ฉบับที่ 131 บทเรียนพลุระเบิดที่สุพรรณ: ถึงเวลาภาครัฐ ต้องจัดระเบียบใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข่าวพลุระเบิด ในงานเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลสำหรับความสุข สำหรับคนไทยเชื้อสายจีน กลายเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมสำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจ ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุดังกล่าวนี้ นอกจากจะต้องสืบหาต้นตอสาเหตุ จากอุบัติภัยอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ภาครัฐคงต้องมาทบทวน บทบาทในเรื่องการป้องกันความปลอดภัย ทั้งในเชิงมาตรฐานของสินค้าประเภท พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จัดเป็นสินค้าอันตรายอย่างหนึ่งที่มีระดับความเป็นอันตรายหลายระดับ ตลอดจนการควบคุมธุรกิจ หรืองานแสดงที่ต้องมีการจุดพลุ อย่างจริงจังเสียที เหตุการณ์การเกิดวินาศภัย ที่มีผลมาจากการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ เพื่อการค้าหรือการแสดงนั้น ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นแค่ครั้งนี้เท่านั้น แต่ถ้าเราดูข่าวจะเห็นว่ามีเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรื่นเริง ตรุษจีน ปีใหม่ ที่จะมีสินค้าประเภทนี้วางขายอยู่ทั่วไป เข้าใจว่ายังไม่มีกฎระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ ตลอดจนหน่วยงานทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมความปลอดภัยที่จะเป็นหน่วยงานควบคุมธุรกิจและสินค้าประเภทนี้เลย ทำให้เกิดปัญหาลักลอบการผลิต และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสายอาชีพนี้  เป็นความเสี่ยงระดับรุนแรงอย่างหนึ่งสำหรับประชาชนและผู้บริโภคเลยทีเดียว สำหรับบทความในคราวนี้ ผมขอยกตัวอย่างการควบคุมเรื่องการจุดพลุ ตลอดจน การควบคุมสินค้าประเภท ประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ของประเทศเยอรมนี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ รีบเข้ามาจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน   การจำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟต้องขอใบอนุญาตในเยอรมนีจะมีหน่วยงานที่ทดสอบพลุ ดอกไม้ไฟ และวัตถุเทียมระเบิด ทางด้านเทคนิค เพื่อที่จะทดสอบความปลอดภัย ความรุนแรงของการระเบิด การจุดติดไฟ  (Bundesanstalt für Material Prüfung: BAM) ก่อนที่จะออกใบอนุญาต ให้นำออกมาจำหน่ายได้ สำหรับการแบ่งประเภทของสินค้าเหล่านี้นั้น ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามระดับความรุนแรงในการติดไฟ และการระเบิด ระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 (BAM-P1)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 2 (BAM-P2)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 3 (BAM-P3) และระดับความรุนแรงประเภทที่ 4 (BAM- P4) สำหรับพลุ ดอกไม้ไฟ นั้นปกติ จะอยู่ในระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งในการตรวจสอบสินค้าประเภทนี้นั้น หน่วยงานดังกล่าวจะตรวจดูถึงปริมาณของสารที่ต้องควบคุม เนื่องจากหากมีมากไป หรือ ไปเข้าชุดกับสารจุดระเบิดตัวอื่น ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ผู้จำหน่าย ผู้ขนส่ง หรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด จะต้องทำตามระเบียบในการจัดเก็บ การขนส่งอย่างเคร่งครัด   การทดสอบด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเคร่งครัดผมขอยกตัวอย่างการทดสอบความปลอดภัยที่สำคัญ ก็คือ การทดสอบภายใต้แรงสั่น จากรูปจะเห็นว่า นำดอกไม้ไฟ หรือ พลุมาวางไว้บนโต๊ะสั่นด้วยความเร่ง 50 เท่าของความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก (-50 g) รูปที่ 1 และภายหลังจากการทดสอบด้วยแรงสั่นแล้วหากมี เศษวัสดุรั่วไหลออกมาจากภาชนะบรรจุ ก็ถือว่า เป็นอันตรายไม่สามารถนำไปวางจำหน่ายหรือ ขนส่งได้ (รูปที่ 2) นอกจากนี้ ยังต้องมีการทดสอบการตกของดอกไม้ไฟ พลุ ที่ระยะความสูง 12 เมตร เพื่อตรวจสอบว่า มีการจุดติดระเบิดหรือไม่ และนอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบ ว่า ในการจัดเก็บสินค้าที่เสี่ยงต่อการระเบิดนั้น ตัวสินค้าสามารถจุดติดระเบิดได้เองหรือเปล่า (Self ignition test) ตามรูปที่ 3 และตรวจสอบกรณีเกิดไฟไหม้ด้านนอก ว่าพลุ ดอกไม้ไฟ มีปฏิกริยาอย่างไร (Out burning test) ตามรูปที่ 4   ภาครัฐต้องเอาจริง ไม่ใช่เอาอยู่ บทสรุปในเรื่องการจัดการสินค้า ที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะก่อให้เกิดวินาศภัยและมหันตภัยอย่างร้ายแรงนั้น อยู่นอกเหนือการจัดการและสั่งการขององค์กรภาคเอกชน ภาครัฐซึ่งมีหลายๆ หน่วยงานดูแลรับผิดชอบในด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยต้องใส่ใจ ในการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการจัดการสินค้าที่เป็นอันตราย ตลอดจนคำนึงถึงสวัสดิภาพโดยรวมของประชาชนเป็นหลักสำคัญ นอกจากจะต้องมีกฎหมายด้านความปลอดภัยที่ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องปฏิบัติตามอย่างจริงจัง นอกจากนี้หน่วยงานทางเทคนิคและทางวิชาการก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ถ้าภาครัฐจะเอาจริงกับเรื่องนี้ครับ ข้อมูลอ้างอิง1 คำแนะนำในการจัดการกับวัตถุเทียมระเบิด (Aufbewahrung von Feuerwerk der Klassen I und II), Bundesanstalt für Materialprüfung, Berlin  2005 รูปที่ 1 การทดสอบพลุและ ดอกไม้ไฟภายใต้แรงสั่นสะเทือนขนาด -50 g รูปที่ 2 หลังการทดสอบ พบมีผงจุดระเบิดรั่วออกมา สินค้าไม่ผ่านการทดสอบรูปที่ 3 ทดสอบการจุดติดไฟ โดยจะนำพลุ ดอกไม้ไฟ นำไปใส่ในหลุมที่ขุดลึกพอสมควร เพื่อดูความรุนแรงในการระเบิด รูปที่ 4 ทดสอบความรุนแรงในการระเบิด ซ้ายมือ) ก่อนเริ่มทดสอบ กลาง) เริ่มทดสอบ ขวามือ) ระดับความรุนแรงจากการทดสอบ

อ่านเพิ่มเติม >