ฉบับที่ 137 กระแสต่างแดน

สวรรค์ของคนเป็นแม่ กระแสต่างแดนฉบับนี้ พาคุณไปสำรวจสุขภาวะของบรรดาคุณแม่รอบโลก ผ่านรายงานว่าด้วยสุขภาวะของมารดาทั่วโลกประจำปี 2012 (Mother’s Index 2012) ที่องค์กร Save the Children เขาเก็บข้อมูลจาก 165 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดอันดับให้คะแนนประเทศเหล่านั้นโดยแยกประเทศเหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่มก่อนจัดอันดับ ได้แก่ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 43 ประเทศ กลุ่มที่กำลังพัฒนา 80 ประเทศ และกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมากอีก 42 ประเทศ ----- เกณฑ์การให้คะแนน สุขภาวะของเด็ก                                                 ร้อยละ 30 สุขภาพของสตรี                                                  ร้อยละ 20 สถานภาพทางการศึกษาของสตรี                          ร้อยละ 20 สถานภาพทางเศรษฐกิจของสตรี                           ร้อยละ 20 สถานภาพทางการเมืองของสตรี                            ร้อยละ 10 ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่ม “พัฒนาแล้ว” ที่มีคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงที่สุด นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม ไอร์แลนด์ 10.  เนเธอร์แลนด์ ในกรณีที่คุณสงสัย สหรัฐอเมริกาได้อันดับที่ 25 ในขณะที่ญี่ปุ่นได้อันดับ 30  ส่วนสเปน แชมป์ฟุตบอลยูโรหมาดๆ นั้นได้อันดับที่ 16 ---- คุณแม่ชาวนอร์เวย์สามารถลาคลอดได้ถึง 9 เดือน โดยยังได้เงินเดือนเต็มจำนวน และถ้าลาเพิ่มอีก 10 สัปดาห์ก็ยังได้เงินเดือนร้อยละ 80 ที่สำคัญเมื่อกลับเข้าทำงานแล้วยังสามารถขอลาไปดูแลลูกระหว่างวันได้อีก และนั่นคงเป็นสาเหตุให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นอร์เวย์สูงถึงร้อยละ 99 และร้อยละ 70 ของทารกที่นั้นยังได้กินนมแม่จนอายุ 3 เดือน ผู้หญิงชาวนอร์เวย์ได้รับการศึกษาเฉลี่ย 18 ปี และมีอายุขัยเฉลี่ย 83 ปี มากกว่าร้อยละ 80 ใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่เพื่อการวางแผนครอบครัว นอกจากนี้ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเท่าเทียมทางรายได้ของสตรีชาวนอร์เวย์ก็สูงด้วยเช่นกัน ตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่ใช้สิทธิลาคลอด ซึ่งเขากำหนดไว้ที่ 3 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และนอกจากนี้อัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์สูงที่สุดในกลุ่มอีกด้วย ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่คุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงสุด คิวบา อิสราเอล บาร์เบโดส อาร์เจนตินา ไซปรัส เกาหลีใต้ อุรุกวัย คาซัคสถาน มองโกเลีย 10.  บาฮามาส ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 16 ของกลุ่ม ตามด้วยเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 20  41  52  และ59 ตามลำดับ บราซิลอยู่อันดับที่ 12  จีนอันดับที่ 14 ส่วนอินเดียตามมาห่างๆ ที่อันดับ 76 ---- 10 อันดับท้ายซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนา ที่แม่และเด็กยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรได้แก่ คองโก ซูดานใต้ ซูดาน ชาด เอริเทรีย มาลี กินี-บิสเซา เยเมน อัฟกานิสถาน 10.  ไนเจอร์ ประเทศกัมพูชา พม่า และลาวอยู่ในอันดับที่ 6  7 และ 11 ตามลำดับ ที่ประเทศไนเจอร์นั้น ผู้หญิง 1 ใน 30 คนมีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์ และเด็ก 1 ใน 7 คนจะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี โดยเฉลี่ยแล้วพวกเธอได้รับการศึกษาประมาณ 6 ปี และมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายมากกว่าครึ่งหนึ่ง ---- นมแม่นานาชาติ ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยอดเยี่ยม ได้แก่ นอร์เวย์ สโลเวเนีย สวีเดน และลักเซมเบอร์ก ในขณะที่ออสเตรเลีย มอลต้า และสหรัฐฯ  เป็น 3 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงแค่ร้อยละ 35 เท่านั้น ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำเกินไปนั้น ทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยของทารกถึง 13,000 ล้านเหรียญต่อปี   ในกลุ่มอาเซียนนั้น พม่า และกัมพูชาจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนระดับ “ดี” ในขณะที่ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียได้ระดับ “พอใช้” ส่วนเวียดนามอยู่ในระดับ “แย่” นอร์เวย์ได้มีการนำเนื้อหาในหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารเสริมและอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) มาบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการขอให้รัฐบาลของประเทศที่ร่วมลงนามนั้นมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และในขณะเดียวกันก็ห้ามการโฆษณานมผงหรือผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่อื่นๆ ห้ามการแจกสินค้าตัวอย่างแก่ทั้งบรรดาคุณแม่และบุคลากรทางการแพทย์ และห้ามการใช้งบของระบบสุขภาพในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์นมผง เป็นต้น   ประเทศไทยของเราก็ลงนามยอมรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2524 แล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมากนัก เพราะภาพคุณแม่หมาดๆ หิ้วตะกร้าผลิตภัณฑ์นมผงที่ได้รับแจกจากผู้ผลิตในวันที่ออกจากโรงพยาบาลก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ---- นมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของทารก เพราะนมแม่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย การเป็นโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่การตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (SIDS: Sudden Infant Death Syndrome) ของทารกได้ และตัวคุณแม่เองก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่น้อยลงด้วย ไหนจะช่วยลดโลกร้อนได้อีก เพราะนมแม่ไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดเก็บ จัดส่ง หรือแช่เย็น และมาจากแหล่งพลังงานทดแทน เรียกว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของคุณแม่ต่อสังคมด้วยนั่นเอง ----

อ่านเพิ่มเติม >