ฉบับที่ 133 น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน

  “น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีอย. รับรอง 30 ประเทศทั่วโลก จดทะเบียน อย.ในหมวดอาหาร ไม่ใช่ยา สามารถรับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ ยิ่งทานในปริมาณมากยิ่งเห็นผลเร็วขึ้น” ไม่กี่วันมานี้ เพื่อนฝูงผมหลายคนต่างได้รับอีเมล์ จ่อหัวเรื่องซะน่าสนใจว่า น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน โดยในเนื้อหาของอีเมล์นี้บอกว่าน้ำผลไม้ที่ว่านี้คือ น้ำผลไม้มากี้เบอร์รี่ Maqui Berry ซึ่งมีส่วนผสมของผลไม้ที่สำคัญและแร่ธาตุในน้ำว่านหางจระเข้ที่มีประสิทธิภาพ ผลไม้นี้ถูกค้นพบในป่าของทวีปอเมริกาใต้ เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากผลไม้อื่นๆ ในโลก เพราะมากี้คือการผสมผสานของทุกอย่างไว้อย่างลงตัว ผมสงสัยว่าคำอธิบายเหล่านี้ คนขายคงกลัวว่า จะไม่น่าเชื่อถือ ในอีเมล์จึงมีการอธิบายคุณสมบัติมหาศาลเพิ่มเติมเข้าไปอีก จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมียาใดมาเทียมทานได้ในสามโลก เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุดในโลก จึงส่งผลในการป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็งและโรคความเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย  ช่วยในการลดน้ำหนัก 1 ขวด ช่วยลดน้ำหนักได้ 1-2 กก. ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้กลับมาเพิ่มขึ้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีสารพิษ หรืออนุมูลอิสระในร่างกายมากๆ เช่น ผู้ที่อยู่ในโปรแกรมการกำจัดไขมันหรือลดน้ำหนักหรือในผู้ที่ภาวะความเครียดจากการทำงาน ... ยังไม่หมดนะครับ ยังมีบอกต่อไปอีกว่า ช่วยทำให้มีสุขภาพผิวพรรณที่ดี ปรับผิวให้กระจ่างใสและปกป้องจากการถูกทำลายของแสงอาทิตย์ ช่วยให้ระบบการขับถ่ายเป็นปกติ กระตุ้นการล้างพิษในร่างกาย ปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์และพาร์คินสัน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง เพิ่มระดับพลังงาน สนับสนุนให้มีอายุยืนยาว  มีส่วนประกอบของวิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็กและโพแทสเซียม ทำให้กระดูกและข้อต่อแข็งแรง ช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวดจากข้อต่อโรคข้ออักเสบและกล้ามเนื้อ ป้องกัน LDL จากออกซิเดชัน มีส่วนผสมของ Resveratrol (เรสเวอราทรอล) ใน 1 ขวดเทียบกับ ไวน์แดง 7 ขวด  ประกอบด้วยวิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโนและธาตุอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในการรักษาความสมดุล    ช่วยควบคุมความเป็นกรดกระเพาะอาหาร   มีวิตามินบีสูง เพื่อสุขภาพระบบประสาทไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือดทางเดินอาหารและภูมิคุ้มกันแร่ซีไอออนิก จำเป็นต่อการทำงานของตับและไตและการขับพิษในร่างกาย และยังระบุ หมายเลข อย. 10-3-07754-1-0005 อีกด้วย   อันที่จริงมีหลักง่ายๆ ฝากท่านผู้อ่าน สำหรับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ว่าเป็นจริงหรือไม่ คือ ก่อนอื่นพิจารณาดูว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอาหารหรือยา ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ถ้าเป็นอาหารก็จะต้องมีเลขสารบบ ซึ่งจะอยู่ในเครื่องหมาย อย. และที่สำคัญคือ ถ้าเป็นอาหารจะไม่มีสรรพคุณทางการรักษาโรคแต่อย่างใด ถ้ามีถือว่า ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้อ่านก็ลองตรวจสอบได้ด้วยตัวเองเลยครับว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้ข้อมูลเท็จหรือไม่ แล้วเราจะได้คำตอบเลยว่า ยิ่งกินมากยิ่งเห็นผล ไอ้ผลที่ว่านั้นคือผลในการรักษาหรือผลที่คนขายจะรวยกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ผมส่งอีเมล์นี้ก็ไปถึง อย.เรียบร้อยแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กรณีน้ำอัดลมระเบิดเป็นเหตุให้เจ็บตัว มาดูว่าเจ้าของบริษัทฯ ชี้แจงอย่างไร

จากกรณีนี้  ที่คุณณิชาพร ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  ว่าบุตรชายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิดใส่  จนตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้นั้น (จากฉบับที่ 165 )หลังการรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพรรวบรวมพยานหลักฐาน และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับคุณณิชาพร กับบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ในวันที่ 23 มกราคม 2558  โดยภายหลังการเจรจาบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ได้ชี้แจงเป็นหนังสือถึงสาเหตุการแตกของผลิตภัณฑ์ให้กับศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทราบ โดยผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาสาระสำคัญให้ผู้อ่านได้ทราบทั่วกัน ดังนี้“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เศษแก้วของขวดน้ำอัดลมกระเด็นเข้าที่คางและตาด้านซ้ายของผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บไม่ได้รักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เกิดเหตุประมาณ 2.00 น. นายจ้างพาไปส่ง รพ. 3.00 น. แต่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 8.00 น.จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการผลิตน้ำอัดลมของบริษัทฯ มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยกับผู้บริโภค มีมาตรการควบคุมคุณภาพในการผลิตที่เข้มงวดทุกขั้นตอน โดยกระบวนการผลิตด้วยระบบเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัย มีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตลอดถึงระบบการผลิตภายใต้ระบบคุณภาพและสุขลักษณะที่ดีในการผลิต GMP&HACCP ตามมาตรฐานสากล บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้สำหรับน้ำอัดลมซึ่งมีแรงดันจากก๊าซภายในขวด สำหรับมาตรฐานการผลิตขวดประเภทนี้จะต้องมีความหนาและสามารถทนต่อแรงดันได้ โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรม (มอก) “ขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มประเภทอัดก๊าซ” การทดสอบความต้านทานต่อความดัน มาตรฐานที่ 229 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งสำหรับขวดแก้วของบริษัทฯ มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่า 253 ปอนด์/ตร.นิ้ว ออกแบบไว้มีค่าสูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้และสามารถทนแรงดันได้มากกว่า ซึ่งขณะบรรจุผลิตภัณฑ์มีความดันก๊าซในขวดเพียง 35-45 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมของบริษัทฯ สามารถทนแรงดันและมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการนำไปใช้งานข้อชี้แจงดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติหรือความบกพร่องในกระบวนการผลิตของบริษัทแต่อย่างใด ”จากการชี้แจงของบริษัทฯ ชัดเจนมากกว่า บริษัทฯ ไม่ประสงค์จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของบริษัทฯ  ส่วนที่ขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิด จะเกิดจากอะไรก็สุดแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะคิดไปเอง  เพราะบริษัทฯ บอกไม่รับรู้ด้วยแล้ว       แล้วอย่างนี้ผู้บริโภคที่เสียหายจะขอความเป็นธรรมได้อย่างไรเห็นคำชี้แจงมาแบบนี้ ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ต่อจากนี้ผู้อ่านทุกท่าน ผู้บริโภคทุกคนคงต้องมีความระมัดระวัง  และตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยด้วยตนเองตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาจะดื่มน้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว หรือแค่อยู่ใกล้ๆ น้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว เพราะว่าสักวันอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นได้ใครจะรู้  เนื่องจากไม่เคยมีคำเตือน ให้ระวัง หรือการแจ้งเตือนจากผู้ประกอบการถึงวิธีการป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แต่อย่างใด  แน่นอนกรณีแบบนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่พอเกิดเหตุขึ้น ก็ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเหมือนทุกครั้งไปต่อจากนี้คงต้องเป็นการตัดสินใจของคุณณิชาพร ผู้เสียหาย ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร จะใช้สิทธิทางกฎหมายของผู้เสียหายฟ้องคดีหรือไม่อย่างไรทั้งนี้หากจะต้องฟ้องร้องเป็นคดีความกันจริง ผู้เขียนขอเสริมตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากันอีกซักนิดกรณีนี้ เข้าลักษณะการเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามนิยามความหมายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไมได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 นี้ มีอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจได้ด้วยดังนั้นกรณีนี้ผู้อ่านฉลาดซื้อจะต้องติดตามเสียงผู้บริโภคกันอย่างไม่คลาดสายตา เพราะหากเรื่องนี้ฟ้องเป็นคดีความและมีความคืบหน้าเมื่อไหร่ ผู้เขียนจะต้องนำมาขยายผลให้ท่านผู้อ่านรับทราบกันอย่างแน่นอน อย่าลืมติดตามกันนะครับ !!!อัพเดทล่าสุด 31 พ.ค. 60 ศาลแพ่งพิพากษาให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม เอส จ่ายค่าเสียหายให้ผู้บริโภคกว่า 2 ล้านบาท หลังพิสูจน์พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคเสนอให้เยียวยาผู้บริโภคทันทีจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ31 พ.ค. 60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 57 ผู้บริโภคซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานพิเศษช่วงเย็นเป็นพนักงานร้านอาหารขณะนำขวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังกล่าวใส่ถาดไปเสิร์ฟให้ลูกค้าเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เศษแก้วกระเด็นเข้าตาข้างซ้ายเป็นเหตุให้เลนส์ตาซ้ายแตกทำให้ตาบอด หลังการเกลี่ยไกล่ไม่ได้ผลจึงยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยฟ้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เรียกค่าเสียหาย 10,897,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี นับจากวันยื่นฟ้อง นั่นคือวันที่ 18 พ.ค. 58หลังการพิจารณาคดีศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมทั้งชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งปัจจุบันและอนาคตอีก 900,000 บาท โดยให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้จนกว่าจะรักษาเสร็จ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษานายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความจากศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า การยื่นฟ้องในคดีนี้ ภาระการพิสูจน์อยู่กับผู้ประกอบการ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าของตัวเองปลอดภัย“ในการสู้คดีนั้นสู้กันด้วยหลักวิชาการซึ่งพบว่าแม้จะมีการตรวจวัดแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขวดน้ำอัดลม แต่มีการนำขวดเก่ากลับไปใช้ซ้ำ จะเลิกใช้ขวดที่ชำรุดก็ต่อเมื่อขวดชำรุดเห็นประจักษ์ ซึ่งขวดที่อาจมีการชำรุดเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเลย รวมถึงการขนส่ง การนำไปแช่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเชียบพลัน การถูกกระแทกเวลาขนส่ง ล้วนส่งผลต่อการชำรุดของขวด เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ศาลจึงตัดสินว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย” นายเฉลิมพงษ์กล่าวนอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อจะวิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้นผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยควรเก็บหลักฐานนั้นไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิสูจน์ รวมถึงหากมีบิลค่ารักษาพยาบาลต่างๆก็ควรเก็บไว้เพื่อใช้ประกอบการเรียกค่าชดเชยต่างๆได้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายนี้เท่านั้น อยากให้รายอื่นๆตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย อยากให้มีกระบวนการเยียวยาผู้บริโภคที่รวดเร็วเพราะความเสียหายจากสินค้าอาจเกิดขึ้นได้“การได้รับความเสียหายจากสินค้าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการชดเชยเยียวยาให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องชดเชยให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องให้ผู้บริโภคฟ้องแล้วถึงจะเยียวยา ถ้าผู้ประกอบการตระหนักถึงจุดนี้น่าจะเป็นผลดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้านั้นต่อไป และเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าของตัวเองด้วย” นางนฤมลกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 ตาบอด เพราะขวดน้ำอัดลมระเบิด !!!

ทุกวันนี้บ้านเรามีน้ำอัดลมหลายยี่ห้อหลายสีให้เลือกดื่ม ทั้งดำ แดง เขียว ส้ม หรือกระทั่งสีฟ้า ความต้องการของผู้บริโภคทำให้น้ำอัดลมแทบจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะไปไหน กินอะไร ก็ต้องสั่งน้ำอัดลม ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำอัดลมไม่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเลยก็ตาม แต่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ก็ไม่กลัวและพร้อมที่จะสั่งจะน้ำอัดลมมาดื่มกัน แต่จะมีใครรู้ไหมว่า บางครั้งน้ำอัดลมก็นำมาซึ่งความอันตรายที่คาดไม่ถึงเหมือนเช่นกรณีนี้...ช่วงสายของวันที่ 23 กันยายน 2557  คุณณิชาพร ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ช่วยป้าด้วย ลูกชายป้าถูกขวดน้ำอัดลมระเบิดใส่ทำให้ตาบอด อยากให้มูลนิธิช่วยเหลือ…เจ้าหน้าที่จึงสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า บุตรชายเป็นลูกจ้างร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น  ทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ขณะนั้นบุตรชายอยู่ระหว่างการทำงาน และได้ไปรับออเดอร์ของลูกค้า โดยลูกค้าได้สั่งน้ำอัดลม 1 ขวด บุตรชายจึงเดินมารับน้ำอัดลมที่เคาน์เตอร์ โดยมีเพื่อนพนักงานหยิบน้ำอัดลมที่ยังไม่ได้เปิดฝามาวางบนเคาน์เตอร์ เพื่อให้บุตรชายหยิบขวดน้ำอัดลมใส่ถาดเตรียมนำส่งลูกค้าเมื่อบุตรชายหยิบน้ำอัดลมวางบนถาดทันใดนั้นขวดน้ำอัดลมก็ระเบิด เศษแก้วได้กระเด็นเข้าตาซ้ายของบุตรชาย เพื่อนพนักงานรีบนำตัวบุตรชายส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที โดยได้รับการรักษาเย็บ 5 เข็ม แต่ก็ไม่สามารถรักษาดวงตาข้างซ้ายให้มองเห็นได้ ปัจจุบันบุตรชายตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้กรณีแบบนี้จะมีใครช่วยรับผิดเยียวยาความเสียหายให้กับบุตรชายได้ไหม  แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีนี้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพร รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการบาดเจ็บ รายละเอียดค่ารักษาพยาบาล พยานวัตถุที่เสียหาย (ถ้ามี)  ภาพถ่ายต่างๆ หรือพยานบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงข้อมูลการสั่งซื้อ การจัดส่ง การเก็บรักษา การจัดวางสินค้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาค่าเสียหายกับผู้ประกอบการ และให้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายด้วย และเมื่อคุณณิชาพร รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดแล้ว ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะดำเนินการนัดหมายเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง เพื่อหามาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บาดเจ็บต่อไป ซึ่งกรณีนี้อาจจะต้องพิสูจน์ถึงสาเหตุของการระเบิดด้วยว่าเกิดจากอะไร โดยหากไม่สามารถเจรจาเยียวยาเพื่อหาข้อยุติได้นั้น ผู้บาดเจ็บที่เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลได้อีกช่องทางหนึ่งเพิ่มเติมด้วยข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีข้อมูลดีๆ โดยนายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้มาให้ทราบเป็นอุทาหรณ์กันครับ“ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปี 2557 ที่ผ่านมา มีคนงานโรงงานผลิตน้ำอัดลม 1 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา เนื่องจากขวดน้ำอัดลมระเบิด และฝาจีบปิดขวดกระเด็นใส่ดวงตา ขณะทำงานขนย้ายน้ำอัดลมที่บรรจุขวดแล้ว แรงระเบิดทำให้แก้วตาดำเป็นแผล ฉีกขาด และมีเลือดออกช่องหน้าม่านตา ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อรักษาแผลให้หาย ป้องกันการติดเชื้อ และให้เลือดที่ออกในช่องม่านตาหยุดไหลและถูกดูดซึมตามธรรมชาติ จากการสอบถามผู้ป่วยพบว่าขวดที่ระเบิดใส่ เป็นขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมที่บรรจุก๊าซและปิดด้วยฝาจีบโลหะ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการเกิดระเบิดของขวดน้ำอัดลม เกิดขึ้นได้ทั้งจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หรือจากการกระแทกขณะขนส่ง โดยที่คนงานไม่มีการป้องกันตัวแต่อย่างใดทั้งนี้ น้ำอัดลม เป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนนิยมดื่มในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เครื่องดื่มประเภทนี้ จะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในขวด เพื่อให้มีความซ่า เพิ่มความสดชื่นแก่ร่างกาย เมื่อขวดน้ำอัดลมถูกแดดหรืออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในขวดจะขยายตัว ดันฝาขวดและขวดแก้วแตก โดยเฉพาะโซดาจะมีปริมาตรก๊าซสูงกว่าน้ำอัดลมชนิดอื่นๆ จึงมีโอกาสเสี่ยงเกิดการระเบิดได้ง่ายกว่าด้วย โดยหากฝาจีบปิดขวดหรือเศษแก้วที่แตก กระเด็นใส่หน้า ถูกดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีความบอบบางมาก หากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีบาดแผลที่ตาดำ หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา อาจทำให้ตาบอดได้ หรืออาจระเบิดระหว่างเปิดฝาขวดใส่มือ ทำให้เกิดบาดแผล หรือนิ้วมือขาดได้เช่นกัน ขอแนะนำว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว อย่าเปิดฝาขวดโดยใช้มือหรือใช้ฝาขวด 2 ขวดมางัดกัน และอย่าเปิดฝาทันที เพราะอาจทำให้ฝาขวดกระเด็นโดนตา มือ หรืออวัยวะอื่นๆ จนเกิดการบาดเจ็บได้ วิธีที่ดีที่สุดคือให้ใช้อุปกรณ์เปิดขวด ก่อนเปิดให้ใช้ผ้าขนหนูพันที่เปิดขวด และค่อยๆ เปิดฝาขวดทีละน้อย เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อยๆ ไหลออกมา ลดแรงดันของก๊าซในขวดลงก่อน ” นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวเมื่อทราบถึงข้อควรระวังกันแบบนี้แล้ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงถูกแรงระเบิดจากขวดน้ำอัดลมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งของ ขายของ พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้บริโภคที่ชอบดื่มน้ำอัดลม ควรต้องตระหนักถึงความระมัดระวังในส่วนนี้อย่างมากด้วยครับ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าทุกอย่างสามารถป้องกันได้ อย่าลืมครับ กันไว้ดีกว่าแก้ ดีกว่าแย่แล้วแก้ไม่ทัน ครับผม....ขอบคุณข้อมูลบทสัมภาษณ์นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จาก thairat.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 บทเรียนพลุระเบิดที่สุพรรณ: ถึงเวลาภาครัฐ ต้องจัดระเบียบใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข่าวพลุระเบิด ในงานเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลสำหรับความสุข สำหรับคนไทยเชื้อสายจีน กลายเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมสำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจ ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุดังกล่าวนี้ นอกจากจะต้องสืบหาต้นตอสาเหตุ จากอุบัติภัยอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ภาครัฐคงต้องมาทบทวน บทบาทในเรื่องการป้องกันความปลอดภัย ทั้งในเชิงมาตรฐานของสินค้าประเภท พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จัดเป็นสินค้าอันตรายอย่างหนึ่งที่มีระดับความเป็นอันตรายหลายระดับ ตลอดจนการควบคุมธุรกิจ หรืองานแสดงที่ต้องมีการจุดพลุ อย่างจริงจังเสียที เหตุการณ์การเกิดวินาศภัย ที่มีผลมาจากการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ เพื่อการค้าหรือการแสดงนั้น ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นแค่ครั้งนี้เท่านั้น แต่ถ้าเราดูข่าวจะเห็นว่ามีเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรื่นเริง ตรุษจีน ปีใหม่ ที่จะมีสินค้าประเภทนี้วางขายอยู่ทั่วไป เข้าใจว่ายังไม่มีกฎระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ ตลอดจนหน่วยงานทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมความปลอดภัยที่จะเป็นหน่วยงานควบคุมธุรกิจและสินค้าประเภทนี้เลย ทำให้เกิดปัญหาลักลอบการผลิต และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสายอาชีพนี้  เป็นความเสี่ยงระดับรุนแรงอย่างหนึ่งสำหรับประชาชนและผู้บริโภคเลยทีเดียว สำหรับบทความในคราวนี้ ผมขอยกตัวอย่างการควบคุมเรื่องการจุดพลุ ตลอดจน การควบคุมสินค้าประเภท ประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ของประเทศเยอรมนี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ รีบเข้ามาจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน   การจำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟต้องขอใบอนุญาตในเยอรมนีจะมีหน่วยงานที่ทดสอบพลุ ดอกไม้ไฟ และวัตถุเทียมระเบิด ทางด้านเทคนิค เพื่อที่จะทดสอบความปลอดภัย ความรุนแรงของการระเบิด การจุดติดไฟ  (Bundesanstalt für Material Prüfung: BAM) ก่อนที่จะออกใบอนุญาต ให้นำออกมาจำหน่ายได้ สำหรับการแบ่งประเภทของสินค้าเหล่านี้นั้น ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามระดับความรุนแรงในการติดไฟ และการระเบิด ระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 (BAM-P1)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 2 (BAM-P2)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 3 (BAM-P3) และระดับความรุนแรงประเภทที่ 4 (BAM- P4) สำหรับพลุ ดอกไม้ไฟ นั้นปกติ จะอยู่ในระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งในการตรวจสอบสินค้าประเภทนี้นั้น หน่วยงานดังกล่าวจะตรวจดูถึงปริมาณของสารที่ต้องควบคุม เนื่องจากหากมีมากไป หรือ ไปเข้าชุดกับสารจุดระเบิดตัวอื่น ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ผู้จำหน่าย ผู้ขนส่ง หรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด จะต้องทำตามระเบียบในการจัดเก็บ การขนส่งอย่างเคร่งครัด   การทดสอบด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเคร่งครัดผมขอยกตัวอย่างการทดสอบความปลอดภัยที่สำคัญ ก็คือ การทดสอบภายใต้แรงสั่น จากรูปจะเห็นว่า นำดอกไม้ไฟ หรือ พลุมาวางไว้บนโต๊ะสั่นด้วยความเร่ง 50 เท่าของความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก (-50 g) รูปที่ 1 และภายหลังจากการทดสอบด้วยแรงสั่นแล้วหากมี เศษวัสดุรั่วไหลออกมาจากภาชนะบรรจุ ก็ถือว่า เป็นอันตรายไม่สามารถนำไปวางจำหน่ายหรือ ขนส่งได้ (รูปที่ 2) นอกจากนี้ ยังต้องมีการทดสอบการตกของดอกไม้ไฟ พลุ ที่ระยะความสูง 12 เมตร เพื่อตรวจสอบว่า มีการจุดติดระเบิดหรือไม่ และนอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบ ว่า ในการจัดเก็บสินค้าที่เสี่ยงต่อการระเบิดนั้น ตัวสินค้าสามารถจุดติดระเบิดได้เองหรือเปล่า (Self ignition test) ตามรูปที่ 3 และตรวจสอบกรณีเกิดไฟไหม้ด้านนอก ว่าพลุ ดอกไม้ไฟ มีปฏิกริยาอย่างไร (Out burning test) ตามรูปที่ 4   ภาครัฐต้องเอาจริง ไม่ใช่เอาอยู่ บทสรุปในเรื่องการจัดการสินค้า ที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะก่อให้เกิดวินาศภัยและมหันตภัยอย่างร้ายแรงนั้น อยู่นอกเหนือการจัดการและสั่งการขององค์กรภาคเอกชน ภาครัฐซึ่งมีหลายๆ หน่วยงานดูแลรับผิดชอบในด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยต้องใส่ใจ ในการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการจัดการสินค้าที่เป็นอันตราย ตลอดจนคำนึงถึงสวัสดิภาพโดยรวมของประชาชนเป็นหลักสำคัญ นอกจากจะต้องมีกฎหมายด้านความปลอดภัยที่ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องปฏิบัติตามอย่างจริงจัง นอกจากนี้หน่วยงานทางเทคนิคและทางวิชาการก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ถ้าภาครัฐจะเอาจริงกับเรื่องนี้ครับ ข้อมูลอ้างอิง1 คำแนะนำในการจัดการกับวัตถุเทียมระเบิด (Aufbewahrung von Feuerwerk der Klassen I und II), Bundesanstalt für Materialprüfung, Berlin  2005 รูปที่ 1 การทดสอบพลุและ ดอกไม้ไฟภายใต้แรงสั่นสะเทือนขนาด -50 g รูปที่ 2 หลังการทดสอบ พบมีผงจุดระเบิดรั่วออกมา สินค้าไม่ผ่านการทดสอบรูปที่ 3 ทดสอบการจุดติดไฟ โดยจะนำพลุ ดอกไม้ไฟ นำไปใส่ในหลุมที่ขุดลึกพอสมควร เพื่อดูความรุนแรงในการระเบิด รูปที่ 4 ทดสอบความรุนแรงในการระเบิด ซ้ายมือ) ก่อนเริ่มทดสอบ กลาง) เริ่มทดสอบ ขวามือ) ระดับความรุนแรงจากการทดสอบ

อ่านเพิ่มเติม >