ฉบับที่ 268 พ่อเลี้ยงเดี่ยว ไม่ได้จดรับรองบุตร อาจไม่ได้เงินค่าสินไหม

        คุณพ่อหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นสิทธิ์ของแม่ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนพ่อต้อง “จดทะเบียนรับรองบุตร” ถึงจะมีสิทธิ์ในตัวลูก ซึ่งคุณชัยก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เลิกกับเมียนานแล้ว และเลี้ยงลูกเองมาโดยไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตั้งแต่แรก ซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้มีปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยุ่งยากตามมาในภายหลัง         เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อลูกชายวัย 14 ปีของเขาประสบอุบัติเหตุ จากการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนแล้วรถเกิดเสียหลักวิ่งแหกโค้งกระแทกพื้นถนน ลูกชายเขาถูกนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล หมอเอกซ์เรย์ พบกะโหลกแตก มีเลือดคั่งในสมอง ต้องผ่าตัดด่วน รักษาตัวได้เพียง 5 วัน จึงเสียชีวิต         ขณะที่หัวอกคนเป็นพ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปกะทันหันนั้นกำลังเศร้า เขากลับต้องมาเครียดซ้ำอีก เมื่อไปยื่นเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้ 500,000 บาท เพื่อหวังนำมาเป็นค่าปลงศพลูกชาย แต่กลับพบว่าตนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนนี้ ซึ่งคนที่จะมีสิทธิ์นี้ได้ก็คือแม่ของลูก โดยทางตำรวจได้ออกหมายเรียกตัวแม่ของลูกไปแล้ว แต่ก็ยังติดต่อไม่ได้ คุณชัยจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาควรทำอย่างไรจึงจะมีสิทธิ์รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เมื่อผู้ร้อง(พ่อ)มีบุตรแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยาและไม่ได้จดรับรองบุตรที่เกิดมา ผู้ร้องจึงเป็นเหมือนบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวข้องกับบุตร ไม่สามารถรับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ จำนวน  500,000 บาทได้ แต่แม่ของลูกยังมีสิทธิ์ได้รับเงินตามกฎหมาย จึงตามแม่ให้มารับเงินดังกล่าวได้         2. หากติดต่อแม่ของลูกไม่ได้ สิทธิ์นี้ก็ต้องตกกับทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป คือผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางสายโลหิต ได้แก่ 2.1 ผู้สืบสันดาน 2.2 บิดามารดา 2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 2.5 ปู่ย่าตายาย 2.6 ลุงป้าน้าอา ถ้ายังมีอยู่ก็เรียกมารับค่าสินไหมตรงนี้ได้         3. แต่ถ้าไม่มี ผู้ร้องอาจจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรับรองบุตรและให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องเป็นบิดาของบุตร ซึ่งผู้ร้องจะต้องหาเหตุผลรวมทั้งพยานหลักฐานเข้ามาประกอบให้ศาลเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาที่แท้จริง เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องจึงจะมีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ          ในกรณีนี้ หลังจากได้รับคำแนะนำไป คุณชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศาลมีคำพิพากษาว่า “ให้พ่อเป็นผู้ปกครองเด็กอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” แล้ว เขากำลังเร่งขอคัดคำพิพากษาเพื่อนำไปยื่นต่อ “บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด” ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา เพื่อขอรับเงินค่าสินไหมในส่วนที่ได้ครึ่งหนึ่งคือ 250,000 บาท ส่วนแม่ของลูกยังติดต่อไม่ได้ ซึ่งหากเจอตัวแล้วแม่ทำหนังสือสละสิทธิ์เงินที่เหลืออีก 250,000 บาท คุณชัยก็จะได้เงินนี้ไปด้วย แต่ถ้ายังหาตัวแม่ไม่เจอ เงินส่วนนี้ก็จะเข้ากองทุนผู้ประสบภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสต่างแดน

ตราไม่รับรอง บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้ความไว้วางใจ “ตรารับรอง” โดยลืมถามตัวเองว่าตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น “รับรอง” อะไรกันแน่ องค์กรต่อต้านการทารุณสัตว์ SAFE (Safe Animals from Exploitation) ที่นิวซีแลนด์ออกมาแฉกันเต็มๆ ว่า ตรารับรอง “PigCare Accredited” ที่ติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขายของได้มากขึ้น  เพราะผู้บริโภคปัจจุบันต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์ ตรารับรองที่ว่าจึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าหมูน้อยเหล่านั้นเคยมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายตามอัตภาพ ไม่ทุกข์ทรมานเพราะถูกกักขังบริเวณอยู่ในกรงจนขยับไม่ได้  แต่ความจริงแล้วเงื่อนไขที่จะได้ตรารับรอง “PigCare” นั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการห้ามใช้กรงขัง หรือการห้ามเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ในขณะที่ฟาร์มที่เลี้ยงแบบเปิด ต่างก็ไม่เข้าร่วมขอฉลากรับรองที่ว่าเพราะไม่เห็นด้วยกับการรับรองดังกล่าว  ฮานส์ ครีก ผู้อำนวยการของ SAFE บอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้บริโภคควรมองหาคือตรารับรอง “Free range” หรือ “Free farmed” (ฟาร์มเปิด) มากกว่า  อืม ... จะบริโภคอย่างรับผิดชอบนี่มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------     คันต่อไปครับ แค่สาวนางหนึ่งถูกปฏิเสธโดยแท็กซี่ 6 คันซ้อน ก็เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ที่นิวซีแลนด์ซะแล้ว (ไม่อยากจะคุยว่าที่บ้านเรา แค่นี้จิ๊บๆ) วิคตอเรีย กริฟฟิน ออกจากงานเลี้ยงที่บริษัทในย่านเวียดักท์ เมื่อตอนเที่ยงคืนครึ่งของคืนวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อมาเรียกรถแท็กซี่ที่จอดรออยู่มากมาย แต่เธอกลับถูกปฏิเสธถึง 6 ครั้งติดต่อกันเพียงเพราะบ้านเธออยู่ใกล้เกินไป คนขับรายหนึ่งบอกให้เธอเดินกลับบ้านเอง มีรายหนึ่งรีบล็อคประตูไม่ให้เธอเปิดเข้าไปเลยด้วยซ้ำ   ค่าโดยสาร(ถ้าเธอได้ขึ้น) จะประมาณ 15 เหรียญ หรือ 350 บาท แต่ค่าปรับซึ่งคนขับแท็กซี่จะต้องจ่าย เพราะทำผิดกฎหมายฐานปฏิเสธผู้โดยสารนั้นอยู่ที่ 400 เหรียญ หรือประมาณ 9,000 บาท เวียดักท์ เป็นหนึ่งในย่านที่มีสถิติการปฏิเสธผู้โดยสารมากที่สุด ทิม เรดดิช ประธานสหพันธ์แท็กซี่นิวซีแลนด์ประเมินว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีการถูกปฏิเสธไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง รวมๆ แล้วก็น่าจะหลายพันครั้งต่อปี (แต่มีคนร้องเรียนเข้ามาจริงๆ เพียงปีละ 20 ครั้งเท่านั้น) ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ คนขับแท็กซี่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้เมื่อรู้สึกว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อตนเอง เมื่อผู้โดยสารอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติด เมื่อผู้โดยสารพกพาน้ำหรืออาหารมาด้วย เมื่อผู้โดยสารส่งเสียงดังหรือมีพฤติกรรมรุนแรงหรือนำสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์นำทางมาด้วย เมื่อมีผู้โดยสารจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ยังให้ปฏิเสธได้ในกรณีที่ผู้โดยสารมีเงินไม่พอจ่าย (คนขับสามารถถามล่วงหน้าได้)  เอาเป็นว่ายังไงก็ไม่อนุญาตให้ปฏิเสธเพราะระยะทางสั้นเกินไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เข็มขัดมาช้า คราวนี้มาดูการขนส่งในฮ่องกงกันบ้าง ซึ่งขณะนี้รถที่มีเป็นประเด็นมากที่สุดเห็นจะเป็นมินิบัส ซึ่งมีผู้ใช้บริการถึง 1.85 ล้านคนต่อวันในบรรดารถทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีมินิบัสที่จดทะเบียนอยู่ร้อยละ 0.76 แต่กลับมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 5 และจากสถิติเมื่อสองปีที่แล้ว ร้อยละ 9 ของจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นผู้โดยสารรถมินิบัสนั่นเอง  หลังจากเกิดอุบัติเหตุสองครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายเมื่อปี 2009 กรมการขนส่งฮ่องกงประกาศบังคับให้มินิบัสทุกคันติดตั้ง “กล่องดำ” และอุปกรณ์จำกัดความเร็ว  นอกจากนี้กรมฯ ยังประกาศให้รถมินิบัสที่ขึ้นทะเบียนหลัง 1 สิงหาคม 2004 ทุกคันติดเข็มขัดนิรภัย และมีการคาดการณ์ไว้ว่า ร้อยละ 60 ของรถมินิบัสจะมีเข็มขัดนิรภัยภายในปี 2008 แต่จนถึงกันยายนปีที่แล้วมีรถมินิบัสที่มีเข็มขัดนิรภัยเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น  ผู้ตรวจการประเมินว่าภายในปี 2015 จะยังมีรถที่ไม่ปลอดภัยวิ่งอยู่บนท้องถนนอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน และคงต้องใช้เวลา 8 ปี จึงจะทำให้รถทุกคันมีเข็มขัดนิรภัยได้   แอพหน้าขาวเชื่อหรือไม่ อินเดียเป็นตลาด “ครีมหน้าขาว” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเช่นเดียวกับบ้านเรา ความอยากขาวนั้นไม่เข้าใครออกใคร ที่นั่นตลาดครีมไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายเติบโตถึงร้อยละ 25 (สูงกว่าตลาดครีมสำหรับผู้หญิงร้อยละ10) ถึงขนาดเฟสบุ๊คที่อินเดียเขามีแอพพลิเคชั่นให้หนุ่มๆได้อัพโหลดรูปถ่ายหน้าตัวเองเข้าไป แล้วลองลากเส้นผ่าน เพื่อให้รู้กันไปว่าจะหล่อขึ้นได้สักเท่าไรเมื่อหน้าขาวขึ้น (ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล) แอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดและไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายยี่ห้อวาสลีนนั่นเอง   โดยมีดาราบอลลีวูดชื่อดัง ชาฮิด คาปูร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์แสดงให้เห็นครึ่งหน้าที่ผิวคล้ำและผิวขาวขึ้นด้วยแอพฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสมากมายในเฟสบุ๊ค ทางวาสลีน บอกว่าไม่ใช่เรื่องของการกีดกันสีผิว มันก็เหมือนๆ   กับที่ผู้คนในอเมริกาเหนือหรือยุโรปอยากมีผิวสีแทนนั่นแหละ แต่นักธุรกิจชาวอินเดียที่เปิดแฟนเพจในเฟสบุ๊คเพื่อรณรงค์ต่อต้านเทรนด์ “ต้องขาว” ในอินเดีย บอกว่าการที่คนตะวันตกไม่มีผิวสีแทน ไม่ได้เป็นเหตุให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ มันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ในอินเดียนั้นผู้คนเชื่อว่าการมีผิวขาวหมายถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต ข่าวแถมข้อมูลมาว่า จากการสำรวจที่ทำกับผู้คนจำนวน 12,000 คน ในปี 2009 โดยเว็บหาคู่ออนไลน์ พบว่าสีผิวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกคู่ของหนุ่มสาวในสามรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เศรษฐศาสตร์ต้นคริสต์มาส ราคาต้นคริสต์มาสที่เดนมาร์กซึ่งเป็นผู้ส่งออกต้นคริสต์มาสรายใหญ่ที่สุดในยุโรป นาทีนี้อยู่ที่ 160 โครเนอร์ (ประมาณ 850 บาท) ต่อความยาวหนึ่งเมตร เขาบอกว่าราคานี้ขึ้นมาจากปีก่อนร้อยละ 25  สมาคมผู้ปลูกต้นคริสต์มาสแห่งเดนมาร์กบอกว่าที่แพงก็เพราะเขาไม่สามารถประเมินความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้าได้ เพราะเจ้าต้นไม้ประจำเทศกาลนี้ต้องใช้เวลาในการปลูกถึง 9 ปี   อย่างไรก็ดี ข้ออ้างที่ว่านี้ยังไม่สามารถคลายข้อข้องใจของสมาคมผู้บริโภคที่นั่นได้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สมาคมฯ ถูกศาลสั่งปรับ 500,000 โครเนอร์ (ประมาณสองล้านหกแสนกว่าบาท) โทษฐานที่ชักชวนให้สมาชิกร่วมกันตั้งราคาขั้นต่ำสำหรับต้นคริสต์มาสในช่วงระหว่างปี 2002 ถึง 2006   ข่าวบอกว่าระหว่างปี 2005 ถึง 2009 ราคาต้นคริสต์มาสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 โดยพันธุ์ยอดฮิตที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าได้แก่พันธุ์นอร์ดมันเฟอร์ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------   คูปองสองมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภคของเดนมาร์กไม่เห็นด้วยกับการแจกคูปองลดราคาเป็นโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพราะมันหมายถึงการจ่ายเงินจำนวนต่างกันสำหรับสินค้า/บริการเดียวกัน  ความจริงแล้วตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ที่เดนมาร์กมีกฎหมายห้ามการแจกคูปองลดราคา เพื่อการันตี “ความเท่าเทียม” เรียกว่าใครบังอาจแจกเป็นอันต้องถูกจับและปรับกันไป   เรื่องการแจกคูปองกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อสหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงเมื่อปี 2009 ที่ระบุว่าให้สามารถทำได้ ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวก็เขียนไว้ชัดเจนว่าให้แต่ละประเทศถือปฏิบัติตามกฎหมายของตนเองไปจนถึงปี 2013   แต่บรรดาผู้ประกอบการที่นั่นไม่รอช้า รีบใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวของสหภาพยุโรปทันที แถมยังบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่พึงพอใจกับคูปองลดราคาที่ว่าอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >