ฉบับที่ 277 ป้องกันผดผื่นหน้าร้อนได้ด้วยตนเอง

        หน้าร้อนประเทศไทย พ.ศ. 2567 อุณหภูมิพุ่งสูงไปถึง 40 กว่าองศา ถือว่าร้อนมากๆ จะออกไปไหนทีแทบละลายเพราะอุณหภูมิ อากาศร้อนแล้วแดดยังแรงไปอีกก็อย่าลืมป้องกันผิวด้วยครีมกันแดดเพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี แต่ว่านอกจากผิวไหม้เกรียมจากแดด ปัญหาที่พบบ่อยของหลายคนในช่วงหน้าร้อนนี้อีกอย่างจากสภาพอากาศร้อนก็คงจะเป็นอาการผดผื่นที่ขึ้นมาตามร่างกาย ซึ่งจะป้องกันได้อย่างไรฉลาดซื้อมีคำแนะนำมาฝาก         ผดผื่นหน้าร้อนเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ขึ้นได้ทุกบริเวณร่างกายทั้ง ใบหน้า หลัง แขน ขา ข้อพับต่างๆ ตามจุดที่เกิดเหงื่อได้ง่าย ปกติผดผื่นลักษณะนี้มักจะสามารถหายไปได้เองได้ตามธรรมชาติอาจจะไม่ต้องกังวลมาก แต่ยังไงก็ต้องป้องกันไว้ก่อนดีกว่าซึ่งทำได้ง่ายๆ  ดังนี้         1. ผดผื่นเกิดจากความร้อนเป็นสาเหตุ เราก็พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น โล่งโปร่งสบายๆ พื้นที่อากาศถ่ายเทได้ตลอด หลีกเลี่ยงไม่ให้เหงื่อออกเยอะได้ยิ่งดี        2. ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่เป็นเสื้อที่คับแน่นจนเกินไป ที่สำคัญควรเป็นเสื้อซักสะอาดแล้ว ไม่ใส่เสื้อซ้ำเพราะอาจก่อให้เกิดความหมักหมม เหงื่อไคล สิ่งสกปรกต่างๆ ได้ เรื่องสุขอนามัยสำคัญเสมอ        3. อาบน้ำเย็นและไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ก่อให้ระคายเคืองง่าย หรือใช้แล้วผิวแห้งตึง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม        4. สายออกกำลังกาย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งที่แดดแรงๆ และควรทาครีมกันแดดซ้ำสม่ำเสมอ  หลังออกกำลังกายควรอาบน้ำเพื่อชำระคราบเหงื่อบนร่างกายออก        5. หลีกเลี่ยงแสงแดดแรงๆ หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่อุณหภูมิสูง        6. สำหรับใครที่สายบำรุงผิว ต้องทาครีมสม่ำเสมอแนะนำให้ไม่เลือกเนื้อครีมที่หนักจนเกินไป เพราะจะทำให้อุดตันได้ง่าย          ผดผื่นไม่ค่อยอันตรายแต่มักจะสร้างความรำคาญ เช่น อาการคัน และเป็นตุ่มใสๆ ขึ้นมาแนะนำว่าพยายามอย่าแกะหรือเกา เพราะอาจทำให้แผลถลอกแสบจนก่อให้เกิดแผลเป็น         วิธีรักษาผดผื่นได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น หากมีอาการคันมากๆ แนะนำให้อาบน้ำเย็นหลังจากนั้น ให้ทายาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการคัน เช่น Calamine Lotion ถ้าไม่ดีขึ้น หรือหลายวันแล้วผื่นผด ยังไม่ยุบและมีตุ่มหนอง ตุ่มแดง หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี อย่าซื้อยามากินหรือทาเองเด็ดขาด         ในกรณีเข้าร้านยาเพื่อซื้อยาควรปรึกษาเภสัชกรโดยบอกอาการให้ชัดเจน บอกตัวยาที่เราแพ้ให้ละเอียดเพื่อป้องกันอันตรายในการบริโภคยาผิดชนิด อ่านและศึกษาวิธีการใช้ให้ชัดเจน เพราะยาทาบางตัวที่ใช้ทาผิวหนังอาจเป็นยาสเตียรอยด์ใช้บ่อยๆ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้ ทั้งนี้ นอกจากผดผื่นทางผิวหนังช่วงหน้าร้อนแล้ว ยังคงมีโรคทางผิวหนังช่วงหน้าร้อนอีกหลายประเภท ดังนั้น อยากให้หลายๆ คนดูแลตนเองโดยหมั่นรักษาความสะอาด สุขอนามัยให้ดี ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ  ข้อมูลจาก https://www.vimut.com/article/Prickly-heathttps://www.siphhospital.com/th/news/article/share/379https://www.pobpad.com/ผดร้อนhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/รับมือ-ผดผื่นคัน-วายร้า/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 รับมือผดผื่นหน้าร้อน

        เมื่อถึงเดือนเมษา นอกจากต้องเตรียมรับมือเรื่องอาหารเป็นพิษ ลมแดดหรืออาการหมดสติจากอากาศร้อนแล้ว ผดผื่นหน้าร้อนก็เป็นปัญหาที่ก่อความรำคาญด้วยเช่นกัน แม้อาการของผดร้อนไม่ได้ร้ายแรงและจะดีขึ้นเองหากไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อน แต่ถ้าไม่เป็นเลยจะดีกว่า         ผดร้อน เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง กล่าวคือร่างกายคนเรานั้นมีวิธีระบายความร้อนด้วยการขยายหลอดเลือดแดงที่ผิวหนังและต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อเพื่อช่วยระบายความร้อนออกทางผิวหนัง ถ้ามีการอุดตันของท่อเหงื่อก็จะเกิดตุ่มน้ำใสๆ หรือตุ่มเนื้อขึ้น โดยเฉพาะบริเวณ รักแร้ หน้าอก ข้อพับ หลังคอ ไหล่ หรือต้นขา บางคนก็แสดงอาการที่ใบหน้าและหนังศีรษะด้วย         แม้ภาวะผดร้อนจะไม่อันตรายแค่สร้างความรำคาญด้วยอาการคัน ถ้าไม่เกาจนเกิดแผลถลอกและติดเชื้อ อาการจะปรากฎไม่นาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงและหายไปเอง อย่างไรก็ตามกับเด็กเล็ก ผู้ปกครองอาจต้องช่วยเหลือดูแลเพื่อไม่ให้ลุกลาม          การป้องกันผดร้อนต้องควบคุมที่สาเหตุคือ การหลั่งเหงื่อ นั่นคือหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนมาก พยายามอยู่ในที่ที่อากาศโปร่ง เย็นสบายหรือห้องปรับอากาศ หากอยู่กลางแจ้งอาจใช้ผ้าเย็นประคบเพื่อระบายความร้อนบริเวณผิวหนังที่มักเกิดปัญหาผดผื่น             ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรึงหรือเสื้อผ้าเนื้อผ้าหนาๆ ควรสวมใส่เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่นหรือครีมเนื้อหนักป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ กรณีเด็กเล็กควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าหลวมๆ ไม่ออกแดดนานและอาบน้ำเพื่อช่วยระบายความร้อนและล้างเหงื่อให้บ่อยขึ้น เลี่ยงการเช็ดตัวด้วยผ้าป้องกันแผลเสียดสี สำคัญตัดเล็บเด็กๆ ให้สั้นลดการเกาจนเกิดแผล         การรักษาผดร้อน         ธรรมดาอาการผดผื่นร้อนจะไม่รุนแรงและจะหายไปเอง แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนหรือรุนแรงขึ้นควรพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ ซึ่งอาจได้รับยาแก้แพ้ หรือขึ้ผึ้งทาผิวเพื่อบรรเทาอาการ         การดูแลตนเอง อย่าเกาจนเกิดแผลถลอก อาจการแก้อาการคันด้วยการประคบความเย็น หรือใช้แป้งน้ำหรือโลชั่นคาลาไมน์ หรือลองด้วยสมุนไพรแบบไทยๆ ที่ใช้ดูแลรักษาผดร้อนกันมาแต่โบราณ อย่างใบพลู(ใบพลูที่กินกับหมาก) ด้วยการตำให้ละเอียดคั้นน้ำแล้วผสมกับเหล้าขาวชุบทาที่ผด ผดจะยุบตัวลง หรือใช้ฤทธิ์เย็นจากว่านหางจระเข้ โดยใช้วุ้นใสๆ ที่อยู่ในลำต้นแปะไปที่บริเวณผด สำหรับว่านหางสามารถเก็บวุ้นใสแช่เย็นไว้ใช้ในกรณีเกิดผดผื่นขึ้นมาอีก กรณีเผลอเกาจนเกิดแผลถลอก สมุนไพรที่ช่วยได้คือ ขมิ้นชัน ตำเหง้าให้แตกแล้วนำน้ำจากส่วนเหง้าทาบนแผลจะช่วยให้แผลสมานตัวไวขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >