ฉบับที่ 234 ยาจากวัด ขจัดความปลอดภัย ?

        ผมมักจะได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการซื้อยามากินเองอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่มักจะซื้อมาใช้รักษาอาการปวดเมื่อยตามแขนขา เมื่อใช้ครั้งแรกๆ จะได้ผลเร็ว อาการปวดเมื่อยต่างๆ มักจะหายทันที แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะได้อาการอื่นๆ แถมมาด้วย เช่น ตัวเริ่มบวม ปวดท้อง กระเพาะเป็นแผล บางคนเป็นมากถึงขนาดถ่ายออกมาเป็นเลือดจนต้องเข้าโรงพยาบาล          เมื่อนำยาที่ผู้ป่วยมาตรวจหาสารสเตียรอยด์จะพบว่ามีสารสเตียรอยด์ผสมในยาเกือบทุกตัวอย่าง และเมื่อสอบถามถึงแหล่งที่ซื้อยา พบว่าผู้ป่วยหลายคนซื้อยามาจากวัดเนื่องจากคิดว่า ยาที่ขายในวัดคงเป็นยาที่ปลอดภัย คนขายก็คือคนในวัด บางวัดก็มีพระสงฆ์เป็นผู้ขายเองด้วยซ้ำ          จากประสบการณ์ที่เคยไล่ติดตามตรวจสอบยาที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้ พอสรุปลักษณะของยาที่ไม่ปลอดภัย ที่มักจะแอบจำหน่ายในวัดบางแห่ง ดังนี้        1. ส่วนใหญ่มักจะเป็นยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ รูปแบบอาจเป็นยาผง ยาลูกกลอน หรือตอกอัดเป็นเม็ดแบบง่ายๆ บางครั้งอาจมีการบรรจุในแคปซูล แต่ดูด้วยสายตาจะแตกต่างจากยาแผนปัจจุบัน         2.ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อในลักษณะยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ มีการระบุสรรพคุณต่างๆ มากมาย ชนิดที่ยาแผนปัจจุบันยังไม่กล้าระบุขนาดนี้         3. ในฉลาก ไม่มีหมายเลขการขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่อย่างใด แสดงว่ายาเหล่านี้ไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิต (ในแง่กฎหมาย ยารักษาโรคจะต้องแสดงหมายการขึ้นทะเบียนตำรับยาทุกตัว)         4. แม้ฉลากของยาที่ขายจะแสดงข้อมูลมากมาย แต่สิ่งที่หาไม่เจอคือสถานที่ผลิต ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกติดตามดำเนินการตามกฎหมาย         5. มักบรรจุในภาชนะที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน อาจใส่ซองใส หรือขวดใส ฉลากก็พิมพ์แบบง่ายๆ         บ่อยครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปสอบถามข้อมูลแหล่งที่ซื้อจากผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ข้อมูลเนื่องจากกลัวข้อมูลจะไปถึงวัดผู้ป่วยบางคนถึงกับบอกว่า กลัวพระ เพราะพระที่นี่เป็นผู้มีอิทธิพล (ว่าเข้าไปนั่น)         เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวเราและคนในชุมชน มีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้        1. ไม่แนะนำให้ซื้อยาจากวัด หากไม่มั่นใจ ขอให้ไปสอบถามหรือขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ก่อน        2. ตรวจสอบฉลาก หากไม่มีทะเบียนยาแสดงว่ายานี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตตามกฎหมาย แต่ถ้ามีทะเบียนยาแล้ว ก็อย่าเพิ่งมั่นใจเพราะโดยทั่วไปแล้วสถานที่ขายยาจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน ยกเว้นสถานที่ขายยาสามัญประจำบ้านที่ไม่ต้องมาขออนุญาต         3. แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือกลุ่มงานค้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้มาติดตามตรวจสอบก่อน หากกังวลอาจแจ้งข้อมูลในทางลับหรือส่งเป็นเอกสารระบุข้อมูลให้ครบถ้วนก็ได้         4. หากไม่สะดวกที่จะแจ้งข้อมูลกับสาธารณสุขอาจแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจำจังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมวัดต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ

อ่านเพิ่มเติม >