ฉบับที่ 107 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2552 2 ธ.ค. 52บุกจับอาหารเสริมปลอม กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันจับกุมและยึดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน ตราหมอจุฬา ผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำหนัก ตรา SHAPE MINUS และกาแฟ 7 รายการ กว่า 2,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท ของบริษัท ยินดีเนเจอร์โปรดักส์ จำกัด ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตจาก อย.   โดยการบุกเข้าจับกุมและยึดผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ พบ นาง นพธีรา ยินดี เจ้าของบริษัท ยินดีเนเจอร์โปรดักส์ จำกัด พร้อมกับสินค้าของกลาง ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการปลอมเลข อย. และแสดงเลขสารบบอาหารไม่ถูกต้อง จึงยึดไว้เป็นหลักฐาน เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม สำหรับของกลางที่ตรวจยึดมาได้จะนำส่งให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบสารที่ใช้เป็นส่วนผสม หากพบว่ามีการใช้สารอันตรายจะพิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาต่อไป +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 14 ธ.ค. 52 พบเฝือกคอเก๊ในรถฉุกเฉินของสาธารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้สั่งห้ามนำเข้าชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อนหรือเฝือกคอของ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด และบริษัท FIEU Corporation .co.ltd ตัวแทนจำหน่าย PHILADELPHIA COLLAR ในประเทศไทย ซึ่งใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินในรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินของหน่วยกู้ชีพจำนวน 232 คัน หลังพบความผิดปกติของหมายเลขลิขสิทธิ์สินค้าที่ไม่ตรงกัน ระหว่างเลขบนสติกเกอร์กับเลขตัวนูนบนชุดป้องกันกระดูก และบางชิ้นเลขที่ติดอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เป็นเลขของผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน จึงเข้าข่ายอุปกรณ์การแพทย์ปลอม ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน ที่บริษัท สุพรีม นำเข้ามายังไม่มี Certificate of Free Sales หรือการแจ้งขอผ่อนผันการนำเข้า ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2.5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง อย.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 19 ธ.ค. 52 กิน “ปลาร้า” ระวัง! เจอยาฆ่าแมลง นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการออกตรวจสอบและสุ่มเก็บตัวอย่างปลาร้า ปลาแห้ง และอาหารทหารแห้งที่ตลาดย่าโม เขตเทศบาลนครนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผลตรวจสอบเบื้องต้นพบสารฆ่าแมลงในสินค้าดังกล่าวจำนวน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 32 ซึ่งได้แจ้งตักเตือนผู้จำหน่ายถึงผลการตรวจสอบไปแล้วพร้อมให้หยุดการจำหน่ายทันที และจะขยายผลหาที่แหล่งผลิตเพื่อติดตามผู้ผลิตมาดำเนินคดีต่อไป สำหรับผู้บริโภคแนะให้ควรสังเกตดูว่า หากอาหารที่จำหน่ายใกล้เคียงมีแมลงวันตอม แต่ไม่ตอมปลาร้าก็ให้สงสัยว่าปลาร้านั้นปนเปื้อนสารฆ่าแมลงและควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ โฆษณาแฝงครองเมือง มีเดียมอนิเตอร์ ” เผยผลสำรวจ “ โฆษณาตรงโฆษณาแฝง ” พบ 3-5-7-9 โฆษณาตรงเกินกฎหมาย ขณะที่โฆษณาแฝงลามทุกรายการ เว้นข่าวพระราชสำนัก ประชุมรัฐสภา แย่สุดใช้เด็กเป็นร่างทรงโชว์สินค้าในรายการ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการเฝ้าระวังสื่อฯ กล่าวว่า แม้ไทยใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ พ . ศ . 2551 เพื่อ ควบคุมการโฆษณา แต่ยังพบปัญหาข้อกฎหมายตามไม่ทันกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันมีการโฆษณาแฝงมาก ไร้กฎหมายควบคุมที่ชัดเจน อีกทั้งมีการใช้วิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบและการโฆษณา ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ ไม่มีอำนาจในการออกประกาศ ระเบียบ การโฆษณาเพื่อบังคับใช้กับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ นายธาม กล่าวว่า จากการศึกษาโฆษณาตรงทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 25-27 ก.ย. 2552 ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า มี 4 ช่องที่โฆษณาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1. ช่อง 9 รวม 3 วัน มีการโฆษณาเกิน 192 นาที หรือเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 2. ช่อง 3 โฆษณาเกิน 149 นาที 3. ช่อง 7 โฆษณาเกิน 111 นาที และ 4. ช่อง 5 โฆษณาเกิน 106 นาที ขณะที่ช่อง 11- สทท . ไม่พบการโฆษณาตรงเกินกว่าที่กำหนด นอกจากนี้เมื่อวัดจากจำนวนที่มีการโฆษณาแฝง พบมากที่สุด คือ ช่อง 5 มีการโฆษณาแฝงถึง 85.8% ช่อง 9 มีการโฆษณาแฝง 83.3 % ช่อง 7 โฆษณาแฝง 74.8% ช่อง 3 โฆษณาแฝง 68.7% และช่อง 11 โฆษณาแฝง 48.1% วิธีการโฆษณาแฝงที่พบบ่อยที่สุด คือ 1 . โฆษณาแฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ โดยใช้ภาพโฆษณาสินค้า ประมาณ 4-7 วินาที ในช่วงเข้าเนื้อหารายการ 2 .โฆษณาแฝงวัตถุ โดยตั้งใจจัดฉากให้เห็นสินค้าชัดเจน โดยเฉพาะฉากละครซิทคอมที่ร้านขายสินค้าจะเป็นจุดหลักของการโฆษณา ส่วนรายการข่าวจะนิยมใช้แก้วกาแฟ กล่องนม ซองขนมปัง และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค 3.การโฆษณาแฝงภาพกราฟฟิก มีความถี่บ่อย ฉายเวียนซ้ำกันในระหว่างเบรก และ4. การโฆษณาแฝงไปกับเนื้อหา แม้จะพบในระดับที่ไม่มาก แต่มีลักษณะที่แนบเนียน “ การโฆษณาดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมาย ตามพรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 มาตรา 23 ว่าด้วยสัดส่วนการโฆษณาธุรกิจ เนื่องจากการโฆษณาตรงต้องออกอากาศในช่วงที่ไม่ใช่เนื้อหารายการ โดยใช้เกณฑ์การโฆษณาธุรกิจ เฉลี่ยทั้งวันต้องไม่เกิน 10 นาทีต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามมีหลายช่องที่โฆษณาแฝงแทบทุกรายการ ยกเว้นการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ข่าวพระราชสำนัก นอกจากนี้ยังพบว่ารายการเด็กและเยาวชน มีการใช้กลยุทธโฆษณาแฝงที่แนบเนียน จัดฉากให้เด็กมีส่วนร่วมในการโชว์สินค้า เด็กหรือผู้ร่วมรายการเป็นเหมือนร่างทรง ทั้งที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ” +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ค้านหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ หวั่นกระทบวงการสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนแพทย์ผลักดันหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เพื่อผลิตแพทย์ไทยให้สามารถรักษาผู้ป่วยต่างชาติ เนื่องจากจะทำให้เกิดผลกระทบกับวงการสาธารณสุข ทั้งการแย่งชิงทรัพยากรบุคคลหรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค “แพทยสภาควรปลดล็อกการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากภาษาไทยเพียงอย่างเดียวให้เป็นภาษาอังกฤษด้วย แล้วเปิดให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาสอบโดยระบุให้แพทย์ต่างชาติต้องรักษาผู้ป่วยของชาติตัวเองในสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น ผู้ป่วยชาติใดมากก็แบ่งเป็นสัดส่วนกันไป น่าจะทำให้การที่ไทยจะเป็นเมดิคัลฮับยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันในส่วนของอาจารย์แพทย์คนไทยที่เก่งๆ ก็จะมีเวลากลับมารักษาคนไทยด้วย” น.ส.สารี กล่าวในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นวันที่ 16-18 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในหัวข้อการประชุมวิชาการในเรื่อง สองแพร่ง หลักสูตรแพทย์นานาชาติทางเลือกระหว่างโลกาภิวัตน์กับสุขภาพคนไทย ด้าน นพ.เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะดูแลเรื่องการจัดสรรกำลังคนด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีความต้องการบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์เป็นอย่างมาก นโยบายของสธ.ยังมีการขยายงานให้มีแพทย์บริหารจัดการโรงพยาบาลระดับอำเภอทุกแห่งด้วย ดังนั้นถือว่าประเทศยังขาดแคลนแพทย์อยู่ การผลิตแพทย์หลักสูตรนานาชาติเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติจึงไม่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ องค์กรผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าโทลล์เวย์โหด เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ออกมาคัดค้านการขึ้นค่าโทลล์เวย์ จากกรณีที่บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ประกาศขึ้นราคาค่าโทลล์เวย์ตลอดสาย จาก 55 บาทเป็น 85 บาท ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2552 เพราะเป็นการขึ้นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน แม้จะเป็นการทำตามสัญญาสัมปทาน แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคต้องการให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจทางปกครองสั่งการให้กรมทางหลวงยุติการอนุมัติให้ขึ้นราคาค่าโทลล์เวย์ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องต่อคณะรัฐมนตรีที่ดำเนินการโดยไม่รักษาผลประโยชน์สาธารณะ เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณะในอัตราที่อิงกับต้นทุน มิใช่อัตราการคืนทุนตามที่กำหนดโดยสัญญาตามที่เจ้าของทุนต้องการ การอ้างของคณะรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามสัญญาสัมปทานนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ทำลายความชอบธรรมของการมีรัฐบาลเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ เพราะหากให้สัญญาที่ทำกับเอกชนซึ่งมุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนมาใช้ปิดปากอำนาจของรัฐในการกำหนดอัตราค่าบริการซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้บริการ ย่อมเป็นสัญญาทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยหลักของกฎหมายและเป็นสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นสัญญาที่อนุญาตให้เอกชนทำบริการสาธารณะแทนรัฐ ที่สำคัญสัญญานี้ไม่ได้เกี่ยวพันเพียงแค่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากที่ต้องรับผลจากสัญญาดังกล่าว"

อ่านเพิ่มเติม >