ฉบับที่ 99 รูปแบบของยาชุดลดน้ำหนัก

ความเดิมตอนที่แล้ว ฉลาดซื้อส่งอาสาสมัครสาวน้อย สาวใหญ่ที่รูปร่าง น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติไปรับบริการที่คลินิกลดน้ำหนักหลายจังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่แพทย์จ่ายยามาให้กินกันเป็นกอบกำ มีอยู่ไม่กี่แห่งที่แพทย์ หรือพนักงานบอกว่า “ไม่อ้วนนะจ๊ะ ยาไม่ต้องกิน ไปออกกำลังกายดีกว่า”   หลังจากได้ยามาแล้ว ก็อยากรู้ต่อว่า ยาที่ได้รับมาเป็นยาอะไรบ้าง ยังเป็นรูปแบบเดิมๆ หรือไม่ อย่างไร เราจึงส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดอุบลราชธานี ตอนนี้ผลทั้งหมดอยู่ในมือแล้ว   สรุปผลสำรวจจากฉลาดซื้อ ฉบับ 95 จากการสังเกตและบันทึกผลของอาสาสมัคร พบว่า 1.แพทย์จากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จ่ายยาให้เมื่ออาสาสมัครบอกว่า อยากลดน้ำหนัก ทั้งที่ค่าบีเอ็มไอของอาสาสมัครอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกคน 2.มีการเสนอบริการอื่นๆ เพื่อจูงใจให้ใช้บริการ แต่จะกระทำโดยพนักงานหรือประชาสัมพันธ์ของร้านมากกว่าแพทย์ 3.คลินิกส่วนใหญ่แพทย์จะให้เวลากับอาสาสมัครประมาณ 5-10 นาที คำแนะนำต่างๆ วิธีการใช้ยาหรือการควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีอื่น มักกระทำโดยพนักงานของร้านเป็นส่วนใหญ่ ทั้งก่อนและหลังพบแพทย์ 4.พบว่ามีสถานบริการบางแห่งจ่ายยาให้โดยไม่มีการซักประวัติการแพ้ยา หรือแม้แต่วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และมีหนึ่งแห่งได้แก่ คลินิกแพทย์หญิงกัลยาภรณ์ สตูล ที่จ่ายยาโดยพนักงานไม่ใช่แพทย์ “เมื่ออาสาสมัครเข้าไปในคลินิก มีพนักงานถามว่า มาทำอะไร พอบอกว่า ลดน้ำหนัก ก็บอกให้ชั่งน้ำหนักตัวและวัดส่วนสูง แล้วจัดยาให้เม็ดละ 20 บาท จำนวน 10 เม็ด ระบุหน้าซองยาว่า ยาลดไขมัน (จากการวิเคราะห์พบว่า เป็นยาไซบูทรามีน) โดยไม่ได้พบแพทย์ 5.จากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายในการไปคลินิกเพื่อรับการรักษาเรื่องลดน้ำหนักมีค่าบริการต่ำสุดคือ 190 บาทต่อครั้ง และสูงสุด 1,130 บาทต่อครั้ง 6.ไม่มีการแจ้งชื่อยา (ทั้งชื่อการค้าและชื่อสามัญ) แต่จะระบุเป็นประเภท ได้แก่ ยาลดไขมัน ยาลดไขมันพิเศษ ยาควบคุมความหิว ยาระบาย เป็นต้น 7.อาสาสมัครส่วนใหญ่ จะไม่ได้รับคำอธิบายที่ละเอียดมากพอสำหรับการใช้ยาแต่ละชนิด เช่น ไม่รู้ชื่อยา การทำงานหรือการออกฤทธิ์ของยา ผลข้างเคียงที่ต้องระวัง โดยเฉพาะสภาวะเสี่ยงเช่น ความดันโลหิตสูงหรืออาการทางจิตประสาท การใช้ยาลดน้ำหนักความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อม โรคมะเร็ง ฯลฯ การลดความอ้วนจึงเท่ากับการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคลง ซึ่งการลดน้ำหนักนั้นมีด้วยกันหลายวิธี ทั้งแบบปลอดภัย ค่อยเป็นค่อยไป และแบบเสี่ยงตาย อันตรายสูง วิธีหนึ่งที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง และน่าจะเป็นหนทางสุดท้ายสำหรับการลดน้ำหนักคือ การใช้ยาเข้าช่วยเพื่อให้ “ผู้ป่วยโรคอ้วน” มีน้ำหนักลดลง แต่ทั้งนี้ควรเป็นไปภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะการใช้ยาลดน้ำหนักมีข้อถกเถียงกันมากทั้งในแง่ประสิทธิภาพของยา ระยะเวลาที่ให้การรักษา และผลข้างเคียงจากการใช้ยา ความจริงเกี่ยวกับยาลดน้ำหนัก1.