ฉบับที่ 234 ฟรีแลนซ์กับการผ่อนคอนโด

        อาชีพรับจ้างอิสระหรือที่เรียกภาษาปากว่า ฟรีแลนซ์ นั้นให้อิสระได้จริงเพราะไม่มีสังกัดหรือขึ้นตรงกับใคร รับทำงานเฉพาะกับคู่สัญญาจ้าง บริหารเวลาได้เอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันด้านการเงินจะค่อนข้างมีปัญหาเพราะรายได้ขึ้นอยู่กับการรับงานจ้าง ไม่ได้รับประจำเป็นเงินเดือน การตัดสินใจมีทรัพย์สินอย่างคอนโดมีเนียมซึ่งต้องใช้สินเชื่อ อาจไม่ผ่านการพิจารณา อย่างไรก็ดีฟรีแลนซ์บางท่านแม้ทราบดีถึงข้อจำกัดตรงนี้แต่บางครั้งก็ถูกโน้มน้าวให้ตัดสินใจพลาดได้ อย่างเช่นกรณีของคุณวิมล         คุณวิมลเป็นครูสอนโยคะ พักอาศัยอยู่แถวรามคำแหง วันหนึ่งในปลายปี 2560 เดินผ่านโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในย่านรามคำแหงรู้สึกสนใจจึงแวะเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูลกับพนักงานขายของโครงการ หลังจากได้ฟังคำชักชวนต่างๆ ก็ค่อนข้างพอใจ จึงลองสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อ เพราะตนเองนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์พอจะทราบมาบ้างว่า การขอสินเชื่อไม่ง่าย         ถึงตรงนี้พนักงานขายแสดงข้อมูลกับคุณวิมลว่า ทางโครงการของเรามีระบบบัญชีที่สามารถติดต่อกับทางธนาคารต่างๆ ได้โดยตรง ถ้าตัดสินใจซื้อกับทางเรา “สินเชื่อผ่านแน่นอน” เมื่อเห็นท่าทางมั่นอกมั่นใจของพนักงานและการแสดงประวัติต่างๆ ประกอบกับชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมนี้ คุณวิมลจึงวางเงินจองเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 และจ่ายเงินอีก 50,000 บาทในวันทำสัญญา คือ วันที่ 25 ธันวาคม 2560 จากนั้นก็ผ่อนชำระเรื่อยมาเดือนละ 4,300 บาท จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563         เมื่อโครงการฯ เสร็จทางบริษัทติดต่อคุณวิมลให้เข้าไปตรวจสอบและโอนกรรมสิทธิ คุณวิมลได้ดำเนินการขอสินเชื่อกับธนาคารสี่แห่ง ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้คุณวิมลประเมินแล้วว่า ตนเองคงผ่อนไม่ครบแน่ จึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองและเงินดาวน์ที่ผ่อนไปคืน แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหมจึงปรึกษามา  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ส่งตัวอย่างหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนให้ผู้ร้องใช้เป็นตัวอย่างในการทำหนังสือยกเลิกสัญญา เพื่อให้ทางโครงการฯ ตอบกลับมาว่าจะดำเนินการอย่างไร และพร้อมช่วยเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้         กรณีของคุณวิมลนี้ เข้าข้อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เรื่องเข้าทำสัญญา...มาตรา 378 เรื่องเงินมัดจำ...มาตรา 379 เรื่องลูกหนี้ให้สัญญาแก่เจ้าหนี้... และมาตรา 383 กรณีเบี้ยปรับสูงเกินควร         กล่าวคือ เงินจองหรือเงินมัดจำตามกฎหมาย หากผู้บริโภควางให้ผู้ประกอบการไว้แล้ว ต้องการยกเลิกสัญญาเงินส่วนนี้จะถูกริบ ยกเว้นว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองก็จะต้องคืนให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ จะเข้าเงื่อนไขเป็น เงินจอง หรือ เงินมัดจำ หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีด้วยว่าเจตนาของทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นการชำระหนี้หรือกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าห้องชุดด้วย ส่วนเงินดาวน์ที่ผ่อนไปก่อนมีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่หากผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญา แล้วผู้ประกอบการริบเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เงินส่วนนั้นจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน สามารถฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ลดลงเหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ จะริบทั้งหมดไม่ได้         กรณีของคุณวิมล หากตกลงไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทฯ ไม่ได้ คุณวิมลต้องใช้การฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 สิทธิผู้รับบริการ กรณีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

