ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2566

สถิติร้องเรียนสายด่วน 1569 ไม่ติดป้ายราคามาอันดับหนึ่ง         ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เผยถึง กรณีสถิติการร้องเรียนของสายด่วน 1569 (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์) ในช่วงมกราคม – กันยายน 2566 ว่า มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งหมด 2,767 เรื่อง และเป็นหมวดเกี่ยวกับอาหารมากที่สุด           สำหรับอันดับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด มีดังนี้ 1.ไม่ติดป้ายแสดงราคา 1,390 เรื่อง 2.จำหน่ายราคาแพง 549 เรื่อง โดยมีการเปรียบเทียบกับปีก่อนร้องเรียนเพิ่มถึง 251 เรื่อง 3. ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาทิ เช่น ปริมาณสินค้าไม่เหมาะสมกับราคา ป้ายราคาไม่ชัดเจน 359 เรื่อง 4. ใช้เครื่องชั่ง/มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ไม่ได้มาตรฐาน  240 เรื่อง 5. แสดงราคาขายปลีกไม่ตรงกับราคาที่ขาย 169 เรื่อง         พบ “ถุงยางแจกฟรี” ของ สปสช. แอบขายออนไลน์         ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวถึง กรณีพบถุงยาที่แจกฟรีโดย สปสช. ไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการนำสิ่งของที่รัฐแจกฟรีให้แก่คนทั่วไปมาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งนี้ขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ไม่เช่นนั้นทาง สปสช. จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย         การแจกถุงยางฟรี คือ สิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยทาง สปสช. จัดให้แก่ชายไทยทุกคน พร้อมกับแจกยาคุมกำเนิดให้แก่สตรี โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอีกด้วย ดังนั้นอย่าหลงเชื่อผู้ที่หาประโยชน์โดยมิชอบเตือนภัย! ระวังไลน์ปลอม “กรมบัญชีกลาง”         กรมบัญชีกลางโดนมิจฉาชีพปลอมไลน์ โดยใช้ชื่อ “สพบ.กรมบัญชีกลาง” และ “กรมบัญชีกลาง” เพื่อหลอกลวงโดยมีการส่งต่อในกลุ่มไลน์ต่างๆ  นางสาวทิวาพร ผาสุก รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า มีมิจฉาชีพแอบอ้างโดยใช้ข้อมูลของกรมบัญชีกลางทำเป็นลิงก์ปลอม แอปพลิเคชันปลอม เว็บไซต์ปลอม หนังสือราชการปลอม เพื่อให้ข้าราชการ ผู้รับบำนาญและบุคคลในครอบครัว ประชาชนหลงเชื่อจนเกิดความเสียหาย จึงขอย้ำว่า “กรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายส่งไลน์ SMS หรือโทรศัพท์หาข้าราชการหรือประชาชน ดังนั้นเตือนอย่าหลงเชื่อ อย่ากด อย่าดาวน์โหลด อย่าแชร์เด็ดขาด” เร่งทำมาตรฐาน “บันไดเลื่อน” ป้องกันเหตุไม่คาดฝัน         จากเหตุการณ์ที่พบว่า มีผู้บริโภคหลายคนเจออุบัติเหตุเกี่ยวกับบันไดเลื่อนจนเกิดความไม่ปลอดภัยบาดเจ็บและพิการนั้น วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566  สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) มีมติเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นการด่วน         โดยนางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า จากเหตุพบว่ามีอุบัติเหตุบันไดเลื่อนและทางลาดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าต่างๆ บ่อยครั้ง จึงได้สั่งให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานบันไดเลื่อน ทางเดินอัตโนมัติ ลิฟท์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ด้านนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เตรียมออกประกาศมาตรฐาน “บันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟท์” เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า โดยอ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ส่วนประกอบ การติดตั้ง ความสูง ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน  ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2567    พิพากษายกฟ้องคดี “กระทะโคเรียคิง” โฆษณาเกินจริง         จากกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้บริโภคที่เสียหาย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากเป็นการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 นั้น         เมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษา ซึ่งนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายและทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่า ตามการโฆษณาของบริษัทว่ากระทะมี 8 ชั้น ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่ากระทะไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนประกอบตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากจำเลยพิสูจน์ว่ากระทะมีการเคลือบกว่า 8 ชั้นจริง แต่ไม่สามารถมองเห็นการแยกชั้นเป็น 8 ชั้นด้วยตาเปล่าได้ ศาลจึงวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการผิดสัญญาที่ไม่ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามโฆษณา ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจึงเตรียมยื่นอุทธรณ์เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อจนถึงที่สุด         ย้อนกลับไปยังต้นเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคฟ้องร้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น คือ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ”กระทะโคเรีย คิง ใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วย หินอ่อนเงิน , หินอ่อนทอง , พร้อมด้วย เทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย เมื่อนำไปปรุงอาหารทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยราคา กระทะใบละ 15,000 บาท แต่หากซื้อผ่านรายส่งเสริมการขายจะเหลือเพียง 3,900 บาท และซื้อ 1 ใบ แถมอีก 1 ใบ”  ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าไม่เป็นตามโฆษณา อีกทั้งพบประเด็นการตั้งราคาขายสูงจริง คืออ้างว่า ราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง (Fake Original Price)”  สคบ. จึงมีมติสั่งระงับโฆษณาทั้งหมด ต่อมามีผู้เสียหายจากการซื้อกระทะดังกล่าวได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงประกาศเป็นตัวกลางฟ้องคดีแบบกลุ่มแทนผู้บริโภคที่เสียหายจากกระทะ โคเรีย คิง โดยเชื่อว่าจะเป็นคดีผู้บริโภคตัวอย่างเพื่อทำให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการโฆษณาสินค้าและคุณภาพสินค้าเป็นไปตามที่โฆษณาให้ดีมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เมื่อถูกหลอกขายที่นอนยางพารา