การใช้ยาลดน้ำหนักนั้น ยาเพียงช่วยควบคุมน้ำหนักให้ลดลงและคงที่ แต่ยาไม่ได้รักษาโรคอ้วนให้หายไป ดังนั้นการหยุดยาลดน้ำหนักอาจจะทำให้น้ำหนักเพิ่มใหม่ได้ 2.การใช้ยาลดน้ำหนักจะได้ผลดีต้องใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3.การใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ แต่ถึงอย่างนั้นก็มักพบว่า แพทย์จำนวนไม่น้อยใช้ยาลดน้ำหนักโดยที่ผู้ป่วยไม่มีข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นที่จะต้องใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน และในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ (ข้อมูล การใช้ยาลดน้ำหนักในการรักษาโรคอ้วน (Drug Therapy of Obesity) โดย นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล) ยาที่ใช้ลดน้ำหนัก ปัจจุบันยาที่นำมาใช้ลดน้ำหนักแบ่งตามการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มีขายในประเทศไทย มี 2 ประเภท คือ  ประเภทที่ 1 ลดความอยากอาหารหรือควบคุมความหิว ยาจะไปออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งยังแบ่งย่อยได้เป็นสามกลุ่ม คือ (1) ยาที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายกลุ่มแอมเฟตามีน ได้แก่ Phentermine เป็นยากลุ่มที่ควบคุมโดย พรบ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518(2) ยาที่จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ตาม พรบ.ยา พ.ศ.2510 ได้แก่ Sibutramine (3) ยาที่ไม่มีข้อบ่งใช้เพื่อการลดน้ำหนัก แต่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ไม่อยากอาหาร ได้แก่ Fluoxetine ซึ่งจัดเป็นยาอันตรายตาม พรบ.ยา พ.ศ. 2510 (เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการในกลุ่มโรคซึมเศร้า)   ประเภทที่ 2 ยาที่มีผลต่อทางเดินอาหาร ยามีผลทำให้ร่างกายไม่ย่อยอาหารประเภทไขมันและไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ Orlistat จัดเป็นยาอันตรายตาม พรบ.ยา พ.ศ.2510  รูปแบบการจ่ายยาลดน้ำหนักจากการศึกษาเรื่อง การวินิจฉัยและการจ่ายยาลดน้ำหนักในคลินิกลดความอ้วน ของกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 (ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารอาหารและยา เล่ม 2/2552) พบว่า มีการจ่ายยาเพื่อลดน้ำหนัก 7 กลุ่ม ได้แก่   1.กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง 2.กลุ่มยาระบาย 3.กลุ่มยาขับปัสสาวะ 4.กลุ่มยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะ5.กลุ่มยาไทรอยด์ ฮอร์โมน 6.กลุ่มยาลดอาการใจสั่น หรือลดการเต้นของหัวใจไม่เป็นจังหวะ7.กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้ง่วงนอน (ยานอนหลับ)   นอกจากนี้ยังมีการจ่ายอาหารเสริมร่วมด้วย หรือจ่ายอาหารเสริมเพียงอย่างเดียว อาหารเสริมยังรวมถึง วิตามิน หรือสมุนไพร ที่ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ระบุว่า ลดไขมันหรือสารละลายไขมัน เป็นต้น รูปแบบการจ่ายยาลดน้ำหนักสำรวจโดยวารสารฉลาดซื้อ การศึกษาของ อย.