ฉบับที่ 105 เขาหาว่าผมเป็นเจ้าบ่าวพิการ

“ดูสิเจ้าบ่าวพิการด้วย” “ไม่มีปัญญาหาละมั้งเลยไปคว้าคนพิการมาแต่งงานด้วย” แขกที่มางานแต่งงานหลายคนแอบวิจารณ์ คู่บ่าว – สาว เพราะแทนที่คู่บ่าว – สาวจะทำอะไรพร้อมๆ กัน และนั่งอยู่เคียงกันระหว่างงานพิธี แต่ที่เห็นกลับเป็นภาพของเจ้าบ่าวต้องนั่งไหว้พระอยู่ในรถเข็นพิษณุ สันป่าแก้ว ชายหนุ่มจากจังหวัดแพร่ อาชีพวิศวกรไฟฟ้า คือเจ้าบ่าวของงานมงคลสมรสในวันนั้น ส่วนเจ้าสาวคือพันตำรวจตรีหญิงอุไรวรรณ แห้วนคร พยาบาลโรงพยาบาลตำรวจ หลังดูใจกันมากว่า 6 ปีทั้งคู่จึงตกลงใจว่าจะแต่งงานกัน งานวิวาห์ที่ทั้งสองเฝ้าเพียรเตรียมงานมาตั้งแต่ต้นปีดูจะไม่ค่อยสมบูรณ์สักเท่าไร เมื่อเจ้าบ่าวต้องมานั่งอยู่ในรถเข็นและในงานเลี้ยงก็มีเจ้าสาวเพียงคนเดียวที่เดินรับแขกตามโต๊ะ เกิดอะไรขึ้นกับเจ้าบ่าว และเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างไร เชิญติดตาม ความปกติที่ไม่ปกติ“ปกติผมจะกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ทุกปี แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อยคือผมไปแจกการ์ดแต่งงานด้วย (งานแต่งกำหนดไว้วันที่ 3 พ.ค.2552) ขณะผมเดินทางจากบ้านที่จังหวัดแพร่ เพื่อที่จะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ บริษัทรถโดยสารที่ผมใช้บริการประจำเต็มก็เลยต้องไปใช้ของอีกบริษัทหนึ่งคือวิริยะแพร่ทัวร์” พิษณุได้ตั๋วกลับกรุงเทพในวันที่ 17 เมษายน กับบริษัทวิระยะแพร่ทัวร์ จำกัด เป็นรถปรับอากาศ ม.1(ข) 34 ที่นั่ง หมายทะเบียน 13-9029 กรุงเทพ นั่งติดหน้าต่างแถวที่ 2 ฝั่งคนขับ พิษณุมารอขึ้นรถที่สถานีขนส่งจังหวัดแพร่ ตั้งแต่สองทุ่มครึ่งตามกำหนดเวลาออก แต่กว่ารถจะออกจากสถานีได้ก็ปาเข้าไปเกือบสามทุ่ม พิษณุนั่งดูคนขับ ขับรถมาเรื่อยๆ สังเกตได้ว่าขับเร็วมากและแซงตลอด แม้ในช่วงขึ้นเขาก็ยังแซง หลังจากดูให้แน่ใจแล้วว่ามาถึงเส้นทางช่วงระหว่างพิจิตรมาพิษณุโลก ก็นอนใจว่าคงไม่มีอะไรแล้วจึงงีบหลับไป ดูเหมือนทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดีแต่เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เสียงร้องเอะอะเกิดขึ้น รถทั้งคันมืดสนิทราวทุกอย่างหยุดนิ่ง มีแต่เสียงโวยวายของผู้คนเท่านั้นที่ทำให้รู้ว่า “รถชนเข้าแล้ว” รถโดยสารที่เขานั่งไปชนท้ายรถบรรทุก 18 ล้อ บรรทุกปูนซีเมนต์ ผู้โดยสารเต็มคันรถอลม่านกันอยู่ในความมืด และหนึ่งในห้าของผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสคือพิษณุ นั่นเอง “มันมืดแล้วก็ร้อนมาก เครื่องรถดับ ผมรู้แล้วว่ารถต้องชนแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าชนอะไรผมพยายามขยับตัว แต่ก็ลำบากเพราะว่าเก้าอี้มาทับผม ขยับขาไม่ได้ จนคนในรถเขาออกกันไปหมดเหลือผมอยู่คนเดียว…ผมต้องตะโกนและเคาะกระจกให้รู้ว่ายังมีผมติดอยู่ข้างในอีกคน” ระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยออกมาจากรถ พิษณุยอมรับว่า ‘กลัวมาก’ เพราะระหว่างนั้นได้กลิ่นน้ำมันคลุ้งไปทั่ว “กลัวไฟจะไหม้รถ มืดก็มืดแล้วก็ร้อน ผมใช้น้ำที่เขาให้ตอนขึ้นรถ ทั้งกินและทั้งรดตัวเอง ตอนนั้นผมเริ่มเจ็บขามากขึ้นๆ และพอจะรู้ว่าขาหักเพราะลองขยับแล้วมันไม่มีแรง กลัวรถระเบิดก็กลัว ถ้ามันระเบิดผมจะเป็นอย่างไร” พิษณุพาตัวเองกลับไปอยู่ในรถคันนั้นอีกครั้ง เพื่อที่จะถ่ายทอดบรรยากาศ ณ เวลานั้นออกมาให้ได้ใกล้เคียงที่สุด รอยยิ้มที่ผุดพรายระหว่างย้อนเล่าเรื่อง ราวกับจะบ่งบอกว่า“ผมดีขึ้นจากวันนั้น” เพราะในวันที่เกิดเหตุเขาไม่มีเรี่ยวแรงที่จะยิ้มให้ตัวเองเลยสักนิดในคืนนั้น พิษณุถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการล้างแผล ฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ก่อนพยาบาลจะช่วยเก็บข้าวของที่ติดตัวมาส่งให้พิษณุที่ยังมีสติอยู่พร้อมย้ำว่า “ให้เก็บตั๋วรถไว้ให้ดี” และส่งตัวต่อมายังโรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิษณุโลกเพื่อที่จะทำการผ่าตัดขาซ้ายท่อนบนช่วงสะโพกที่หัก อีกทั้งเสียเลือดมากจากบาดแผลลึกที่หน้าแข้งซ้าย หลังจากย้ายมาที่โรงพยาบาลพุทธชินราชเขาก็ยังไม่ได้รับการผ่าตัด แต่โรงพยาบาลได้ทำการเอกซเรย์และดามขาเขาไว้ ก่อนจะให้พักที่โรงพยาบาลนี้หนึ่งคืน โดยที่ยังไม่ได้เย็บแผลให้ จนเช้าวันใหม่มาถึง “ผมนอนที่นั่นหนึ่งคืน จนเช้าทางโรงพยาบาลก็ฉีดยาแก้ปวดให้ผม ผมถามว่าเมื่อไรจะผ่าตัดให้ผมเขาบอกแต่ว่าให้รอก่อนเพราะมีเคสที่หนักกว่าผมอีกสองคน ผมเลยโทรหาแฟนบอกว่าไปรักษากรุงเทพฯ ดีกว่า เพราะผมปวดจะให้รอถึงเมื่อไรอีกคือมันรอไม่ได้แล้ว เลยให้แฟนติดต่อหารถพร้อมพยาบาล เพื่อจะมารับไปที่โรงพยาบาลตำรวจ” ในบ่ายวันที่ 18 เมษายน 2552 พิษณุจึงได้ย้ายมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่คนรักเป็นพยาบาลอยู่ โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่ารถพยาบาลและค่าพยาบาลสองคนที่มากับรถเป็นเงิน 6,000 บาท “ถึงโรงยาบาลตำรวจประมาณทุ่มกว่าๆ แล้วทางพยาบาลก็เปิดแผลออก พบว่าแผลที่หน้าแข้งยังไม่ได้เย็บ จึงล้างแผลใหม่และขูดแผลเพื่อให้เป็นแผลสด แล้วถึงจะเย็บแผลเพราะเขากลัวว่าเนื้อมันจะไม่ติด คือ...ตอนนั้นยังไงก็ได้ ก็ต้องทนล่ะ” พิษณุยังจำความเจ็บปวดคราวนั้นได้ดี จากสีหน้าเหยเก และยิ้มแห้งๆ ของเขา เจ้าบ่าวอย่างผมพิษณุพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2552 ก่อนจะออกมาเข้าพิธีแต่งงานในวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ช่วงที่ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พิษณุรู้สึกแย่กับตัวเองมาก ที่ต้องให้แม่มาดูแลกลายเป็นภาระของแม่และคนรักไป ราวกับว่าเขากลายเป็นคนพิการไปแล้ว พิษณุเดินทางมาเข้าพิธีแต่งงานที่บ้านเจ้าสาวที่จังหวัดบุรีรัมย์ทั้งๆ ที่ เขายังต้องนั่งรถเข็น และต้องใช้ไม้ค้ำยันในบางขณะที่ต้องเดินไปรับแขก วูบแรกที่เกิดอุบัติเหตุเขาคิดว่าอย่างไรเสียงานแต่งที่เตรียมงานมากว่าห้าเดือนต้องเลื่อนออกไปแน่ๆ แต่หญิงสาวคนรักก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่า อย่างไรก็จะไม่เลื่อนงานแต่ง ถึงแม้จะไม่ได้ยืนเคียงกันก็ขอให้ได้นั่งรถเข็นแต่งงานก็ได้ “มันก็ต้องแต่ง แต่งทั้งๆ ที่ยังต้องใช้ไม้ค้ำยันอยู่นี่ล่ะ ดีกว่าจะเลื่อนงานออกไปเพราะเราเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ยกเว้นผมคนเดียวที่ยังต้องนั่งรถเข็น ปวดแผลก็ปวดแต่ก็กินยาแก้ปวดไว้ ภาพถ่ายที่ออกมาจึงไม่เหมือนกับงานคู่อื่นๆ เขา อย่างตามโต๊ะรับแขกก็จะมีเพียงเจ้าสาวของผมเท่านั้น ผมได้แต่มอง มันรู้สึกไม่ดีมากๆ งานแต่งของผมทั้งที กลับต้องมีคนมาคอยดูแล แต่งตัวเองก็ไม่ได้ต้องรอให้เขามาช่วย...มันรู้สึกแย่ ต้องนั่งรถเข็น แล้วเวลาจะถ่ายรูปกับแขกแฟนผมก็เดินไปคนเดียวผมไปด้วยไม่ได้” ยิ่งกว่านั้นมีชาวบ้าน ที่ไม่รู้ว่าพิษณุประสบอุบัติต่างพูดคุยนินทากันทั่วงาน “เขาว่าผมเป็นคนพิการทั้งที่เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผม เขาไม่น่าจะพูดอย่างนั้น” พิษณุแค่นหัวเราะให้กับโชคชะตาที่เล่นตลกร้ายกับเขา งานแต่งผ่านพ้นไปแล้ว แต่ละครชีวิตของพิษณุไม่ได้จบบริบูรณ์เหมือนละครทีวี ทั่วไปที่เรื่องมักจบลงอย่างมีความสุขหลังการแต่งงาน หลังงานแต่ง พิษณุกลับมาพักรักษาตัวต่อที่คอนโดย่านรามคำแหง โดยบริษัทที่เขาทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้าอยู่ให้หยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 3 เดือน ชีวิตประจำวันของพิษณุต้องเปลี่ยนไปเขาต้องพักฟื้นอยู่ในห้องพักชั้นเจ็ดที่ไม่ใช่สวรรค์ชั้นเจ็ด เพราะเขาต้องจำใจ ขังเดี่ยวตัวเองอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมสีครีม ที่ด้านข้างมีหน้าต่างเล็กๆ พอให้สูดอากาศภายนอกได้เท่านั้น ส่วนอาหารที่ตอนร่างกายปกตินึกอยากจะกินอะไรก็ได้ ก็ต้องกลายมาเป็นข้าวกล่อง ที่คนรักซื้อเตรียมไว้ให้ก่อนจะไปเข้าเวรที่โรงพยาบาลตำรวจ ถึงเวลาอาหารพิษณุจะนำข้าวกล่องเข้าเตาไมโครเวฟ นั่งกินข้าวในห้องพักโดยลำพัง ไม่มีโอกาสได้ไปกินข้าวกับเพื่อนฝูง หรือวันหยุดแทนที่จะได้ออกไปเดินเล่น ไปเรียนภาษา ก็ต้องใช้ทีวีเป็นช่องทางในการออกสู่โลกภายนอกแทนขาทั้งสองข้าง ซ้ำในเวลาเดินก็ต้องมีขาที่สามและสี่งอกออกมาจากรักแร้ทั้งสองข้าง นอกจากที่จะต้องพักฟื้นรักษาอาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดขาซ้ายแล้ว พิษณุยังต้องไปหาแพทย์เพื่อตรวจสภาพเข่าทั้งสองข้าง ซึ่งหลังการสแกนพบว่าเอ็นและข้อเข่ามีปัญหาแต่ไม่ถึงกับต้องผ่าตัด แพทย์สั่งให้กินยารักษาข้อเสื่อมอีกสามเดือน สิทธิต่างๆ ตอนเป็นผู้โดยสารผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าบริษัทต้องจ่ายเท่าไรจนบริษัทประกันมาบอกผมนี่ละ ว่าอ้อมีสิทธิรักษาเท่านี้นะ ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุก็คงไม่รู้ว่ารถโดยสารมีประกันอะไร เพราะในตั๋วก็ไม่ได้เขียนไว้ว่ามีประกันอะไรบ้าง เรามีสิทธิเรียกร้องอย่างไรเรารู้แค่ว่าเราซื้อตั๋วแล้วก็ขึ้นรถได้ ผมว่าไม่มีใครจะไปคิดหรอกนะว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แต่พอมันเกิดแล้วนี่สิ เราถึงจะมาอ่าน มาหาความรู้ว่าสิทธิเราคืออะไร มีอะไรบ้าง ก็ไม่มีใครบอก  ถามหาผู้รับผิดชอบ สำหรับค่ารักษาพยาบาลถ้าหากนับตั้งแต่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ที่ต้องจ้างรถพยาบาลให้มาส่งที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเงิน 6,000 บาท ซึ่งเขาต้องจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกกับบริษัทประกันภายหลัง ค่ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจก็เป็นหน้าที่ของบริษัทประกันที่บริษัทวิริยะแพร่ทัวร์ทำไว้ที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่เขาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเช่นกัน “ทางบริษัทประกัน จ่ายค่ารักษาให้ทั้งหมดตอนที่อยู่โรงพยาบาลตำรวจ 48,025 บาท แต่มันก็มีส่วนเกินที่ผมต้องออกไปก่อนประมาณสองหมื่น ตอนนี้ยังไม่ได้คืนจากบริษัทประกัน แล้วล่าสุดที่ผมเพิ่งไปสแกนเข่ามานี่ก็ 16,000 บาท ซึ่งทางบริษัทประกันได้เข้าแจ้งกับผมตอนที่อยู่โรงพยาบาลที่พิษณุโลกว่า ไปรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ในงบค่ารักษาไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะบริษัทรถได้ทำประกันชั้น 1 ไว้กับ บริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน) ตอนนี้ก็รอให้ทางบริษัทจ่ายส่วนที่ผมจ่ายไปคืนมา” ตั้งแต่เกิดเหตุมาบริษัทรถและบริษัทประกันได้ไปเยี่ยมพิษณุที่โรงพยาบาลที่พิษณุโลก แล้วก็ไม่ได้ติดต่อมาหาพิษณุอีกเลย กลับเป็นว่าเขาต้องเป็นฝ่ายโทรศัพท์ไปหาไปตามเรื่องเอง ตอนแรกโทรไปตามเรื่องที่บริษัทรถก็ทำอะไรไม่ได้ ถูกโยนให้ติดต่อไปที่บริษัทประกันแทน “คือก็เกินไปนะตั้งแต่ผมขาหักมาเนี่ยไม่เคยติดต่อมาหาผมเลย ทำเหมือนผมไปขอเขาขึ้นรถงั้นแหละทั้งๆ ที่ผมก็จ่ายเงินให้เขา ไม่อยากขึ้นรถบริษัทนี้อีกแล้วอยากเห็นหน้าเจ้าของบริษัทจริงๆ ” พิษณุเน้นย้ำว่าต้องการเห็นหน้าเจ้าของรถ แบบที่พูดจริงๆ นอกจากนั้นพิษณุยังต้องโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามความคืบหน้าทางคดี ที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุด้วยเช่นกัน เพราะไม่ได้รับการติดต่ออะไรจากตำรวจเลย “มีอยู่ครั้งหนึ่งตำรวจมาสอบปากคำ ผมก็ให้การไปตอนแรกนึกว่าเขาจะยื่นฟ้องอาญากับคนขับ แต่กลายเป็นว่าจะเป็นการยื่นฟ้องแพ่งกับบริษัทรถ มีทนายให้แต่จะต้องให้ 30 เปอร์เซ็นต์กับทนาย ผมก็อ้าว..เลยยังไม่ฟ้อง ผมฟ้องเองดีกว่า เพราะผมกะว่าจะฟ้องบริษัทอยู่แล้ว เพราะไม่เคยมาติดต่อเลย กระเช้าสักกระเช้ายังไม่มี ตอนนี้จะยื่นฟ้องเองในคดีศาลผู้บริโภค” พิษณุได้ให้ทนายความอาสา ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับมอบอำนาจยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) โดยมี นายเจริญ ชาวส้าน พนักงานขับรถทัวร์ เป็นจำเลยที่ 1 บริษัทวิริยะแพร่ทัวร์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 บริษัทขนส่ง จำกัดเป็นจำเลยที่ 3 และบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยที่ 4 เรียกค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 5,664,046.50 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยกับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ค่าชดเชยสินไหมสุดขอบฟ้าเมื่อถามถึงกระบวนการชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรพิษณุ ตอบทันควันว่า “มันช้า” พร้อมเสนอทางออกว่าน่าจะมีเกณฑ์ออกมาให้มีการจ่ายค่าชดเชยทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ เคสนี้ เคสนั้นไม่ต้องรอให้เป็นคำสั่งศาลแล้วถึงจะจ่าย และน่าจะจ่ายที่เพดานสูงสุดไม่ต้องรอให้เคสสำรองเงินไปก่อนแล้วค่อยมาเบิกจ่ายกันทีหลังอีก “นอกจากจะมีมาตรการชดเชยแล้วผมว่า บริษัทรถหรือคนขับก็ต้องประเมิน ต้องมีการควบคุมคนขับรถด้วยว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมไหม ไม่ขับรถเร็วเกินไป อย่างคันที่ผมนั่งมารู้จากตำรวจว่าขับมาสี่รอบแล้ว รัฐเองน่าจะเข้ามาดูตรงนี้ด้วย คืออุบัติเหตุมันไม่ได้มาจากเราน่ะ มันอยู่ตรงที่คนที่จะมาขับรถให้เราเขาอยู่ในสภาพพร้อมหรือเปล่า ต้องมีมาตรการตรวจสภาพคนขับด้วย อาจจะมีหมอมาตรวจสภาพหน่อยว่าพร้อมที่จะขับไหมเพราะมันเป็นช่วงเทศกาล ไม่ใช่กะทำรอบอย่างเดียว แล้วอีกอย่างไปดักจับคนเมาซะมากกว่า รถคันที่ผมนั่งมาคนขับน่ะไม่เมาหรอกแต่มันเหนื่อยเป่ายังไงก็ไม่เจอหรอก” พูดจบพิษณุหัวเราะพร้อมกับส่ายหัวอย่างเอือมระอา “สิทธิต่างๆ ตอนเป็นผู้โดยสารผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าบริษัทต้องจ่ายเท่าไรจนบริษัทประกันมาบอกผมนี่ละ ว่าอ้อมีสิทธิรักษาเท่านี้นะ ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุก็คงไม่รู้ว่ารถโดยสารมีประกันอะไร เพราะในตั๋วก็ไม่ได้เขียนไว้ว่ามีประกันอะไรบ้าง เรามีสิทธิเรียกร้องอย่างไรเรารู้แค่ว่าเราซื้อตั๋วแล้วก็ขึ้นรถได้ ผมว่าไม่มีใครจะไปคิดหรอกนะว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แต่พอมันเกิดแล้วนี่สิ เราถึงจะมาอ่าน มาหาความรู้ว่าสิทธิเราคืออะไร มีอะไรบ้าง ก็ไม่มีใครบอก” ปัจจุบันอาการบาดเจ็บต่างๆ ได้หายไปแล้ว และพิษณุได้ไปทำงานตามปกติแล้ว แต่ในอีกสองปีข้างหน้า เขายังต้องไปผ่าตัดเอาเหล็กที่ยึดกระดูกที่หักออก จนถึงตอนนี้ พิษณุมีคำถามที่อยากจะได้คำตอบจากใครสักคนว่า ทำไมต้องเป็นเขาด้วย ทำไมเขาต้องการเป็นเจ้าบ่าวพิการ ในเมื่อเขาเองไม่ใช่คนผิด และกระบวนการชดเชยทำไมถึงได้ช้าหนักหนา ไม่มีกระบวนการเยียวยาอะไรผู้บริโภคเลยหรือไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point