ฉบับที่ 247 มหกรรมยารักษาโควิด?

        ท่ามกลางสงครามการระบาดของโควิด 19 ที่คงจะยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่ง มหกรรมยารักษาโควิดก็กระหน่ำสะพัดกระจายไปทั่วในสังคม จนหลายฝ่ายต้องออกมาช่วยกันเตือนและขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าว เตรียมตุนยาฟาวิพิราเวียร์ไว้กินป้องกันตัว?        ด้วยเหตุที่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยายาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด 19 มาบ้าง ทำให้มีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสนี้ หลอกขายยาให้แก่ประชาชนตามอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด และเป็นยาดีที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน         อันที่จริงแล้วการกินยาฟาวิพิราเวียร์ล่วงหน้าไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่สามารถป้องกันโรคได้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่แพทย์ต้องพิจารณาจ่ายตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละราย และต้องสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอาการข้างเคียง และผลการรักษาระหว่างการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง  และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การนำยาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด           การลักลอบนำยาของผู้ป่วยมาขาย หรือเจตนานำยาอื่นมาปลอม เพื่อให้เชื่อว่าเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และหลอกขายตามอินเทอร์เน็ต ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอม สามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน?         มีการส่งต่อข่าวเรื่อง ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน คือ ยาพาราเซตามอล แอมบรอกซอล เดกซ์โทรเมทอร์แฟน คลอเฟนิรามีน วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร  ซึ่งต่อมาทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จ  ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน)  จะต้องได้รับการประเมินอาการรายบุคคล และได้รับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสมตามความจำเป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในระหว่างกักตัวที่บ้าน  การนำยามาเตรียมไว้รับประทานเองโดยไม่ตรงตามอาการ อาจทำให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของยา จนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเองได้ยาชุดรักษาโควิด?         นอกจากนี้ยังมีการหลอกขายชุดยาต้านโควิด โดยมีการแอบขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตในราคาชุดละประมาณ 4,000 บาท เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อและโอนเงินไปปรากฎว่าได้รับวิตามินซี และยารักษาเริมมาแทน เสียทั้งเงินและอาจเสียสุขภาพด้วยในสถานการณ์นี้ สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับความปลอดภัย ไม่มีความทุกข์จากผลิตภัณฑ์ที่ และไม่ถูกหลอกลวงซ้ำเติมจนเสียเงินเสียทอง ขอให้ผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบในการรักษาพยาบาลอย่างเร็วที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (1)

        การระบาดของโควิด 19 ในระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ และเกิดความตื่นตัวของผู้คนในการแสวงหาสิ่งต่างๆ มาป้องกันตัวหรือต่อสู้กับเจ้าเชื้อโควิด 19 กันจ้าละหวั่น นักวิชาการและนักวิชาเกิน เช่น ผู้ผลิต ผู้ขาย หลายท่านก็ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน ยิ่งให้ข้อมูลบางทีชาวบ้านก็ยิ่งสับสนเพราะมันดูน่าเชื่อถือไปหมด สุดท้ายพอตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็อ่อนระทวยเสียเงินไปหามากินมาใช้ไปตามๆ กัน         ผมพยายามรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและตัดสินใจได้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ อะไรน่าเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง สรุปพอหอมปากหอมคอในช่วงนี้ดังนี้ 1. ห้ามเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย1.1 ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงสู่ปอด         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึง คือ โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้         นอกจากนี้ การที่มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำมะนาวมากลั้วคอแทน ก็ไม่สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน 1.2 ห้ามตุนยา Hydroxychloroquine เพื่อใช้รักษาโควิด-19         ตามที่มีการแชร์ข้อความว่า "ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาหายทุกราย ให้หาซื้อยามาไว้ที่บ้าน" ทางกรมการแพทย์ได้ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันยา Hydroxychloroquine ถูกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดรักษาได้หายทุกรายตามที่กล่าวอ้าง และในแนวทางการรักษาล่าสุด มีการแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาไม่ถูกวิธีทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อมและมีโอกาสทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยมากขึ้น 1.3 ตระเวณหา ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ เพื่อมากักตุนใช้เองที่บ้าน         จากการที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ถูกนำมาใช้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางคนถึงกับพยายามตระเวณไปตามร้านยาเพื่อเสาะหายานี้ หรือหายาต้านไวรัสอื่นๆ มากักตุนไว้กับตัวเองเพื่อใช้รับประทานป้องกันการติดโควิด         ขอย้ำเตือนว่า ยาต้านไว้รัสเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์และใช้เมื่อจำเป็น การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อร่างกายตนเองแล้ว ยังจะยิ่งทำให้เกิดการดื้อยาจนส่งผลเสียต่อระดับประเทศได้ 1.4 กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง กินรักษาโควิด 19         ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สรุปได้ชัดเจนว่า กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ การหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากินจึงไม่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำจะเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 เลือกใช้ยารักษาฝ้า อย่างถูกวิธี

เลือกใช้ยารักษาฝ้า อย่างถูกวิธีแม้ความขาวใสจะเป็นสิ่งที่สาวๆ ส่วนใหญ่ปรารถนา แต่บางครั้งเราอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม อย่างการใช้ยารักษาฝ้าที่มีส่วนประกอบขอสารไฮโดรควิโนนมาทำให้หน้าขาวขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลเสียร้ายแรงต่อผิวได้ หรือเผลอใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวไปอย่างไม่รู้ตัว โดยเราจะมีวิธีเลือกอย่างไรให้ปลอดภัย ลองไปดูกันมารู้จักยารักษาฝ้ากันสักนิด หนึ่งในวิธีการรักษาฝ้าหรือกระที่แพร่หลาย คือการใช้ยาในกลุ่มที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบครีมและเจล เพราะไฮโดรควิโนนเป็นสารมาตรฐานสำคัญ ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง และส่งผลให้ผิวขาวขึ้นได้ภายในเวลาที่รวดเร็วหรือประมาณ 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยาดังกล่าว จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะจัดอยู่ในประเภทยาอันตรายที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ง่าย หรือสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง รวมทั้งส่งผลเสียต่อผิวพรรณได้ในระยะยาว สารไฮโดรควิโนนส่งผลเสียอย่างไรแม้สารไฮโดรควิโนนจะมีคุณสมบัติทำให้ผิวขาวขึ้นได้ แต่ต้องใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์ และยังถูกสั่งห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดฝ้าที่มากกว่าเดิม หรือทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสและการระคายเคือง รวมทั้งอาจทำให้เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรหรือฝ้าเส้นเลือดได้ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือสามารถทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆ หรือเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้แนะวิธีการเลือกใช้อย่างปลอดภัยด้วยคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการรักษาฝ้า ทำให้ยาที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนนยังสามารถใช้ได้ แต่ในกรณีนี้ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาดังกล่าวมาใช้เอง โดยควรเลือกซื้อตามร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธี ต่างจากยาทั่วไปเช่น ยาแก้ปวดหัว ยาแก้ไอหรือยาแก้โรคหวัดบางชนิดที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อเองได้ทั้งนี้เราควรตรวจสอบข้อมูลสำคัญทางยาบนฉลากยา ได้แก่ ชื่อตัวยาสำคัญ วัตถุประสงค์หรือข้อบ่งใช้ คำเตือนหรือคำแนะนำ หรือเปอร์เซ็นต์ของยาให้อยู่ในปริมาณที่ อย.กำหนด (ไม่เกิน 2%) รวมทั้งควรใช้ในระยะเวลาที่จำกัด และทาเฉพาะจุดที่เป็นฝ้าเท่านั้น โดยหลังจากหยุดการใช้ยาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนแล้ว ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องการอาการไวต่อแสงแดดสำหรับในส่วนของเครื่องสำอางบางยี่ห้อที่แอบลักลอบใส่สารไฮโดรควิโนน ซึ่งผู้บริโภคอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัว โดยจะทำให้ผิวขาวขึ้นเร็วผิดปกติ เพราะมักใส่สารดังกล่าวในปริมาณสูงนั้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจ ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการตรวจสอบฉลากว่ามีฉลากภาษาไทยหรือไม่ โดยอย่างน้อยต้องระบุชื่อเครื่องสำอาง ส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต ว/ด/ป ผลิตหรือหมดอายุ และเลขที่จดแจ้ง ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำเลขที่จดแจ้งหรือชื่อเครื่องสำอางดังกล่าว เข้าไปสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ว่าตรงกับที่ระบุไว้ฉลากหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th ได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 น้ำกัดเท้าและยารักษา

  โรคที่มากับมหาอุทกภัยน้ำท่วม 2554 คือโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากการเดินลุยน้ำบ่อยๆ นานๆ หรือเป็นประจำ จึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคน้ำกัดเท้า” ในประเทศที่เจริญแล้ว มักพบบ่อยในนักกีฬาที่สวมใส่รองเท้าที่เปียกชื้นจากเหงื่อระหว่างเล่นกีฬา จึงได้ชื่อว่า “โรคเท้านักกีฬา” (Athlete’s foot) โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าที่ชื้นแฉะมีเชื้อราสะสม เป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกับโรคขี้กลาก ซึ่งมักเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น จากการลุยน้ำท่วมขัง รองเท้าเปียก พื้นห้องอาบน้ำที่ใช้ร่วมกันหลายๆ คน และพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ เมื่อเดินหรือย่ำบนพื้นดังกล่าว หรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ เชื้อราจึงรุกรานเข้าสู่ผิวหนัง และก่อโรคน้ำกัดเท้าได้ นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ง่ายจากการใช้รองเท้าร่วมกัน ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกันและใช้ถุงเท้าไม่สะอาด นอกจากเท้าแล้วยังเชื้อราชนิดนี้ยังทำให้เกิดโรคได้กับผิวหนังส่วนอื่นๆ เช่น เล็บ และขาหนีบ อาการเด่นชัดที่พบ เช่น ง่ามเท้าแห้งตกสะเก็ด เป็นขุย ผิวหนังแตกเป็นร่องแผลสด บวม เจ็บและคัน อาจมีตุ่มน้ำใสๆ ร่วมด้วย แนวทางการรักษา การใช้ยาต้านเชื้อราทาเฉพาะที่บริเวณแผล ขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นตำรับในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ขี้ผิ้งวิทฟิวด์ (Whitfield ointment) มีตัวยาหลักคือ ยาต้านเชื้อราเบนโซอิคแอซิด 6% และซาลิไซลิคแอซิด 3% จะพบว่าขี้ผึ้งชนิดนี้มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงควรระวังไม่ทาผิวหนังส่วนอื่นที่บอบบาง ตำรับยาต้านเชื้อราอื่นๆ เช่น คลอไตรมาโซลหรือคีโตโคนาโซลครีมที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน แต่ราคาจะแพงกว่ามาก  ควรทำความสะอาดเท้าให้สะอาด ใช้สบู่ขัดถูตามซอกและง่ามนิ้วเท้าซึ่งมักมีเชื้อราสะสมและหมักหมมจนก่อให้เกิดโรค ต้องซับผิวหนังให้แห้งสนิทก่อนทาขี้ผึ้งบางๆลงบริเวณผิวหนังที่มีปัญหา วันละ 1-2 ครั้ง แนะนำให้ทาก่อนนอนและไม่ควรย่ำไปไหนเมื่อทายาเสร็จ ตัวยาจะได้ไม่หายหรือเลอะเลือนไปกับรองเท้าหรือพื้น   ข้อควรระวังการใช้ยา อาการคันที่เท้าจากโรคน้ำกัดเท้า ไม่ควรซื้อยาแก้คันที่มีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลให้แผลอักเสบที่เท้ามีอาการอักเสบมากขึ้น และเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า - ผู้ที่ยังไม่ทันเป็นโรคน้ำกัดเท้า ไม่ควรทายาต้านเชื้อรา แต่ควรป้องกันโดยการล้างเท้าให้สะอาด ซับให้แห้งสนิททันทีภายหลังจากการย่ำน้ำ และใช้แป้งฝุ่นโรยง่ามเท้าให้ทั่วเป็นการป้องกันผิวหนังไม่ให้ชื้นแฉะ และควรพยายามหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำหรือการสวมใส่รองเท้าบู้ทหรือสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าก่อนย่ำน้ำ - รองเท้าที่สวมใส่ทุกวัน ควรดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ คือต้องให้ภายในรองเท้าแห้ง ไม่อับชื้น ควรมีรองเท้าอย่างน้อย 2 คู่ เพื่อสวมสลับกัน ซักด้านในรองเท้าให้สะอาด ปัจจุบันนี้มีสเปรย์สำหรับรองเท้าเพื่อฆ่าเชื้อโรค - ไม่ใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าสาธารณะโดยไม่จำเป็น - ต้องรักษาความสะอาดถุงเท้า เมื่อเปียกต้องเปลี่ยนเสมอ -ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้น ผ้าเช็ดเท้า และผ้าเช็ดตัว ควรเป็นคนละผืนกัน   เอกสารอ้างอิง1, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์: http://haamor.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 น้ำกัดเท้า

น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ...... โอมเพี้ยง....ขออย่าให้คณะผู้บริหารจัดการน้ำไม่เป็นแบบคำพังเพยโบราณเลย....... ถ้าน้ำมาก็ขอให้น้อยกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบปี 55 นะๆๆ แต่ถ้าน้ำนองในบางพื้นที่ ขอแนะนำสูตรยาแก้น้ำกัดเท้าที่ตกทอดมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่สมัยสังคมไทยยังเป็นเมืองทำนาปลูกข้าวกว่า 80% จนตอนนี้หดหายไปเกือบครึ่ง หลบไปทำอย่างอื่นกันหมด แม้ยังทำเกษตรแต่ก็แห่ไปทำสวนยางสวนปาล์มกันมากมาย โบราณกาล ชาวนาเขาต้องยืนแช่น้ำในนาข้าวอยู่นานสองนาน ต้องเจอกับน้ำกัดเท้าเป็นประจำ ตำรับยานี้จึงทำง่ายสุดๆ และเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมขนานแท้ เพียงแค่นำสารส้มสะตุ และดินสอพองสะตุมาผสมกัน คำว่าสะตุ เป็นคำโบราณเกี่ยวกับการปรุงยาไทย หมายถึงไปทำให้สะอาดหรือดับพิษลดพิษจากตัวยาเสียก่อน วิธีทำ ให้นำสารส้มมาบดเป็นผงละเอียด นำไปใส่ในหม้อดิน แล้วนำไปตั้งไฟ สารส้มจะฟูขึ้น ปล่อยไว้จนฟูขาวสะอาดดี จึงนำลงจากเตาไฟ เรียกว่าสารส้มสะตุ สรรพคุณตามตำรายาไทยกล่าวว่า สารส้มช่วยสมานทั้งภายในภายนอก เฉพาะยาภายนอกช่วยแก้อาการคัน สมานแผล ห้ามเลือด ดินสอพองสะตุ ให้นำดินสอพองใส่กระทะ ตั้งไฟให้ร้อน คั่วดินสอพองให้สุกหรือผ่านความร้อนเพื่อทำให้สะอาดเช่นกัน ดินสอพองมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อโรคอ่อนๆ และเป็นเหมือนแป้ง เมื่อทาผิวจะลดความชื้น แก้อาการคัน และไม่ให้เชื้อราลุกลามได้ง่ายนั่นเอง   ตำรับยาให้ใช้สารส้มสะตุและดินสอพองสะตุ อย่างละเท่าๆ กัน นำผสมกันใช้ทาที่แผล(หยดน้ำสะอาดเล็กน้อยเพื่อให้ผงยาเป็นยาเหลวทาง่ายขึ้น) ใช้วันละ 3-4 ครั้ง แต่ถ้าหาดินสอพองทำยาได้ยาก ก็ไม่ต้องใช้ ให้ใช้เฉพาะผงสารส้มสะตุละลายน้ำทาเลย ถ้าน้ำท่วมใหญ่มาอีกรอบ ขอให้บริจาคก้อนสารส้มกันบ้าง แล้วบรรดาอาสาสมัครแบ่งกลุ่มมาช่วยกันนั่งตำให้เป็นผง ตั้งเตาไฟใส่หม้อดินตามวิธีข้างต้น ปล่อยให้แห้งหาขวดใบเล็กๆ กรอกไว้แจกจ่าย แล้วแบ่งงานอาสาอีกกลุ่มช่วยกันทำฉลากและวิธีใช้ติดข้างขวด ใครๆ ก็ใช้ได้ถูกต้อง แต่ถ้าจวนเจียนไม่มีใครทำสะตุให้ ทำแบบสดๆ ก็สามารถใช้ได้ทันที ให้เอาก้อนสารส้มก้อนเล็กๆ ใส่ในช้อน แล้วเอาช้อนไปลนไฟเทียนไข สารส้มจะค่อยๆ ละลายเป็นน้ำ ใช้ก้านไม้พันสำลีจุ่มลงไปในน้ำสารส้ม แล้วเอามาทาที่น้ำกัดเท้า ทาบางๆ วันละ 3-4 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ดีไม่แพ้กัน อีกสูตรหนึ่งถ้าพื้นที่แห้งมีการปลูกต้นพลูไว้ ให้อาสาสมัครนอกแนวน้ำท่วมช่วยกันเอาใบพลูมาล้างให้สะอาด หั่นซอยเป็นชิ้นเล็ก แล้วใส่ครกตำให้ละเอียด ใส่ภาชนะหรือโหลแก้วแล้วเทเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ให้ท่วมยา ปิดฝาแช่ทิ้งไว้ 1 คืน (อย่างน้อย 12 ชั่วโมง) กรอกเอาแต่น้ำยาบรรจุขวดเล็กๆ เวลาใช้ให้เอาสำลีชุบน้ำยาในพลูทาที่แผล วันละ 3-4 ครั้ง ใบพลู ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิด ช่วยแก้อาการคัน และแก้กลาก เกลื้อน และโรคน้ำกัดเท้าที่มาจากเชื้อราได้ ขณะนี้มีการผลิตเป็น เจลพลู หรือเรียกโก้ๆ ว่าพลูจีนอล สรรพคุณไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันเลย ใบพลูแน่กว่ายาต้านเชื้อราเฉยๆ เพราะใบพลูมีสรรพคุณลดอาการคันด้วย เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจากพลูมีฤทธิ์คล้ายยาชาเฉพาะที่ (ฤทธิ์อ่อนๆ) จึงช่วยแก้อาการคัน ถ้าต้องเดินลุยน้ำแช่น้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดเท้าให้แห้ง ช่วยลดการเกิดน้ำกัดเท้า แต่ถ้าเสียทีน้องน้ำแล้ว ให้ลองใช้ตำรายาโบราณสู้กับน้ำกัดเท้าดูนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ช้อนตวงยา อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

  การกินยาสำหรับเด็กๆ อาจเป็นเรื่องยากและลำบากใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ “ยาน้ำ” จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเด็กๆ หรือคนที่ไม่ชอบกินยาเม็ดหรือแคปซูล ซึ่งการกินยาน้ำแม้จะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ข้อพึ่งระวัง โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามอย่าง “ช้อนและถ้วยตวงยา” ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตยาที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด จึงทำให้ลักษณะของช้อนและถ้วยตวงยาก็มีความหลากหลายทั้ง ขนาด รูปทรง วัสดุ ซึ่งความแตกต่างทั้งหมดของช้อนและถ้วยตวงยาที่กล่าวมาอาจมีผลต่อปริมาณของยาที่รับประทาน และอาจกลายเป็นผลเสียกับร่างกาย ฉลาดซื้อ จึงอยากชวนทุกคนใส่ใจและให้ความสำคัญกับช้อนและถ้วยตวงยาน้ำมากขึ้น ด้วยผลทดสอบความจุของช้อนและถ้วยตวงยาพลาสติก โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม มาดูกันซิว่าช้อนและถ้วยตวงยาที่เราใช้กันอยู่ได้มาตรฐานหรือเปล่า      ตารางแสดงผลทดสอบความจุของช้อนตวงยาพลาสติก ที่ปริมาตร 5 มิลลิลิตร ในยาน้ำสำหรับเด็ก      เครื่องหมายถูก = มี     เครื่องหมาย x = ไม่มี ผลทดสอบโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามหมายเหตุ : * ทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่มีจำหน่ายในร้านยา จังหวัดสมุทรสงคราม **  ตามเกณฑ์มาตรฐานช้อนตวงยาพลาสติกของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ มอก. 1411-2540 ***ผลทดสอบปริมาตรถ้วยตวงยา Dimetapp ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตัวอย่างถ้วยยาพลาสติกของตัวอย่าง lot การผลิตเดียวกัน มีความจุแตกต่างกันมาก มีทั้งผ่านมาตรฐาน และไม่ผ่านมาตรฐาน   สรุปผลทดสอบ - ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกที่นำมาทดสอบ มี 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ รูปแบบช้อน และรูปแบบถ้วย ซึ่ง ช้อนยาตวงพลาสติกในรูปแบบถ้วยยานั้น ไม่เข้ามาตรฐานถ้วยตวงยาพลาสติกของ มอก. เนื่องจากมีปริมาตรสุทธิ ไม่ถึง 30 มิลลิลิตร ในการทดสอบนี้จึงใช้เกณฑ์มาตรฐานความจุของช้อนตวงยาพลาสติกโดยไม่สนใจลักษณะทางกายภาพ (คำนิยามของช้อนตวงยาพลาสติกของ มอก. หมายถึง ช้อนพลาสติกมีด้ามจับ ใช้สำหรับตวงยาน้ำเพื่อรับประทาน) - ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของช้อนตวงยาพลาสติก  มอก. ที่ 1411-2540 ระบุ ให้ช้อนตวงยาพลาสติกขนาด 1 ช้อนชา มีความจุ 5 ลูกบาศก์เซนติเมตร (มิลลิลิตร หรือซี.ซี.) โดยมีความคลาดเคลื่อนได้ ± 0.25 ลูกบาศก์เซนติเมตร นั่นเท่ากับว่า ช้อนตวงยา 1 ช้อนชา มีความจุอยู่ระหว่าง 4.75 – 5.25 มิลลิลิตร - ช้อนตวงยาพลาสติกส่วนใหญ่ มีปริมาตรความจุ เกินกว่า 5 มิลลิลิตร ยกเว้น ช้อนตวงยาของยาที่มีช่วงการรักษาแคบ ที่มีปริมาตรความจุสุดท้ายน้อยกว่า 5 มิลลิลิตร - ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกที่ทำการทดสอบมีทั้งหมด 17 ตัวอย่าง แบ่งเป็นรูปแบบช้อนยา 12 ตัวอย่าง และรูปแบบถ้วยยาจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยการทดสอบ ผู้ทดสอบจะไม่ทราบว่า ช้อนมีเลขรหัสการผลิตหรือไม่อย่างไร ผู้แปรผลสุดท้ายจะทราบรายละเอียดทั้งหมดของช้อน ซึ่งพบว่า ตัวอย่างในรูปแบบช้อนยา ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 3 ตัวอย่าง และตัวอย่างในรูปแบบถ้วยยาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยในจำนวนตัวอย่างที่ผ่านมาตรฐานทั้งหมด มีเพียงตัวอย่างเดียวที่ไม่ระบุหมายเลขการผลิตของช้อนตวงยาพลาสติก (ช้อนตวงยาพลาสติกในผลิตภัณฑ์ BEE-COL ซึ่งเป็นตำรับยาบรรเทาหวัดสูตรผสมของ ห้างหุ่นส่วนจำกัด โบร์วู๊ด ฟาร์มาซูติคอล ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ที่ผ่านมาตรฐาน ได้แก่ ช้อนตวงยาพลาสติกของผลิตภัณฑ์ PARACAP ของบริษัท ยูเมด้า จำกัด มีความจุ 5.13 มิลลิลิตร, DENAMOL 120 ของบริษัท ที.โอ. ฟาร์ม่า จำกัด มีความจุ 5.08 มิลลิลิตร, Tempra Kids ของ PT Taisho Pharmaceutical Indonesia Tbk. ผลิตให้กับ Taisho Pharmaceuticsl Co., Ltd. นำเข้าโดย DKSH (Thailand) Limited และ Calpol TM ของ SmithKline Beecham, Rizel, Philippines. นำเข้าโดย GlaxoSmithKline (Thailand) Limited. ที่มี Paracetamol 120 มิลลิกรัม เป็นส่วนประกอบ) - อย่างไรก็ตามมีตัวอย่าง ที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจาก ช้อนตวงยาพลาสติกที่นำมาทดสอบ ที่เก็บตัวอย่างจากรุ่นการผลิตเดียวกัน มีความจุสุทธิที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ (ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกในผลิตภัณฑ์ Dimetapp  ของบริษัทอินเตอร์ไทย ฟาร์มาซูติเคิ้ล แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นตำรับยาผสม ประกอบด้วย Brompheniramine Maleate 2mg และ Phenylephrine HCl 5 mg) - เป็นที่น่าสังเกต บริษัทผู้ผลิตยาส่วนใหญ่ ใช้ช้อนตวงยาพลาสติกเป็นของตนเอง โดยระบุชื่อผู้ผลิตหรือชื่อของผลิตภัณฑ์ไว้ที่ช้อนตวงยาพลาสติก อาทิเช่น บริเวณด้ามจับของช้อน พื้นที่ผิวด้านในของตัวช้อน ขอบบนของถ้วย และก้นถ้วย -BEE-COL มีส่วนผสมของยาแก้ปวด 2 ชนิด คือ N-Acetyl-p-aminophenol และ Salicylamide ซึ่งคือ Salicylic acid ที่มีคำสั่งกระทรวงที่ 193/2536 ให้ถอนออกจากตำรับ -ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เป็นตัวยาที่นิยมผลิตเป็นยาน้ำลดไข้สำหรับเด็ก โดยมักจะต้องรับประทานยาทุก 4 – 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 5 วัน นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำว่าไม่ควรรับประทานยา 2 ชนิดนี้พร้อมกัน เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ----------------------------------------------------------------------------------------   ลักษณะทั่วไปของช้อนและถ้วยตวงยา -ช้อนหรือถ้วยตวงยาต้องเป็นสีขาว มีลักษณะโปร่งใสหรือโปร่งแสง-พื้นผิวต้องเรียบ-ขอบของช้อนหรือถ้วยต้องมีลักษณะโค้งมน ไม่มีมุมหรือส่วนที่เป็นคม-ช้อนหรือถ้วยตวงยาต้องสามารถตั้งวางได้โดยไม่ทำให้ยาหก-ที่ช้อนหรือถ้วยตวงยาควรมีอักษรหรือเครื่องหมายแจ้งปริมาณ เช่น “1” หรือ “1 ช้อนชา”   การรับประทานยาโดยใช้ช้อนหรือถ้วยตวงยานั้น มีความจำเป็นอย่างมากับยาชนิดที่เป็นน้ำ ซึ่งยาน้ำมักจะเป็นยาสำหรับเด็กเพราะรับประทานง่ายกว่ายาชนิดเม็ด แถมเดี๋ยวยาน้ำรักษาโรคต่างๆ ก็นิยมผลิตออกมาให้มีรสหวานเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเวลาที่เด็กต้องรับประทานยา เด็กไม่ได้เป็นคนที่ตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกว่าจะรับประทานยาชนิดไหน แต่เป็นหน้าที่ของพ่อ – แม่ ผู้ปกครองที่จะต้องเป็นคนเลือกว่าจะให้ลูกรับประทานยาอะไร จะพาไปหาหมอหรือซื้อยามารับประทานเอง การให้เด็กรับประทานยาเป็นเรื่องที่ต้องให้ความระมัดระวัง เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองการรับประทานยาอย่างขาดความเข้าใจ ไม่ตรงกับโรค หรือรับประทานในปริมาณที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งหากเป็นเด็กผลเสียก็จะยิ่งมากกว่า   สิ่งที่ควรรู้เรื่องการใช้ยาสำหรับเด็ก 1.ร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน ระบบการทำงานต่างๆ ยังด้อยกว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดูดซึมยาไปใช้หรือการการเผาผลาญหรือการขับยาส่วนเกินออกจากร่างกายยังทำได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ การกำหนดปริมาณสำหรับเด็กจึงมีความสำคัญมาก 2.ก่อนที่จะให้เด็กรับประทานยาใดๆ ต้องอ่านฉลากยา ศึกษาข้อควรระวังหรือคำเตือน ปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละวัย รวมถึงอาการผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมวิธีรักษาหรือแก้ไข 3.การให้เด็กรับประทานยาควรใช้อุปกรณ์ตวงยาที่มาพร้อมกับยา หรือเป็นอุปกรณ์สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ ควรหลีกเลี่ยงช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟที่ใช้อยู่ เพราะอาจทำให้ปริมาณยาคลาดเคลื่อนได้ 4.ไม่ควรใส่ยาลงในขวดนมหรือใส่ไปพร้อมกับอาหารที่เด็กรับประทานเป็นประจำ เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารเหล่านั้นอีก ถ้าอยากให้ยามีรสหวานเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายขึ้น สามารถเติมน้ำเชื่อมเพิ่มลงไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point