จากเรื่องที่มีผู้เสียหายกว่า 400 ราย เข้าร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจากเหตุสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 10 เพจ ซึ่งบางรายได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพขณะที่บางรายไม่ได้รับสินค้านั้น แม้ทางกลุ่มผู้เสียหายได้ไปแจ้งความทำให้เจ้าของเพจถูกดำเนินคดีและเพจถูกปิดไปแล้วนั้น ปรากฎว่าเพจที่เคยถูกปิดไปแล้วกลับคืนชีพขึ้นมาอีกและเคลื่อนไหวสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ดังนั้นในวันที่  19 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายจึงรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.๑ บก.ปคบ.) ให้เร่งตรวจสอบเพจหลอกลวงดังกล่าว ฉลาดซื้อได้ขอสัมภาษณ์ตัวแทนผู้เสียหาย 2 ท่าน คือ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง และคุณมณฑวรรณ  บัวศรี ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายเพื่อย้อนทวนเรื่องราวดังกล่าว คุณมณฑวรรณ บัวศรี           ปัญหาอย่างแรกของการใช้สิทธิคือ ความไม่ชัดเจน         ผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เจอปัญหากันตั้งแต่แรกเลย คือปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละ สน. แต่ละท้องที่ก็มีบรรทัดฐานในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน มีรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน แม้กระทั่ง สน.เดียวกันบางครั้งเจ้าหน้าที่สอบสวนคนละท่าน วิธีการทำงานก็ต่างกันแล้ว ข้อหาที่ได้ก็ต่างกัน ทำให้ผู้เสียหายมีความสับสนว่าต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร หาหลักฐานอย่างไรมาสนับสนุนเพื่อให้คดีคืบหน้า บางท่านเจอว่าคดีเป็นแค่แพ่ง ตำรวจไม่รับแจ้งความ หรือบางท่านพบว่าเป็นแค่ฉ้อโกงเฉยๆ ไม่ใช่ฉ้อโกงประชาชน บางท่านได้แค่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซ้ำร้ายกว่านั้นบางท่านบอกว่าไม่ใช่หน้าที่เขาให้ไปติดต่อส่วนกลางเขาไม่มีอำนาจ ซึ่งการไปติดต่อส่วนกลางมันมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ หรือมีจำนวนผู้เสียหายอย่างละเท่าไหร่ เมื่อผู้เสียหายบางครั้งฟังจากทางเจ้าหน้าที่แล้วไปติดต่อส่วนกลาง เขาก็พบว่าเรื่องของเขายังเข้าส่วนกลางไม่ได้ส่วนกลางไม่รับแล้วก็ให้เขากลับมาที่ สน. อย่างเดิม กลายเป็นว่าผู้เสียหายเสียเวลาแล้วก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งพอเจ้าหน้าที่รับแจ้งความแล้วคดีไม่เดิน แม้ว่าผู้เสียหายจะพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนก็ล่าช้า เจ้าหน้าที่อาจจะอ้างว่าคดีเยอะ เราเข้าใจแต่ว่าบางครั้งความเสียหายของผู้เสียหายเขาก็ร้อนใจเขาก็อยากทราบว่ากระบวนการที่เป็นรูปธรรมมันจะเป็นไปในทิศทางไหน เขาจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อที่จะสามารถให้เป็นไปได้เร็วที่สุด สนับสนุนตำรวจให้ได้มากที่สุด” ทางกลุ่มแก้จุดนี้อย่างไร         ที่เราดำเนินการมาตอนนี้ส่วนใหญ่เราจะแจ้งให้ทางผู้เสียหายไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้น ก่อน ทางกลุ่มจะทำการรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายทั้งหมดเพื่อที่จะมาปะติดปะต่อว่า ในความเสียหายนั้นมีจำนวนผู้เสียหายจำนวนเท่าไหร่ มูลค่าความเสียหายแค่ไหน เลขที่มาที่ไปทางบัญชี และมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อที่จะได้รวบรวมเอาหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ยื่นเข้าส่วนกลาง เพื่อผลักดันให้เรื่องมันได้เดินไปได้เร็วมากขึ้นและก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะว่าถ้ากระจายกันตามและท้องที่ แต่ละ สน. มันช้ามากแล้วก็ไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นขบวนการใหญ่มากๆ เชื่อไหมว่าพลังของผู้บริโภคมีจริง         เรื่องการรักษาสิทธิมันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องทราบ แม้เงินแค่ไม่กี่บาท บางคนอาจจะมองว่ามันเสียเวลาในการดำเนินการ แต่คุณลองคิดนะว่าถ้าคุณโดนเขาโกงไป 700 บาท เขาโกงไปพันคน เขาได้เท่าไหร่ต่อเดือน แล้วเขาโกงแบบนี้เรื่อยๆ เขาได้เงินไปเท่าไหร่ ถ้าเกิดทุกคนคิดแบบนี้ (คิดว่าเสียเวลา) เหมือนกันขบวนการพวกนี้มันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนโกงเขาก็จะมองว่าทำแบบนี้มันง่าย การเป็นมิจฉาชีพมันง่าย ไม่มีใครมาขัดขวางอะไรเขา หรือแม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมบางครั้งก็ช้า เขาก็กินไปได้เรื่อยๆ แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรักษาสิทธิของตัวเองเจอแบบนี้          เราขอให้แจ้งความดำเนินคดีก่อน แล้วคอยตรวจสอบช่วยกันดูว่ากลุ่มที่เป็นเพจขายของพวกนี้มีผู้เสียหายเยอะไหม ถ้ามีเยอะรวมตัวกันเถอะค่ะ ช่วยเหลือกัน ช่วยกันเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐานแล้วก็ดำเนินคดีกับเขา มันไม่ยากเลยมันเหมือนอย่างที่กลุ่มเราทำกันอยู่ตรงนี้ ทุกคนโดนราคาต่างกันตั้งแต่ 600 บาท ถึง 20,000 บาท 600 บาทก็เอาเข้าคุกได้นะคะทำกันมาแล้ว รักษาสิทธิตัวเอง ถ้าเกิดคุณไม่ทำคนพวกนี้จะทำต่อไปเรื่อยๆ พอมีคนไปแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกว่าไม่เห็นคนนี้เคยมีประวัติอะไรเลย ทำอะไรไม่ได้อย่างน้อยให้เขาติดแบล็กลิสต์ (Blacklist)  ก็ยังดีเพื่อที่ว่าเป็นการรักษาสิทธิตัวคุณ และเป็นการรักษาสิทธิของคนอื่นด้วยที่จะหลงกลเข้ามาอยู่ตรงนี้ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง        สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือคาดหวังให้เพจที่กลับมาหลอกลวงผู้บริโภคถูกจัดการอย่างจริงจัง         ตอนนี้แต่ละคนก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษใน สภ.ท้องที่ของตัวเอง และในวันนี้ (19 มิ.ย.) ที่เราดำเนินการกันก็คือ  เรารวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดจากคนที่มาลงในระบบ และมายื่นหนังสือต่อ ปคบ. ส่วนในช่วงบ่ายเราก็จะมอบให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยสืบสวน เราคาดหวังว่าทางสำนักงาน ปปง.แล้วก็ ปคบ.