ฉบับที่ 272 ส่องราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ พรีเมียม

        ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาเนื้อหมูขึ้นราคาโดยทะยานไปสูงถึง กิโลกรัมละ 250 บาท เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือ การระบาดของโรค อย่างไรก็ตามแม้มีการควบคุมราคาและดำเนินการเรื่องโรคระบาดแล้ว ราคาก็ค่อยๆ ปรับลดลงมาแต่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ราคาเนื้อหมูยังคงสูง และเนื้อไก่ก็ขึ้นราคาตามมาด้วยเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบหลากหลายจากสถานการณ์โลกโดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงาน ค่าอาหารสัตว์         อย่างไรก็ตามจากการติดตามเรื่องปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่อาจเหลือตกค้างในผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ผ่านมาของนิตยสารฉลาดซื้อ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นฉลาดซื้อพบว่า ยังพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์หลายตัวอย่างแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงยังคงอยู่ จนเกิดความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลี้ยง         ความไม่มั่นใจในกระบวนการเลี้ยงหมู ไก่ ของผู้บริโภคนี้ย่อมทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผู้ผลิตสามารถควบคุมการเลี้ยงให้ปลอดภัยได้ตลอดกระบวนการ ดังนั้นในตลาดปัจจุบันจึงพบเห็นสินค้าเนื้อหมู เนื้อไก่ อนามัย ไร้สาร หรือเนื้อสัตว์แบบพรีเมียมที่ระบุว่า ตลอดกระบวนการเลี้ยงของตนนั้นปลอดจากการใช้สารต่างๆ ที่สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภค เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น         เมื่อกระบวนการผลิตบ่งบอกความพิเศษ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเข้าใจก็คือ ราคาจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลี้ยงปกติที่จำหน่ายในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ย่อมเกิดคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่กันที่ผู้บริโภคจะมีความมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ที่ผลิตในกระบวนการปกตินั้นมีความปลอดภัย และมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการกล่าวอ้างถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยจากสารต่างๆ เพื่อดูว่า ราคาของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มนั้น มีสัดส่วนที่แพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติเท่าไร         วิธีการเก็บตัวอย่าง เก็บผลิตภัณฑ์เนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนังของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างงว่าเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษ ปลอดภัยจากสารต่างๆ จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง ผลการสำรวจฉลาก         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จากฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาเก็ต ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก หมูสามชั้น 175 บาท/กิโลกรัม หมูสันนอก 130 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com)  )         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม (ตัดตัวอย่างเบทาโกรเนื้อไก่อนามัยออกไป เพราะเป็นราคาโปรโมชั่น) ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา ท็อปส์ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก อกไก่ 90 บาท/กิโลกรัม น่องติดสะโพก 85 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com))

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เลือกบริโภค “ผัก” ปลอดสาร ต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจริง

“กินผักดี  มีประโยชน์” แนวทางหนึ่งที่คนรักสุขภาพเชื่อกันว่าจะทำให้ห่างไกลจากโรควิถีชีวิต ซึ่งเป็นโรคที่รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนยุคนี้ถึงกว่า 66 % โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การบริโภคอาหารนอกบ้าน ประเภทอาหารจานด่วน การมีพฤติกรรมกินอาหารมีไขมันแบบเดิมๆ ซ้ำๆ จึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา อาทิ เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ­­ “เตรียมผักไว้ทำกับข้าว” กินที่บ้านกับคนในบ้าน ดีทั้งสุขภาพ และมีความสุขกับคนในครอบครัว ลูกๆ หลานๆ  แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ผัก” ที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ปลอดสารพิษ กินดี และมีประโยชน์จริง เพราะผักปลอดสารพิษที่นำมาขายตามท้องตลาดและห้างสรรพสินค้า มีมากชนิดเสียจนบางครั้งก็ทำให้สับสนว่าจะเลือกซื้อร้านไหน หรือ ยี่ห้อไหนดี หรือว่าจำเป็นหรือไม่ที่หันมาบริโภคผักปลอดสารพิษที่มีราคาสูงกว่าผักทั่วไปถึง 3-4 เท่าตัว สำหรับผักปลอดสารพิษนั้น หลายๆ คนอาจเข้าใจว่ามีกรรมวิธีการปลูกขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น อันที่จริงแล้วอ่านดูจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พบว่าเขาอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีบางชนิดในผักปลอดสารพิษได้ เช่น ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน แต่มีข้อแม้คือ สารเคมีดังกล่าวจะต้องมีสารตกค้างในระยะสั้นเท่านั้น และจะต้องหยุดใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดไว้  ซึ่งนี่ถือเป็นมาตรการป้องกันระดับหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐ จากตารางข้างต้น อธิบายได้ว่า ผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค คือผักที่ไม่ใช้สารเคมี ทั้งสิ้นในการปลูก ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีกำจัดโรค กำจัดแมลง กำจัดศัตรูพืช ไม่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ไม่ใช้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรม และให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม. ส่วนผักอนามัย จะปลูกแบบใช้สารเคมีในปริมาณที่กรมฯ กำหนด มีการใส่ใจเรื่องความสะอาดทุกขั้นตอน ก่อนและหลังการเก็บและบรรจุลงหีบห่อ สำหรับ  ผักปลอดสารพิษ ต้องไม่มีการใช้สารเคมีแต่ก็มีบางชนิดที่สามารถใช้ได้ ผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกโดยน้ำนั้น ยาฆ่าแมลงและยาปราบ ศัตรูพืชจะเข้าสู่ผักได้ แต่ทราบว่ากรมฯ เขาก็ได้กำหนดปริมาณที่เหมาะสมไว้แล้วเช่นกัน ฟังดูอย่างนี้ก็จะรู้สึกว่าผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค น่าจะสะอาดที่สุดและปลอดภัย กว่าผักประเภทอื่น แต่ก็มีราคาสูงมาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคแล้วว่าจะเลือกซื้อแบบไหน ที่น่าคิดคือ เรามั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อความที่พิมพ์ไว้บนถุงผักที่วางขายตามร้าน ได้ผ่านการปลูกแบบปลอดสารพิษจริงๆ ไม่ใช่แค่พิมพ์ข้อความไว้เท่านั้น ก็คงต้องฝากหน่วยงานไปเข้มงวดกวดขันกันหน่อย หรือหากไม่อยากเสียเงินเยอะๆ ก็ซื้อผักธรรมดาตามท้องตลาดก็ได้ แต่ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น อย่าเลือกซื้อแต่ผักที่สวย ไม่มีหนอนหรือแมลงกัดกิน เพราะนั่นแสดงว่าอาจมีการใช้สารเคมีในการปลูก แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไปเพราะได้ข่าวว่าหลังๆ นี้เริ่มมีวิธีการหลอกลวงขั้นเทพ คือสามารถทำให้ผักที่ขายมีร่องรอยเหมือนหนอนกินได้แล้ว เท็จจริงอย่างไรก็ลองสืบหาข้อเท็จจริงกันต่อไป กินผักตามฤดูกาล กินผักหน้าตาแปลกๆ บ้าง ไม่ซ้ำซากอยู่แต่กับผักเดิมๆ ก็ช่วยได้มาก ข้อสำคัญไม่ว่าจะเลือกซื้อผักปลอดสารพิษ หรือไม่ปลอดสารพิษมาแล้วก็ต้องล้างให้สะอาดด้วยอย่างน้อยก็ช่วยลดสารปนเปื้อนลงได้ระดับหนึ่ง(เว้นพวกดูดซึม อันนี้สุดจะเยียวยา) ก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร จะได้มั่นใจขึ้นเป็นสองเท่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี

ผักสดผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่ในกระบวนการปลูกก็มีเรื่องของสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก สุขภาพที่ดีก็อาจเปลี่ยนเป็นสุขภาพที่ร้ายได้ หลายหน่วยงานจึงจัดทำมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อเลยขอโอกาสช่วยตรวจสอบซ้ำให้กับผู้บริโภค โดยฉลาดซื้อได้คัดเลือกผักจำนวน 7 ชนิด เพื่อนำมาวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง ผักทั้ง 7 ชนิดที่เราเลือกมานั้นประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา ล้วนเป็นผักยอดนิยมที่มักจะถูกเลือกเป็นส่วนประกอบในหลายๆ เมนู หาซื้อหารับประทานได้ทั่วไป ฉลาดซื้อเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะรับประทานผักเหล่านี้เป็นประจำ ตัวอย่างผักทั้ง 7 ชนิดที่นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ ได้เลือกสุ่มเก็บตัวอย่างผักที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีหลายๆ บ้าน หลายๆ ครอบครัวนิยมเลือกซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น โดยตัวอย่างผักที่เราเก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาทดสอบทั้ง 7 ชนิด จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือผักที่ได้รับเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็ นตรารับรองสินค้าเกษตรคุณภาพ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ส่วนอีกหนึ่งกลุ่ม จะเป็นผักที่จำหน่ายโดยใช้ตราหรือยี่ห้อของทางห้างเอง (House brand)   การวิเคราะห์จะดูการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และ กลุ่มคาร์บาเมต ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกผักนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน โดยเราจะนำผลวิเคราะห์ที่ได้มาเทียบเคียงเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ที่ออกโดยมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) 1. รายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มมาตรฐาน Q ตัวอย่าง ยี่ห้อ ผู้ผลิต ราคา ผลการวิเคราะห์ (มก./กก) มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.)   สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป   กะหล่ำปลี ตราโครงการหลวง โครงการหลวง เชียงใหม่ 69 บ. / 1 กก. ไม่พบ ไม่พบ - -   คะน้า ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - ไม่พบ Methiocarb น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methiocarb 0.1   ถั่วฝักยาว ตราผักด๊อกเตอร์ บ.ผักด๊อกเตอร์ จำกัด 39 บ. / แพ็ค ไม่พบ Cardofuran 0.07 Methomyl 0.08 Carbofuran 0.1 Methomyl 1 Carbofuran 0.02 Methomyl 0.02   ผักกาดขาว ตราผักด๊อกเตอร์ บ.ผักด๊อกเตอร์ จำกัด 45 บ. / แพ็ค ไม่พบ ไม่พบ -   -   ผักบุ้งจีน ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - ไม่พบ ไม่พบ - -   ผักชี ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02   พริกจินดา ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - Chlorpyrifos 0.31 ไม่ พบ Chlorpyrifos 0.5 Chlorpyrifos 0.5   2. รายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตราห้าง (House Brand) ตัวอย่าง ยี่ห้อ ผู้ผลิต ราคา ผลการวิเคราะห์ มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี เทสโก้ โลตัส สาขา บางประกอก - - ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า โฮม เฟรช มาร์ท สาขา เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน - 25 บ. / 250 กรัม Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02 ถั่วฝักยาว เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 2 - 7 บ. / แพ็ค Ethion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการ ตกค้าง) Ethion 0.01 ผักกาดขาว เทสโก้ โลตัส สาขา บางประกอก - 36.75 / 1 หัว ไม่พบ ไม่พบ - - ผักบุ้งจีน เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 1 - 5 บ. / แพ็ค ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี กูเม่ร์ มาร์เก็ต สยามพารากอน - 29 บ. / 80 กรัม Chlorpyrifos 0.84 Methidathion 0.06 Aldicarb 0.01 Carbofuran 0.75 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 1 - - Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02     : เก็บตัวอย่างเมื่อเดือน มีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผลการวิเคราะห์ เริ่มที่ข่าวดี ผลจากการวิเคราะห์บอกกับเราว่า ผัก 3 ใน 7 ชนิด คือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวและผักบุ้งจีน ทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ว่าจะในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตหรือกลุ่มคาร์บาเมต งั้นมาดูผักอีก 4 ชนิด ที่ตรวจพบการปนเปื้อน มาดูกันสิว่าจะมีผลต่อผู้บริโภคอย่างเรามากน้อยแค่ไหน ผักคะน้า เริ่มกันที่ ผักคะน้า โดยตัวอย่างในกลุ่มผักที่ได้รับมาตรฐาน Q เป็นผักคะน้ายี่ห้อ เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนสารในกลุ่มคาร์บาเมต ที่ชื่อว่า เมทธิโอคาร์ป (Methiocarb) ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งหากจะเทียบตามเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ไม่ได้มีกำหนดเกณฑ์ของ เมทธิโอคาร์ป เอาไว้ เราจึงเทียบกับมาตรฐานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของยุโรป ซึ่งกำหนดให้คะน้า (ใช้คำค้นหาว่า Chinese broccoli) พบการปนเปื้อน เมทธิโอคาร์ป ได้ไม่เกิน 0.1 มล. ต่อ กก. ซึ่งเท่ากับว่าผลการวิเคราะห์ที่ได้ไม่เกินเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนตัวอย่าง ผักคะน้า ในกลุ่มตราห้าง ที่เก็บตัวอย่างจาก โฮม เฟรช มาร์ท สาขา เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน พบการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ตัวที่มีชื่อว่า เมทิดาไทออน (Methidathion) ปริมาณที่พบคือ น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งก็ไม่ได้มีกำหนดไว้ในเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ มกอช. เช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อนำไปเทียบกับเกณฑ์ของยุโรปที่กำหนดให้ เมทิดาไทออน ที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ผลทดสอบที่ได้จึงเกินจากเกณฑ์ที่กำหนดไปนิดๆ   ถั่วฝักยาว ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q ที่นำมาวิเคราะห์ คือ ตราผักด๊อกเตอร์ พบการปนเปื้อนวัตถุอันตรายทางการเกษตรเฉพาะในกลุ่มคาร์บาเมต 2 ตัว คือ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) ที่ปริมาณ 0.07 มล. ต่อ กก. อีกตัวคือ เมโทมิล (Methomyl) ที่ปริมาณ 0.08 มล. ต่อ กก. ซึ่งสารเคมีทั้ง 2 ตัว มีการกำหนดไว้ในเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ มกอช. โดยในถั่วฝักยาว อนุญาตในพบการปนเปื้อนของ คาร์โบฟูราน สูงสุดไม่เกิน 0.1 มล. ต่อ กก. ส่วน เมโทมิล สูงสุดได้ไม่เกิน 1 มล. ต่อ กก. เท่ากับว่าผลทดสอบ ถั่วฝักยาว มาตรฐาน ตราผักด๊อกเตอร์ พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ มกอช. มาดูที่ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว ที่ใช้ตราของห้างสรรพสินค้า ซึ่งเราเก็บตัวอย่างมาจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 2 พบการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส 1 ตัว คือ อีไทออน (Ethion) ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ซึ่งในเกณฑ์ของ มกอช. ไม่ได้มีการกำหนดปริมาณที่สามารถพบได้ของสารนี้ในถั่วฝักยาว แต่มีการกำหนดไว้ในกลุ่มของถั่วทั้งชนิดที่เป็นฝักสดและชนิดเมล็ดแห้ง โดยตั้งเกณฑ์การปนเปื้อนไว้ที่ไม่เกิน 1 มล. ต่อ กก. หากลองใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวตั้ง การพบ อีไทออน ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ก็ถือว่าห่างจากเกณฑ์สูงสุดที่ตั้งไว้ค่อนข้างมาก   ผักชี ในมาตรฐานสารเคมีในสินค้าเกษตรของ มกอช. ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของ ผักชี เอาไว้ ทำให้เราต้องนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของยุโรปแทน โดยตัวอย่าง ผักชีมาตรฐาน Q ตรา เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน (Methidathion) น้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ซึ่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์สินค้าเกษตรของยุโรป กำหนดไว้ให้ถั่วฝักยาวสามารถพบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน ได้ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ซึ่งนั้นเท่ากับว่าตัวอย่างผักชีมาตรฐาน Q ที่เรานำมาทดสอบพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงเกินมาตรฐาน เช่นเดียวกับ ตัวอย่าง ผักชีตราห้าง ที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) 0.84 มล. ต่อ กก., เมทิดาไทออน (Methidathion) 0.06 มล. ต่อ กก., อัลดิคาร์บ (Aldicarb) 0.01 มล. ต่อ กก., และ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) 0.75 มล. ต่อ กก. โดยผลวิเคราะห์ที่ได้ถือว่าน่าตกใจ เพราะในเกณฑ์สินค้าเกษตรปลอดภัยของยุโรป อนุญาตให้พบการปนเปื้อนของ คลอร์ไพริฟอส ไม่เกิน 0.05 มล. ต่อ กก. และ คาร์โบฟูราน ก็กำหนดให้ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. แต่เมื่อดูตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์จะเห็นว่าพบการปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในปริมาณที่สูงมาก จนน่าเป็นห่วง   พริกจินดา พริกจินดา มาตรฐาน Q ตรา เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนของ คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) ที่ 0.31 มล. ต่อ กก. ซึ่งเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งของ มกอช. และยุโรป คือไม่เกิน 0.5 มล. ต่อ กก. เท่ากัน ตัวอย่างพริกจินดามาตรฐาน Q จึงถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนตัวอย่าง พริกจินดาตราห้าง พบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน (Methidathion) น้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. โดยเกณฑ์ของ มกอช. ไม่ได้กำหนดไว้ เมื่อนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของยุโรปซึ่งกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ดังนั้นผลวิเคราะห์ที่ได้ที่ว่าน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ก็อาจจะถือว่าเกินเกณฑ์ของยุโรป แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มาก   สรุป -ใครที่ยังเข้าใจว่าผักมาตรฐาน Q เป็นผักปลอดสารคงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะผักที่ได้รับมาตรฐาน Q จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเพียงผักที่ได้รับการการันตีว่ามีการใช้สารเคมีอยู่ในเกณฑ์ที่ทางสำนักงานกำหนดว่าปลอดภัยเท่านั้น หากมีการสุ่มตรวจต้องพบการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเกินจากเกณฑ์ที่ มกอช. กำหนด ยืนยันได้จากตัวอย่างผักที่เรานำมาทดสอบ หลายตัวยังพบการปนเปื้อนของสารเคมี (ถ้าหากอยากทานผักที่ปลอดสารเคมีจริงๆ ต้องเลือกผักที่เป็นผักเกษตรอินทรีย์) -อันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะสะสมในระยะยาว เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็ง ส่งผลเสียต่อสมอง และระบบทางเดินหายใจ ส่วนพิษเฉียบพลันซึ่งมักเกิดกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีโดยตรง อาการที่จะเกิดขึ้นก็มีทั้ง เวียนหัว อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ไปจนถึงเกิดอาการใจสั่น หายใจติดขัด (จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วงปี 2543 – 2552 มีผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,996 ราย) -จากผลการวิเคราะห์สารเคมีที่พบในตัวอย่างผักกลุ่มที่ได้รับเครื่องหมาย Q แต่ละชนิดส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ของ มกอช. ยกเว้น ถั่วฝักยาว ที่พบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์ที่ มกอช. กำหนด -ที่น่าสังเกตคือ ผักชี ซึ่ง มกอช. ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดเรื่องการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง โดยตัวอย่าง ผักชี มาตรฐาน Q เมื่อนำผลวิเคราะห์ที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ของยุโรป แม้จะเกินมาตรฐานแต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่เมื่อเป็นตัวอย่าง ผักชีตราห้าง กับพบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้หลายคนอาจจะคิดว่าผักชีเป็นผักที่เราใช้โรยหน้าในอาหารเมนูต่างๆ ซึ่งปกติเราจะทานในปริมาณที่น้อยมากๆ การปนเปื้อนของสารเคมีอาจไม่ส่งผลร้ายอะไร แต่การพบปริมาณการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงจำนวนมากแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การใช้สารเคมีในการเกษตรของบ้านเราซึ่งยังมีมากจนน่าเป็นห่วง ในระยะยาวอันตรายของสารเคมีของส่งผลกระทบกับสุขภาพของเกษตรกรมากกว่าผู้บริโภค เพราะเกษตรกรสัมผัสกับสารเคมีอันตรายเหล่านี้โดยตรงและเป็นประจำทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้านการส่งออกก็จะเกิดปัญหาหากเราส่งผักที่มีการปนเปื้อนแบบนี้ออกไป ทางแก้ไขก็ต้องเป็นให้ความรู้กับเกษตรกรผู้ผลิต ว่าสารเคมีที่ใช้อยู่เป็นอันตรายยังไง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการ ลดการใช้ การผลิต การนำเข้า สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย กระตุ้นและส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องช่วยกันส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แม้ราคาจะแพงกว่าผักทั่วไป แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะได้สุขภาพที่ดีเป็นการตอบแทน -ไม่ว่าจะเป็นผักชนิดใด การล้างทำความสะอาดก่อนทานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย แม้แต่ผักที่ปอกเปลือกก่อนทาน ก็ต้องล้างทำความสะอาดก่อนปอกเปลือก   ------------------------------------------------------------------------------------- รู้จักเครื่องหมาย Q เครื่องหมาย Q บนสินค้าเกษตร คือเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น (essential quality) ซึ่งประโยชน์ของการติดเครื่องหมาย Q ในสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมทั้ง พืช ปศุสัตว์ และประมง คือการเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ไล่ตั้งแต่ระดับฟาร์ม การแปรรูป การขนส่ง ช่วยให้ผู้บริโภครู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้า สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ   “คาร์โบฟูราน” (Cardofuran) ที่พบในตัวอย่าง ผักชี ตราห้าง กับ ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q และ “เมโทมิล” (Methomyl) ที่พบในตัวอย่าง ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q ถือเป็น 2 ใน 4 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้อง กำลังผลักดันให้ภาครัฐเพิกถอนทะเบียน ยกเลิกการนำเข้าและผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นสารที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีความอันตรายถึงชีวิตแม้จะได้รับสารพิษเพียงเล็กน้อย มีหลายประเทศที่ประกาศไม่ให้ใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว โดยประเทศที่ประกาศแบน คาร์โบฟูราน ประกอบด้วย สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, จีน และ จาไมก้า ส่วนประเทศที่ยกเลิกการใช้ เมโทมิล ได้แก่ สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฟินแลนด์, สิงคโปร์ ส่วนสารเคมีอีก 2 ตัวที่เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตรเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทยคือ ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point