กับทางวารสารฉลาดซื้อจะใกล้เคียงกัน คือ ส่งอาสาสมัครไปรับบริการในคลินิก แต่ของฉลาดซื้อไม่ส่งคนอ้วนหรือคนที่มีค่า บีเอ็มไอมากกว่า 27 เข้าไป เราให้สาวน้อย สาวใหญ่เป็นตัวแทนเข้าไปขอรับบริการ ดังนั้นข้อมูลสำคัญที่เราค้นพบก็คือ คลินิกส่วนใหญ่จ่ายยาลดน้ำหนักให้อาสาสมัคร แม้ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า จำเป็นต้องใช้ยาลดน้ำหนัก และบางรายอายุน้อยกว่า 18 ปี (ยาลดความอ้วนทุกชนิด ไม่มีข้อบ่งใช้ในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการพลังงานในการเติบโต)โดยยาที่ได้รับกลับมานั้นเมื่อนำไปตรวจวิเคราะห์พบว่า มีรูปแบบการจ่ายยาดังนี้ 1. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว ชนิดเดียว ได้แก่ คลินิกแพทย์หญิงกัลยาภรณ์ สตูล หัสชัยคลินิก เชียงใหม่ (อาสาสมัครวัยรุ่นและวัยทำงาน แต่เป็นยาคนละชนิดกัน) และราชวิถี สลิมแคร์ เพชรบูรณ์ (อาสาสมัครวัยทำงาน) 2. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว สองชนิด ได้แก่ คลินิกผิวหนังแพทย์สันต์ เพชรบูรณ์ (อาสาสมัครวัยรุ่นและวัยทำงาน)3. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย ได้แก่ วิยดาคลินิก สาขา 2 สตูล นิติพลคลินิก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นครินทร์คลินิกเวชกรรม สมุทรสงคราม (อาสาสมัครวัยรุ่นและวัยทำงาน)4. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย+ยานอนหลับ ได้แก่ แพทย์ปริญญา เชียงใหม่ (อาสาสมัครวัยรุ่น) คอสเมส สลิมแคร์ พัทลุง5. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว สองชนิด+ยาระบาย+ยานอนหลับ ได้แก่ ราชวิถี คลินิกเวชกรรม กาญจนบุรี 6. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย+ยาลดอาการใจสั่น ได้แก่ วุฒิศักดิ์คลินิก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 7. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยานอนหลับ ได้แก่ แพทย์ปริญญา เชียงใหม่ (อาสาสมัครวัยทำงาน)8. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+วิตามินบี1 ได้แก่ คลินิกหมอจริยา ลำปาง9. ไม่ทราบว่าเป็นยากลุ่มใด ได้แก่ เมเจอร์เมดิคอลคลินิก กาญจนบุรี และ ราชวิถี สลิมแคร์ เพชรบูรณ์ (อาสาสมัครวัยรุ่น) แทรกตาราง ทำไมต้องจ่ายยาเป็นกอบกำจากรูปแบบที่พบ จะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์อีกหลายตัวอย่างที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นยาหรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจหาตัวยาสำคัญทางห้องปฏิบัติการได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นพวกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยทำให้อิ่ม อย่างพวกเส้นใยต่างๆ หรือที่เชื่อกันว่ามีผลต่อการลดน้ำหนัก เช่น ส้มแขกหรือพวกไคโตซาน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้จะมีราคาแพง แต่ไม่มีผลที่ชัดเจนอะไรว่าช่วยลดน้ำหนักได้จริง มีแต่ช่วยเพิ่มในเรื่องราคาค่าบริการที่อาสาสมัครต้องจ่ายมากขึ้น ยาบางชนิดไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในการลดน้ำหนัก แต่ก็พบว่ามีการจ่ายให้แก่อาสาสมัคร ได้แก่ ยา Fluoxetine ซึ่งใช้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการซึมเศร้า มีผลข้างเคียงทำให้ไม่อยากอาหารก็จริง แต่ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ประสาทหลอน กระวนกระวาย คลื่นไส้ และผลข้างเคียงที่อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง เช่น การฆ่าตัวตายได้ ส่วนยาระบายเป็นยาที่ไม่เหมาะสมในการนำมาใช้เพื่อลดน้ำหนักอยู่แล้ว เพราะเป็นการระบายน้ำออกจากร่างกายแค่นั้น น้ำหนักที่ลดลงจึงไม่ใช่ของจริง แต่อีกสาเหตุที่นิยมจ่ายยาระบายก็คือเพื่อแก้ปัญหาเรื่องผลข้างเคียงของยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ควบคุมความหิว เช่น Sibutramine ที่ทำให้ท้องผูก การจ่ายยาระบายก็เพื่อแก้ท้องผูกนั่นเอง หรือการจ่ายยานอนหลับก็เพื่อลดผลข้างเคียงของยากลุ่มที่ควบคุมความหิว ที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ เรียกได้ว่า กินยาลดน้ำหนักแล้วจะเกิดผลข้างเคียงอะไร ก็จ่ายยาแก้ควบคู่กันไปเพื่อลดอาการของผลข้างเคียงนั้นๆ เป็นที่มาของการที่ต้องกินยาเป็นกอบเป็นกำนั่นเอง   วิธีการสำรวจของฉลาดซื้อ 1.ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจคลินิกที่ระบุป้ายหน้าร้านว่าบริการลดน้ำหนัก ใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ อ่างทอง สมุทรสงคราม พัทลุงและสตูล 2.อาสาสมัครสาวทุกคนจะมีชุดคำถามสำหรับการเข้าใช้บริการในคลินิกที่เป็นเป้าหมาย อาสาสมัครมีทั้งที่เป็นสาววัยรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี และสาววัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไป ทุกคนมีน้ำหนักปกติ (ค่าบีเอ็มไอหรือดัชนีมวลกายไม่เกิน 23) 3.ในการสำรวจ อาสาสมัครบางจังหวัดจะเข้ารับบริการในคลินิกเดียวกันทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน เพื่อเปรียบเทียบวิธีการรักษาของผู้ให้บริการ   เมื่อไรที่ควรใช้ยาลดน้ำหนักการใช้ยาลดน้ำหนักในการรักษาโรคอ้วนนั้น ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการรักษา ความคุ้มและประโยชน์ที่ได้รับ โดยมีข้อแนะนำดังนี้ 1.เมื่อดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 โดยที่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว แต่ไม่สำเร็จ 2.เมื่อดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 27 แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดผิดปกติ โดยที่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว แต่ไม่สำเร็จ   *บีเอ็มไอ (BMI) หรือดัชนีมวลกาย เป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินว่าเรามีน้ำหนักตัวปกติ ผอมไปหรืออ้วนไป โดยสามารถคำนวณได้จากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตรยกกำลังสอง)ตัวเลขที่ได้ออกมาจะสามารถบอกได้ระดับหนึ่งว่า คุณอยู่ในภาวะใด โดยทั่วไปค่าดัชนีมวลกายปกติมีค่าระหว่าง 18.5 - 22.9 ต่ำกว่านี้ก็ผอมไป มากกว่านี้ก็ถือว่าน้ำหนักเกิน แนะนำสำหรับคนที่ใช้อินเตอร์เน็ต ลองแวะไปที่ http://konthairaipung.anamai.moph.go.th/bmi.html ที่นี่เขาจะมีโปรแกรมคำนวณค่าบีเอ็มไอให้คุณได้อย่างรวดเร็วแค่กรอก น้ำหนักตัวและส่วนสูง พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัว จำนวนตัวอย่างและชนิดของยาที่จ่ายในคลินิกที่ทำสำรวจดาวโหลด file Word ตารางได้ที่นี่ค่ะ  หมายเหตุ * ผลิตภัณฑ์มีลักษณะคล้ายยา เป็นแคปซูล เป็นผง หรือเม็ด แต่ไม่สามารถตรวจหาตัวยาสำคัญ ทางห้องปฏิบัติการได้ ** อยู่ระหว่างตรวจวิเคราะห์ วิเคราะห์ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานีผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นสำรวจระหว่าง สิงหาคม 2551 – มกราคม 2552 โดยอาสาสมัครวารสารฉลาดซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >