ฉบับที่ 149 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2556 นมโรงเรียนไม่ปลอดภัย พบผลการตรวจที่น่าตกใจ เมื่อนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กนักเรียนดื่มตามโรงเรียน ยังมีความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่เกินค่ามาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ พบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่ได้มาตรฐาน คือมีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าสาเหตุที่นมโรงเรียนพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้นมาจาก ความไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเก็บรักษาที่ไม่มีคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม     หลอกลวง 100% ยาลดสัดส่วนเฉพาะจุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกโรงเตือนสาวๆ ที่คิดจะทานยาที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยลดสัดส่วนเฉพาะจุด ว่ายาดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย.ไม่เคยมีการรับรอง และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมียาลดสัดส่วนเฉพาะจุด อย.ได้ออกตรวจและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ขายยาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดหลายประการ ทั้งการผลิตยา หรือ นำเข้ายา โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนยา ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง และโฆษณาโอ้อวด โดยจะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งผู้ขาย และแหล่งที่ผลิต ตาม พ.ร.บ.ยา 2522 ยาดังกล่าวนอกจากจะไม่มีผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจก่อผลเสียต่อร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบของ อย. เชื่อว่าน่าจะเป็นยาประเภทอาหารเสริม ประเภทแอลคานิทีน ที่เพิ่มการเผาผลาญ และมักพบว่ามีการแอบเติมยาที่ อย.ถอนทะเบียน โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต   ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำลังจะ) ล้นประเทศ!!! มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ประเทศไทยเราจะมีซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ โดยสัดส่วนของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่คาดการไว้มีดังนี้  โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วิดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้คือเรื่องของ ทีวีดิจิตอล ที่อาจทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ถ้าหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีจัดการขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งการลดปริมาณการใช้ แยกขยะ และไม่นำขยะอันตรายไปทิ้งในที่ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม   เดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้การใช้แร่ใยหินอย่างจริงจังสักที ล่าสุดในงานแถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ 2.กระเบื้องยางปูพื้น 3.ผ้าเบรกและคลัตช์ 4.ท่อซีเมนต์ใยหิน และ 5.กระเบื้องมุงหลังคา หลังจากได้ไปดำเนินการจัดทำแผนและกรอบเวลายกเลิกการนำเข้าผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจาก ครม. โดยจะมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณา ให้ไทยยกเลิก 5 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ทำจากแร่ใยหินภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินอย่างผ้าเบรกและคลัตช์ที่มีกรอบระยะเวลาในการยกเลิก 5 ปี จะดำเนินการเฉพาะส่วนของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กก่อน เนื่องจากในรถบรรทุกยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินจะให้ยกเลิกเฉพาะท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.เพราะท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 มม.ขึ้นไป กรมชลประทานมีหนังสือถึง ก.อุตสาหกรรม ว่าขอให้มีการขยายเวลาในการยกเลิก เนื่องจากติดขัดเรื่องความพร้อมในการผลิต ส่วนอีก 3 ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะเสนอให้ยกเลิกภายใน 5 ปี   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กระตุ้น กสทช. ทำงาน ก่อนเกิดปัญหา “ซิมดับ” คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายทรูมูฟ รู้กันหรือยังว่า วันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ที่ทางผู้ให้บริการทำไว้กับทาง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเรื่องการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะต้องมีการโอนย้ายผู้ให้บริการ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่สามารถใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าวได้ หรือพูดง่ายๆ คือเกิดปัญหา “ซิมดับ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดูเหมือนจะยังหาทางออกให้ผู้บริโภคไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จึงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ทาง กสทช. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร่งด่วน 2.ควบคุมกำกับ ไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังคงทำสัญญาให้บริการอยู่ ต้องไม่ทำสัญญาให้บริการเกินวันที่ 15 กันยายน 2556 3.เร่งรัดให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองราย แจ้งให้เจ้าของเลขหมายทุกรายทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยทันที และมีบริการให้ผู้บริโภคติดต่อสอบถามฟรี รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 3 แสน เลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ทาง กสทช. เองทราบเรื่องการหมดสัมปทานมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ยอมจัดการปัญหา คือการจัดประมูลสัมปทานใหม่ กลับนิ่งเฉยจนใกล้วันหมดอายุ จนกำลังจะกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคซึ่งแทบจะยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลยว่าสัญญาณมือถือที่ใช้อยู่กำลังจะหยุดลง ซึ่งความจริงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าว เพื่อผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่จะยังคงอยู่ในระบบ ย้ายค่าย หรือทวงถามค่าชดเชยที่ผู้บริโภคควรได้รับ //

อ่านเพิ่มเติม >