ฉบับที่ 260 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2565

ยกเลิกโทษ-ปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย         หลังจากประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) เกี่ยวกับให้อำนาจจังหวัดสำหรับการออกคำสั่งการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อยกเลิกพระราชกำหนด พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระเบียบจะคงค้างอยู่ จึงให้ยกเลิกค่าปรับสำหรับคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขจะลงนามประกาศในราชกิจจาฯ ต่อไป ผ่อนรถคิดดอกเบี้ย "ลดต้น-ลดดอก”         17 ตุลาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ของปี พ.ศ.2561 และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังพ้นประกาศ 90 วัน โดยให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี ลักษณะแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือของแต่ละงวด         นอกจากนี้กรณีที่ยังไม่มีกฎหมายอัตราดอกเบี้ยสำหรับเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ไว้เฉพาะ ให้กำหนดดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อตามกลไกตลาด คำนวณดังนี้ กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี , กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี , กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับเปลี่ยนให้ลดลง-เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจประเทศทุก 3 ปี ห้ามใช้มือถือตอนขับรถฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1,000 บาท         เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 อาศัยอำนาจตามมาตรา 43(9)  แห่งราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ผู้ขับสามารถใช้โทรศัพท์ได้ต่อเมื่อทำตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1.ให้ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายหรืออุปกรณ์เสริมสำหรับสนทนา ระบบกระจายเสียงจากเครื่องโทรศัพท์โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องจับโทรศัพท์ 2. ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้ง โดยต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถขณะขับรถ กรณีผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ สัมผัสเพื่อใช้งานให้ผู้ขับหยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัยก่อนใช้โทรศัพท์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท อย. พบสารเอทิลีนออกไซด์ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป         กรณีที่มีข่าวสำนักงานอาหารของสิงคโปร์เรียกคืน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราหมี่ซีดาพ” ที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากพบปนเปื้อนสารเอิลีนออกไซด์ จำนวน 4 รายการ  จากกรณีดังกล่าว อย.ไทย ได้มีการตรวจสอบแล้ว “ไม่พบการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรุ่นดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในไทย” แต่ได้ทำการตรวจสอบสถานที่นำเข้า พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ซีดาพ จำนวน 8 รายการ ที่ผลิตในไทยมาตรวจสอบหาสารเอทิลีนออกไซด์          จากผลตรวจวิเคราะห์ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบ 2 ตัวอย่างที่มีสารเอทิลีนออกไซด์ คือ หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ชิคเค่น (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่เผ็ดเกาหลี) ซองสีดำ เลขสารบบอาหาร 10-3-12535-5-0548 รุ่นการผลิตได้แก่ รุ่นวันที่ผลิต 25 NOV 21 วันหมดอายุ 25 NOV 22 และ รุ่นวันที่ผลิต 07 DEC 21 วันหมดอายุ 07 DEC 22  ทั้งนี้ อย.ได้อายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและกำลังพิจารณาการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าพร้อมเตรียมขอความร่วมมือเรียกคืนสินค้าทุกชิ้นไม่เอาควบรวม ทรู-ดีแทค         17 ตุลาคม 2565 นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ปกป้องสิทธิผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยเจ้าของคลื่นความถี่และเป็นเจ้าของภาษีที่จ่ายเงินเดือนให้กับ กรรมการ กสทช. เนื่องจากอีกฝ่ายทำตัวไม่น่าไว้วางใจ ปัจจุบันยังไม่พบความชัดเจนต่อการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับใช้เล่ห์ทางกฎหมายปัดความรับผิดชอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องต่อ กสทช. ว่าผู้บริโภคเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของประเทศ เงินทุกบาททุกสตางค์จากการทำธุรกิจภายใต้การใช้คลื่นความถี่ มีมูลค่าสามารถนำมาพัฒนาประเทศใช้เป็นสวัสดิการให้ประชาชน และเชื่อว่า กสทช.มีข้อมูลมากมาย เกี่ยวกับการควบรวบ ทรู-ดีแทค แต่ไม่สิ่งที่ไม่เชื่อคือ ใจ วิธีคิดและจิตสำนึกของบอร์ดกสทช.ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน         ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 ต่อกรณีควบรวมทรู ดีแทค โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง”  ไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ทาหน้าผ่อนคลาย ทาขาหายปวด

“ทาแก้ปวดขา ทาตรงที่ปวดแล้วจะหาย เดินได้ ใช้ไปครึ่งกระปุกให้เติมน้ำลงไป คนๆ ให้ทั่ว แล้วก็ใช้ได้เหมือนปกติ” ข้อความบอกเล่าที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนผ่านสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม ฟังดูแล้วอาจจะทะแม่งๆ ชอบกล แต่เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์และใบปลิวโฆษณาแล้วจะยิ่งประหลาดใจกว่า ว่าในยุคนี้คนขายมันกล้าโฆษณาบอกผู้บริโภคขนาดนี้เชียวหรือ?  เพราะในแผ่นใบปลิวนั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้รับอนุญาตเป็นเครื่องสำอางเท่านั้น แต่ในเอกสารโฆษณามีข้อความบรรยายว่า เป็นผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีเนื้อครีมบางเบาและมีโมเลกุลขนาดเล็ก ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้รวดเร็วด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของสารสกัดต่างๆ โดยอ้างว่าได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศมาเลเซียว่า บำบัดแบบธรรมชาติได้จริง และจากผู้ใช้ทั่วโลกว่าช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ มีประสิทธิภาพในการลดริ้วรอย ลดความเมื่อยล้าของผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น เป็นความงามจากภายในสู่ภายนอก ช่วยลดอาการอักเสบและรอยช้ำของผิวได้ โดยการทาเพียงเช้าและก่อนนอน พลิกดูด้านในก็จะพบภาพและข้อความแสดงส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ระบุว่ามีสารสกัดจากพืช สมุนไพรและสารอาหาร มากมายหลายชนิด เช่น ไส้กรอกแอฟริกา (ช่วยให้ผิวพรรณกระชับ ช่วยในระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ใช้เป็นยารักษาโรค เช่น รูมาติก งูสวัด) มันจากานี (ช่วยซ่อมแซมเยื่อเมือกที่เสื่อมให้ดีขึ้น โรคริดสีดวงทวาร ปกป้องการติดเชื้อ อาการปวดตามข้อ เส้นเอ็นเสื่อมตามร่างกาย ฟื้นฟูฮอร์โมนเพศหญิง ยกกระชับมดลูกและช่องคลอด) ตงกัดอาลี (รากปลาไหลเผือก) (ช่วยเสริมฮอร์โมนเพศชายให้กลับมา กระชุ่มกระชวย ช่วยบำรุงการไหลเวียนของโลหิตและต่อมทอนซิลมีปัญหา แก้อาการเจ็บคอ)  สเต็มเซลล์ แอ๊ปเปิ้ลเขียว บัวบก ว่านหางจระเข้ คอลลาเจน มันเทศ ถั่วเหลือง วิตามินเอ วิตามีนบี3 และ บี5 วิตามินอี นอกจากนี้ยังมีภาพใบหน้าประกอบการโฆษณา ส่วนด้านหลังก็จะมีใบหน้าผู้ที่ใช้หลายคน ระบุ ก่อนใช้ และหลังใช้เห็นแบบนี้ใครๆ ก็คงเข้าใจว่าใช้กับใบหน้า แต่ปรากฏว่าผู้บริโภคที่เป็นเหยื่อให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีการประชาสัมพันธ์ขายตามตลาดสด โดยมีบุคคลมาอ้างอิงระหว่างการขายด้วย  บอกว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตในประเทศมาเลเซีย นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย สามารถรักษา อาการปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ โดยขายราคากล่องละ 1,800 บาท แถมยังบอกอีกว่า ทาแก้ปวดขา ทาตรงที่ปวดแล้วจะหาย เดินได้ เมื่อใช้ไปครึ่งกระปุกให้เติมน้ำลงไป คนๆ ให้ทั่ว แล้วก็ใช้ได้เหมือนปกติ สุดท้ายเมื่อตนซื้อมาใช้แล้วอาการปวดก็ไม่หายสรุปแล้วก็เข้าอีหรอบเดิมๆ คือ “อ้างอิงไปทั่ว - มั่วคำโฆษณา - หาเหยื่อยรายใหม่ – สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้ผล” ยังไงช่วยกันเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อ เจอที่ไหนแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ดำเนินการตรวจสอบทันทีเลยครับ จะได้ไม่ต้องเสียเงินพันกว่าบาทไปฟรีๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ระวังหนี้เพิ่มจาก โปรโมชั่น ผ่อน 0%

เศรษฐกิจยามนี้ ฝืดเคืองเหลือเกิน เมื่อคนไม่ซื้อของ ห้างร้านต่าง ๆ ก็ต้องัดกลวิธีทุกวิถีทางเพื่อเรียกลูกค้า หนึ่งในกลยุทธ์ที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือ “ผ่อนดอกเบี้ย 0%” ซึ่งเดี๋ยวนี้ เราสามารถใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% ได้เกือบ ทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่ โทรศัพท์ , TV , ตู้เย็น , ยางรถยนต์ ไปจนกระทั่งทัวร์ยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ยังมีโปรผ่อน 0%       “Oh Wow อะไรมันจะดีอย่างนี้ ผ่อน 0% ตั้ง 10 เดือน จ่ายน้อย ผ่อนนาน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย โอกาสแบบนี้รีบคว้าเลย” หลายคนตาเป็นประกาย เตรียมหยิบบัตรเครดิตออกมารูดแล้วใช่ไหม แต่ช้าก่อน ลองทบทวนดูอีกทีว่า “โปรผ่อน 0%” นี้จะเป็น โอกาสทอง หรือ กับดัก ตัวอย่าง เช่น Smartphone รุ่นใหม่ ตัว Top ราคา 24,000 บาท มีโปรโมชั่นให้ผ่อนได้นาน 12 เดือนดอกเบี้ย 0% เมื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิต แว๊บแรกในความคิดแรกของคนทั่วไปเมื่อเห็นโปรโมชั่น 0% แบบนี้คือ โทรศัพท์ราคา 24,000 บาท ผ่อน 12 เดือน ไม่เสียดอกเบี้ย ก็แบ่งจ่ายแค่เดือนละ 2,000 บาท แต่สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ เราไม่ได้ใช้บัตรเครดิตแค่รายการเดียวน่ะสิ แต่ละเดือนเราอาจจะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้า จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าอาหารร้านอร่อย ค่าไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ฯลฯ รวมกันหลายรายการ สมมุติว่า ผ่อน Smartphone 2,000 บาท + กินใช้อื่น ๆ 5,000 บาท ยอดที่เรียกเก็บมาในเดือนนั้นจะเท่ากับ 7,000 บาท และโดยปกติบัตรเครดิต จะกำหนดยอดขั้นต่ำเท่ากับ ยอดผ่อนสินค้าบวกกับ 10% ของยอดที่ใช้บัตร จากตัวอย่างก็จะเท่ากับ 2,500 บาท (2,000 + 10% ของ 5,000) 1.    ถ้าคุณชำระเต็มตามยอดที่เรียกเก็บมาทั้งหมด แบบนี้คุณก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใด ๆ ทั้งสิ้น2.    ถ้าคุณชำระเต็มตามจำนวนที่เรียกเก็บไม่ได้ ก็ขอให้จ่ายเกินกว่าหรือเท่ากับยอดขั้นต่ำที่เรียกเก็บมา 2,500 บาท เพราะกรณีนี้ แม้คุณจะยังต้องเสียดอกเบี้ยในส่วนที่คุณรูดบัตรเครดิตเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งยังชำระไม่ครบ แต่ในส่วนยอดผ่อน Smartphone 0% ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย3.    