17 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสองข่าวใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อในสื่อออนไลน์ ข่าวแรก คือ วินจักรยานยนต์รับจ้างบุกประท้วงบริษัทแกร็บไบท์ และข่าวที่สอง วินจักรยานยนต์เตะหน้านักท่องเที่ยวกลางเมืองพัทยา  โดยทั้งสองข่าวเป็นเรื่องของจักรยานยนต์รับจ้าง ถึงตรงนี้สองข่าวจะเกี่ยวกันยังไงตามมาดูกันครับข่าวแรก กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพมหานคร รวมตัวประท้วงเผาเสื้อวินเป็นสัญลักษณ์ ที่หน้าอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัท แกร็บ ประเทศไทย เรียกร้องให้ หยุดนำรถจักรยานยนต์ป้ายขาวมารับส่งผู้โดยสาร หลังจากมีเหตุปะทะรุนแรงเพื่อแย่งผู้โดยสารกันมาโดยตลอด การรวมตัวประท้วงใหญ่ครั้งนี้  ถือเป็นการส่งสัญญาณจากกลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างที่เป็นผู้ให้บริการตามกฎหมาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมุ่งแต่จะจัดระเบียบและเข้มงวดกับกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่กลับละเลยต่อการควบคุมจัดการกับกลุ่มรถรับจ้างที่เจตนาทำผิดกฎหมาย แน่นอนว่าการเข้ามาตีตลาดกินส่วนแบ่งของธุรกิจรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชัน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเดิมอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะฐานลูกค้าเดิมหายไป มีผลทำให้มีรายได้ลดลง และผู้ให้บริการรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ แทบไม่ต้องทำตามกฎหมายเพื่อให้เป็นรถรับจ้างเลย เช่น  1. นำรถส่วนบุคคลมาวิ่งได้ ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะ  2.  ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะก็วิ่งรับส่งคนโดยสารได้  3. ไม่ต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุม และ  4. ไม่ต้องมีเสื้อวิน ไม่ต้องมีสถานที่ตั้ง (วิน) ก็วิ่งได้ เป็นต้น  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการรายเดิมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่รัฐกำหนดไว้ให้ทุกอย่าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่มีกติกาของรัฐควบคุมเลยทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นที่นิยมต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากอีกด้วย ข่าวที่สอง จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิป ชายขับวินจักรยานยนต์รับจ้าง เตะเข้าที่ใบหน้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เมืองพัทยา ภายหลังถูกตำรวจตามรวบตัวได้ อ้างถูกด่าก่อนจึงเกิดบันดาล สุดท้ายโดนดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในข้อหาทำร้ายร่างกาย ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่สอบหนักขึ้นจึงพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และฝ่าฝืนใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างให้บริการ  ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท  และขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบไปถึงคนขับรถในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผู้ต้องหารายนี้ขับรถอยู่ด้วย โดยมีคำสั่งให้ระงับการขอเพิ่มรถจักรยานยนต์ในวินเป็นเวลา 6 เดือน และเรียกสมาชิกทุกคนในวินเข้ามารายงานตัว พร้อมกำชับตักเตือนคาดโทษหนักสุด หากพบมีความผิดซ้ำมีโทษถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนได้ทันทีเห็นหรือยังครับว่าสองข่าวนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร  ประเด็นคือ ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิและข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อไม่ให้มีธุรกิจแบบแกร็บไบท์เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด โดยอ้างสภาพเศรษฐกิจ สังคม จนถึงการทำลายระบบขนส่งของประเทศชาติ แต่ความเสี่ยงของผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยที่ยังพบเห็นได้ทั่วไปในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างบางแห่งที่มีรถส่วนบุคคลป้ายขาวร่วมวิ่งให้บริการรับส่งคนโดยสารอยู่เหมือนเป็นปกติ หรือคิดราคาเอาเปรียบผู้บริโภค ยังไม่รวมถึงปัญหาด้านความปลอดภัย อาทิ ขับรถเร็ว วิ่งย้อนศรสวนเลน การฝ่าฝืนกฎจราจร และอีกมากมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตราบใดที่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกจัดการแก้ไข เมื่อผู้ให้บริการเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคย่อมต้องมีสิทธิที่จะหาทางเลือกใหม่ที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า  ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  คือ สิทธิที่มีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ดีแม้ในทางปฏิบัติจะเชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนมากยังนิยมการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิมอยู่ เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย ใช้ประจำในระยะทางสั้นๆ แต่หากยังปรากฎพบเห็นพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้างตามสื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ย่อมมีส่วนทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเสี่ยงกับการใช้รถรับจ้างทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์การเดินทาง ทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมายก็ตาม นั่นก็เพราะผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกแล้วนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รถจักรยานยนต์รับจ้างกับการคิดค่าบริการ

ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องการเร่งรีบในการเดินทาง  การเลือกหารถโดยสารซักคันเพื่อเดินทาง จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางออกของคนเมืองที่ต้องใช้งานกันแทบทุกวัน แต่ทางเลือกนี้กลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะโก่งราคาค่าโดยสาร ขับรถเร็วหวาดเสียว เรียกแล้วไม่ไป หรือไปแต่ส่งไม่ถึงจุดหมาย บางครั้งปริมาณรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนใช้ ที่แย่ไปกว่านั้น แม้บางคนเลือกที่จะเดินไปต่อแถวขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถแท้ๆ แต่กลับได้รถคันที่ขึ้นเป็นรถป้ายขาว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแทน แน่นอนว่าในใจคงไม่อยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ารถคันที่ขึ้นเป็นใครมาจากไหน แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้ต้องขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการควบคุมราคาค่าโดยสาร กำหนดให้ระยะทาง 2 กม.แรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กม.ที่ 2 – 5 ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท และหากระยะทางมากกว่า 15 กม.ขึ้นไป ให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสาร กม.ละไม่เกิน 10 บาท โดยย้ำทุกวินต้องทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักพบว่า มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่สูงกว่าความเป็นจริง และยังมีวินเถื่อนรถเถื่อนแอบให้บริการอยู่ทั่วไปจากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ในกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีรถจักยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศมากถึง 194,393 คัน แต่ในความเป็นจริงนอกจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอยู่อีกเช่นกัน เพราะรถที่นำมาวิ่งให้บริการส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นรถป้ายเหลืองหรือขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะ  ทั้งนี้ตามกฎหมายรถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัว ที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสะสมมาถึงจุดหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมวงใหม่อย่าง GrabBike ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็วและมารับถึงที่ แถมราคาถูกกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิม ปรากฏขึ้น จึงเป็นที่ถูกใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้จะเป็นบริการผิดกฎหมายไทยก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5 (15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่เมื่อ GrabBike ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า เราจึงเห็นภาพความขัดแย้งผ่านสื่อทั้งหลาย ระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับ GrabBike  อยู่บ่อยๆ จึงกลายเป็นคำถามว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่บอกว่า ผิดกฎหมายนั้น ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิหรือไม่ แล้วจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้มีการคิดทบทวนกันว่า เหตุใดการให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ควบคุมโดยรัฐ จึงมีคุณภาพบริการที่แย่กว่าบริการเอกชนที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย ทางออกจะนำไปสู่การพัฒนาระบบรถรับจ้างให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ขณะเดียวกันหากจะยอมรับผู้ประกอบธุรกิจในมิติใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าถูกหรือผิด หากผิดแล้วยังฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษที่ควบคุมจัดการได้ มิเช่นนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบนี้ก็จะยังคงมีอยู่ ด้วยต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและประโยชน์ที่มี ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริโภคที่ยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ค่าโดยสาร คิดราคาตามใจชอบ

แม้ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะมีป้ายใหญ่ๆ กำหนดอัตราค่าโดยสารให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจก่อนเรียก แต่ก็เป็นไปได้ยาก ที่เราจะเลือกใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเจ้าเดิม หรือวินเดิมทุกครั้ง ทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสในการเรียกวินเถื่อน ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจเรียกเก็บอัตราค่าบริการตามใจชอบ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเล่าว่า ปกติเธอใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำ โดยจะเรียกจากหน้าบ้าน ไปปากซอย ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งทุกครั้งจะเสียค่าบริการราคา 10 บาท แต่ครั้งนี้เสีย 15 บาท เมื่อสอบถามว่าทำไมวันนี้ราคาแพงกว่าเดิม ก็ได้รับคำตอบว่า “คันอื่นผมไม่รู้ แต่รถผมเก็บราคานี้” จึงทำให้เธอรู้สึกว่า แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวกำลังเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเขาอาจทำแบบนี้กับลูกค้ารายอื่นๆ อีกก็ได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะอยากรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะจำชื่อวินที่แปะไว้หลังเสื้อของคนขี่ได้ แต่เมื่อศูนย์ฯ ส่งจดหมายไปกรมการขนส่งทางบกกลับพบว่า กรมฯ ไม่สามารถติดตามผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคันดังกล่าวได้ เนื่องจากในซอยนั้นมีหลายวิน และมีมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องจำต้องยุติการร้องเรียน ด้วยเหตุผลข้างต้น ทางศูนย์ฯ จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการว่า ไม่ควรจำเฉพาะป้ายวินอย่างเดียว แต่ควรจำหมายเลขทะเบียนรถคันที่เราขึ้นไว้ เพราะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ขับขี่เป็นใคร นอกจากนี้หากเราพบว่าการเรียกเก็บค่าบริการไม่มีความเป็นธรรม สามารถโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 1584

อ่านเพิ่มเติม >