเห็นว่าทำไปอย่างง่ายๆ คนดูก็ตอบรับดี แล้วก็พยายามเอาชนะละครเรื่องอื่นๆด้วยการใส่ความรุนแรงมากขึ้น ใส่ความวาบหวามมากขึ้น เพื่อเป็นการเอาชนะกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอาชนะกันด้วยความสามารถและสติปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นความมักง่ายของคนทำ แล้วคนดูก็ถูกอ้างว่าเป็นเพราะคนดูชอบ ถึงต้องทำออกมาแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว คนทำไม่มีความสามารถที่จะทำออกมาในรูปแบบอื่นมากกว่า แล้วพอดูเยอะมันก็ส่งผลต่อสังคม ส่งผลต่อคนผลิตด้วยก็จะขาดความมั่นใจในการผลิตรูปแบบอื่นด้วย มันจึงกลายเป็นปัญหาในการทำงานสร้างสรรค์และการทำงานที่มีรสนิยมด้วย เพราะฉะนั้นต้องหาทางผลิตและแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้...”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point