จะขับเคลื่อนต่อ จริงๆ แต่ละคนก็ไปแจ้งความแล้ว ร้อยละเจ็ดสิบจากสามร้อยกว่า คือคนเกือบสี่ร้อยคนแจ้งความเกือบหมดแล้ว แต่ก็คาดหวังว่าเขาสามารถที่จะดึงมาเป็นส่วนกลางแล้วก็ขับเคลื่อนให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในคดีนี้ สิ่งที่อยากบอกคนกับนักช้อปออนไลน์         ตอนนี้คนหันมาซื้อของออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะซื้ออยากให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีๆ ลองเปรียบเทียบหลายๆ เพจก่อนการโอนเงิน ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าจ่ายเงินก่อน คือให้รับของก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจ่ายเงินปลายทาง ควรเลือกร้านที่มีหน้าร้านถูกต้อง มีเลขจดทะเบียนถูกต้อง แสดงรายละเอียดถูกต้องและรู้สึกไม่ปิดบังอย่างเช่นเพจที่เราโดน  ซึ่งถ้าเราไปสังเกตจริงๆ มันดูเหมือนมีมาตรฐานมากเลย มันมีการไลฟ์ มีการรีวิว เราก็ไปเปรียบเทียบกับหลายเพจในกูเกิล (Google) แต่เพจนี้ปิดส่วนคอมเมนต์ (Comment) ไม่ให้เห็น  คือจุดพลาดเพราะเราไม่ได้เอะใจ มัวไปหลงคำที่บอกว่าโละ โละหนักมาก คือไปหลงคำโฆษณา เรื่องนี้อาจต้องชั่งใจสักนิด อย่าเพิ่งไปหลงในคำชวนเชื่อให้ซื้อสินค้า  หากมีผู้เสียหายที่พลาดข่าวสารสามารถเข้าร่วมได้ที่ไหน         ถ้าคุณโดนละเมิดสิทธิก่อนอื่นต้องรักษาสิทธิตัวเองก่อน ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษในแต่ละ สน. หรือ สภ. ท้องที่ก่อน หลังจากนั้นต้องปรึกษาหน่วยงานกลางที่เขาทำเรื่องอยู่แล้ว อาจจะต้องมาปรึกษาทางมูลนิธิฯ ก็ได้  อย่างของเราก็ปรึกษามูลนิธิก่อน ทำให้พอทราบขั้นตอนการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาเหมือนว่ามันไปไม่ถูกจุดแยกกันทำ แต่พอมีที่ปรึกษามันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีกลุ่มรวมกันแล้ว เราจะทำอะไรเรามีที่ปรึกษา พอมีประเด็นขึ้นมาก็อยากให้รีบไปแจ้งความ หลังจากนั้นอาจจะต้องเข้ามาติดต่อที่มูลนิธิฯ ตอนนี้ยังประเมินไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีหน่วยงานรัฐหรือองค์กรกลางจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ไม่อยากให้ทุกคนละเลย เราต้องรักษาสิทธิของตัวเองไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2563

พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าบังคับ ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องมี มอก.         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศกฎกระทรวงระบุให้ พาวเวอร์แบงค์ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ จะผลิต นำเข้า จำหน่าย จะต้องมี มอก        โดยประกาศกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา: คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 ประกาศให้สินค้าที่เป็น Powerbank จะต้องผ่านมาตรฐานบังคับ มอก.2879-2560 กฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันประกาศ ช่วงล็อกดาวน์สินค้ากีฬา-เครื่องครัว-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายพุ่ง 500%.         บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยข้อมูลตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นกว่า 75%         . โดยนักช็อปใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250% ถึงกว่า 500% โดยลาซาด้าคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562  มะเร็งตับเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ตายปีละกว่าหมื่น ไร้อาการเตือน         กรมการแพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยแนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย เพศชายพบมากสุด         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้         นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  โพสต์เหล้าเบียร์ไม่มีเจตนาโฆษณาไม่ผิด         นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาให้ข้อมูลเรื่องโพสต์แก้วเหล้าเบียร์มีความผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ประชาชนทั่วไปโพสต์ก็มีความผิด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “การตีความมาตราดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ 2. ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว         ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้ ...แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้" นพ.นิพนธ์กล่าว  มหากาพย์ที่นอนยางพารา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำกลุ่มผู้เสียหายร้อง ปคบ.เอาผิดเพจขายของ         บก.ปคบ. วันที่ 19 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อที่นอนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.และ ร.ต.อ.ดลพิษิฐ คำผง รอง สว.(สอบสวน)กก.1 บก.ปคบ. เพื่อขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่ขายของไม่ได้มาตรฐาน         นฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ พาผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือกับเจ้าพนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ          สำหรับที่มาของปัญหานี้คือ มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟชบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ โดยบางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งซื้อไป จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเพจดังกล่าว จนเจ้าของเพจถูกจับและถูกปิดเพจไปแล้ว   แต่หลังจากนั้นกลับปรากฎพบว่าเพจต่างๆ เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว กลับมาเปิดหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์อีก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา จนมึผู้หลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้เสียหายตั้งไลน์กลุ่มโอเพ่นแชต ชื่อ 'กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา' เพื่อรวบรวมความผู้เสียหายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนจะนำข้อมูลเข้าร้อง ปปง. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางเข้าแจ้งความ บก.ปคบ.เพิ่ม  เพื่อเร่งให้ทางการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพจดังกล่าว ร่วมทั้งเพจอื่นๆ          ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่รวบรวมได้มีจำนวนกว่า 389 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้าหรือบางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนหรือส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ ที่นอนยางพารา สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่หลอกลวงผู้บริโภคมีด้วยกันหลายชื่อ  และมีเพจที่ปิดไปแล้วแต่มีจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ร้านขายยางรถหมดอายุทำอะไรได้บ้าง

        คุณสุรชัยได้ขับรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมรถแห่งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนยางรถเส้นใหม่ แต่ร้านไม่มียางรถยนต์รุ่นที่คุณสุรชัยต้องการ ร้านจึงเสนอยางรถยนต์รุ่นอื่นและบอกว่าสามารถใช้แทนกันได้ โดยจะลดราคาให้พิเศษ คุณสุรชัยจึงได้เปลี่ยนยางเส้นใหม่ตามที่ร้านแนะนำ         ไม่กี่เดือนหลังเปลี่ยนยาง คุณสุรชัยรู้สึกว่ารถมีอาการขับกินซ้ายตลอด จึงตัดสินใจนำรถเข้าศูนย์ซ่อมเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อ แต่อาการขับกินซ้ายก็ยังไม่ดีขึ้น         ผ่านไปกว่าครึ่งปีคุณสุรชัยได้นำรถเข้าศูนย์ซ่อมรถอีกครั้งเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ โดยพนักงานได้ให้ความเห็นว่า ยางรุ่นนี้แก้อย่างไรก็ไม่หาย จนวันหนึ่งลูกชายของคุณสุรชัยได้นำรถไปล้าง แล้วสังเกตว่ายางรถน่าจะเป็นยางที่หมดอายุแล้ว คุณสุรชัยจึงปรึกษาว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        หากปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจาก ยางรถหมดอายุ ยางเสื่อมคุณภาพจากการเก็บรักษาที่ไม่ดี หรือ ทางร้านแนะนำยางรุ่นอื่นให้ใช้ทดแทนแต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยผู้บริโภคมาทราบทีหลัง และพิสูจน์ได้ว่าความผิดปกติจากการใช้รถที่เกิดขึ้นเกิดจากยางรถที่เปลี่ยนมา ก็สามารถขอคืนเงินได้         รวมถึงสามารถเรียกค่าใช้จ่ายจากความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการนำรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมได้ เช่น ค่าที่ผู้ร้องต้องนำรถเข้าตั้งศูนย์ถ่วงล้อ เพราะเข้าใจผิดว่าอาการขับกินซ้ายเกิดจากการตั้งศูนย์ เป็นต้น         ทั้งนี้การซื้อยางรถยนต์ ผู้บริโภคอาจสังเกตปีที่ผลิต สภาพของยางรถ ซึ่งสถานที่ที่เก็บรักษายางรถควรมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ไม่ตากแดดตลอดเวลาและเลือกซื้อยางรถยนต์จากร้านที่น่าเชื่อถือ และควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการร้องเรียนหากได้สินค้าไม่มีมาตรฐานหรือหมดอายุ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 เหม็นกลิ่นขี้ยางจากข้างบ้าน

ขี้ยางหรือเศษยาง เป็นสิ่งที่เหลือจากการกระบวนการทำยางก้อนและยางแผ่น ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมสำหรับยางที่มีสีดำอย่างยางรถยนต์ต่อได้ อย่างไรก็ตามขี้ยางมักมีกลิ่นแรง โดยหากไม่มีการจัดเก็บที่ดี อาจส่งปัญหาต่อบ้านใกล้เรือนเคียงได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณกุญชร ได้กลิ่นเหม็นรบกวนจากเพื่อนบ้านเป็นประจำ ซึ่งมาทราบภายหลังว่าสาเหตุของกลิ่นมาจากการที่เพื่อนบ้าน รับซื้อขี้ยางมาเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป ทำให้เขาต้องการทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง เพราะไม่อยากทนกลิ่นเหม็นของขี้ยางอีกต่อไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 (4) ว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง เสียง การสั่นสะเทือน ฝุ่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถือว่าเป็นการกระทำผิด ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ. นี้คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น สามารถแจ้งให้ปรับปรุง/แก้ไข  ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และหากล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานก็มีอำนาจสั่งรื้อ/ปรับได้ ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งเรื่องต่อผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ปกครองท้องถิ่นก่อนเบื้องต้น โดยภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าได้ดำเนินการบอกผู้ใหญ่บ้านแล้ว ซึ่งไปแจ้งเตือนคู่กรณีให้มีการแก้ไขปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อย จึงยินดีขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2552 21 ต.ค. 52 ระวัง!!! อาหารกระป๋องของ “บ.กิ่งแก้วฟู้ดส์” และ “บ.ไทย เอ ดี ฟู้ดส์ เทรดดิ้ง” นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าจากการเฝ้าระวังสถานการณ์ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง ยังคงพบผลิตภัณฑ์ ลิ้นจี่กระป๋อง ตราชาวดอย เน่าเสียก่อนหมดอายุ และพบผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องลำไยในน้ำเชื่อมตราชาวดอย ผลิตโดย หจก.ไทย เอ ดี ฟู้ดส์เทรดดิ้ง จ.เชียงราย วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งบริษัทดังกล่าวยกเลิกใบอนุญาตผลิตอาหารไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมทั้งบริษัททองกิ่ง-แก้วฟู้ดส์ จำกัด จ.สมุทรสาคร ได้ขาดการต่ออายุใบอนุญาตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 ซึ่งมีผลให้เลขทะเบียนตำรับอาหารทั้งหมดของบริษัทสิ้นสภาพไปด้วย ดังนั้น อย.จึงประกาศเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทั้ง 2 บริษัทนี้มารับประทาน เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทดังกล่าววางจำหน่าย สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ   27 ต.ค. 52ทดสอบ “เน็ต” เร็วแค่ 70% ของโฆษณาหลังจากที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดตัวโครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ต ปี 2552 หรือ ‘สปีดเทสต์’ ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. – 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาข้อมูลการให้บริการอินเตอร์เน็ตของผู้ประกอบการ (ไอเอสพี) ผ่านเว็บไซต์หลักของโครงการคือ www.speedtest.or.th จากผลการทดสอบที่ความเร็วต่ำกว่า 12 เมกะบิตต่อวินาทีลงมา และเป็นการให้บริการผ่านเทคโนโลยี ADSL คิดเป็นจำนวน 7.5 แสนราย พบว่าความเร็วที่ได้ประมาณ 70% จากที่โฆษณา โดยอินเตอร์เน็ตในเครือสามารถ คอร์ปอเรชั่น ให้บริการได้ดีที่สุด นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสบท.กล่าวว่า หากไอเอสพีต้องการใช้ความเร็วเป็นจุดขาย ก็ควรปรับคุณภาพให้ได้ตามที่โฆษณาจริงๆ แต่หากทำไม่ได้จริงก็ควรลดค่าบริการลงให้เหมาะกับคุณภาพพ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมฯ กับสบท.เปิดเผยในครั้งนี้ เป็นข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงแก้ไขซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้บริการควรให้ความสำคัญกับการตรวจวัดความเร็ว หมั่นตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ใช้อยู่เป็นประจำ  29 ต.ค. 52มายังไง?! “เศษลวด” ในยาพารานายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้บริโภคพบเศษลวดในยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งหลังจากตรวจสอบเศษลวดดังกล่าว คาดว่าน่าจะเกิดจากตะแกรงหรือแร่งสำหรับร่อนยา รวมทั้งการตั้งระบบการไหลของยาที่ผลิตเสร็จแล้วเร็วเกินไป จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตามได้เรียกเก็บยาล็อตดังกล่าวจากทั่วประเทศแล้ว ส่วนจะให้บริษัทเอกชนผลิตยาพาราเซตามอลต่อหรือไม่ อยู่ที่องค์การเภสัชจะพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการทบทวนเพื่อลดปริมาณพาราเซตามอลในตัวยา จากเดิมคือ 500 มล./เม็ด ให้เหลือเพียง 325 มล./เม็ด เพื่อช่วยลดความแรงของฤทธิ์ยาลง ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่ายังคงประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดได้ ทำให้อย.ของไทยเร่งทบทวนการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างเหมาะสม 31 ต.ค. 52อย.เตือนอย่าเชื่อโฆษณากาแฟลดความอ้วนปัจจุบันมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจำนวนมากที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่ามีผลในการลดน้ำหนัก ผิวสวย รูปร่างดี ฯลฯ นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า แม้ที่ฉลากจะระบุส่วนประกอบว่า มีไฟเบอร์ คอลลาเจน แอลคาร์นีทีน หรือโครเมียม แต่ยังไม่มีข้อมูลทางการวิจัยยืนยันว่า สารดังกล่าวมีผลในการลดน้ำหนัก ทำให้ผิวสวย หรือเพิ่มความงามแต่อย่างใด ส่วนเลขสารบบอาหารที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นเป็นเพียงการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต และส่วนประกอบเท่านั้น ไม่ได้รับรองการโฆษณาใดๆ และอย.ก็ไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณลดความอ้วนหากพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟที่โอ้อวดเกินจริง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.โทร.1556  สภาผู้บริโภคฯ ร้องสคบ.คุมบริการมือถือเติมเงินสภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมและเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นข้อเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้แก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 เพื่อควบคุมโทรศัพท์แบบเติมเงิน โดยประเด็นหลักๆ ที่เครือข่ายผู้บริโภคต้องการให้แก้ไข ประกอบด้วย การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินต้องไม่มีลักษณะบังคับให้ผู้ใช้ใช้ภายในเวลาจำกัด ซึ่งระยะเวลาในการใช้บริการขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 180 วัน และต้องมีระบบคืนเงินส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ใช้ให้กับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการให้บริการเสริมใดๆ บนเครือข่ายของตัวเอง โดยมีการชี้แจงค่าบริการและข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับบริการอย่างชัดเจนซึ่งเหตุผลที่เครือข่ายผู้บริโภคเข้ามาร้องต่อสคบ. ในครั้งนี้เพราะเห็นว่า สคบ. สามารถเอาผิดกับผู้ให้บริการได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งดีกว่าประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่มีอำนาจเพียงการบอกเลิกสัญญาผู้ประกอบการเท่านั้นด้าน นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา กล่าวว่า สคบ. ยินดีรับข้อเสนอ และนำไปศึกษาต่อว่าอยู่ในส่วนที่ สคบ. สามารถดำเนินการได้หรือไม่ พร้อมแนะให้ สภาผู้บริโภครวบรวมผู้ใช้โทรศัพท์ที่ถูกเอาเปรียบส่งให้ สคบ. ฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ เมื่อศาลตัดสินจะได้นำมายกเป็นกรณีตัวอย่าง แต่ที่ผ่านมาการฟ้องร้องไม่ค่อยจริงจัง เพราะสามารถไกล่เกลี่ยชดเชยค่าเสียหายกันได้ เครือข่ายผู้บริโภคร่วมพลัง! ส่งตรงข้อเสนอถึง กทช. ก่อนประมูล 3Gมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดโครงการปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศครั้งที่ 1 ในการทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายรวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการประมูลคลื่น 3G ของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)นางสาวจุฑา สังคชาติ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงประเด็นราคาประมูลและจำนวนใบอนุญาตว่า ต้องมีการออกมาตรการเรื่องการแข่งขัน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการส่งข้อมูลหรือภาพ โดยนำมาตรการดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดก่อนเปิดประมูล และควรกำหนดคุณสมบัติผู้ประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยเท่านั้น ต้องทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลใบอนุญาตและผู้ให้บริการควรคิดค่าบริการอย่างเป็นธรรมนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคตะวันตก กล่าวถึงเรื่องเงื่อนไขการประมูลระยะเวลาใบอนุญาตและความครอบคลุมการให้บริการ ในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายว่า ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องจัดบริการให้เข้าถึงอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนพิการ ต้องแจ้งโครงสร้างต้นทุนการให้บริการ เพื่อกำหนดราคาการให้บริการที่มีมาตรฐาน กทช.ต้องดูแลสัดส่วนของกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้ามาในตลาดการแข่งขัน และสัมปทานต้องไม่มีข้อกำหนดที่ปิดโอกาสในการขอสัมปทานในระบบอื่นในครั้งต่อไปดร.เรืองชัย ตันติยนนท์ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา เสนอประเด็นการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานตามใบอนุญาตหรือเงื่อนไขการให้บริการว่า จะต้องมีกลไกการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ทั้งก่อนและหลังการประมูล อีกทั้งต้องมีกติกากำกับการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างเข้มแข็งและจริงจัง มีบทลงโทษที่สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ กทช. ต้องสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเป็นกลไกเฝ้าระวังเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน และรัฐบาลต้องเร่งให้มีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61ด้านนายสวัสดิ์ เฟื่องฟู ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวถึงประเด็นกลไกการกำกับเนื้อหาในระบบ 3G ว่า ต้องจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลระดับประเทศ มีองค์ประกอบจากทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล ผู้บริโภค เข้าไปกำกับดูแลและมีบทบาททั้งเชิงการให้คุณและให้โทษ โดยทำงานร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน รวมทั้งผู้ได้รับใบอนุญาตต้องกำหนดหรือสร้างเงื่อนไข สำหรับผู้ให้บริการเสริม ทั้งเนื้อหา ภาพ ข้อมูลให้ชัดเจนขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า จะนำข้อเสนอ ไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเร่งผลักดันให้มีการออกกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 61 หลังจากนั้นจะนำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติในวันที่ 12 พ.ย. และจะส่งข้อเสนอต่อคณะกรรมการไอซีที สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค และนักสิทธิมนุษยชนของวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบว่าข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กทช. เกี่ยวกับกรณี 3G ให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้หากข้อเสนอไม่ได้รับการปฏิบัติและดำเนินการ หรือการประมูลเกิดความไม่ชอบมาพากล อาจจะใช้ มาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติฮั้วการประมูลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ปีนต้นยางโทรมือถือ

ช่วยหน่อยครับเดือดร้อนจริงๆคุณสัญชัยร้องเรียนมาว่า ตัวเองและคนทั้งหมู่บ้านใช้วันทูคอลของเอไอเอสเพราะเชื่อว่าเป็นข่ายมือถือที่มีสัญญาณแรงที่สุดไปถึงท้องที่ถิ่นทุรกันดาร แต่ที่บ้านหนองตำเสา หมู่ 5 ต.ที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ช่างเป็นพื้นที่อาภัพอับสัญญาณมือถือสุดๆ ตลอดวันตลอดเวลาพื้นที่แห่งนี้มีขีดสัญญาณขึ้นมาแค่ขีดเดียวถ้าจะโทรสักครั้งต้องขึ้นโทรบนต้นยางพารา ไม่งั้นก็ขึ้นควน(เนินเขา) แถวนั้นอับสัญญาณขอร้องละครับ ท่านผู้บริหารทุกท่าน”คุณสัญชัยได้ร้องเรียนปัญหานี้ไปที่เอไอเอสตั้งแค่ปลายปี 2553 ซึ่งเจ้าหน้าที่เอไอเอสก็ต้อนรับขับสู้ด้วยดีมาโดยตลอด ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในพื้นที่ พบว่าพื้นที่นี้เป็นจุดบอดสัญญาณทั่วทั้งหมู่บ้าน และจะแก้ไขปัญหาด้วยการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มในหมู่บ้าน แต่ก็ติดขัดเรื่องพื้นที่ๆ จะใช้ติดตั้งเสา ปัญหาดังกล่าวก็ติดขัดมาเรื่อย จนคุณสัญชัยบอกว่าร้องมาร่วม 3 ปีแล้วปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ถึงปี 2555 จึงร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเดือนกรกฎาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือประสานไปที่ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนของเอไอเอสและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่อมาได้รับคำชี้แจงจากเอไอเอสว่า ได้ส่งหน่วยสำรวจไปพื้นที่ที่ได้รับแจ้งแล้ว ทำให้ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ใช้เอไอเอสเฉพาะหมู่บ้านนี้เท่านั้น และกรณีร้องเรียนเรื่องไม่มีสัญญาณมือถือมีเข้ามาค่อนข้างมาก ดังนั้นเวลาผู้ใหญ่ของเอไอเอสจะพิจารณาแก้ไขปัญหา จึงมีเงื่อนไขเรื่องความคุ้มทุนด้วยนอกเหนือจากการจัดลำดับก่อนหลังของเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา กรณีนี้อาจใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯได้แย้งว่า ในการที่เอไอเอสขายบริการให้ลูกค้า แม้ว่าลูกค้าจะมีเพียงจำนวนน้อย แต่เอไอเอสต้องรับผิดชอบในการขาย โดยการเปิดให้ลูกค้าสามารถใช้งานมือถือได้ตามปกติ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของเอไอเอสแจ้งว่า ตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแต่แนะนำว่า ให้มูลนิธิฯ ส่งหนังสือทวงถามไปที่เอไอเอสอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ใหญ่ของเอไอเอสเห็นว่าไม่ได้ทิ้งกรณีนี้และเป็นการกดดันอีกครั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้อีกครั้ง และหลังจากนั้นได้โทรติดตามความคืบหน้าเรื่อยมาจนได้รับทราบความคืบหน้าอีกครั้งว่า เหตุที่สัญญาณมือถืออ่อนในบริเวณหมู่บ้านดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา สวนยางพาราหนาแน่น และบ้านเรือนอยู่กระจายตามพื้นที่สวนยางพารา บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับทิศทางสายอากาศและปรับกำลังส่งให้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมการใช้งาน บริษัทฯ จึงพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยการติดตั้งอุปกรณ์เสาสัญญาณเพิ่มเติม ซึ่งเอไอเอสได้ทำการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อยในเดือนมิถุนายน 2556เดือนกรกฎาคม 2556 มูลนิธิฯ โทรสอบถามไปที่คุณสัญชัย ได้รับแจ้งว่า มือถือสามารถใช้งานได้ตามปกติ สัญญาณเต็ม  ไม่ต้องปีนต้นยางโทรกันอีกแล้ว รวมเวลาการร้องเรียนทั้งของผู้บริโภคและของมูลนิธิฯ กว่าจะได้เสาสัญญาณมือถือ 1 ต้นจากเอไอเอสใช้เวลาร่วม 3 ปี เหนื่อย...ไม่เบา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ซื้อจักรยานราคาแพง ได้ยางแตกลายงา

“จักรยานของพี่ราคาไม่กี่ร้อยบาท...”ยอดรัก สลักใจ สมัยยังหนุ่มเคยร้องเพลง “จักรยานคนจน” บอกราคาไว้ในเนื้อเพลงเสร็จสรรพ  แสดงว่าจักรยานสมัยก่อนราคาไม่แพงมาก แต่ตอนนี้ราคาจักรยานเปลี่ยนไปมากแล้วจักรยานที่คุณสุรัตน์ไปซื้อที่ร้านแห่งหนึ่ง แถวสบตุ๋ย จ.ลำปาง  เป็นจักรยานของ LA  รุ่น ELILE ราคา 7,000 บาท ซึ่งคุณสุรัตน์ไม่ได้ติดใจในเรื่องราคามากนัก แต่ที่เป็นปัญหาคือ หลังซื้อมาได้เพียง 6 เดือน สังเกตเห็นว่าขอบยางล้อจักรยานมีรอยแตกลายงาโดยรอบทั้งสองเส้น ก็ไม่รู้ว่าไปเลียนแบบปัญหาป้ายทะเบียนรถยนต์แตกลายงาด้วยหรือเปล่า คุณสุรัตน์บอกว่า จักรยานถูกใช้งานน้อยมากส่วนใหญ่จอดอยู่ในโรงรถวันต่อมาจึงนำรถจักรยานไปให้เจ้าของร้านที่ขายจักรยานดูเพื่อขอเปลี่ยนยางใหม่ คิดว่ายางไม่น่าจะหมดอายุไวขนาดนี้ ร้านน่าจะช่วยรับผิดชอบได้ แต่เจ้าของร้านกลับพูดว่า รับผิดชอบให้ไม่ได้เพราะเป็นจักรยานรุ่นที่บริษัทโละมาขาย“ตอนที่เราซื้อมา ร้านไม่ได้พูดแบบนี้ และยังท้าให้เราไปฟ้อง สคบ. ใช้กิริยาที่ไม่สมควรหลายอย่าง เช่น บอกว่าจะต่อโทรศัพท์ให้เราคุยกับตัวแทน แต่พอต่อได้ กลับคุยกันเรื่องอื่นหลายเรื่อง เช่น เรื่องเป้าของบริษัท เรื่องการไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่สนใจว่าเรารอคำตอบอยู่” สุดท้ายในการเจรจาวันนั้น ร้านตัวแทนจำหน่ายให้ข้อเสนอว่า จะรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่ายาง 2 เส้นใหม่ให้ในราคารวมสองร้อยบาท พอคุณสุรัตน์ได้เห็นยางใหม่ที่เจ้าของร้านเอามานำเสนอ ก็ต้องส่ายหน้าเพราะเป็นยางคุณภาพต่ำ คุณสุรัตน์ยืนยันขอเปลี่ยนเป็นยางยี่ห้อเกรดเดียวกับที่ขายมากับรถ แต่ทางร้านบอกจัดให้ไม่ได้ แถมแนะนำให้ไปฟ้อง สคบ. เสียอีกเรื่องนี้คุณสุรัตน์ไม่ได้ไปที่ สคบ. แต่ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแทน แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้า กฎหมายกำหนดว่าให้ผู้ซื้อเรียกร้องให้ผู้ขายต้องรับผิดได้ภายในหนึ่งปี พ้นจากนี้ไปจะเรียกร้องบังคับกันไม่ได้ นี้คือหลักพื้นฐานของกฎหมายที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางในการเจรจาเรียกร้องต่อผู้ขายให้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้าเราได้แนะนำให้คุณสุรัตน์มีหนังสือไปถึงบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเปลี่ยนยางเส้นใหม่รุ่นเดิมให้ หลังคุณสุรัตน์ส่งหนังสือไปไม่นานเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงได้ติดตามเรื่องให้อีกทางกับฝ่ายการตลาดของบริษัท ซึ่งได้ขอให้คุณสุรัตน์ช่วยส่งภาพถ่ายรถ และยางที่เกิดปัญหาให้กับบริษัทได้ตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดบริษัทฯ ได้แสดงความรับผิดชอบตามที่คุณสุรัตน์ร้องขอ ด้วยการส่งยางจักรยานเกรดเดียวกับที่คุณสุรัตน์ต้องการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายถามว่าเรื่องนี้ทำไมผู้บริโภคถึงสามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ผล พอกลับมาดูเนื้อจดหมายที่คุณสุรัตน์เขียนถึงบริษัทก็เลยถึงบางอ้อ คุณสุรัตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า“ขอให้ทางบริษัทอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แล้วไม่เอาใจใส่ เพราะอาจกระทบถึงชื่อเสียงของบริษัท หากไม่มีความรับผิดชอบ และขอให้บริษัทพิจารณาคุณภาพการบริการของตัวแทนจำหน่ายด้วย”อย่างนี้ต้องเรียกว่ามีลูกอ้อนลูกประณามลูกฟ้องครบครัน      หากบริษัทไม่รับผิดชอบก็ไม่ไหวแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ผลทดสอบที่นอนยางพารา

ตามที่สัญญาไว้ในฉบับเดือนพฤษภาคม คราวนี้เรานำผลการทดสอบที่นอนยางพารา ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้มาฝากสมาชิกกัน ถึงแม้มันจะไม่ใช่ทางเลือกของผู้ที่ชอบที่นอนชนิดนุ่มมากๆ แต่หลายคนก็ชอบที่นอนยางพาราเพราะมันทนทาน ระบายอากาศได้ดี แถมไม่เป็นที่โปรดปรานของไรฝุ่น จึงเหมาะกับคนที่มีอาการภูมิแพ้ด้วย คะแนนรวมที่ได้เป็นการถัวเฉลี่ยระหว่างคะแนนด้านต่างๆ เช่น สมรรถนะ (การรองรับสรีระ การระบายความชื้น และการความคงตัว เป็นต้น) และความแข็งแรงทนทาน (วัดจากความเปลี่ยนแปลงหลังวางน้ำหนัก 140 กิโลกรัมลงบนที่นอน 30,000 ครั้ง รวมถึงการวางบุหรี่ที่ติดไฟไว้บนที่นอนด้วย) เช่นเดียวกับที่นอนสปริง เรายังไม่พบรุ่นที่ได้คะแนน 5 ดาว ที่นอนยางพาราที่นำมาทดสอบได้คะแนน 4 ดาวเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง 4 รุ่นที่ได้ 3 ดาว (Memory Air Latex ของ Chimera Benessere / Tutam Latex ของ Alessanderx / Lattice PF20 Climatizzato Medio ของ Pirelli และ Lattice Premium Climatizzato 7 Zone Medio ของSimmons) สำหรับคะแนนในแต่ละด้านของที่นอนเหล่านี้ ติดตามได้ในหน้าถัดไป        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 145 TYRES CSR ความรับผิดชอบของผู้ผลิตยางรถยนต์

  คราวนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing เขาได้ทำการสำรวจความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรดาผู้ผลิตยางรถยนต์แบรนด์ต่างๆ ที่เรารู้จักกันดี ทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ฟินแลนด์ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี   สมาชิกฉลาดซื้อคุ้นเคยกันดีแล้วกับการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในรูปแบบที่เป็นการรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจ้างงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความโปร่งใสในทุกกระบวนการ  เรามาดูกันเลยว่ายางรถยนต์แบรนด์ไหน ให้ความสนใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน   เกณฑ์การให้คะแนน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 40 นโยบายสิ่งแวดล้อม /  มาตรฐานการจัดซื้อ / โปรแกรมและเครื่องมือในการเฝ้าระวัง   นโยบายด้านสังคมร้อยละ 30 นโยบายแรงงาน / มาตรฐานการจัดซื้อ / โปรแกรมและเครื่องมือในการเฝ้าระวัง   การจัดซื้อยางดิบ ร้อยละ 20 เงื่อนไขในการจัดหายางดิบ / เงื่อนไขในการแปรรูปยางดิบ / แนวปฏิบัติต่อชุมชนและต่อการคอรัปชั่น   ความโปร่งใส ร้อยละ 10 การมีส่วนร่วมในการตอบแบบสอบถาม / การอนุญาตให้เข้าชมโรงงาน / การรายงานต่อสาธารณะ   วิธีการสำรวจ ค้นคว้าหาข้อมูลจากเอกสาร เช่น ข่าว รายงานประจำปี รายงานวิจัย การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ถือหุ้น เป็นต้น ใช้แบบสำรวจ (ระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2555) ด้วยคำถามใน 5 หัวข้อต่อไปนี้ -          นโยบาย CSR สะท้อนมาตรฐานหรือระเบียบปฏิบัติสากลหรือไม่ -          บริษัทมีการกำกับดูแลสภาพการใช้แรงงานและสิ่งแวดล้อมในสายการผลิตหรือไม่ -          บริษัทได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตหรือไม่ -          บริษัทออกแบบยางโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือไม่ -          มีข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับแหล่งที่มาของน้ำยางดิบหรือไม่   การสำรวจนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้สำรวจได้เยี่ยมชมโรงงานและไร่ยางของบริษัท แต่เนื่องจากบริษัทไม่ยินดีเปิดเผยว่าซื้อยางจากที่ใด มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นจากทั้งหมด 7 บริษัทที่ยินดีเข้าร่วมการสำรวจ ที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้สำรวจจะต้องลงนามยินยอมว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว  ลองมาดูกันว่าแต่ละแบรนด์ตอบว่าอย่างไรกันบ้าง   Michelin มิชลิน บอกว่า “โดยปกติแล้วเราไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าชมโรงงาน ด้วยเหตุผลด้านการรักษาความลับของบริษัท กระบวนการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของเรา ผ่านการตรวจสอบโดย PWC และมีการนำเสนอผลในรายงานประจำปีและรายงานด้านความยั่งยืนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ดูรายงานเล่มล่าสุดของบริษัท (ปีปฏิทิน 2011)”   “ส่วนเรื่องการขอเยี่ยมชมสวนยางพารา