แต่ถ้าคุณผิดนัดไม่จ่ายหนี้ หรือชำระได้น้อยกว่ายอดขั้นต่ำ เช่น 2,000 บาท แม้จะเท่ากับยอดผ่อน 0% ที่เรียกเก็บมา แต่กรณีนี้คุณจะถูกคิดดอกเบี้ยทั้งในส่วนที่ผ่อน Smartphone แม้จะมีโปรโมชั่น 0% และเสียดอกเบี้ยในส่วนที่ใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายค่ากินใช้อื่น ๆ ด้วยสรุป มีเพียงกรณีเดียวที่คุณจะได้รับประโยชน์จากโปรโมชั่น “ผ่อน 0%” อย่างเต็มที่ นั่นคือ ต้องชำระเต็มตามจำนวนที่บัตรเครดิตเรียกเก็บทุกครั้ง และที่นี้รู้ยังว่า บริษัทบัตรเครดิตทำกำไรได้อย่างไรจาก “โปรโมชั่นผ่อน 0%”  เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจควักกระเป๋าได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทำกำไรจากการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 123 คอนโดโครงการไม่ขึ้น ยังต้องผ่อนต่อหรือไม่

คุณอรรถวิทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำสัญญาจองห้องชุดกับโครงการบางกอกคานส์ คอนโดมิเนียม ของบริษัท คอนคอร์ด พร็อพเพอร์ตีส์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด ห้องชุดที่จะซื้อจากโครงการนี้ ราคาตกที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ผู้ที่จะเข้าจองต้องชำระเงินจองในวันทำสัญญา 5,000 บาท คุณอรรถวิทย์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ต้องการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมชำระเงินก้อนแรก 7 หมื่นบาทเศษ และต้องผ่อนเงินดาวน์ไปอีก 30 งวดๆละ 7,600 บาท คุณอรรถวิทย์ผ่อนไปได้ 15 งวด ก็ไม่เห็นว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกันสักที เห็นท่าไม่ดีคุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือแจ้งระงับการผ่อนชำระงวดที่ 16 ในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าบริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือยืนยันปฏิเสธการชำระค่างวดเงินดาวน์ที่เหลือทั้งหมดในเดือนกันยายน 2552 จนถึงปลายปี 2553 โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเหลือติดตามเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดแนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ติดต่อสอบถามไปที่พนักงานขายของโครงการบางกอกคานส์ ทราบความว่า การที่โครงการไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมีปัญหา และการขอก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาต โครงการฯ จึงติดขัดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และการคืนเงินให้กับผู้บริโภคนั้น บริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่ แต่อยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินจากสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง กรณีที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรือบ้านจัดสรรไปแล้วและต้องรับภาระจ่ายค่างวดเงินดาวน์ หากผู้บริโภคพบวี่แววว่าการจ่ายค่างวดต่อไปในขณะที่โครงการฯ ไม่มีวี่แววว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิบอกกล่าวระงับการจ่ายเงินค่างวดได้ทันที โดยให้ทำเป็นจดหมายบอกกล่าวเหมือนอย่างที่คุณอรรถวิทย์ได้แจ้งให้กับบริษัทโครงการคอนโดรับทราบ ไม่ใช่ไปหยุดจ่ายค่างวดเอาเฉยๆ อย่างนั้นจะกลายเป็นผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกฟ้องได้ เมื่อทำจดหมายระงับการจ่ายค่างวดไปแล้ว และยังพบต่อมาว่าโครงการไม่เดินหน้าต่อไปได้อีก การเรียกจะเงินที่ได้จ่ายไปคืนนั้น ก็ให้ทำจดหมายขึ้นอีกหนึ่งฉบับ คราวนี้เป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโดยตรง เท่านี้ฝั่งผู้บริโภคก็จะมีหลักฐานปกป้องตัวเองได้อย่างครบถ้วน การทำจดหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้คุณอรรถวิทย์ได้รับเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดจากบริษัทฯ ในเวลาต่อมาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความฟ้องเป็นคดี ใครที่เจอกปัญหาลักษณะเดียววันนี้ นำวิธีนี้ไปใช้โดยด่วน หากปล่อยไว้จะกลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยอมให้เขาก่อสร้างล่าช้าเสียเอง จะทำให้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายเอาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ไอโฟนรุ่นพิเศษ ผ่อนไปซ่อมไป

คุณกีรติ ใช้บัตรอิออนไปเช่าซื้อไอโฟน 3G เครื่องมือสอง ราคา 18,900 บาท ที่ร้านเจมาร์ทสาขาบิ๊กซี พัทยาเหนือ ใช้งานได้เพียง 6 วันโทรศัพท์ก็เสีย คุณกีรติจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้าน “ผมแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการคืนสินค้า เพราะยังอยู่ในระยะเวลาเปลี่ยนหรือคืนสินค้าใน 7 วัน แต่ทางร้านไม่รับคืนและไม่เปลี่ยนเครื่องให้ บอกว่าถ้าจะให้ซื้อคืนจะรับซื้อในราคา 9,000 บาทเท่านั้น และไม่มีเครื่องเปลี่ยนให้ ผมเลยต้องยอมให้ทางร้านนำเครื่องไปซ่อมจนกว่าจะใช้ได้” ผ่านไปเดือนกว่าโทรศัพท์ก็ยังซ่อมไม่เสร็จเสียที ขณะที่ใบแจ้งหนี้จากอิออนก็มีมาเรียกเก็บแล้ว โดยคุณกีรติจะต้องผ่อนทั้งหมด 12 งวดๆละ 1,841 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 22,000 กว่าบาท ในขณะที่ใช้โทรศัพท์ได้เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น “ผมแจ้งให้อิออนทราบ อิออนแจ้งว่าจะช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า ซ้ำยังมีบิลเรียกเก็บเงินค่างวดที่ 2 พร้อมกับค่าติดตามอีก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ของอิออน ก็บอกให้ผมไปตกลงกับทางร้านเอง” “ผมน่ะไปตกลงกับทางร้านหลายครั้งแล้วว่าต้องการคืนสินค้า เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพแต่ทางร้านเจมาร์ทก็ไม่ยอมและไม่ทำเรื่องยกเลิกสัญญาซื้อขายให้ เดี๋ยวก็คงจะมีค่างวด 3 งวด 4 ตามมาอีก ผมไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับความเป็นธรรมครับ” คุณกีรติร้องถามอย่างน่าเห็นใจ แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่ใช้บัตรเครดิตไปทำสัญญาเช่าซื้อผ่อนสินค้า ขอให้รู้ว่า สัญญาของบัตรเครดิตนั้นเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บัตรเครดิตในกรณีที่ใช้บัตรเครดิตไปซื้อหรือผ่อนสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่เวลาที่กำหนด หรือได้รับสินค้าแต่สินค้านั้นเสียหรือไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ประสงค์ ผู้ใช้บัตรมีสิทธิบอกเลิกสัญญาการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้านั้นได้ทันทีและมิต้องชำระเงินให้กับบัตรเครดิตแต่อย่างใด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ในข้อสัญญาเหล่านี้เพราะทางบัตรเครดิตถ้าลูกค้าไม่ถามก็มักจะไม่แจ้งให้ลูกค้าของตนทราบ เพราะอยากได้เงินจากลูกค้ากันทั้งนั้น วิธีแก้นั้นง่ายมากครับ ขั้นที่หนึ่ง คือ ให้ผู้บริโภคทำจดหมายส่งถึงร้านค้าที่ขายสินค้าแจ้งถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าและขอคืนสินค้า พร้อมทั้งส่งสินค้าคืนให้กับทางร้านค้าไปพร้อมกับจดหมายฉบับดังกล่าว ขั้นที่สองให้มีจดหมายอีกฉบับแจ้งไปที่บริษัทบัตรเครดิต เรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องใช้งานไม่ได้ ไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทำจดหมายเสร็จแล้วให้ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับ แล้วเก็บใบตอบรับพร้อมสำเนาจดหมายไว้เป็นหลักฐาน เท่านี้ก็จะทำให้บริษัทบัตรเครดิตไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อีกต่อไป หากบริษัทบัตรเครดิตได้ชำระเงินให้กับร้านค้าไปแล้ว ก็ถือเป็นหน้าที่ของบริษัทบัตรเครดิตที่จะไปทวงถามตามเอาเงินของตนที่จ่ายไปคืนเอง สำหรับปัญหาของคุณกีรตินั้น เมื่อได้ทำจดหมายส่งไปถึงร้านเจมาร์ทและบริษัทบัตรเครดิต ไม่นานร้านเจมาร์ทต้องแจ้นส่งเครื่องใหม่เอี่ยมเปลี่ยนมาให้คุณกีรติใช้งานทันทีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องคืนเงินค่าโทรศัพท์ให้กับอิออนนั่นเองคุณกีรติแอบยิ้มให้กับตัวเอง “ไหนว่าไม่มีเครื่องเปลี่ยนไงฟะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รถหาย แต่ถูกขู่ว่ายักยอกทรัพย์

ในปัจจุบันต้องถือว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ซื้อง่ายและหายก็คล่อง อย่างที่มีข่าวว่า มีการค้นพบสุสานโครงรถจักรยานยนต์ในคลองแห่งหนึ่งที่แก๊งค์ลักรถนำมาทิ้งไว้ ทำให้มีคำถามเข้ามามากว่า เมื่อรถหายแล้วผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถคันนั้นมาจะต้องผ่อนกุญแจรถต่อไปหรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบครับคุณนฤมลได้ร้องเรียนมาว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ในราคา 41,000 บาท กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) โดยตกลงชำระเป็นงวด 36 งวด ๆ ละ 1,750 บาท คุณนฤมลได้ชำระมาถึงงวดที่ 19 ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์สุดที่รักถูกขโมยหายไป ได้แจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่ปรากฏว่าบริษัทอิออนได้มีเอกสารมาแจ้งให้คุณนฤมลชำระเงินต่อให้หมดอีก 17 งวดที่เหลือ คุณนฤมลพยายามต่อรองขอส่วนลดกับอิออนโดยขอชำระส่วนที่เป็นเงินต้นที่ค้างอยู่ แต่ทางอิออนบอกว่า ไม่ได้ ต้องจ่ายให้หมด ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องข้อหายักยอกทรัพย์อ้าว...! ไหงเป็นอย่างนี้ล่ะ คุณนฤมลร้อง อุตส่าห์ยอมที่จะผ่อนกุญแจรถให้แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรไปเสียนี่ จึงอยากจะให้ทางมูลนิธิ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาว่าตามกฎหมายแล้ว ในฐานะผู้บริโภคจะสามารถจ่ายในส่วนของเงินต้นที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนัก รายรับไม่แน่นอน จึงอยากจะเก็บสะสมเงินก้อนเพื่อนำไปจ่ายหนี้สินให้กับทางอิออนให้หมดไป มารดาจะได้ไม่ต้องทุกข์ใจเมื่อทางเจ้าหน้าที่โทรและส่งจดหมายมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นของไฟแนนซ์หรือลิซซิ่งไหนก็แล้วแต่ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสัญญาตามประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้คุ้มครองผู้บริโภคไม่ต้องผ่อนค่ากุญแจต่อไปจนครบสัญญาในกรณีที่รถหรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เพราะถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้ระงับลงแล้วเมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้สูญหายไปดังนั้น หากผู้บริโภคมั่นใจว่าการสูญหายของรถนั้นไม่ได้เกิดมาจากความประมาทหรือความจงใจของตนก็ให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที และให้ส่งสำเนาหลักฐานการแจ้งความไปให้อิออนครับ ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ เก็บตัวจริงไว้เป็นหลักฐาน หากจะมีการกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้นเองฝ่ายผู้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเช่นกันครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ยังผ่อนไม่หมด แต่รถหาย ใครต้องรับผิดชอบ?

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องรถกันบ้าง หลายคนคงมีความจำเป็นต้องใช้รถ เพื่อไว้ทำงาน และความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็มีบางคนที่ยังผ่อนค่ารถอยู่ วันดีคืนดีรถหายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวเองก็เดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อรถสุดที่รักถูกขโมยไป ยังซ้ำร้ายถูกบริษัทไฟแนนซ์ตามทวงเงินค่าเช่าซื้อรถอีก หลายท่านก็สงสัย รถก็ไม่ได้ใช้ ควรผ่อนต่อไปหรือหยุดจ่าย ทำไมเรายังต้องรับผิดชอบอีก ประเด็นดังกล่าวนี้ เคยมีบริษัทไฟแนนซ์ ยื่นฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อที่รถหายต่อศาล และศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างสำคัญ คือ การที่รถหายไปนั้น มีผลให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่างวดรถนับแต่วันที่รถสูญหาย ดั่งที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบรถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมายจากคำพิพากษาดังกล่าว เห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อที่ทำกันนั้น ความจริงคือสัญญาเช่าประกอบกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า จึงต้องนำบทกฎหมายเรื่องการเช่าทรัพย์มาใช้ด้วย ซึ่งตามกฎหมายเช่าทรัพย์กำหนดว่า หากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป สัญญาเช่าสิ้นสุดลง กรณีเช่าซื้อก็นำเรื่องนี้มาใช้ ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อกันหายไป โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อจึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไป นอกจากนี้ ศาลได้ชี้ว่า มีข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้เช่าซื้อ กรณีรถหายไว้ด้วย ซึ่งจะ ผู้ให้เช่าซื้อมักจะเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการกำหนดไว้ในสัญญาว่า ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเสียหาย และค่าเช่าซื้อ กรณีสัญญาได้ยกเลิกกันไปไม่ว่าเหตุใดๆ ซึ่งข้อสัญญานี้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งศาลก็มองว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกัน แต่ที่ตกลงกันไว้ว่าหากทรัพย์สิน สูญหาย ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ก็ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ใช้บังคับกันได้ ในฐานะเบี้ยปรับ ซึ่งศาลสามารถปรับลดได้หากสูงเกินคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550 เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ความจริง เมื่อรถหาย ผู้ให้เช่าซื้อมักจะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากบริษัทประกันภัย โดยผู้บริโภคเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัย และบริษัทไฟแนนซ์เจ้าของรถเป็นผู้รับผลประโยชน์ การที่บริษัทไฟแนนซ์ ได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทประกันภัยแล้ว ยังมาเรียกเก็บเงินค่าเช่าซื้อกับผู้บริโภคอีก ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งหากได้รับไว้แล้ว ต้องคืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์โดยสรุป ก็คือผู้บริโภคควรที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง ตั้งแต่ตอนทำสัญญา ต้องอ่านข้อสัญญาให้ละเอียดด้วย หากเห็นว่าข้อไหนไม่เป็นธรรมก็ควรโต้แย้งหรือสอบถามตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพื่อจะได้ให้เขาแก้ไข เพราะเมื่อเกิดปัญหาใครจะต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาเปิดดูสัญญากันอยู่ดี และเมื่อเกิดเหตุรถหาย ท่านจะต้องรีบแจ้งความเพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงนำใบแจ้งความที่ได้ไปยื่นให้กับบริษัทประกันภัยที่ทำไว้รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์ด้วย และที่สำคัญคือ “ ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าซื้ออีก “ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อรถหายไม่จำเป็นจะต้องผ่อนชำระค่างวดต่อ เนื่องจากสัญญาถูกระงับไปแล้ว นับแต่วันที่รถหาย แต่จะต้องมีการมาคำนวณค่างวดรถที่จ่ายแล้วเป็นเงินเท่าใด และบริษัทประกันได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเป็นเงินเท่าใด ถ้า 2 จำนวนนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าราคาที่ประกันจะต้องจ่าย ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากเกินจำนวนที่ทำประกันรถหายก็จะต้องผ่อนชำระในส่วนที่เหลือแต่ในส่วนนี้ถ้ามีการนำคดีสู่ศาล ศาลมีอำนาจจะสั่งให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระต่อหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลโดยศาลจะกำหนดความเสียหายให้ตามสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >