ฉบับที่ 205 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2561ค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุลิดรอนสิทธิ ขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) พร้อมตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 130 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุผลสำคัญ คือ ร่างกฎหมายดังกล่าว มีความล้าหลัง ไม่เป็นธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น เป็นการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคตาม มาตรา 46 เพราะมีผลให้คดีทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ไม่จัดเป็นคดีผู้บริโภคอีกต่อไป, มาตรา 27 ประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และมาตรา 68 วรรคแรก ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้บริโภคในคดีทางการแพทย์ มีลักษณะสองมาตรฐาน แตกต่างจากคดีผู้บริโภคประเภทอื่น “การแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขฯ ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานแล้วแทน” ผู้พิการทุปลิฟต์ บีทีเอส สะท้อนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกละเลย จากกรณี นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ และผู้ประสานงานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ที่ทุบกระจกประตูลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.61 พร้อมโพสต์ภาพลงสื่อโซเชียล เรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้พิการนั้น นายมานิตย์ได้แถลงข่าวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศกว่า เหตุเริ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ตนลงชื่อ โดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ ซึ่งตนได้ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และยังเป็นการละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนพิการด้วย เนื่องจากตนได้เดินทางโดยรถไฟฟ้ามาหลายปี บีทีเอส ให้สิทธิคนพิการขึ้นฟรี แต่มีอยู่สถานีเดียวที่ให้ตนลงชื่อ จึงได้ตัดสินใจขอซื้อตั๋วเอง โดยหลังจากที่ซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ได้พาตัวเองไปยังลิฟต์ ก็พบว่าประตูถูกล็อค มองหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบ ผ่านไป 5 นาที จึงตัดสินใจชกเข้าไปที่ประตูกระจก นายมานิตย์เองยอมรับว่าผิด แต่ก็บอกว่าเรียกร้องเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ศาลก็เคยมีคำสั่งให้ กทม.-บีทีเอส จัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการทั้ง 18 สถานีที่ยังไม่มี ให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่นี่ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้วหลังจากที่ศาลมีคำสั่ง ก็ยังมีลิฟต์ไม่ครบ โดยหลังจากนี้ 7 วัน หากไม่มีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐและบีทีเอส จะขอดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลด้านบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงว่า ระบบลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท แบบแรก คือ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ซึ่งจะถูกล็อคไว้ เพราะลิฟต์จะสามารถขึ้นตรงไปที่ชานชาลาได้เลย โดยไม่ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว อีกแบบ คือ ลิฟต์ที่ขึ้นไปยังชั้นห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งเปิดให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้งานได้ บริษัทรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ก็จะปรับปรุงขั้นตอนให้ผู้พิการมีความสะดวกมากขึ้นสื่อญี่ปุ่นเผยไทยนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเป็นชาติแรก หลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปี 54 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.61 สำนักข่าวเจแปนไทม์ส รายงานว่า ไทยได้สั่งซื้อปลาตาเดียว 110 กก. จากท่าเรือโซมะ จ.ฟุกุชิมะ เพื่อนำมาจำหน่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ในกรุงเทพฯ ต่อมา น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการตกค้างของรังสีในปลาตาเดียวลอตดังกล่าว และขอให้เปิดเผยใบรับรองของบริษัทนำเข้า และเปิดเผยรายชื่อร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ให้ผู้บริโภคได้ทราบตามสิทธิพื้นฐาน ถัดมา อย.และกรมประมงได้แถลงข่าวว่า ปลาตาเดียวลอตที่ถูกนำเข้าจากฟุกุชิมะนี้ไม่ใช่ลอตแรก และไม่มีการปนเปื้อนรังสี เพราะทางญี่ปุ่นได้ตรวจสอบแล้ว โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. - เม.ย.59 ตรวจไม่พบการปนเปื้อนในปลาในประเทศไทย จึงให้นำเข้าได้อย่างปกติ แต่ยังคงมีการสุ่มตรวจทั่วไป และให้ความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสุ่มตรวจร้านอาหารทั้ง 12 แห่งที่เป็นข่าว ด้าน น.ส.สารี ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาจากการที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจสอบอาหารนำเข้า 7 พิกัด ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือน พ.ค.59 จากแรงผลักดันของธุรกิจส่งออก ซึ่งทำให้เกิดปัญหา การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจการตรวจสอบมาให้กรมประมง แต่กรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กักหรือตรวจสอบซ้ำ และให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังจากปลาหรือสินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว ถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะในครั้งนี้4 หน่วยงาน จับมือร่วมสร้าง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เมื่อ 15 มี.ค.61 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) รวม 4 องค์กร ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ โดยพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค ให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมกว่า 300 องค์กร 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ วันที่ 15 มี.