ซึ่งเป็นไปตามความเข้าใจว่าเราได้ยางดิบจากสวนนั้น ความจริงแล้วบริษัทซื้อจากคนกลางที่รับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรรายย่อย”   Good Year “น้ำยางดิบ ถือเป็นความลับทางธุรกิจ บริษัทไม่เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก”   Bridgestone “บริษัทได้ส่งข้อตกลงเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับทางผู้สำรวจก่อนการเยี่ยมชม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติตามปกติของบริษัท แต่ผู้สำรวจไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว”   Pirelli “บริษัทมีนโยบายให้ผู้เข้าเยี่ยมชมลงนามรับรองว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูล ก่อนการเข้าเยี่ยมชม”   Nokian บริษัทปฏิเสธการให้เข้าเยี่ยมชมโรงงานในฟินแลนด์โดยไม่แจ้งเหตุผล     ภาพรวม ไม่มีบริษัทใดเปิดเผยชื่อของซัฟฟลายเออร์หรือผู้จัดหายางดิบให้กับบริษัท ในการจัดซื้อยางดิบนั้นแต่ละบริษัทจะดูเรื่องคุณภาพและราคาเป็นเหลัก ยังไม่เน้นเรื่องความยั่งยืนในการผลิตยางดิบ แม้ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถ แต่ยังไม่มีแบรนด์ใดมีนโยบายแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตยางดิบ นโยบายสิ่งแวดล้อมของแบรนด์ต่างๆอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีและครอบคลุมไปถึงผู้จัดหาวัตถุดิบ ในขณะที่นโยบายด้านแรงงานยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แบรนด์ที่มีนโยบายด้านสังคมและการจัดซื้อที่ดีที่สุดในกลุ่มที่ทำการสำรวจได้แก่ BRIDGESTONE และ PIRELLI   PIRELLI 56 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ Pirelli นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 5 นโยบายด้านสังคม 5 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 4     MICHELIN 55 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ Michelin/ Kleber นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 5 นโยบายด้านสังคม 5 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 3     BRIDGESTONE 49 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Bridgestone/ Firestone นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 4 นโยบายด้านสังคม 5 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 3     Nokian 32 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Nokian นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 4 นโยบายด้านสังคม 2 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2     CONTINENTAL 31 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Continental/ Semperit/ Uniroyal/ Barum นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2     Hankook 29 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Hankook นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2     Apollo-Vredestein 27 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Apollo/ Vredestein นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2   GOODYEAR 27 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Goodyear/ Dunlop/ Fulda นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2   Yokohama 18 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Yokohama นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 2 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2         Kumho 5 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Kumho นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 2 นโยบายด้านสังคม 1 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 1     GT Radial 0 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  GT Radial นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 1 นโยบายด้านสังคม 1 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 1     Nexen 0 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Nexen นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 1 นโยบายด้านสังคม 1 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 1   เรื่องของยาง ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยางและยางรถยนต์แห่งยุโรประบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วยางแต่ละเส้นมียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบร้อยละ18 และยางสังเคราะห์ร้อยละ 25  ของน้ำหนัก แต่ละแบรนด์ จะมีสูตรผสมที่แตกต่างกันไป เช่น ข้อมูลการจัดซื้อของมิชลินในปี 2011 ระบุว่า ในมูลค่าการจัดซื้อวัตถุดิบ ร้อยละ 42 เป็นมูลค่าของยางธรรมชาติ และร้อยละ 24 เป็นมูลค่าของยางสังเคราะห์ ยางที่ใช้ในเมืองหนาวจะมีสัดส่วนของยางธรรมชาติสูงกว่ายางที่ใช้ในเมืองร้อน และยางของรถบรรทุกก็จะมีสัดส่วนของยางธรรมชาติมากกว่ายางของรถยนต์นั่งทั่วไปเช่นกัน ยอดขายยางรถยนต์ในปี 2010 อยู่ที่ 111,000 ล้านยูโร (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า ฟื้นตัวจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2008 แต่หลังจากเติบโตต่อเนื่องมา 2 ปี บริษัทยางในยุโรปรายงานว่ายอดขายลดลงถึง 2 หลักในปี 2012 ปัจจุบันประเทศไทยรั้งตำแหน่งแชมป์โลกด้านการผลิตและส่งออกยางพารา   10 อันดับบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งยึดครอง 2 ใน 3 ของตลาดยางทั่วโลก (ข้อมูลปี 2553) ได้แก่   บริษัท                           สำนักงานใหญ่              ยอดขาย (ล้านเหรียญสหรัฐ)   Bridgestone                   Japan                           24,400   Michelin                        France                          22,400   Goodyear                     USA                             17,000   Continental                    Germany                      8,100   Pirelli                            Italy                               6,300   Sumitomo                     Japan                            5,900   Yokohama                    Japan                            4,800   Hankook                       South Korea                 4,500   Cooper                          USA                             3,400   Maxxis /Cheng Shin       Taiwan                        3,400 ---

อ่านเพิ่มเติม >