ฉบับที่ 202 อดได้ของ เพราะสัญญาซื้อขายผิดแบบ

ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมเป็นของตนเอง ซึ่งบางคนโชคดีไม่เจอปัญหาใดๆ ในขณะที่หลายคนเจอปัญหามากน้อยต่างกันไป และหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือเรื่องของมาตรฐานหรือรูปแบบของสัญญาในการซื้อขาย ซึ่งจะมีเรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น เราลองไปดูกันคุณชาลาชื่นชอบคอนโดของโครงการ Arcadia Beach Continental ซึ่งเป็นคอนโดหรูสไตล์ยุโรป เธอจึงตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดห้องหนึ่งของโครงการดังกล่าว และได้ชำระเงินจองเป็นจำนวน 50,000  บาท อย่างไรก็ตามภายหลังทำสัญญาเสร็จแล้วเรียบร้อย คุณชาลาก็มาทราบว่าสัญญาที่เธอทำไปนั้น ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นสัญญาที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เธอจึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้เสนอกลับมาว่าให้เธอเปลี่ยนมาจองห้องของอีกโครงการหนึ่งแทน โดยจะลดราคาให้เป็นพิเศษ แต่ต้องชำระค่าเงินจองเพิ่มอีกประมาณ 300,000 บาทด้านคุณชาลาเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าสนใจ จึงตกลงทำตามที่บริษัทแนะนำและชำระเงินเพิ่มไป อย่างไรก็ตามหลังเวลาผ่านไปหลายเดือน เธอก็ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว แต่กลับพบความจริงว่า ทางบริษัทได้นำห้องที่เธอจองไว้ ไปขายให้กับบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เธอจึงตัดสินใจทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาทั้งหมดไปยังบริษัท แต่ทางบริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ กลับมา ทำให้คุณชาลาไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พร้อมส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลืออีกทางแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ให้คำแนะนำในการทำสัญญาเพื่อจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ต้องใช้แบบสัญญามาตรฐาน(อ.ช.22) ทั้งยังต้องให้เป็นไปตามประกาศของ สคบ.กำหนด คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุม พศ.2543 (3) ที่กำหนดให้สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้ข้อความในสัญญาเป็นภาษาอื่นนั้น สัญญาย่อมไม่มีผลบังคับใช้ได้นอกจากนี้ในกรณีห้องชุดที่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ผู้ประกอบการไม่สามารถนำห้องดังกล่าว ไปขายให้กับบุคคลอื่นได้ เพราะจะถือว่าเป็นการผิดสัญญา โดยผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนจากผู้ประกอบการได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถเข้าไปดูตัวอย่างรูปแบบของหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org/data-storage/non.html)ทั้งนี้ก่อนที่ศูนย์ฯ จะได้ช่วยผู้ร้องดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้ร้องที่มูลนิธิ ก็พบว่าทาง สคบ. ได้เรียกให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจาก่อน ซึ่งผลปรากฏว่า ทาง สคบ. ได้ช่วยเหลือผู้ร้องให้ได้เงินคืนส่วนหนึ่งแล้ว โดยเป็นส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปในรอบที่สอง เนื่องจากเงินส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปรอบแรกนั้น ทาง สคบ. มองว่าผู้ร้องไม่ได้มีเจตนาซื้อคอนโดดังกล่าวไว้เพื่ออยู่อาศัยเอง แต่ซื้อไว้เพื่อขายต่อหรือออกให้เช่าเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นจึงไม่รับไกล่เกลี่ยให้ เพราะไม่เข้าข่ายเป็นผู้บริโภค ซึ่งผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้เรื่องยืดเยื้อไปมากกว่านี้และขอยุติการร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >