ฉบับที่ 259 ปัญหาเมื่อมอเตอร์ไซค์ถูกชน

        หลายคนน่าจะใช้รถมอเตอร์ไซค์ในชีวิตประจำวัน บางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุและไม่รู้ว่าจะสามารถเรียกค่าชดเชยหรือค่าเสียหายอะไรจากอุบัติเหตุได้บ้าง มาดูสิว่า หากเกิดอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ถูกชน ขึ้นแล้ว เราเจ้าของรถจะสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง         ช่วงเปิดเทอมคุณนิดหน่อย มีภารกิจหลักคือรับหน้าที่รับส่งลูกชายไป-กลับจากโรงเรียน เช้าวันจันทร์คุณนิดหน่อยขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งลูกชายที่โรงเรียนซึ่งเหตุการณ์เรียบร้อยดี แต่ทว่าขากลับจากโรงเรียนเธอผ่านร้านขนมริมทางที่ลูกชายชอบกินจึงแวะซื้อขนม เพื่อไว้ให้ลูกชายรับประทานในช่วงกลับจากโรงเรียน  คุณนิดหน่อยจอดรถมอเตอร์ไซค์ไว้ข้างทางบริเวณหน้าร้านขนม ขณะที่นั่งรอขนมบนรถมอเตอร์ไซค์นั้นเองมีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งพุ่งมาชนเธอจนหล่นจากมอเตอร์ไซค์ เธอได้รับบาดเจ็บ หัวโนและมีแผลถลอกตามตัว งงๆ อยู่สักพักจากนั้นก็มีทีมกู้ภัยนำเธอส่งโรงพยาบาลเมื่อถึงโรงพยาบาลคุณหมอให้การรักษาเบื้องต้น หลังจากเห็นว่าไม่มีอาการร้ายแรงมาก ได้ให้เธอกลับบ้านก่อน  บอกว่าให้คอยสังเกตอาการว่า มีอาการอาเจียนหรือแน่นหน้าอกหรือไม่ ถ้ามีให้รีบกลับมาโรงพยาบาล คุณนิดหน่อยไม่มีอาการแบบหมอบอก แต่เมื่อถึงบ้านแล้วเธอมีอาการตามซ้ายบวมจนตาปิดจึงกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง พอถึงตรงนี้คุณนิดหน่อยจึงเริ่มคิดได้ว่า เธอสามารถเรียกร้องอะไรจากคู่กรณีได้บ้างนะ จึงปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีรถมอเตอร์ไซค์ชนกัน รถมอเตอร์ไซค์จะมีประกันภาคบังคับอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ โดยจะชดเชยค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน สามารถเบิกจ่ายได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ครอบคลุมทั้งคนขับและคนซ้อน โดยจ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน แต่ถ้าพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก จะชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 80,000 บาท         นอกจากนี้ผู้ร้องยังสามารถเรียกค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ค่าทรัพย์สินที่เสียหายจากการเกิดเหตุรถชน เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือโน้ตบุ๊ค ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ กรณีที่รถที่ถูกชนไม่สามารถที่จะใช้งานได้เนื่องจากเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ ผู้ร้องสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ต่อการใช้รถหรือค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมได้ เช่น ต้องนั่งรถแท๊กซี่ไปทำงานแทนการใช้รถคันที่ถูกชนหรือ ค่าขาดประโยชน์ในการหารายได้ เช่น ทำงานได้วันละ 300 บาท สามารถเรียกได้ 300 บาทตามจริ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาดต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองจริงหรือ

        คนไทยนิยมใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก และสถิติอุบัติเหตุอันดับหนึ่งของไทยก็มาจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บังคับให้รถจักรยานยนต์ทุกคันต้องทำพ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ         พี่ชายของคุณวิเชียร เกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์เสียหลักล้ม ตัวพี่ชายกระแทกแท่งแบริเออร์อย่างแรง อาการหนัก กู้ภัยมาช่วยและดำเนินการส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา โรงพยาบาลแรกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำการรักษา แพทย์ผู้ทำการรักษาตรวจพบว่า อวัยวะภายในเสียหายอย่างมาก ตับแตก ต้องทำการผ่าตัด และทางโรงพยาบาลบอกเขาว่าต้องออกค่ารักษาเอง เป็นค่าผ่าตัด 30,000 บาท เพราะพ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ขาด (หมดอายุ) เขางงว่าในเมื่อพี่ชายของเขามีสิทธิประกันสังคมทำไมใช้สิทธิประกันสังคมรักษาไม่ได้ และสงสัยว่าโรงพยาบาลสามารถเรียกค่ารักษา 30,000 บาท โดยอ้างว่า พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ได้หรือ จึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นผู้รับทำประกัน กรณีมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุล้มเอง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ ถ้ามอเตอร์ไซค์คันที่เกิดเหตุมีประกันภาคบังคับไว้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ อย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังไม่หมดอายุ ผู้ประสบเหตุจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เบิกได้สูงสุดไม่เกินคนละ 30,000 บาท ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ เบิกได้คนละไม่เกิน 35,000 บาท         แต่กรณีของผู้ร้องเสียหลักล้มเอง เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี และพ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ผู้ร้องจึงต้องออกค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 30,000 บาทเอง หรือผู้ร้องสามารถเบิกจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ แต่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะเรียกเงินตามจำนวนที่จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถ (เพราะขาดการต่ออายุ พ.ร.บ.) รวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหายที่เกิดแก่ผู้ประสบภัย         ส่วนเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายเฉพาะ จึงต้องใช้สิทธิในส่วนนี้ก่อน ถ้าการรักษาพยาบาลเกินวงเงิน 30,000 บาทแล้ว ส่วนที่เกินมาจึงจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มอเตอร์ไซค์ขาดต่อ พ.ร.บ. เกิดอุบัติเหตุยังได้สิทธิรักษาหรือไม่

        บ่ายวันหนึ่งคุณพิพัฒน์ออกไปซื้อของที่ตลาดนัดแห่งหนึ่งแถวละแวกบ้าน หลังอาบน้ำแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย ก็เดินมาหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์ที่วางไว้บนโต๊ะทำงาน แต่ปรากฏว่า กุญแจรถที่เคยวางอยู่บนโต๊ะหายไป คุณพิพัฒน์จึงคิดว่าลูกสาวคงยืมรถมอเตอร์ไซค์ไปหาเพื่อน จึงหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์อีกคัน ซึ่งเป็นรถพ่วงข้างของตนเองที่เอาไว้ใช้งานขนของแต่รถคันนี้เป็นคันที่ยังไม่ได้ต่ออายุตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535         เมื่อทำธุระในตลาดเสร็จเรียบร้อย คุณพิพัฒน์ขับขี่รถกลับบ้านอย่างช้าๆ เพราะเป็นรถพ่วงข้าง ซึ่งไม่ค่อยได้นำออกมาใช้งานนัก เมื่อขับขี่มาจนถึงบริเวณด้านหน้าปากซอยขณะที่กำลังจะเลี้ยวเข้าบ้านนั้น คุณพิพัฒน์ได้กะจังหวะการเลี้ยวผิด ทำให้รถพุ่งไปชนกับรั้วบ้านจนได้รับบาดเจ็บแขนหัก ต่อมาเพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ได้นำตัวคุณพิพัฒน์ส่งโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน หลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิแล้วได้แจ้งว่า คุณพิพัฒน์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองทั้งหมด เพราะว่ารถพ่วงข้างที่คุณพิพัฒน์ขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นรถที่ไม่ได้ต่อ พ.ร.บ.         ในกรณีแบบนี้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลกับหน่วยงานใดได้บ้าง และเบิกจ่ายได้แค่ไหน แนวทางแก้ไขปัญหา        ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือที่เราเรียกกันว่า “ประกันภัยภาคบังคับ” หรือ “ พ.ร.บ.รถ”  กฎหมายบังคับให้รถทุกคัน ทุกประเภท ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำไว้ เพื่อให้ความคุ้มครองกับตัวบุคคลที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุ ซึ่งตัวบุคคลที่ว่านั้นหมายถึง ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย โดยจะได้รับเป็นเงินค่าชดเชยความเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน        จากข้อเท็จจริงกรณีนี้พบว่า คุณพิพัฒน์ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ด้วยความประมาทล้มเองไม่มีคู่กรณี และรถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้จัดทำ พ.ร.บ. จึงไม่ได้รับความคุ้มครองใดตามสิทธิใน พ.ร.บ. นี้ แต่จะเข้าในสิทธิประกันสุขภาพที่สังกัด เช่น พ.ร.บ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ซึ่งกรณีอุบัติเหตุหากร้ายแรงอยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงแก่ชีวิตจะเข้าข่ายกรณีฉุกเฉิน เมื่อ รพ.เอกชนได้ดูแลเบื้องต้นจนอาการปลอดภัยแล้ว จะต้องเข้ารักษาต่อที่ รพ.ตามที่มีสิทธิอยู่ต่อไป โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา แต่กรณีอาการไม่ถึงแก่ชีวิตหากเข้ารักษาตัวใน รพ.เอกชน ก็ต้องสำรองเงินตนเองจ่ายไปก่อน        แต่ถ้ารถมอเตอร์ไซค์คุณพิพัฒน์จัดทำ พ.ร.บ. ไว้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในส่วนค่าเสียหายเบื้องต้น คือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท และเงินชดเชย 35,000 ต่อคน กรณีเสียชีวิต        ดังนั้นการต่ออายุ พ.ร.บ. หรือ ประกันภัยภาคบังคับ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถทุกคน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต้องป้องกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 กระแสต่างแดน

เข้มได้อีก        กรุงโซลแบนการใช้ถุงและภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารมาได้สองปีแล้ว และเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี 2563 โซลได้เพิ่มกฎการแยกขยะขวดน้ำพลาสติก(ขวด PET) ด้วย         ครัวเรือนในอพาร์ตเมนท์จะต้องลอกฉลากขวดออก แล้วนำมาทิ้งในที่ๆ ส่วนกลางจัดไว้ ส่วนผู้อยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวต้องไปรับ “ถุงทิ้งขวด PET” จากเทศบาล เมื่อใส่ขวดดังกล่าวจนเต็มแล้วก็นำไปทิ้งในจุดที่กำหนด ในวันพฤหัสเท่านั้น         เดนมาร์กก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้อียูแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งและห้ามร้านค้าแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแล้ว ลูกค้าที่ต้องการใช้ต้องซื้อและจ่ายแพงขึ้นด้วย รายงานบอกว่าถุงหูหิ้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรือพลาสติกชนิดหนากว่า 0.33 มม. จะมีราคาไม่ต่ำกว่า 4 โครน (ประมาณ 5 บาท)        ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางสุขอนามัย เขายังอนุญาตให้ร้านแจกถุงบางๆ สำหรับใส่ผักผลไม้หรือขนมปังได้         ถูกและไว        รถไฟ AVLO หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “รถไฟความเร็วสูงต้นทุนต่ำ” พร้อมจะเปิดให้บริการระหว่างเมืองมาดริดและบาเซโลนา (ระยะทาง 621 กิโลเมตร) ในเดือนเมษายนนี้แล้ว         รถไฟดังกล่าวมีให้บริการวันละ 5 เที่ยวจากแต่ละเมือง ด้วยค่าโดยสารในอัตรา 10 ถึง 60 ยูโร (ประมาณ 345 ถึง 2,000 บาท) ต่อเที่ยว ทั้งนี้ AVLO สามารถให้บริการได้ในราคาที่ถูกกว่า AVE รถไฟความเร็วสูง (310 กม./ชม.) ของสเปนที่ให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้ในราคา 41 ถึง 152 ยูโร (ประมาณ 1,400 ถึง 5,200 บาท) ต่อเที่ยว        AVLO ซึ่งมีพื้นที่ระหว่างที่นั่งเท่ากับ AVE จะไม่มีบริการอาหารและไม่มีไวฟายฟรี         Renfe หรือการรถไฟสเปนระบุว่า แต่ละปีมีผู้คนเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ถึง 10 ล้านคน (4 ล้านคนเดินทางด้วยรถยนต์ 4 ล้านคนใช้บริการ AVE และอีก 2 ล้านคนใช้เครื่องบิน) เขาคาดหวังว่าในสองปีแรกที่เปิดดำเนินการจะมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน โดยเน้นไปที่คนหนุ่มสาวที่เคยเดินทางด้วยรถยนต์        ไม่มีพี่วิน         ผู้คนในเมืองลากอส เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของไนจีเรีย ออกมาแสดงความไม่พอใจกันอย่างกว้างขวางหลังรัฐบาลประกาศให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย         การจราจรในลากอสหนาแน่นไม่แพ้ใครในโลก ด้วยปริมาณรถ 200 คันต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตร บวกกับบริการรถ/เรือโดยสารสาธารณะที่ยังมีไม่เพียงพอ มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดสำหรับคนที่เดินทางไปทำงาน         แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่ามอเตอร์ไซค์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในอันดับต้นๆ สร้างความวุ่นวายไม่เป็นระเบียบบนท้องถนน และมักถูกใช้เป็นพาหนะพาอาชญากรหลบหนีการจับกุม         การแบนครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสตาร์ทอัปที่ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์อย่าง Okada และ ORide ในขณะเดียวกันบริการเรียกรถยนต์อย่าง Uber และ Bolt ที่ผู้คนต้องหันไปพึ่งพาก็มีอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นหลังการประกาศ        เกินควบคุม        ที่อยู่อาศัยในปารีสนั้นขึ้นชื่อว่าหายากและราคาแพงสุดๆ รัฐบาลจึงออกกฎหมายกำหนดเพดานค่าเช่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้เช่าถูกเอาเปรียบ        แต่การสำรวจประกาศโฆษณาบ้านเช่าในปารีส 1,000 ชิ้นโดย CLCV องค์กรผู้บริโภคของฝรั่งเศส พบว่า ร้อยละ 44 ของโฆษณาเหล่านั้นยัง “ผิดกฎหมาย” และชนิดของที่อยู่อาศัยที่มีการละเมิดผู้บริโภคมากที่สุดคืออพาร์ตเมนต์แบบห้องนอนเดียว ตามด้วยอพาร์ตเมนต์แบบ 2-3 ห้องนอน และแบบ 4 ห้องนอน         โดยเฉลี่ยแล้วค่าเช่ารายเดือนที่ระบุในโฆษณา สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างน้อย 120 ยูโร (4,100 บาท) และเขายังพบว่า เจ้าของบ้านที่ติดประกาศเองมีอัตราการเอาเปรียบผู้เช่าสูงกว่าบริษัทนายหน้าด้วยซ้ำ (ร้อยละ 52 และ ร้อยละ 30 ตามลำดับ)         แม้จะเปิดช่องให้มีการร้องเรียน แต่จนถึงธันวาคม 2562 มีผู้ร้องเข้ามาแค่ 21 รายเท่านั้น CLCV บอกว่าผู้บริโภคอาจยังไม่รู้กฎหมาย หรืออาจยอมจ่ายแพงเพราะหาบ้านจนท้อแล้วก็ได้        มีต้นทุน        พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีกำลังผลักดันให้เบอลินออกตั๋วโดยสารรายปีในราคา 365 ยูโร (12,540 บาท) เรื่องนี้ถูกใจคนเดินทางที่ปัจจุบันจ่าย 728 ยูโร (25,000 บาท) แน่นอน         แต่สมาคมการขนส่งและค่าโดยสารแห่งมิวนิคค้านว่า “แผนตั๋วถูก” นี้ต้องใช้เงินสนับสนุนถึงปีละ 160 ล้านยูโร (54,000 ล้านบาท) และตั้งคำถามว่าเงินนี้จะมาจากไหน สมาคมฯ ระบุว่ากรุงเวียนนา ในออสเตรียสามารถทำตั๋ววันละ 1 ยูโรได้ตั้งแต่ 7 ปีก่อน เพราะมีระบบรองรับที่ดีบวกกับมีค่าจอดรถที่แพงจนผู้คนไม่อยากใช้รถ         ก่อนหน้านี้แคว้นบาวาเรียเคยเสนอแผนดังกล่าวแต่ก็พับเก็บไป มีเพียงนักเรียนและผู้ที่อยู่ระหว่างฝึกงานเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ตั๋ว 365 ยูโรได้             ในเบอลิน นักเรียนนักศึกษาได้รับยกเว้นค่าโดยสาร คนว่างงานมีสิทธิซื้อตั๋วเดือนราคาพิเศษ (27.5 ยูโร หรือ 950 บาท) และพนักงานบริษัทที่เซ็นสัญญาร่วมจ่ายกับรัฐในโครงการ Job Ticket สามารถซื้อตั๋วราคาพิเศษได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสในประเทศ

ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2561แนะใช้แอป  EMS 1669 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน         สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชน ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน EMS 1669 ซึ่งประชาชนสามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพียงแค่กดปุ่มสีแดงในแอป เรียกรถพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติม และมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วยปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าปี 2564 ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ประชากรทั้งหมด                ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม ติดสังคม 79.5 % ติดบ้าน 19 % และติดเตียง 1.5 % โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมากถึง 10 % กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้ สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งขับเคลื่อน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2. การทำงานและการสร้างรายได้ 3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ  5. ธนาคารเวลา(สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล  6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่ 7. กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้าน ผู้สูงอายุ 9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ และ 10. พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุงดเหล้าเข้าพรรษา ลดเสี่ยงตับอักเสบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว เพราะระยะแรกมักไม่มีอาการ จนละเลยการรักษา แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมี สารพิษต่างๆ ซึ่งเเอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง ทั้งนี้ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนอาจได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานาน อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แซงหน้าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตและหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งประมาณ 77,566 คน เป็นเพศชาย 44,490 คน เป็นเพศหญิง 33,076 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งของคนไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมโฆษณาว่า ไขมันทรานส์ 0 % ระวังเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงน.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ความจริงไขมันทรานส์ ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนก ยืนยันว่าน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ "ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท" น.ส.สุภัทรา กล่าวผู้บริโภคยังร้องเรียน วินมอเตอร์ไซค์ขับขี่หวาดเสียว – เก็บค่าโดยสารเกินราคามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นปี 60 - ก.ค.61 พบผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 729 ราย โดยพบตั้งแต่ ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา หรือแพงเกินกว่าที่ระบุบนป้ายแสดงค่าบริการ, ขับขี่เร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ และใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร โดยพบปัญหาการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิตนเองโดยจากการประสานงานไปยังสำนักงานเขต และกรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยังพบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้จดจำเลขทะเบียน หรือเบอร์เสื้อวินรับจ้าง ทำให้ปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นหากผู้บริโภคพบวินรับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้จดจำวัน-เวลา และสถานที่เกิดเหตุ, ชื่อ-สกุล หรือเลขเสื้อวิน, เลขทะเบียน และร้องเรียนไปยัง กรมการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วน 1584 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 สิทธิผู้รับบริการ กรณีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

17 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสองข่าวใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อในสื่อออนไลน์ ข่าวแรก คือ วินจักรยานยนต์รับจ้างบุกประท้วงบริษัทแกร็บไบท์ และข่าวที่สอง วินจักรยานยนต์เตะหน้านักท่องเที่ยวกลางเมืองพัทยา  โดยทั้งสองข่าวเป็นเรื่องของจักรยานยนต์รับจ้าง ถึงตรงนี้สองข่าวจะเกี่ยวกันยังไงตามมาดูกันครับข่าวแรก กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพมหานคร รวมตัวประท้วงเผาเสื้อวินเป็นสัญลักษณ์ ที่หน้าอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัท แกร็บ ประเทศไทย เรียกร้องให้ หยุดนำรถจักรยานยนต์ป้ายขาวมารับส่งผู้โดยสาร หลังจากมีเหตุปะทะรุนแรงเพื่อแย่งผู้โดยสารกันมาโดยตลอด การรวมตัวประท้วงใหญ่ครั้งนี้  ถือเป็นการส่งสัญญาณจากกลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างที่เป็นผู้ให้บริการตามกฎหมาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมุ่งแต่จะจัดระเบียบและเข้มงวดกับกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่กลับละเลยต่อการควบคุมจัดการกับกลุ่มรถรับจ้างที่เจตนาทำผิดกฎหมาย แน่นอนว่าการเข้ามาตีตลาดกินส่วนแบ่งของธุรกิจรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชัน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเดิมอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะฐานลูกค้าเดิมหายไป มีผลทำให้มีรายได้ลดลง และผู้ให้บริการรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ แทบไม่ต้องทำตามกฎหมายเพื่อให้เป็นรถรับจ้างเลย เช่น  1. นำรถส่วนบุคคลมาวิ่งได้ ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะ  2.  ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะก็วิ่งรับส่งคนโดยสารได้  3. ไม่ต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุม และ  4. ไม่ต้องมีเสื้อวิน ไม่ต้องมีสถานที่ตั้ง (วิน) ก็วิ่งได้ เป็นต้น  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการรายเดิมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่รัฐกำหนดไว้ให้ทุกอย่าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่มีกติกาของรัฐควบคุมเลยทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นที่นิยมต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากอีกด้วย ข่าวที่สอง จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิป ชายขับวินจักรยานยนต์รับจ้าง เตะเข้าที่ใบหน้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เมืองพัทยา ภายหลังถูกตำรวจตามรวบตัวได้ อ้างถูกด่าก่อนจึงเกิดบันดาล สุดท้ายโดนดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในข้อหาทำร้ายร่างกาย ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่สอบหนักขึ้นจึงพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และฝ่าฝืนใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างให้บริการ  ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท  และขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบไปถึงคนขับรถในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผู้ต้องหารายนี้ขับรถอยู่ด้วย โดยมีคำสั่งให้ระงับการขอเพิ่มรถจักรยานยนต์ในวินเป็นเวลา 6 เดือน และเรียกสมาชิกทุกคนในวินเข้ามารายงานตัว พร้อมกำชับตักเตือนคาดโทษหนักสุด หากพบมีความผิดซ้ำมีโทษถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนได้ทันทีเห็นหรือยังครับว่าสองข่าวนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร  ประเด็นคือ ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิและข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อไม่ให้มีธุรกิจแบบแกร็บไบท์เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด โดยอ้างสภาพเศรษฐกิจ สังคม จนถึงการทำลายระบบขนส่งของประเทศชาติ แต่ความเสี่ยงของผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยที่ยังพบเห็นได้ทั่วไปในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างบางแห่งที่มีรถส่วนบุคคลป้ายขาวร่วมวิ่งให้บริการรับส่งคนโดยสารอยู่เหมือนเป็นปกติ หรือคิดราคาเอาเปรียบผู้บริโภค ยังไม่รวมถึงปัญหาด้านความปลอดภัย อาทิ ขับรถเร็ว วิ่งย้อนศรสวนเลน การฝ่าฝืนกฎจราจร และอีกมากมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตราบใดที่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกจัดการแก้ไข เมื่อผู้ให้บริการเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคย่อมต้องมีสิทธิที่จะหาทางเลือกใหม่ที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า  ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  คือ สิทธิที่มีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ดีแม้ในทางปฏิบัติจะเชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนมากยังนิยมการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิมอยู่ เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย ใช้ประจำในระยะทางสั้นๆ แต่หากยังปรากฎพบเห็นพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้างตามสื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ย่อมมีส่วนทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเสี่ยงกับการใช้รถรับจ้างทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์การเดินทาง ทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมายก็ตาม นั่นก็เพราะผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกแล้วนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 แจ้งจับคนขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า

แม้ทางเท้าหรือฟุตบาทจะเป็นทางเดินสัญจรสาธารณะ แต่ที่ผ่านมาฟุตบาทได้กลายเป็นทั้งที่ขายของ ทางวิ่งรถมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่ที่จอดรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้สัญจรไปมาอย่างมาก โดยเฉพาะการขับรถมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ทำให้ภาครัฐออกมาตรการ “ชวนประชาชนแจ้งจับผู้ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ทางเท้า และได้รางวัลครึ่งหนึ่งของค่าปรับ” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวจะใช้ได้ผลจริงหรือไม่ เราลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมจิตรพบเห็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์หลายคันจอดอยู่บนทางเท้า และเห็นหลายคนขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นประจำ ส่งผลให้เขาและผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ ต้องเดินหลบกลัวว่าจะถูกรถชน คุณสมจิตรจึงถ่ายรูปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้และส่งเรื่องแจ้งไปยังอีเมล citylaw_bma@hotmail.com ตามวิธีการแจ้งเบาะแสของภาครัฐ อย่างไรก็ตามหลังส่งเรื่องไปแล้วหลายอาทิตย์ เขากลับไม่พบการแก้ปัญหาหรือการติดต่อกลับเพื่อให้ไปรับรางวัลนำจับแต่อย่างใด จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการแถลงข่าวโดยรองโฆษกกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เกี่ยวประเด็นเรื่องการให้รางวัลนำจับ กรณีพบเห็นผู้ขับขี่บนทางเท้าว่า กทม. ต้องการให้โครงการนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามามีส่วนร่วม ซึ่งหากพบเห็นผู้ที่จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์และรถยนต์บนทางเท้า สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที เพราะถือว่าทำผิดตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในมาตรา 17 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจอด หรือ ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคาร หรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทสำหรับช่องทางการแจ้งเบาะแส สามารถทำได้ 6 ช่องทาง ดังนี้ 1.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กทม.1555 2.สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644 3. ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 4. อีเมล์ citylaw_bma@hotmail.com 5. ทางเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร และ 6. สำนักงานเขตในพื้นที่พบเห็นทั้ง 50 เขต ทั้งนี้สำหรับหลักฐานในการเอาผิดต้องให้เห็นชัดเจนคือ มีเลขทะเบียนรถผู้กระทำผิด ซึ่งหากเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยสารสาธารณะ ต้องให้เห็นหมายเลขเสื้อและวินที่สังกัดด้วย พร้อมระบุวัน เวลา สถานที่กระทำผิด โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งไว้เป็นความลับอย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์รางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับแล้ว และสำนักงานเขตจะทำหนังสือไปยังผู้ที่แจ้งข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้เข้ามาเพื่อรับค่านำจับ ซึ่งจะได้รับภายใน 60 วันนับแต่วันที่เขตได้รับแจ้ง หรือหากผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับในวันเดียวกัน ผู้แจ้งก็จะได้รับรางวัลค่าปรับในนั้นทันที ในขณะเดียวกันส่วนของค่าปรับนั้นต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่จับครั้งแรกแล้วปรับ 5,000 บาททันที แต่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เทศกิจด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการบันทึกประวัติผู้กระทำผิดไว้ หากทำผิดครั้งแรกอาจจะปรับ 1,000 บาท และครั้งต่อไปถึงค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ช่วยติดตามข้อมูลของผู้ร้อง โดยโทรศัพท์ไปสอบถามยังสำนักงานเขตที่ได้แจ้งไป ซึ่งตอบกลับมาว่าได้รับหลักฐานการแจ้งเบาะแสแล้วเรียบร้อย แต่อยู่ในขั้นตอนรอผู้กระทำความผิดมาชำระค่าปรับ และหากมีการชำระแล้ว จะดำเนินการแจ้งผู้ร้องให้เข้ามารับส่วนแบ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >