ฉบับที่ 169 ภก.พันธุ์เทพ เพชรผึ้ง คนแปลกแห่งลุ่มน้ำน่าน

ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้เป็นคนในแวดวงสาธารณสุข(อีกแล้ว) แต่ทีมงานมั่นใจว่า อ่านไปทุกๆ ท่านจะชอบในแนวคิดแบบขวานผ่าซาก และเห็นด้วยว่าเขากล้าหาญ ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเพี้ยน  ภก.พันธุ์เทพ  เพชรผึ้ง  หรือหมอก้อง  ที่คนในอำเภอเวียงสา  จังหวัดน่านเรียกเขาอย่างคุ้นเคย หมอ(ยา)ก้อง เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนกรุงเทพ ช่วงปิดเทอมใหญ่ของ ม.ต้น เขาได้มีโอกาสไปอยู่กับย่าที่ จ.นครสวรรค์ เลยติดใจบรรยากาศต่างจังหวัด เพราะเป็นคนไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง ในที่สุดเลยย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่นครสวรรค์  ชีวิตตอน ม.6 อยากเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์  และได้มีโอกาสสอบโควต้า แต่เหมือนโชคชะตาไม่เอื้ออำนวยทำให้วันที่ต้องสอบสัมภาษณ์นั้นไม่สบายจนต้องขาดสอบ จากนั้นเลยมุ่งมั่นที่จะสอบเอ็นทรานซ์ “ตอนแรกไม่ได้คิดจะสอบตรงเข้า มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) คิดว่าจะเอนฯ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาจะไปสอบ มช. เพราะว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สอบพร้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วเพื่อนคนนั้นเขาอยากไปอยู่เชียงใหม่ แต่จริงๆ คือเขาสอบไม่ติดนั้นแหละ เขาก็เสียดายใบสมัครด้วย แล้วเราก็ซื้อใบสมัครไม่ทันเขาก็ขายใบสมัครให้เรา แล้วก็สอบได้ ไม่ได้ไปติวไปอะไรนะแต่ก็อ่านหนังสือมาหนักมากแล้ว พอรู้ว่ามีที่เรียนแล้วแต่ยังไม่ได้ไปรายงานตัว เพราะยังไม่มีทรานสคริปต์ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็เริ่มไปดูมหาวิทยาลัยที่เราไปสอบ ปรากฏว่ารถมันติดมาก นั่งรถจากบ้านไปธรรมศาสตร์ก็ประมาณ 2 ชั่วโมง ไปเกษตรฯ ก็ประมาณ 1 ชั่วโมง หมายถึงว่าขับจากนครสวรรค์ไป ม.นเรศวร ประมาณชั่วโมงครึ่งมันเท่ากับจากบ้านที่รังสิตไปจุฬาฯ เลย ก็เลยไม่เอาแล้วไปเรียนที่ ม.นเรศวรแทน ก็มีเพื่อนที่อยู่แถวๆ บ้านไปเรียนที่ ม.นเรศวรด้วยก็ได้เป็นรูมเมทกัน   แล้วชอบไหมการเรียนเภสัช ก็ไม่ค่อยไปเรียน เกือบไม่จบ คือปกติไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ แล้ววิชาคำนวณมันก็ต้องท่อง ก็รู้สึกไม่ชอบ พอจบปีหนึ่งก็อยากจะเอนฯ ใหม่ คือพอเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นสังคมที่เราไม่ต้องมีใครมาควบคุม ก็เลยเกเร เพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันก็มีไม่จบ โดนรีไทร์บ้าง หมายถึงเพื่อนที่ไปด้วยกันแต่ไปอยู่คณะอื่นนะ เพื่อนเภสัชนี่จบทุกคน ตอนเรียนก็อยู่ท็อป 5 ในด้านเลวร้าย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่เป็นของวิชาเรียน แต่ถ้าเพื่อนมีกิจกรรมเราก็จะไปเป็นลูกหม้อ ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีอะไรแต่ถ้ามีกิจกรรมก็จะทำ ให้เต้นเราก็เต้น แต่ไม่ได้ไปออกแบบอะไรกับเขา แต่ถ้าเป็นกิจกรรมของวิชาเรียนจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยไป แม้แต่แล็ปบางทีก็ไม่เข้า แต่พอหลังๆ ประมาณปีสามก็เริ่มเข้า มีติด ร. หนึ่งวิชา คือเพื่อนของพ่อเป็นอธิการฯ พ่อก็ฝากฝังลูกไว้เพราะกลัวจะเรียนไม่จบ อธิการก็เลยเรียกไปอบรมพร้อมคณบดี เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต พ่อเล่าให้ฟังว่าอธิการบดีเรียกคณบดีเข้าไปต่อว่า ว่าทำไมไม่ดูแลเด็กให้ดี ซึ่งคณบดีตอนนี้เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา หลังจากนั้นก็เลยต้องตั้งใจเข้าไปเรียนหน่อย ไปเข้าเรียน ไปเข้าแล็ป แล้วก็อ่านหนังสือ ฟังดูไม่น่าทำงานเพื่อสังคมได้เลยนะ   แล้วเพื่อสังคมนี่มีตอนไหน สมัยเรียนมีไหม ไม่มีเลย คือออกค่ายนั้น เราเป็นลูกหม้อ พอเขาใช้เราก็ทำ แต่ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่แรงผลักดันเกิดจากการหมั่นไส้คนมากกว่า คือพอเรียนจบมาก็ทำงาน ที่สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ไม่กล้าไปทำงานโรงพยาบาลเพราะเรียนจบมาแบบกระท่อนกระแท่น ก็ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลนั้นจะรับเราได้ไหม ซึ่งปัจจุบันเขาก็รับเราไม่ได้นะแต่เรามีงานด้านอื่นอยู่ ก็อยู่สาธารณสุขจังหวัดอยู่ประมาณหนึ่งปี ก็พอรู้ข้อจำกัด หรือข้ออ้างของราชการ การคอรัปชั่น เรียนรู้จนทำเป็น ทุกอย่างสามารถคอรัปชั่นได้หมดเพราะขั้นตอนการคอรัปชั่นไม่อยู่ในเอกสาร ในขณะที่ สตง. ตรวจเอกสารเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ย่ามใจมากเอกสารคุณจะตรงเป๊ะ ยังไงก็ไม่สามารถที่จะจับได้ อย่างสมมติผมมีเงินสักหนึ่งล้าน สงสัยว่าผมมีเงินมาจากไหนก็ต้องไปเล่นกันให้ชี้แจงว่าเอาเงินมาจากไหน ซึ่งถ้าเกิดว่าฟอกเงินได้ก็จะอธิบายได้ คือแรงผลักดันจริงๆ นั้นเราไปเห็นที่ๆ เขาทำอะไรให้คนกิน ทุกอย่างเลยพอเราเห็นสถานที่เพราะเราเข้าไปบ่อย อยู่ สสจ. ก็มีโอกาสไปต่างจังหวัด ประชุมต่างจังหวัดบางทีเขาก็พาไปดูสถานที่ของจังหวัดอื่น เราก็จะเห็นว่าแพ็คเกจดีบางทีมันมาจากใต้ถุนบ้านบ้าง ทำในห้องส้วมบ้าง ทำริมถนนเลยก็มี เราก็เห็นว่าอะลุ้มอล่วย ไม่ได้มีการแก้ปัญหาตรงนี้ คือเราเป็นคนท้องเสียง่ายด้วย จะกินอะไรค่อนข้างระมัดระวัง อยู่ที่เวียงสานี่เคยนอนโรงพยาบาล 3 รอบ เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเวียงสาแต่นอนโรงพยายาบาลเวียงสา 3 รอบ เป็นโรคท้องเสีย ต้องนอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ ก็คือที่นี่มีเงื่อนไขว่าการทำงานที่นี่เราต้องทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือตอนนั้นโรงพยาบาลเวียงสามีเภสัชฯ แค่ 4 คนแล้วหัวหน้าเขาจะย้ายเข้า สสจ. เราก็เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผู้บริโภค ในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ค่อยยอมรับการไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เขาจะรู้สึกว่าเขาทำงานแบบบริหาร ก็เลยมีข้อแม้ว่าถ้าเราจะมาทำงานโรงพยาบาลเราต้องรับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากปกติที่โรงพยาบาลทำอยู่ คือต้องทำเต็มตัว มาตอนนั้นก็เพิ่งจบมาแค่ปีเดียวก็อาจจะยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่เนื่องจากเคยอยู่ สสจ. มาก่อน ก็ถือว่ายังรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นเภสัชฯ คนอื่นไม่รู้เลย อย่าคิดว่าจะรู้ทุกคนเพราะมันเป็นงานเฉพาะมาก งานกฎหมายจะไม่มีใครรู้เลย เราก็ทำไปเรียนรู้ไป เพราะไอ้ที่รู้ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่เวียงสามีด้านใดบ้าง ก็มีตรวจร้านชำ ตรวจโรงงานน้ำดื่ม ตรวจคลินิก คือจริงๆ จะมีแบบตรวจมาให้อยู่แล้วว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ยาก็ตรวจ ส่วนหนึ่งคือเราไปเจอเรื่องยาที่มีเกือบทุกที่เลยนะที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ตรวจร้านยา ขย 2. ด้วย ขย 2. คือร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชฯ แล้วก็ตั้งแต่สมัยไปเรียนจนถึงทำงานใหม่ๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้ อย่างหนึ่งของเภสัชฯ ที่ค่อนข้างจะเป็นประเด็นมากคือเภสัชฯ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ คือหนึ่งเรื่องจริยธรรม สองความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาโดยเภสัชกร เขาก็จะมีคำถามที่ปักหลังเภสัชกรอยู่ตลอด แต่เราก็มาอยู่สาธารณสุขจังหวัดที่เดิม เราก็คุ้นกับสภาพที่เภสัชฯ ขายป้าย คือเอาใบเภสัช ตัวเองไปไว้ แต่ว่าที่ สสจ. นั้นก็มีคนทำ ลักษณะอีกอย่าง คือว่าคนทั่วไปเปิดแล้วเอาป้ายไปไว้แล้วก็รับเงิน มีตั้งแต่ 5,000 จนถึง 10,000 บาทหรืออาจจะเยอะกว่านั้น แต่ถ้าเป็นที่ สสจ. นั้นเราจะเห็นว่าเภสัชฯ นั้นเป็นร้านของเราเอง ก็ไปอยู่บ้าน กลางวันก็ให้คนอื่นไปอยู่ พอมาอยู่นี่ก็รู้สึกคับข้องใจว่า สาธารณสุขจังหวัดนั้นได้มีใบนี้ไปอยู่ที่ร้านคนอื่น เนื่องจากว่าตอนนั้นสาธารณสุขจังหวัดกำลังตีความเรื่องป้ายประกาศ ก็จะมีร้านที่ ขย 1 . ซึ่งไม่ได้มีเภสัชฯ เป็นเจ้าของจะต้องปิดร้าน เพราะฉะนั้นสาธารณสุขจังหวัดรวมทั้งที่จังหวัดน่านก็จะให้มีคนเข้าไปที่ร้านเพื่อให้ร้านนั้นเปิดอยู่ได้ เราก็รู้สึกว่าคือเรื่องที่มันผิดนั้นเราจัดการมันไม่ได้ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับเราไปยอมรับว่าเรื่องที่ผิดมันถูก ก็เริ่มที่จะรับไม่ค่อยได้ คือเราก็ไม่ใช่คนที่ทำอะไรถูกต้องทุกอย่างแต่ว่าอะไรที่มันผิดนั้นมีการยอมรับว่ามันถูกต้องก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ จากนั้นก็เลยเหมือนก่อขึ้นมา และอีกฝ่ายที่เขาเป็นฝ่ายน้ำดีของเภสัชฯ  กับอีกฝั่งที่เขาเป็นวิชาชีพอื่นเราเอากฎหมายไปบังคับใช้เขา เวลาเราไปตรวจคลินิกพยาบาลเขาก็จะมีคำถามกลับมาตลอดว่าแล้วเภสัชฯ ที่ไม่มีอยู่ที่ร้านไม่เห็นทำอะไรเขาเลย แต่เราไปคร่ำเคร่งกับพยาบาลกับหมอ เขาก็ถามว่าเพื่ออะไร มันจึงเป็นคำถามที่แทงใจ เวลาไปตรวจคลินิกหมอ แบบตรวจมีตั้ง 3-4 หน้า เขาก็จะถามว่าอะไรหนักหนา ถังดับเพลิงก็ต้องมีเหรอ ประมาณนี้ ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่อินว่ามันคืออะไร แต่คำถามที่หนักๆ คือเขาถามย้อนทันทีทุกครั้งที่ไปตรวจว่า “ทีร้านเภสัชฯ ที่ไม่มีเภสัชฯ ล่ะจะมาจ้ำจี้จ้ำไชเขาทำไม” เราก็จะหน้าแห้งเลย ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกร้านนะ จะมีพวกร้านที่เขาคงหมั่นไส้เรา อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น   ความเป็นหมอก้องกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค มาเริ่มตอนปี 2552 ที่ สสจ. อีกแล้ว คือชวนเราไปประชุมกับอาจารย์วรรณา(ผศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ )ของ คคส. (แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ) เราก็เป็นลูกหม้อเหมือนเดิม เขาใช้ให้ทำอะไรเราก็ทำ ก็ยังไม่ถึงขั้นตั้งใจมากหรอก ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือ คคส. ก็คิดว่าคงคล้ายๆ กับ อย. เวลาประชุมก็ไม่ค่อยได้ตั้งใจฟังหรอก เพราะทีม สสจ. ก็จะมีทีมของเขา เราก็รอเขาสั่งมาอย่างเดียวแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในส่วนที่เสนอความคิดเห็นไปแล้วเขาจะสนใจเท่าไรนัก ก็เลยเป็นนิสัยให้เราไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่ไม่เหมือนตอนนี้นะ(หัวเราะ) เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ให้เราเตรียมพื้นฐานชาวบ้านไว้ เราก็เตรียมๆ  ปรากฎว่าเราเตรียมไว้แล้ว เตรียมจะประชุมแล้ว เราก็ถามว่าจะเริ่มเมื่อไร เขาตอบว่า ไม่ทำแล้ว เราก็อึ้งไปแล้วก็เสียใจ และก็เริ่มไม่พอใจ คุณให้เราเตรียมไว้เยอะเลยแล้วมาประชุมบอกไม่ทำแล้ว คือถ้าไม่ถามก็ไม่บอกด้วย เขาบอกว่ามันไม่ชัดเจน ให้แก้นู่น แก้นี่ แล้วมันก็ไม่ตรงกับงานเรา ขอซื้อชุดตรวจฟอร์มาลีน ตรวจสารปนเปื้อน ทำไมถึงขอไม่ได้ในเมื่อเราทำงาน สสจ. คือโครงการที่ สสจ. ส่งไปมันเป็นเมล์กลุ่มซึ่งเราก็ไม่ได้เปิดอ่าน ตอนที่บอกให้เราเตรียมเราก็เตรียม ไปคุยกับชาวบ้านไว้แล้วด้วย ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ก็คิดว่าเป็นการประชุมๆ กัน ส่วนใหญ่ก็เป็น อสม. มีกิจกรรมอะไรเขาก็จะมาทำกัน ก็เลยเอาโครงการนั้นมาปัดๆ แล้วก็ส่งไปว่าเราจะทำเองก็ได้ ก็คือเอาโครงการ สสจ. มาแก้นิดๆ หน่อยๆ แล้วส่งกลับไป เขาก็แก้กลับมาแดงไปหมดเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเลยตอนนั้น ก็ปรึกษารุ่นพี่เภสัชที่เรานับถือซึ่งทำงานกับทาง คคส. เราถามทีละข้อเลยมันคืออะไร พี่เขาก็ปรับวิธีคิดเรา แต่เราไม่เข้าใจนะวิธีคิดของพี่เขาตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการให้ทุนของ สสส. มากกว่า ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เอกสารมันผ่านมากกว่า แต่มันมีข้อดีที่ว่า สสส. เขามีวิธีคิดของเขาที่มันจะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันดีกว่าระบบราชการ คืออันนี้มันไปอยู่สำนักที่ค่อนข้างเฮี้ยบเรื่องของการใช้เงิน เราก็พยายามทำให้มันผ่าน หลังๆ ก็งงว่ามันไม่ต้องส่งหลักฐาน ตอนอยู่ สสจ. ใช้ชีวิตอยู่กับการเคลียร์บิล ทำหลักฐานเพื่อเคลียร์บิล พอมันอยู่ในมือเรามันเอื้อในการใช้เงินอย่างตรงไปตรงมา ไม่เหมือนระบบข้าราชการ ก็รู้สึกว่าใช้เงินได้อย่างปลอดโปร่ง ส่วนในแง่ของการทำงาน เราก็ไม่ได้มุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์แล้ว เขาให้ทำเครือข่าย ก็ตามรุ่นพี่เป๊ะๆ เลย โดยที่เราก็ไม่ได้หวังผลว่ามันจะออกมาเป็นเหมือนเขา แต่ใช้วิธีการเขาไปก่อน ต้องสรุปประชุมอย่างไร เวลาสรุปประชุมเราก็เหมือนกับสอนว่าเราต้องได้ข้อมูลอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นประชุมครั้งต่อไปนั้นเราต้องปรับแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้ข้อมูลอย่างนี้มา ก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงานออกไป ปัจจุบันก็อาจจะเห็นประเด็นมากขึ้นแต่รูปแบบเดิมก็อาจจะยังมีอยู่   เปลี่ยนไปเยอะมากไหมการทำงาน พอรูปแบบมันมาก็จะเป็นรูปแบบของเครือข่าย จะมีมุมมองจากชาวบ้านเข้ามา อีกส่วนหนึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยค่อนข้างอ่อน พอเราทำงานกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะเริ่มพูดกับเราง่ายขึ้น พอง่ายขึ้นเขาก็จะเริ่มถามอะไรที่ไม่ต้องเกรงใจแล้ว เหมือนที่พยาบาลเคยถามว่าเราดูแลเภสัชฯ อย่างไร พวกนี้ทำไมไม่โดนจับ ทำไมแบบนี้ถึงขายได้ ประมาณนี้ ก็แทงใจเราอีกแล้ว เราก็รู้สึกว่าพอเรามาถึงจุดๆ หนึ่งเราต้องเลือกแล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหา เช่น การบังคับใช้กฎหมาย หรืออะไรที่พอจะทำได้นั้น เราก็ควรจะเลิกทำงานกับชาวบ้านดีกว่า เพราะเราก็เหมือนไม่ได้ทำ คือถ้าเราจะทำต่อแล้วเราไม่ทำเรื่องนี้ก็เหมือนกับไม่มีหน้าไปหาเขา เราทำงานกับชาวบ้านที่ส่วนหนึ่งก็เป็น อสม. แล้วเราก็จะผ่านสถานีอนามัยเพราะเราไม่สามารถถึงชาวบ้านได้เอง ก็จะผ่านสถานีอนามัย คือเรื่องที่เป็นประเด็นกฎหมายถ้าเราไม่ทำเราก็จะตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำอย่างไรที่คนผิดถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้ หรือถ้ามีอะไรที่มันเข้าโอกาสที่เราทำได้มากที่สุดเราก็จะทำ จากแต่ก่อนที่เราก็จะร้องไปที่ สสจ. อย่างเดียวเลย แต่ สสจ. ก็จะให้ไปเคลียร์ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้เป็นที่กังขาของชาวบ้าน เรียกว่าเป็นแรงผลักดันเพราะเราก็มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถทำได้   มีเคสไหนที่ประทับใจหรือรู้สึกสนุกๆ ไหม ก็ทุกเรื่อง มันมีแปลกๆ เยอะ แต่ว่าจริงๆ จุดเสี่ยงก็เป็นกรณีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คือ  อันอื่นเขาจะปรับตามเราหมดเวลาที่เราไปให้คำแนะนำ มีเคสนี้ที่บอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด  เป็นเคสขายตรง เราไปจับเขาในข้อหาที่ว่าด้วยเรื่องการรักษา แต่เขาเถียงว่าเขาไม่ได้ทำการรักษา เขาก็อธิบายว่าเขาไม่ได้รักษากระบวนการไม่เล่าก็แล้วกัน  เขาก็สู้คดี  เราคิดว่าเขาจะไม่สู้ ถ้าเราไม่มั่นใจเราจะไม่จับ เขาสู้ในคดีที่เขาไม่มีทางชนะ เหมือนกับเราเข้าเส้นชัยไปแล้ว เธอจะมาแข่งกับชั้นได้ยังไง สุดท้ายเขาก็รับสารภาพ ฝากอะไรกับฉลาดซื้อบ้างไหม อยากให้ทดสอบตัวอาหารสุนัข ถามว่าอยากรู้ไหมก็อยากรู้นะ คือถ้าถามว่าตอนนี้มีไรน่าเทสต์บ้าง เรื่องสารเคมีก็อยากรู้ที่สุด แต่คิดว่าน่าจะทำยากนะพวกสารเคมีในดิน ยาฆ่าหญ้า เพราะไม่มีแล็ปในประเทศไทย อันนี้เคยโทรถามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  แม้แต่ที่กรมทรัพยากรธรณีก็บอกว่าไม่รู้จัก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าไม่มีหรือเขาไม่บอกเรา

อ่านเพิ่มเติม >