ค.61 งานสมัชชาผู้บริโภคแห่งชาติ ประจำปี 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวการทำกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน ควบคู่ไปกับ ฉบับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตาม มาตรา 46 เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คาดหวังให้ร่างกฎหมายดังกล่าว ตรงตามเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายที่แท้จริง โดยร่างกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ จะถูกจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ ไม่ถูกนำไปอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน แตกต่างจาก ร่างของ สคบ. ในหลายประเด็น เช่น การสนับสนุนงบประมาณต่อหัวประชากรโดยรัฐ, เพิ่มเติมนิยามองค์กรผู้บริโภค ไม่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ, ให้มีกรรมการจากเขตพื้นที่ 13 เขต, เพิ่มอำนาจสนับสนุนให้เกิดสภาผู้บริโภคระดับจังหวัด ซึ่งการมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ทำให้แต่ละจังหวัดมีตัวแทนเข้าไปทำงานในระดับประเทศ ทั้งนี้ เมื่อ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อแจ้งริเริ่มการเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติฯ แล้ว และคาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อ จำนวน 10,000 รายชื่อได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ตั้งใจให้มีส่วนร่วมจริงเปล่าคะ…รัฐสภา

ในกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก ประดุจน้ำที่หลั่งไหลจากเขื่อนแตก กระแสหนึ่งที่ถาโถมการเมืองไทยคือประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ(นี่ยังไม่บวกประเด็นป๋า/ประเด็นพี่ไหนๆ นะ) ถึงกับต้องบอกว่า ร้อน......เจงๆ นั่นแน่คิดว่าเราจะเขียนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีกแล้วละซิ.. ถ้าคิดอย่างนั้นขอบอกว่า คุณ...คิดผิด แฮ่ๆ เพราะเราจะเขียนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกับระบบนิติบัญญัติของชาติไทยตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นต้นมากระแสการมีส่วนร่วมของประชาชนก็โดดเด่นขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และกระแสนี้ก็ยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีหน่วยราชการมากมาย วิ่งมาหาแกนนำภาคประชาชน เพราะการมีประชาชนเข้าร่วมเป็นหนึ่งเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จในการทำงาน หน่วยงานไหนที่สามารถนำประชาชนเข้าร่วมได้มากถือว่ามีผลงานมาก ทำให้ทุกหน่วยราชการต่างแย่งชิงกลุ่มองค์กรภาคประชาชน เพื่อให้หน่วยงานของตนผ่านตัวชี้วัด ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลย ว่าทำไมชาวบ้านมี ชุดฟอร์ม ที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของจากหน่วยงานราชการหลายหน่วย(จนชาวบ้านกลายเป็นคนของรัฐไปหมดน่าเหนื่อยใจจริงๆ)และยิ่งไปกว่านั้นกระแสการมีส่วนร่วมได้ลุกลามเข้ามาถึงสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต้องบอกก่อนนะเรื่องที่เขียนอาจมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง แต่มิใช่ประเด็นหลักเป็นเพียงประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นว่าจริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้ มีความจริงใจให้ประชาชนเข้าร่วมจริงหรือไม่ พอดีผู้เขียนได้ถูกเชิญเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งในวุฒิสภา(โอ้ย...หากใครได้รับเชิญเข้าไปอาจคิดว่ามันเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลไปเลยก็ว่าได้ ว่า...เข้าไปนั่น...) ผู้เขียนถูกเชิญเข้าไปก็รู้แต่ว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และในชุดนี้ยังมีการเชิญพี่น้องจากต่างจังหวัดเข้าร่วมด้วย ไกลที่สุดก็คือมาจากปัตตานี ทุกคนมากด้วยความเต็มใจและมุ่งมั่น แต่เชื่อไหมว่า การมีส่วนของประชาชนมันเป็นแค่เรื่องที่เขียนไว้เท่ๆ ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอื่นๆเท่านั้นเอง.... เพราะกฎระเบียบอื่นๆ ไม่ได้แก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเกณฑ์การจ่ายค่าเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมไม่มี มีแต่ เกณฑ์เก่าสมัยพระเจ้าเหาได้มั้งที่เอามาใช้ และถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ ในระเบียบของรัฐสภา ผู้ที่ถูกเชิญเข้ามาเป็นอนุกรรมาธิการจะมีเบี้ยเลี้ยงให้ครั้งละ 500 บาทจะมาจากไหนก็ช่างเธอ...ฉันให้เท่านี้ล่ะตามระเบียบ ผู้เขียนไม่เดือดร้อนอะไรเพราะอยู่แค่สมุทรสงคราม ชิลล์ๆ อยู่แล้ว แต่คิดถึงคนที่มาจากปัตตานี คิดไหมว่าเขาจะเดือดร้อน คิดดูชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่มีเงินเดือนไม่มีรายได้มั่นคงจะเข้ามาร่วมได้ไหม บางคณะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง บางคณะประชุมทุกอาทิตย์ชาวบ้านที่ไหนจะมีเงินออกค่าเดินทางเองเข้ามาร่วมได้จริงไหมล่ะท่านถ้าชี้ให้เห็นชัดๆ ก็คือเกณฑ์ของรัฐสภาคือเกณฑ์ที่ผู้เข้าร่วมเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. หรือสว. อยู่แล้ว หรือราชการระดับหัวๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือกลุ่มทุนที่ไม่เดือนร้อนเรื่องค่าเดินทาง ชี้ให้เห็นว่าคนที่คิดเกณฑ์นี้ไม่ได้คิดเผื่อสำหรับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่เคยคิดว่าจะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ซะด้วยซ้ำ และนี่คือเรื่องที่อยากนำเสนอว่าอย่าว่าแต่หน่วยการราชการในพื้นที่ไม่จริงใจกับการมีส่วนร่วมของประชาชน รัด-ฐะ ก็เหมือนกัน มีแต่ปากดีว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนต้องมาก่อนอย่างนั้นอย่างนี้...(มาแล้วเดือดร้อน.จะมายังไง...) เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นหัวชาวบ้าน แม้แต่จะคิดกฎเกณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดยังไม่ทำเลย ดีแต่พล่ามกันไปวันๆ น่าเหนื่อยจริงนะประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >