ฉบับที่ 251 ซื้อบ้านในโครงการ และอยากรื้อรั้วของโครงการเพื่อขยายที่ดินทำได้ไหม

        หลายคนคงเคยเจอปัญหาจากการซื้อบ้านจัดสรร ทั้งปัญหาข้อพิพาทเรื่องการใช้สิทธิในถนน และที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคของโครงการอยู่ เช่นเมื่อที่ดินมีราคาสูงขึ้น เจ้าของโครงการบางแห่งกลับนำส่วนที่เป็นถนนหรือสาธารณูปโภคไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทำให้เกิดข้อพิพาทตามมาในเรื่องของกรรมสิทธิ์หรือการใช้สิทธิที่ดินดังกล่าว หรือบางกรณีมีปัญหาการใช้สิทธิในถนนของโครงการ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันจนคดีถึงศาลฎีกา         มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของเจ้าของบ้านหลังหนึ่งซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับรั้วหมู่บ้าน เเล้วจะขอรื้อรั้วหมู่บ้านเพื่อล้อมใหม่ เเต่ผู้จัดสรรไม่ยอม เจ้าของบ้านจึงฟ้องผู้จัดสรรที่ดิน ซึ่งต่อมาเรื่องก็ไปจบที่ศาลฏีกา โดยศาลได้ตัดสินว่าเจ้าของบ้าน รื้อรั้วของหมู่บ้านจัดสรรมิได้  คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552         หมู่บ้านจัดสรรของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย แสดงว่ามีการจัดทำแผนผังโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินหรือประโยชน์เกี่ยวกับสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม การจราจร ความปลอดภัย การสาธารณูปโภค และการผังเมือง มีหลักเกณฑ์และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว สิ่งก่อสร้าง ถนน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินดังกล่าวนี้ ย่อมถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน บุคคลใดจะทำให้เสื่อมค่าทำให้ขาดประโยชน์ หรือผิดแผกไปจากที่ได้รับอนุญาตแล้วมิได้ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจัดสรรโฉนดเลขที่ 6516 พร้อมบ้านจากโครงการของจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 911 จากผู้มีชื่อ อันเป็นที่ดินนอกโครงการจัดสรรและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่มีอาณาเขตด้านหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 6516 โจทก์ประสงค์จะรื้อรั้วด้านที่ติดกันออก แล้วกั้นรั้วใหม่ให้เป็นผืนเดียวกันและถมที่ดินให้มีระดับเสมอกัน แต่จำเลยห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองรื้อรั้วและใช้ทางเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 911 เห็นว่า รั้วและทางเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ผู้ใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือก่อให้เพิ่มภาระผูกพันโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิรื้อรั้วและใช้ถนนหมู่บ้านเพื่อประโยชน์ของที่ดินโจทก์ทั้งสองที่อยู่นอกหมู่บ้านจัดสรรได้         จากคำพิพากษาของศาลฏีกา จะเห็นได้ว่า “รั้วและทาง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และนิยามคำว่า “สาธารณูปโภค” ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หมายถึง“สิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสัญญาหรือตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต” เมื่อกฎหมายต้องการให้รั้วและทางเป็นของใช้ร่วมกัน ดังนั้น แม้การรื้อรั้วอย่างกรณีตามคดีนี้จะไม่กระทบใคร แต่เมื่อรั้วและทางถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภค แม้เป็นผู้ซื้อบ้านในโครงการก็ไม่สามารถที่จะนำสาธารณูปโภคใดๆ ก็ตามมาเป็นของส่วนตัวได้ เพราะเป็นของใช้ส่วนรวมของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 อันตรายจากการปรับปรุงพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

ห้างสรรพสินค้า แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบัน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องระวังมาก นอกจากจะระวังการซื้อสินค้าแล้ว การใช้บริการอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ลิฟต์  บันไดเลื่อน หรือแม้แต่ทางเดินปกติ ก็อาจเกิดอันตรายได้ เพราะห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการจัดแสดงหรือจัดงานต่างๆ  เพื่อดึงดูดลูกค้า อาจต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ ซึ่งทำให้แม้จะเดินในเส้นทางที่ใช้ตามปกติ ก็ยังอาจเกิดอันตรายและบาดเจ็บได้อย่างคาดไม่ถึงคุณดวงพรและครอบครัว ได้ไปใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางแค  ปรากฏว่าระหว่างที่เดินหาร้านเพื่อรับประทานอาหาร คุณดวงพรพลาดเดินไปสะดุดกับรางรถทามิย่า ที่ห้างสรรพสินค้าได้ให้ร้านค้าเช่าพื้นที่เข้ามาจัดทำเป็นสนามแข่งรถทามิย่า โดยที่ห้างสรรพสินค้าเองไม่ได้กั้นเขต หรือปิดป้ายประกาศเตือนไว้แต่อย่างใด เป็นเหตุให้คุณดวงพร ซึ่งมีอายุมากแล้วและสายตาไม่ดี พลาดไปเดินสะดุดกับรางรถทามิย่านี้เข้า ในขณะที่กำลังมองหาสามี ซึ่งเดินตามมาทีหลังเพราะไปหาที่จอดรถอยู่ การสะดุดล้มครั้งนี้ เป็นเหตุให้กระดูกแขนร้าว 1 ข้าง  หัก 1 ข้าง  ขนาดต้องผ่าตัดใส่โลหะด้ามกระดูก และมีรอยแผลบวมช้ำที่เบ้าตาขวา หลังจากไปรับการรักษาพยาบาลแล้ว คุณดวงพรจึงมาทราบภายหลังว่า ทางห้างฯ จึงค่อยมีการจัดหาที่กั้น มากันพื้นที่ในบริเวณที่จัดวางรางรถทามิย่า แนวทางแก้ไข คุณดวงพรได้มาคุยกับทีมศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา โดยก่อนหน้านั้น ทางคุณดวงพร ได้มีเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางห้างฯ แล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นความผิดของห้างฯ โดยบ่ายเบี่ยงว่า คุณดวงพรตั้งใจเดินข้ามเข้าไปเอง แล้วสะดุดรางล้มเอง ซึ่งกล้องวงจรปิดไม่สามารถจับภาพเอาไว้ได้ แต่ห้างฯ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ขณะที่คุณดวงพรต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปแล้วถึง  169,792 บาท และหลังออกจากโรงพยาบาลก็ยังต้องมีการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องด้วย ทางคุณดวงพรต้องการให้ห้างฯ และผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่การจัดวางรางรถทามิย่า ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวน 100,000 บาท และได้ยื่นข้อเสนอนี้เมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แต่ทางห้างฯ ยังคงยืนกราน ไม่ยินยอมช่วยเหลือในเงินจำนวนดังกล่าวเช่นเดิม  เมื่อทางห้างฯ ไม่ยินดีช่วยเหลือตามข้อเสนอ จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า อาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป เหตุเกิดในห้างสรรพสินค้าคราวนี้ อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ผู้ร้องทุกข์รายหนึ่ง ซึ่งเดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน สุดท้ายจึงจบลงที่การฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคในครั้งนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้ และศาลพิพากษาให้ห้างฯ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่โจทก์ร้องขอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ห้างถูกไฟไหม้หมด...สัญญาเช่าพื้นที่จบด้วยหรือไม่

ในความเดือดร้อนหลากหลายของผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าที่ถูกวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลาย มีเรื่องหนึ่งที่ขอหยิบยกมาเป็นความรู้ คือเรื่องภาระค่าเช่าพื้นที่ขายของที่ถูกไฟเผาวอดไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ค้ารายย่อยยังจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรต่อไปหรือไม่การเช่าพื้นที่ขายของในห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งการจะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญากันได้ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้เช่า หรือผู้ให้เช่า แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้แต่แรกก็อาจทำเป็นหลักฐานการเช่าในรูปของจดหมายที่ผู้ให้เช่าเขียนถึงกันในภายหลังเพื่อตกลงราคาค่าเช่า หรือ จะเป็นลักษณะของใบเสร็จรับเงินค่าเช่าก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่า ข้อความในหนังสือนั้นได้แสดงให้เห็นว่าได้มีสัญญาเช่ากันขึ้นระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า ถ้าไม่มีหลักฐานที่เป็นหนังสือเหล่านี้จะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าไม่ได้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถจะระงับสิ้นสุดกันได้หลายสาเหตุ เช่น มีการบอกเลิกสัญญากันเนื่องจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า สัญญาเช่าหมดอายุ หรือสัญญาเช่าระงับลงเมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย และในกรณีที่ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ให้เช่าถูกไฟเผาไหม้หมด ก็ทำให้สัญญาเช่าต้องระงับลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีทรัพย์สินให้เช่ากันแล้วก็ไม่มีอะไรจะเช่ากัน ส่วนการสูญหายของทรัพย์สินที่ให้เช่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของฝ่ายใดก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เช่น ในกรณีไฟไหม้ สัญญาเช่าต้องเลิกกันไป โดยสิ้นสุดนับแต่วันที่เกิดไฟไหม้นั้น แป๊ะเจี๊ยะที่เคยจ่ายไปล่วงหน้าก็สามารถเรียกคืนกันตามส่วน เงินมัดจำที่เคยจ่ายไปแล้วก็สามารถเรียกคืนได้ตามส่วนเช่นกัน หรือในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วนไม่ได้สูญหายทั้งหมด และไม่ได้เป็นความผิดของผู้เช่า ผู้เช่าสามารถเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายได้ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าทั้งหมดในราคาเต็ม ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทน หากผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าโดยที่ไม่ใช่ความผิดของตนสัญญาเช่าก็ต้องระงับกันไป หากผู้ค้ารายย่อยรายใดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ด้วยเหตุเพลิงไหม้ก็สามารถใช้สิทธิระงับสัญญาการเช่าพื้นที่ค้าขายได้ทันทีนับแต่วันที่เกิดเหตุ  โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าต่อไป เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้วสามารถเรียกคืนได้ หรือในระหว่างที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เช่านั้นอันเนื่องจากห้างต้องปิดเพราะมีการชุมนุมหรือเนื่องจากทางห้างต้องปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าอีกเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 กระแสต่างแดน

  โนซอง ... โนเซอร์วิสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลใหญ่ๆ 5 แห่ง ในเวียดนามออกประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ “รับซอง” จากคนไข้ เพราะการกระทำดังกล่าวชักจะกลายเป็นเรื่องปกติขึ้นทุกวัน หน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสุขภาพเวียดนาม ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้ เขาบอกว่า ภายใน 1 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐ จะกลายเป็นโรค “ติดซอง” เรื่องนี้พูดไปก็เหมือนปัญหาไก่กับไข่ไม่รู้อะไรมันเริ่มก่อนกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าคนไข้ต้องหยุด “เสนอซอง” ให้พวกตนได้แล้ว ส่วนคนไข้ก็แย้งว่าถ้าไม่เตรียมซองมาให้เจ้าหน้าที่ ก็มีหวังได้รับบริการแบบแย่ๆ แน่นอน รองผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเค ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 โรงพยาบาลที่ว่า บอกว่าคนเวียดนามมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือต้องการจะเป็นคนแรกเสมอ เวลามาโรงพยาบาลก็อยากจะได้รับการตรวจก่อนใคร และนั่นเป็นที่มาของวัฒนธรรมให้ซอง ในขณะที่หน่วยงานเจ้าภาพการสำรวจครั้งนี้บอกว่า ปัญหามันอยู่ที่ “3 ไม่” ของบริการสาธารณสุขในเวียดนาม อันได้แก่ ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และไม่มีประสิทธิภาพ (นี่ยังไม่ได้นับว่าเงินเดือนสำหรับหมอและพยาบาล ไม่ค่อยจะพอยังชีพอีกด้วย) จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มีต่อบริการสาธารณสุข เขาพบว่า ร้อยละ 45 ของผู้มารับบริการ รู้สึกไม่พอใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ และหงุดหงิดกับขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่พวกเขาต้องเจอในโรงพยาบาลของรัฐ ว่าแล้วก็เสนอทางออกว่าเวียดนามควรจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแยกระบบสาธารณสุขออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่รับผิดชอบโดยรัฐบาล ทำหน้าที่หลักคือป้องกันโรค ส่วนที่รับผิดชอบโดยเอกชนซึ่งมีหน้าที่ในการรักษา และมูลนิธิที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส สำนักข่าวเวียดนามเน็ทก็เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความกลัวของคนไปโรงพยาบาล” เช่นกัน เขาพบว่าสิ่งที่คนเวียดนามกลัวเป็นอันดับแรก คือการถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดุว่า ตามด้วยความกังวลว่าจะไม่ได้รับความเอาใจใส่จากแพทย์ อันดับต่อมาคือกลัวต้องรอนาน และท้ายสุดคือกลัวจะไป “ทำเปิ่น” ที่โรงพยาบาล ป่วยได้ แต่ไม่อยากเปิ่นน่ะ เข้าใจมั้ย   จอดได้อีกเนื่องจากเวียดนามกำลังมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ทุกวันนี้มีรถราออกมาวิ่งกันมากขึ้น แต่พื้นที่จอดรถมันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรตามมา ปัจจุบันฮานอยมีรถยนต์ 372,000 คัน มอเตอร์ไซค์อีก 3,800 ล้านคัน ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้จอดรถผิดกฎหมายกว่า 4,000 ราย โดนยึดรถไป 200 ราย ที่เหลืออีก 3,800 รายโดนยึดใบขับขี่ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์รถติดมโหฬารอย่างน้อย 25 ครั้ง ซึ่งสาเหตุล้วนมาจากการจอดรถผิดที่ผิดทางทั้งสิ้น ในแต่ละปี จำนวน “รถส่วนตัว” ในเวียดนามเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 – 15 ในขณะที่ข้อหาจอดรถผิดกฎหมาย (ที่มีค่าปรับครั้งละประมาณ 1,000 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 70 ของรถที่ทำผิดกฎจราจร คือรถที่จอดบนทางเท้านั่นเอง กรมการขนส่งของเวียดนามบอกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา บรรดาสำนักงานเขตต่างๆ ในฮานอยต้องบริหารจัดการเพิ่มที่จอดรถ ด้วยการอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ทางเท้าในการจอดรถได้ แต่ทำไปทำมาตอนนี้ “พื้นที่จอดรถ” มันเพิ่มมากขึ้นจนเป็นปัญหากับคนเดินเท้าเสียแล้ว ต่อไปนี้เขตจะไม่ออกใบอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ทางเท้าเป็นที่จอดรถอีกต่อไป แต่ที่เคยได้ใบอนุญาต ไปแล้ว เขาก็บังคับให้เหลือเนื้อที่อย่างน้อย 1.5 เมตร เอาไว้ให้คนเดินด้วย ที่เวียดนามเขารู้กันหรือยัง ว่าถ้าหมดที่จอดบนถนนก็ขึ้นไปจอดบนสะพาน บนทางด่วนกันบ้างก็ได้   ขาดทุนแต่ได้ใจนอกจากจะมีโอกาสซื้อรถยนต์ และคอมพิวเตอร์มือถือที่ราคาถูกที่สุดในโลกแล้ว ผู้บริโภคชาวอินเดียยังจะได้ซื้อรองเท้าผ้าใบรีบอคในราคาที่ถูกที่สุดในโลกอีกด้วย บริษัทอาดิดาส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของรีบอค ประกาศว่าจะทำร้องเท้าผ้าใบยี่ห้อดังกล่าวออกมาขายในราคาคู่ละ 1 เหรียญ (ประมาณ 30 บาท) เท่านั้น จากที่ขายกันอยู่ประมาณคู่ละ 1,500 – 3,000 บาท เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไป 3 ปีก่อน เมื่อศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งของบังคลาเทศได้เสนอแนวคิดรองเท้าเอื้ออาทรนี้กับซีอีโอของอาดิดาส ว่าน่าจะลองทำรองเท้าราคาถูกออกมาให้คนบังคลาเทศได้สวมใส่กันบ้าง ถามว่าทำอย่างไรให้ถูก ก็ตอบว่าทำได้ด้วยการผลิตเป็นจำนวนมากๆ โดยใช้วัสดุและแรงงานในท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือต้องทำใจ เปลี่ยนเป้าหมายจากการทำธุรกิจเพื่อผลกำไร มาเป็นการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม พูดง่ายๆ คืออาจจะต้องยอมขาดทุนกันบ้าง อย่างที่บังคลาเทศเขาก็ต้องยอมขายขาดทุนกันไปคู่ละประมาณ 150 บาท (ต้นทุน 195 บาท ขาย 45 บาท) แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้คนมีงานทำ มีรายได้ และมีคนอีก 5,000 คน ที่ไม่ต้องเดินเท้าเปล่าอีกต่อไป (ข่าวเขาบอกว่า ทำยอดได้ 5,000 คู่) แต่ผู้บริหารรีบอคมั่นใจว่าปัจจัยการผลิตที่อินเดียน่าจะทำให้รองเท้าดังกล่าวมีราคาถูกลงได้อีก บริษัทบอกว่าสิ่งที่ได้กลับมาจากการขายถูกคือการที่แบรนด์ของตนเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นมากขึ้น เพราะดูเหมือนวิธีนี้จะเป็นการตลาดที่ได้ผลที่สุดแล้วสำหรับลูกค้ากลุ่มที่ไม่แคร์แม้แต่จะใส่รองเท้าแตะ คุณผู้อ่านคงจะสงสัยว่าจะไปหาซื้อแถวไหน ก็ต้องบอกว่าเขาทำขายเฉพาะในชนบทของอินเดีย และเขาจะส่งขายผ่านเครือข่ายชุมชนเท่านั้น ไม่มีในห้างร้านทั่วไปนะจ๊ะ ... อินิ เสียใจด้วย นะจ๊ะนายจ๋า   ซื้อขายแบบไร้กระดาษเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคที่ดีอย่างเราจะต้องเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เสมอ และเชื่อมั่นในโชคชะตาที่ชอบเล่นตลกกับเราเช่นกัน ที่ทำให้เราหาของที่เก็บไว้ไม่เจอในเวลาที่ต้องการใช้จริงๆ คาดว่าที่อังกฤษเขาก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน จึงเกิดความคิดที่จะใช้ใบเสร็จแบบดิจิตัลกันขึ้นมา (แบบเดียวกับที่ร้าน Apple ใช้อยู่) เรียกว่าซื้อของเสร็จแล้วคุณจะได้รับใบเสร็จรับรองการซื้อขายทางเมล์อิเลคทรอนิกส์นั่นแหละ เพียงแต่เขาจะไม่ได้ส่งไปที่บัญชีจดหมายส่วนตัวของเรา ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนจากใบเสร็จเต็มกระเป๋ามาเต็มกล่องจดหมายออนไลน์ของเราจนได้ บริษัท Paperless Receipts ที่ใช้เทคโนโลยีของค่ายไอบีเอ็มเขาจะส่งใบเสร็จไปฝากไว้ที่เว็บตู้ไปรษณีย์ ที่ลูกค้าต้องการเปิดดูเมื่อไรก็เรียกดูได้ทันที ตอนนี้บรรดาห้างค้าปลีกที่อังกฤษกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของระบบที่ว่านี้อยู่ ภายใน 5 ปี ประมาณร้อยละ 70 ของห้างค้าปลีกที่นั่นจะใช้ระบบที่ว่านี้ ก็น่าจะสะดวกดี สำหรับผู้บริโภคที่มีหนทางเข้าถึงอินเตอร์เน็ทได้ แต่สงสัยว่าเขาจะยังมีระบบไว้สำหรับบรรดาผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้หรือเปล่าน่ะซิ   ปลอดภัยแต่ไม่ส่วนตัว?นานจิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดเจียงซู ประเทศจีน เขาออกกฎให้รถแท็กซี่ทุกคันติดตั้งกล้องวงจรปิด และอุปกรณ์บันทึกเสียง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนขับและผู้โดยสาร เครื่องบันทึกเสียงนั้นจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกล้องวิดีโอนั้นจะเริ่มบันทึกภาพเมื่อคนขับกดปุ่ม “ฉุกเฉิน” โดยภาพที่บันทึกไว้ด้วยความเร็ว 8 ภาพต่อนาทีจะถูกส่งตรงไปยังศูนย์ควบคุม ที่สำนักงานตำรวจ และกรมขนส่ง นั่นเอง มาตรการนี้ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเป็นธรรมดา คนที่ชื่นชมก็บอกว่ามันน่าจะทำให้ประสบการณ์การนั่งรถแท็กซี่รื่นรมย์ขึ้นไม่น้อย เพราะคนขับจะต้องพูดจาและให้บริการดีขึ้นเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ตนเองพูดออกมาจะถูกบันทึกไว้ อีกฝ่ายยังข้องใจอยู่ว่ามันจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะอุตส่าห์กระโดดขึ้นแท็กซี่ทั้งทีก็ต้องการจะคุยกันส่วนตัวบ้าง ไรบ้าง เกรงว่าจะเผลอพูดอะไรแล้วโดนบันทึกลงไปด้วย สาวๆ บางคนยังวิตกว่าถ้าโชคร้ายบังเอิญกระโปรงเปิดในขณะที่กล้องบันทึกภาพอยู่จะทำยังไง ทางการเขาให้การรับรองว่าภาพและเสียงที่ว่านี่จะรับชมรับฟังกันในหมู่คนกันเอง เอ๊ย.. ในหมู่ผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งก็จะต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเวลาที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเท่านั้น รับรองว่าไม่มีรั่วไหลเด็ดขาด นานจิงมีแท็กซี่ทั้งหมด 9,000 คัน ติดตั้งระบบที่ว่านี้ไปแล้วกว่า 6,000 คัน ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >