ฉบับที่ 123 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2554 1 เมษายน 2554“สปาปลา” อาจพาให้เป็นโรคผิวหนัง เตือนผู้นิยมใช้สปาปลา ต้องสำรวจตัวเองให้ดีว่ามีอาการป่วยเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออยู่หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเอง ร่วมทั้งป้องกันไม่ให้ตัวเองกลายเป็นพาหะแพร่โรคไปสู่ผู้อื่นที่มาใช้บริการสปาร่วมกัน  สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่ามีโรคติดต่อที่อาจเกิดจากน้ำและปลาเป็นสาเหตุซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เช่น โรครูขุมขนอักเสบโดยมีอาการคัน คล้ายเม็ดสิว มีแผลผุพอง มีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นหนอง หรืออาจเกิดอาการโรคไฟลามทุ่ง ที่มีอาการผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง และอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ  สำหรับกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สปาปลาคือ 1.ผู้ที่มีแผลตามผิวหนัง 2.ผู้ที่ใช้ยาลดภูมิ กลุ่มสเตียรอยด์ เพราะส่งผลให้มีภูมิต้านทานที่ต่ำติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย เช่น ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และ 3.กลุ่มที่ป่วยเป็นเบาหวานและมีแผล ไม่ควรแช่เท้าเป็นเวลานาน เพราะเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าปกติ    18 เมษายน 2554“ฟองน้ำล้างจาน” แหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค!!! ถ้วย ชาม จาน ช้อน ที่เคยมั่นใจว่าล้างทำความสะอาดอย่างดี อาจกลายเป็นพาหะนำโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคอุจจาระร่วง หลังจากมีการเปิดเผยงานวิจัยที่น่าสนใจโดยทีมนักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่า “ฟองน้ำ” และ “แผ่นใยขัดล้างจาน” ที่ใช้กันอยู่แทบทุกบ้านคือแหล่งสะสมและขยายพันธุ์อย่างดีของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย “ซัลโมเนลล่า” ที่มากับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ยิ่งเจอเข้ากับสภาพอากาศของบ้านเราที่เอื้ออย่างมากต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย โดยในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษมากกว่า 1 แสนรายต่อปี  สำหรับวิธีการลดหรือทำลายเชื้อแบคทีเรียในแผ่นใยขัดล้างจานหรือฟองน้ำ ทำได้ง่ายๆ โดยการนำแผ่นใยขัดหรือฟองน้ำที่ผ่านการล้างภาชนะในแต่ละวัน ล้างน้ำเปล่าให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดจัดทิ้งไว้อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง หรือใช้น้ำส้มสายชูผสมกับน้ำเปล่า แล้วนำแผ่นใยขัดหรือฟองน้ำที่ผ่านการล้างภาชนะในแต่ละวันมาแช่ทิ้งไว้ค้างคืน แต่ต้องเปลี่ยนน้ำส้มสายชูใหม่ทุกวัน ภาวะที่มีความเป็นกรดสูงนั้นจะช่วยให้สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ได้ ที่สำคัญที่สุดคือต้องหมั่นดูแลรักษาห้องครัวให้สะอาดถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ     19 เมษายน 2554ระวังโรคภูมิแพ้เพราะครีมทาผิว คนที่อยากผิวสวยอาจต้องเสี่ยงกับการเป็นภูมิแพ้ เมื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ได้นำข้อมูลจากการประชุมเรื่องโรคภูมิแพ้ที่จัดขึ้นที่รัฐซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเด็นที่แพทย์รักษาโรคภูมิแพ้ให้ความสนใจและห่วงใยเป็นพิเศษ คือ อันตรายจากการใช้ครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์ หรือสารให้ความชุ่มชื้นต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้มีการเติมสารปรุงแต่งต่างๆ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ และไม่มีความจำเป็น แถมยังอาจก่อให้เกิดโทษกับผู้ใช้ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง  คนที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือผู้ที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย ควรหาซื้อโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นโดยไม่มีส่วนผสมใดๆ อยู่ และควรอ่านอ่านส่วนประกอบของโลชั่นก่อนการใช้งานเสมอ และไม่ควรให้ส่วนผสมในโลชั่น มีน้ำหอม มีสี หรือสารกันเสียที่ที่ชื่อ พาราเบน ไม่ควรมีสิ่งปรุงแต่งเกินความจำเป็น ถึงแม้ว่าสารนั้นจะเป็นสารที่สกัดจากธรรมชาติก็ตาม     อย่ามองข้ามความปลอดภัย เด็กไทยเสี่ยงตายเพราะรถยนต์สูงขึ้น เด็กไทยยังต้องเสี่ยงตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นเพราะอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่ติดตั้งมากับรถยนต์ไม่มีคุณภาพและไม่เหมาะกับเด็ก ทั้งเข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัย ทางแก้ไขพ่อ-แม่ ผู้ปกครองควรใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งมีความเหมาะสมกับเด็กเล็ก ในต่างประเทศมีกฎหมายชัดเจนในการบังคับให้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อยึดเหนี่ยวเด็กไม่ให้เด็กบาดเจ็บ เมื่อเกิดรถชน รถเบรกรุนแรง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมในส่วนนี้ มีเพียง พ.ร.บ.จราจรที่กำหนดให้ที่นั่งข้างคนขับต้องมีเข็มขัดนิรภัย ซึ่งในความเป็นจริงเข็มขัดนิรภัยไม่เหมาะสมกับเด็ก และไม่สามารถใช้ป้องกันอันตรายต่อตัวเด็กได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบ หรือสูงไม่เกิน 140 ซม.แถมอาจให้ผลในทางตรงกันข้ามคือกลายเป็นเพิ่มอันตรายกับเด็ก เนื่องจากหากจะให้ปลอดภัยเข็มขัดนิรภัยจะต้องยึดเหนี่ยว 3 จุดสำคัญ คือ หัวไหล่ หน้าตัก และบริเวณเชิงกราน แต่หากเด็กขาดเข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถเข็มขัดจะรัดที่บริเวณท้องน้อยและลำคอแทน หากรถเบรก หรือชน เข็มขัดจะรัดช่องท้องทำให้ตับ ม้ามแตก รัดลำคอและกระดูกสันหลังกระเทือน อาจเป็นอัมพาตได้  ส่วนถุงลมนิรภัยก็ไม่เหมาะสมกับเด็กเช่นกัน เนื่องจาก การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจะปลอดภัยเมื่อนั่งห่างจากถุงลมอย่างน้อย 25 ซม.แต่เด็กที่นั่งตักแม่จึงอยู่ห่างจากระยะระเบิดของถุงลมน้อยเกินไป ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี เสียชีวิตจากถุงลมในอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงกว่า 200 ราย เกิดจากการบาดเจ็บของสมองเป็นหลัก ดังนั้น เด็กจึงควรมีการเสริมที่นั่งนิรภัยเป็นการเฉพาะ โดยทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับทารก จัดวางที่เบาะหลังและหันหน้าไปทางด้านหลังรถเพื่อลดโอกาสความเสี่ยงต่อการ เกิดกระดูกต้นคอหักจากการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดการชนหรือเบรกรุนแรง เด็กอายุ 1-3 ปี ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็ก หันหน้าไปทางด้านหน้ารถตามปกติ และใช้ที่เบาะหลังเท่านั้น เด็กอายุ 4-7 ปี ใช้ที่นั่งเสริม ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในตัว ใช้เข็มขัดนิรภัยรถยนต์เป็นอุปกรณ์ยึดเหนี่ยว และอยู่บริเวณเบาะหลังเท่านั้น เด็กอายุ 8-12 ปี ควรใช้ที่นั่งเสริมจนกว่าจะสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี     ถึงเวลาผู้ประกันตนแสดงพลัง ทวงสิทธิรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียวรวมพลังผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมร่วมกันทำจดหมายถึงสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอเงินคืน แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อรับสิทธิในการรักษาพยาบาล ขณะที่ผู้ใช้บัตรทองหรือสิทธิข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงินสบทบ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในฐานะกรรมการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ให้ข้อมูลว่า การจ่ายเงินสมทบเพื่อสุขภาพในระบบประกันสังคมนั้นขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา  30 , 51 และ 80 (2) และกฎหมายหลักประกันสุขภาพเนื่องจากสิทธิสุขภาพเป็นสิทธิที่รับรองตามรัฐธรรมนูญและปัจจุบันกำหนดให้ใช้บริการโดยไม่ต้องร่วมจ่าย ดังนั้นผู้ประกันตนต้องได้รับบริการตามสิทธิเช่นเดียวกัน  นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวเชิญชวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกคน แสดงพลังทวงคืนสิทธิ์ ด้วยการให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทำจดหมายทวงเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายทุกเดือนโดยหักประมาณร้อยละ 5 ของเงินเดือน ซึ่งผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายขณะที่กลุ่มอาชีพอื่นๆรัฐบาลเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล โดยส่งจดหมายไปถึงสำนักงานประกันสังคมในแต่ละพื้นที่เพื่อทวงเงินที่ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการที่ให้ทวงเงินตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เพราะเป็นวันที่รัฐบาลประกาศยกเลิกไม่ต้องจ่าย 30 บาทสำหรับบัตรทองในการรักษาโรค โดยชมรม ฯ ได้จัดทำจดหมายสำเร็จรูปให้สมาชิกชมรมและผู้ประกันตน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดจาก Facebook ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน หรือ www.consumerthai.org  

อ่านเพิ่มเติม >