ฉบับที่ 213 แท็กซี่ครองแชมป์ถูกร้องเรียนมากสุด

ทุกวันนี้ปัญหารถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยมีกันหลากหลายรูปแบบ และมีให้เห็นกันได้ไม่เว้นวัน แถมไม่เลือกปฏิบัติเพราะเกิดทั้งกลุ่มคนไทยและคนต่างชาติ แต่หากเจาะจงกลุ่มรถโดยสารที่มีปัญหาร้อนแรงสุดในช่วงนี้  คงต้องยกให้กับกลุ่มรถแท็กซี่ ว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ปัญหาหลายอย่างสะสมและก่อตัวจนกลายเป็นความเคยชินที่ใครๆ ก็ทำได้ จากสถิติข้อมูลการร้องเรียนในระยะเวลา 5 เดือน (ตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561)  ของกรมการขนส่งทางบก เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า รถแท็กซี่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดถึง 17,794 เรื่อง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และขับรถประมาทหวาดเสียว  ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปจากการใช้บริการรถแท็กซี่ คือ ขับรถเร็ว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่กดมิเตอร์ คิดเหมาจ่าย ไม่ทอนเงินค่าโดยสาร ขับรถออกนอกเส้นทาง มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ทิ้งผู้โดยสารลงข้างทาง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ หรือแม้กระทั่งรถแท็กซี่เถื่อน หนักกว่านั้นวันดีคืนดีก็ออกมาขู่ประท้วงหยุดวิ่ง เรียกร้องให้รัฐขึ้นค่าแท็กซี่ หากไม่ปรับจะหยุดวิ่งให้บริการ เรียกได้ว่ามีทุกรูปแบบกับการให้บริการรถรับจ้างประเภทนี้  จากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 มีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 85,820 คัน แบ่งเป็นประเภทส่วนบุคคล 19,789 คัน ประเภทนิติบุคคล 65,464 คัน และไม่ระบุประเภท 567 คัน โดยจำนวนรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนสะสมมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในบริการของรถแท็กซี่ และหันไปเลือกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนบุคลากรขับรถสาธารณะ ส่งผลให้ผู้ที่จะมาขับรถแท็กซี่มีจำนวนลดน้อยลงตามลำดับรวมถึงการบังคับให้รถแท็กซี่ที่จะจดทะเบียนใหม่ทุกคันต้องเข้าระบบโครงการ TAXI OK ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่รายเดิมเลือกที่จะเลิกขับหรือหันไปเช่ารถแท็กซี่ขับแทนที่จะออกรถคันใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแทนยังมีกรณีรถแท็กซี่ที่ทยอยหมดอายุการใช้บริการเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ในปี 2561 นี้ จะมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุลงจำนวนมากกว่า 20,000 คัน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ให้มีระยะเวลาไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก แต่กลับพบว่ามีรถแท็กซี่บางส่วนที่ครบอายุการใช้งานแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการแจ้งระงับหรือแจ้งเปลี่ยนประเภทรถ โดยปัจจุบันพบว่า มีรถแท็กซี่ที่หมดอายุ มาวิ่งรับส่งคนโดยสารอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และเขตปริมณฑล เช่น รังสิต นนทบุรี นครปฐมซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (10) ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และต้องปลดป้ายทะเบียนออกทันที และหากนำรถที่แจ้งเปลี่ยนประเภทเป็นรถส่วนบุคคลแล้วมาลักลอบรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่จะมีรถแท็กซี่เถื่อนสักกี่รายที่ถูกเจ้าหน้าที่จับปรับ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า รถแท็กซี่คันที่ขึ้นนั้นหมดอายุแล้วหรือยัง หรือขึ้นแล้วจะปลอดภัยแค่ไหน ผู้บริโภคจะรู้ก็ต่อเมื่อรถแท็กซี่คันนั้นถูกจับปรับแล้วเท่านั้นอย่างไรก็ดีแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะพยายามให้ข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะเพื่อแจ้งเตือนว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุแล้ว คือ รถแท็กซี่นิติบุคคล (หลายสี) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ท” ประกอบด้วย ทะเบียน ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล และรถแท็กซี่ส่วนบุคคล (สีเขียวเหลือง) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ม” ประกอบด้วย ทะเบียน มก, มข, มค, มง, มจ รวมถึงรถแท็กซี่หมวด ทว และหมวด มฉ ที่จะทยอยครบอายุการใช้งานภายในปีนี้  พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคคอยสังเกตรถแท็กซี่ที่จะขึ้น หากพบเห็นรถเถื่อนรถไม่ปลอดภัยให้แจ้ง 1584 นั้นแม้จะเป็นเรื่องดีที่มีการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคต้องเฝ้าระวังไม่ให้เลือกใช้รถที่ผิดกฎหมาย เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มนี้คือรถแท็กซี่ที่หมดอายุ เป็นรถเถื่อนที่ไม่มีความคุ้มครอง แต่มาตรการดังกล่าวกลับกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่รัฐบอกให้ต้องคอยดูป้ายทะเบียนก่อนเลือกรถใช้บริการ ทั้งที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมการขนส่งทางบกควรจะทำได้มากกว่านี้ ถึงขนาดมีบอกกันว่า แค่โบกรถให้ไปยังยากเลย แล้วนี่จะมาให้จ้องป้ายทะเบียนด้วย ใครจะไปดู…เกิดเป็นผู้บริโภคไทยนี่ลำบากจริงๆ ครับ 

อ่านเพิ่มเติม >