ฉบับที่ 247 สำรวจปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรส

        "ซอสปรุงรส" เป็นซอสถั่วเหลืองที่มีรสชาติอร่อยเข้มข้น มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ นำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัด ต้ม แกง ทอด เหยาะจิ้ม หรือหมักเนื้อสัตว์ก็อร่อย         หลายคนติดความเค็มหวานหอมกลมกล่อมของอาหารรสซอสปรุง จนอาจลืมไปว่าซอสปรุงรสซึ่งผ่านกระบวนการปรุงด้วยส่วนผสมต่างๆ นั้น มักมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง หากเผลอกินมากไปอาจมีอันตรายแอบแฝงและโรคร้ายตามมาได้           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสอาหารและซอสผัด จำนวน 10 ตัวอย่าง (6  ยี่ห้อ) จากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกมาเปรียบเทียบฉลากว่ายี่ห้อไหนมีปริมาณโซเดียมที่แสดงไว้บนฉลากมากหรือน้อยกว่ากัน  ผลการเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรส        เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 1 ช้อนโต๊ะ (15 มิลลิลิตร) พบว่า         - ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสอาหาร หมักธรรมชาติ มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ 1,280 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค และยี่ห้อแม็กกี้ ซอสผัดสำเร็จรูป ออล-อิน-วัน มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 740 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค         - มี 4 ตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณโซเดียมได้ เพราะไม่มีระบุในฉลากโภชนาการ ได้แก่ ทาคุมิอายิ ซอสผัด สูตรน้ำมันงาและพริกไทย, คิคุแมน ซอสผัด สไตล์ญี่ปุ่น, เด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว และง่วนเชียง ซอสปรุงรสอาหารฉลากเขียว กลิ่นคั่วกระทะ         - จาก 6 ตัวอย่างที่แสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ พบว่ามีปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,110 มิลลิกรัม /หน่วยบริโภค ข้อสังเกต         หากลองคำนวณเปรียบเทียบราคาในปริมาณต่อหน่วย (100 มิลลิลิตร) พบว่ามีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 บาท             - ยี่ห้อคิคุแมน ซอสผัด สไตล์ญี่ปุ่น มีราคาต่อหน่วยแพงที่สุดคือ 26 บาท         - ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว มีราคาต่อหน่วยถูกที่สุดคือ 3.6 บาท           - พบ 6 ตัวอย่างที่ระบุว่าใส่สารกันเสีย และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ได้ระบุไว้ ในขณะที่ยี่ห้อภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) ระบุชัดเจนว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย         - ทุกตัวอย่างใส่วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร พบ 9 ตัวอย่างใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต/โมโนโซเดียมแอล-กลูตาเมต) และ 8 ตัวอย่างใส่ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์ (ให้รสเข้มข้นกลมกล่อมกว่าผงชูรส 50-100 เท่า แต่มีราคาสูง ในอุตสาหกรรมอาหารจึงใช้ในปริมาณน้อย และเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่แพ้ผงชูรส)         - ยี่ห้อ ทาคุมิอายิ ซอสผัด สูตรน้ำมันงาและพริกไทย ใส่วัตถุปรุงแต่งรสอาหารมากที่สุดคือ 4 ชนิดและมี 3 ตัวอย่างที่ใส่ชนิดเดียว ได้แก่ แม็กกี้ ซอสผัดสำเร็จรูป ออล-อิน-วัน (โมโนโซเดียมกลูตาเมต), ภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) (ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์) และ เด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว (โมโนโซเดียมแอล-กลูตาเมต)         - ยี่ห้อภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) ระบุว่าไม่มีผงชูรส MSG แต่ใช้ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์เป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งเป็นโซเดียมชนิดหนึ่ง หากบริโภคในปริมาณมากเกินไปก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต ได้         - ยี่ห้อภูเขาทอง ซอสปรุงรสอาหาร เจ เป็นตัวอย่างเดียวที่ไม่มีส่วนประกอบของข้าวสาลีหรือแป้งสาลีผสมอยู่ น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่แพ้กลูเตน คำแนะนำ         - องค์การอนามัยโลกแนะนำให้จำกัดการบริโภคโซเดียมในแต่ละวันให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัม แต่จากผลการวิจัยพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า ดังนั้นเมื่อเรากินข้าวนอกบ้าน ควรชิมก่อนปรุง ถ้าหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่มได้ยิ่งดี และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ส่วนใหญ่ละลายอยู่ในน้ำแกงหรือน้ำซุป         - หากปรุงอาหารเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหารที่มีโซเดียมอยู่ เช่น ซอสปรุงรส น้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ กะปิ ผงปรุงรสหรือซุปก้อน และควรตวงก่อนปรุง หรือเลือกใช้ส่วนผสมสมุนไพรและเครื่องเทศมาปรุง เพื่อช่วยแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหารให้กลมกล่อม รวมทั้งการใช้รสชาติอื่นมาทดแทน เช่น รสเปรี้ยวจากมะนาว รสเผ็ดจากพริก จะช่วยดึงรสเค็มขึ้นมาพร้อมกับยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย         - อย่าปรุงมากเกินไป บางคนผัดผักจานเดียวใส่ทั้งซอสปรุงรส น้ำปลา ซอสน้ำมันหอย และผงปรุงรส ยิ่งใส่เยอะร่างกายก็ได้รับโซเดียมเยอะตามไปด้วย ลองเลือกใช้วัตถุดิบที่มีรสอูมามิหรือรสอร่อยกลมกล่อมอยู่ในตัวมาทำอาหาร เช่น เห็ด มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า เนื้อสัตว์ และชีส จะได้ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงหรือซอสต่างๆ ให้มากมาย         - เลือกซื้อซอสปรุงรสในบรรจุภัณฑ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ ฝาขวดปิดสนิท ภายนอกขวดไม่ชำรุดหรือมีรอยแกะและหากบ้านไหนมีเด็กๆ ควรเลือกใช้ขวดพลาสติกจะปลอดภัยและสะดวกกว่าใช้ขวดแก้ว         - เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและมี อย. เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งตระกูล 3-MCPD ที่อาจปนเปื้อนมาจากกระบวนการผลิตซอสปรุงรส         - ผู้บริโภคควรพิจารณาปริมาณโซเดียมบนฉลากโชนาการของผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อข้อมูลอ้างอิงโครงการลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ในประเทศไทยwww.thaihealth.or.thhttps://my-best.in.th/49587www.smethailandclub.comhttp://webdb.dmsc.moph.go.thhttps://www.greenery.org/articles/g101-01sauce/https://news.thaipbs.or.th/content/280076

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จำหน่ายอาหารบรรจุเสร็จต้องมีเลข อย.ด้วย

        เดี๋ยวนี้การทำอาหารค่อนข้างง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะว่ามีตัวช่วยในการปรุงอาหาร จำพวกซอสปรุงรสแบบสำเร็จต่างๆ พ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ไม่ต้องยุ่งยาก แค่เติมซอสแบบสำเร็จก็สามารถ ต้ม ผัด แกง ทอด ได้อาหารมารับประทานแบบอร่อยกันเลย         คุณภูผา เล่นอินสตาแกรม (Instagram) ไปเจออินสตาแกรมของเชฟคนหนึ่ง โพสรูปขายซอสปรุงรสชนิดหนึ่ง โฆษณาว่า “ทำอะไรก็อร่อย” ราคา 49 บาท คุณภูผาเห็นเชฟบอกว่าทำ ต้ม ผัด แกง ทอด ก็ได้ และเชฟก็ทำอาหารจากซอสออกมาหน้าตาน่ารับประทานมาก จึงอยากทำบ้าง เชฟขายซอส 1 ขวด ราคา 49 บาท แต่ถ้าสั่งราคาส่ง ขวดละ 30 บาท คุณภูผาเลยสั่งมา 12 ขวด ด้วยความอยากได้ของถูก         เวลาผ่านไปคุณภูผาก็ได้ซอสปรุงรสมาไว้ในครอบครอง แต่เรื่องมาเกิดตรงที่แฟนของคุณภูผามาเจอซอสดังกล่าว เธอหยิบซอสขึ้นมาดู พบว่า บนขวดมีแต่ชื่อยี่ห้อเท่านั้น ไม่มีเลขทะเบียนสารบบอาหาร ไม่มีฉลากโภชนาการ ไม่มีวันที่ผลิตและหมดอายุ ไม่มีอะไรเลย จึงบ่นคุณภูผาว่า ซื้อมาได้อย่างไร ฉลากสักอย่างก็ไม่มี ใส่อะไรบ้างก็ไม่รู้ จะปลอดภัยหรือเปล่าก็ไม่รู้ คุณภูผาก็ต้องรับคำบ่นนั้นไป เพราะว่ามันเป็นจริงตามที่แฟนบ่น และเพื่อความสบายใจของแฟนเลยสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำผู้ร้องว่า การผลิตซอสปรุงรสมีการควบคุมตามกฎหมายต้องแสดงฉลากโภชนาการให้ผู้บริโภครู้ถึงรายละเอียดวัตถุดิบในการผลิต ที่สำคัญผู้บริโภคต้องทราบวันที่ผลิตและวันหมดอายุ ดังนั้นการที่เชฟคนดังผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสที่ไม่มีฉลากและข้อความบนฉลากที่ถูกต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (10)  และมาตรา 51 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท         อย่างไรก็ตาม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ผลิตแล้ว         ต่อมาได้รับแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีการผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสชนิดนี้จริง ซึ่งผู้ผลิตแจ้งว่า ส่วนใหญ่ใช้ทำอาหารให้ลูกค้าในร้านรับประทาน และได้วางจำหน่ายหน้าร้านและขายทางเฟซบุ๊กด้วย เมื่อตรวจสอบการแสดงฉลากก็พบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงเลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาตรสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณเรียงตามลำดับปริมาณจากมากไปหาน้อย วัน เดือน และปีโดยมีข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน” หรือ “หมดอายุ” กำกับไว้ด้วย สำนักงานอาหารและยา ได้สั่งปรับผู้ผลิต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของผู้ผลิตเป็นการจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ส่องส่วนผสมผงปรุงรส

 มีคำถามเข้ามาให้ฉลาดซื้อช่วยหาคำตอบว่า ผงปรุงรสเหมือนหรือต่างจากผงชูรส ถ้าจะให้ชัดเจนก็คงต้องมาดูที่นิยามก่อน          ผงปรุงรส หรือ ผงปรุงรสอาหาร หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู มาให้ความร้อนจนแห้ง บดเป็นผง ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศ เช่น น้ำตาล เกลือ กระเทียม พริกไทย โมโนโซเดียม-แอล-กลูตาเมต (ผงชูรส) เป็นนิยามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผงปรุงรสอาหาร (มผช 494/2547)            ดังนั้นผงปรุงรสอาหารจึงไม่ใช่ผงชูรส แต่จะมีผงชูรสอยู่ในส่วนผสม มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสูตรของผู้ผลิต ซึ่งปัจจุบันบางผลิตภัณฑ์ได้ปรับสูตรให้ไม่มีผงชูรส เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค          อย่างไรก็ตามเมื่อทดลองซื้อผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสที่มีขายทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก จำนวน 19 ผลิตภัณฑ์มาพิจารณาส่วนประกอบพบว่า บางยี่ห้อที่ระบุว่าไม่มีผงชูรส ก็มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดได้   ฉลากที่ระบุไม่มีผงชูรส ความจริงอาจมีสารอื่นที่เหมือนผงชูรสอยู่          สารชูรส (flavour enhancers) หรือ ผงชูรส  เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใส่เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร สารชูรสที่ใช้กันมานานได้แก่ ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของกรดกลูตามิกและเกลือของมัน นอกจากกรดกลูตามิกแล้ว กรดอะมิโนชนิดอื่นๆ เช่น ไกลซีนและลิวซีน รวมไปถึงเกลือของนิวคลีโอไทด์ เช่น GMP และ IMP ก็ทำหน้าที่เป็นสารชูรสได้          ในกฎหมายอาหาร วัตถุเจือปนอาหารต่อไปนี้ถือว่าเป็นผงชูรสหรือวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งต้องระบุไว้บนฉลาก วัตถุปรุงแต่งรสอาหารที่ควรรู้จัก            -          กรดกลูตามิกและเกลือของมัน ได้แก่ Glutamic acid, Monosodium glutamate, Monopotassium glutamate, Calcium diglutamate, Monoammonium glutamate, Magnesium diglutamate                   -          กรด Guanylic และเกลือของมัน ได้แก่ Guanylic acid, Disodium guanylate หรือ sodium guanylate, Dipotassium guanylate, Calcium guanylate              -          กรด Inosinic และเกลือของมัน ได้แก่ Inosinic acid, Disodium inosinate, Dipotassium inosinate, Calcium inosinate             -          ของผสมระหว่าง guanylate และ inosinate ได้แก่ Calcium 5'-ribonucleotides, Disodium 5'- ribonucleotides            -          Maltol และ ethyl maltol ได้แก่ Maltol และ Ethyl maltol            -          กรดอะมิโนและเกลือของมัน ได้แก่ Glycine และเกลือโซเดียมของมัน, Leucine          ซึ่งหากพิจารณาจากฉลากของผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสที่ฉลาดซื้อนำมาแสดงรายละเอียดจะพบว่า ผงปรุงรสยี่ห้อ คนอร์ ผงรสหมู สูตรไม่ใส่ผงชูรส,  คนอร์ ซุปก้อนรสไก่(สูตรไม่ใส่ผงชูรส) และ คนอร์ ซุปก้อนรสหมู(สูตรไม่ใส่ผงชูรส)   ที่ระบุว่าไม่มีผงชูรสนั้นแท้จริงแล้ว อาจหมายถึงว่า ไม่มีโมโนโซเดียมกลูตาเมต แต่ก็มีไกลซีน ซึ่งเป็นสารชูรสผสมอยู่และทำหน้าที่เดียวกับผงชูรสนั่นเอง    ดังนั้นหากต้องการเลี่ยงผงชูรสหรือสารชูรสโปรดพิจารณาฉลากให้ถี่ถ้วน คนไทยกับอาหารเค็ม"น้ำก๋วยเตี๋ยวที่ใส่ซุปก้อนหรือผงปรุงรสต่างๆ รู้หรือไม่ว่า ชามหนึ่งมีเกลือละลายอยู่ในน้ำประมาณ 60 % ถ้ากินน้ำซุปหมด เราจะได้โซเดียมมากถึง 1,200 มิลลิกรัม ยังไม่รวมเครื่องปรุงต่างๆ ของแต่ละคน"                                ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม           รสเค็มที่เราบริโภคกันเป็นประจำมาจากโซเดียม ซึ่งอยู่ในรูปของ "เกลือแกง" และน้ำปลา เครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊ว น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ผงชูรส ผงปรุงแต่งชนิดก้อน ตลอดจนผงฟูที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือใน 1 มื้ออาหารไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัม พูดง่ายๆ เท่ากับน้ำปลาประมาณ 1-1.5 ช้อนชาต่อมื้อ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่า คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)          การจะลดเค็มหรือเลี่ยงโซเดียม สำหรับคนไทยค่อนข้างทำได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ชอบรับประทานอาหารรสจัด เน้นน้ำจิ้ม และเครื่องปรุงรส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีโซเดียมสูง และยังมีส่วนผสมของผงชูรส(โมโนโซเดียมกลูตาเมต) อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย ทำให้รสชาติความอร่อยเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้บริโภคอาหารจนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการและพลอยทำให้ได้รับปริมาณโซเดียมมากขึ้นไปด้วย  ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก่อนการปรุงอาหารหรือบริโภคอาหาร ควรคำนึงถึงส่วนผสมที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยการพิจารณาฉลากให้ดี และรับประทานให้พอเหมาะไม่หวาน มัน และเค็ม มากเกินไปน้ำซุปที่ปรุงด้วยกรรมวิธีปกติโซเดียมจะไม่สูง  น้ำซุปใสที่ทดลองปรุงโดยการเคี่ยวด้วยกรรมวิธีธรรมดาและใส่น้ำปลา 6 กรัม พบว่าน้ำซุปใส 200 ซีซี มีปริมาณโซเดียม 600 มิลลิกรัมเท่านั้น การศึกษาปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารบาทวิถี (street foods) ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2560’ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะวิธีเลี่ยงโซเดียมกับทีมกินเปลี่ยนโลกกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ไม่ว่าจะกินอาหารนอกบ้านหรือซื้อของสดมาปรุงกินที่บ้าน ชีวิตประจำวันของเรา ปากท้องกระเพาะลำไส้หลีกไม่พ้นเลยที่จะได้รับวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร กลุ่ม INS หมายเลข 6 ซึ่งเป็นไดโซเดียมชนิดต่างๆ เช่นนั้นแล้วเราจะจัดการชีวิตหมวดความเค็มและโซเดียมกันอย่างไรดีโซเดียมที่เรารับเข้าร่างกายผ่านอาหารทั้งหลายนั้น มีทั้งแบบรู้รสเค็มกับไม่รู้เรื่อง คือมันเป็นความนัวอร่อยติดลิ้นที่มากับสารปรุงแต่งรสที่ว่ามาข้างต้น ดังนั้นจะนับว่ากินเค็มหนักหนาขนาดไหน คือนับกันที่ผลรวมโซเดียมที่กินไปแต่ละวัน ทว่าเอาเข้าจริงก็คงนับไม่ไหว เพราะฉลากไม่ได้บอกชัดเจนว่าใส่อะไรไปเท่าไรต่อหน่วยบริโภคดังนั้นเบื้องต้นเลย คือหาทางกินพวกไดโซเดียมให้น้อยเข้าไว้  พวกมีเยอะแบบพลิกฉลากก็เห็น คือ พวกขนมขบเคี้ยว อาหารแช่เย็น แช่แข็ง อาหารแปรรูปไส้กรอก เบคอน แฮมต่างๆ วันไหนรู้ตัวว่าจัดเข้าไปเยอะ วันต่อไปก็ลดลง สร้างสมดุล กินมากกินน้อยสลับกันไป เรียกว่าเฉลี่ยๆ กันไปส่วนพวกอาหารตามสั่งเราลองชะโงกดูที่เขาปรุงให้เรากิน จะเห็นว่าเขาสาดใส่ซอสให้เรา อย่างน้อยสามซอส ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย และอาจจะมีแบบผง แบบก้อนด้วย น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว  ก็มักจะมีผงปรุงแต่งรส ถ้าไปนั่งรอหม้อก๋วยเตี๋ยวเดือดจะเห็นใส่กันเป็นถุงๆ เหล่านี้ถ้าเราตั้งใจะลดโซเดียมจริงและต้องฝากท้องกันเป็นประจำ ก็ตั้งใจสั่งอาหารหน่อย สั่งไม่ใส่ซอสปรุงรสครบทุกชนิดก็ได้ ของผู้เขียนเอง ก็จะสั่งเป็นชุดเลย เช่น ข้าวราดกะเพราไก่ ไม่ใส่ผงชูรส น้ำตาล น้ำมันหอย ก็จะได้กินอาหารรสชาติเป็นมิตรขึ้นมาหน่อย สั่งบ่อยๆ เจ้าประจำก็จำได้แต่ดีที่สุดคือ ลองทำอาหารกินเองบ้าง อาทิตย์ละหนสองหน เลือกน้ำปลา ซีอิ๊วที่เขาใส่สิ่งปรุงแต่งรสน้อยๆ หรือไม่ใส่เลยติดบ้านไว้ เกลือแกง พวกดอกเกลือทะเลมีติดบ้านจะดี ลองปรุงอาหารใส่ความเค็มน้อยลงสักครึ่ง ซื้อผักสดๆ ดีๆ มาต้มมาผัดกับเกลือเฉยๆ เรียนรู้รสชาติ ตามธรรมชาติของผักหญ้าที่ทำงานกับเกลือธรรมชาติ ที่สำคัญที่สุดคือ ฝึกลิ้นของเราใหม่ ให้มีปฏิกิริยาตอบโต้กับรสเค็มจัด เค็มนัว แล้วลิ้นของเราจะช่วยเราทำงานเลือกอาหารที่มีรสชาติสะอาด ต่อกระเพาะลำไส้ ตับ ไต หัวใจ ความดันโลหิต เมื่อเราคิดมาก เลือกมาก พูดมาก อาหารการกินรอบๆ ตัวเราก็มีโอกาสจะปรับปรุงคุณภาพ ให้ตอบโจทย์สุขภาพคนกินมากขึ้นก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 โซเดียมในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  ผลิตภัณฑ์ประเภท ปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส ที่วางจำหน่ายทั่วไป เป็นของว่าง ที่อร่อยถูกปากผู้บริโภคทุกวัย ปลาเส้นปรุงรสส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเนื้อปลาบด (ซูริมิ) แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ผสมคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสแตกต่างกันไปตามรสชาติที่หลากหลาย เช่น รสชาติแบบออริจินัล เผ็ดน้อย เผ็ดมาก ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามรสนิยม และทราบหรือไม่ว่า ปลาเส้นปรุงรสของไทย ยังเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อไปเป็นของฝากกันอีกด้วย  ปลาเส้นปรุงรส ให้สารโปรตีนจากเนื้อปลาบด และคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง อาจนับเป็นของว่างมีประโยชน์ได้ หากแต่ว่าปริมาณโซเดียมที่แฝงอยู่ในปลาเส้นแต่ละรสชาตินั้น บางรสมีปริมาณโซเดียมสูงมาก ควรระวังในการรับประทาน ซึ่งเราสามารถดูปริมาณโซเดียมได้จากฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนซองบรรจุภัณฑ์   แต่บางทีซื้อของไปยืนเพ่งสายตาดูฉลากตัวหนังสือเล็กๆ นานๆ ก็ลำบากเหมือนกัน ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอเอาใจผู้บริโภคที่ชอบกินปลาเส้น โดยอ่านฉลากโภชนาการดูปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำเป็นข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันตารางเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส เรียงลำดับปริมาณโซเดียมจากมากไปน้อยข้อสังเกตต่อปริมาณโซเดียมจากฉลากผลิตภัณฑ์ จากการพิจารณาฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า   ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ ปลากรอบเชิญชิม (Crispy Fish) ยี่ห้อ เรือ มีปริมาณโซเดียม 210 มิลลิกรัม ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด พบว่ามี 2 ตัวอย่าง คือ ปลาสวรรค์ (รสดั้งเดิม) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) และ ปลาสวรรค์ (รสซูเปอร์แซ่บ) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) มีปริมาณโซเดียม 800 มิลลิกรัม  โดยส่วนใหญ่หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 กรัม และพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ซึ่งไม่สามารถทราบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคได้ ได้แก่ ปลาหวานแผ่น ยี่ห้อ มายช้อยส์ไทย (My Choice Thai) และ ฮอกไกโดชีสฟิชแซนด์วิช (เนยแข็งชนิดโพรเซสชีสผสมปลาเส้น) ยี่ห้อ โอกิยะ OHGIYAข้อควรรู้เกี่ยวกับปริมาณโซเดียม    เนื่องจากปริมาณการบริโภคโซเดียมที่สูงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตที่สูงขึ้น ซึ่ง Institute of Medicine ได้กำหนดค่าปริมาณโซเดียมสูงสุดของการบริโภคที่ไม่เกิดอันตรายในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไว้ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เปรียบเทียบเป็นเกลือป่นประมาณ  6  กรัม หรือ 1 ช้อนชา)  และ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน  แม้ว่าโซเดียมจะมีความสำคัญต่อร่างกาย แต่การบริโภคโซเดียมมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งหากมีปริมาณโซเดียมในร่างกายมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ หลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และยังส่งผลต่อการเป็นโรคไตด้วย   ทราบอย่างนี้แล้ว การหมั่นอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการเป็นประจำก่อนเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร จะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณโซเดียมในแต่ละมื้อได้อย่างเหมาะสม ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดมีปริมาณโซเดียมมากหรือน้อย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักกินขนมจนเกือบหมดห่อ หากสามารถสอนเด็กๆ ให้เข้าใจความสำคัญของการอ่านฉลากโภชนาการได้ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักการบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละมื้อปลาเส้น  ปลาเส้นหรือปลาเส้นปรุงรส ผลิตจากเนื้อปลาบดแช่แข็งที่เรียกว่า "ซูริมิ"  เป็นอาหารว่างที่นิยมรับประทานกันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา   วารสารฉลาดซื้อเคยทดสอบปลาเส้นปรุงรสพบว่า มีปริมาณโซเดียมสูงมาก หากรับประทานในขนาดหรือปริมาณ 30 กรัม จะได้โซเดียมสูงถึงประมาณ 500 มิลลิกรัม(ค่าเฉลี่ย) ซี่งเด็กไม่ควรได้รับโซเดียมจากขนมหรืออาหารว่างเกิน 200 มิลลิกรัม เพราะเขายังต้องรับประทานอาหารหลักอื่นๆ อีก การรับประทานปลาเส้นหรือขนมรสเค็มมันต่อเนื่องจะทำให้ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงพ่อแม่อย่าปล่อยให้เด็กรับประทานมากเกินไป ทั้งนี้รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงด้วยซูริมิ   คำว่า “ซูริมิ” (Surimi) ฟังดูก็รู้ว่ามาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเนื้อปลาที่นำมาผ่านกระบวนการ จนได้เนื้อปลาที่มีความเหนียวและยืดหยุ่น  เนื้อขาวเนียนละเอียด ปลาซูริมิจะนำมาทำผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ปูอัด นอกจากนี้ยังมี ไส้กรอก  ลูกชิ้น ปลาเส้น เนื้อปลาเทียม เนื้อกุ้งเทียม ตลอดจนผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ต่างๆ    ปลาซูริมิ เป็นอาหารทะเลที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่นๆ และมีปริมาณไขมันต่ำ จึงจัดเป็นอาหารสุขภาพ    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคซูริมิ และผลิตภัณฑ์จากซูริมิรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนประเทศไทยซูริมิก็ได้กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เพราะมีความสามารถในการผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งการบริโภคก็มีคนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากอาหารญี่ปุ่น    ซูริมิคุณภาพพรีเมียมจะผลิตจากปลา Alaska pollock ซึ่งเป็นปลาที่มีไขมันต่ำ เนื้อสีขาว และมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนซูริมิที่ผลิตได้จากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทยใช้ปลาทรายแดงเป็นวัตถุดิบ หรือปลาทะเลอื่นๆ ที่มีเนื้อขาว ส่วนปลาน้ำจืดนั้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซูริมิไม่ได้เนื่องจากปัญหากลิ่นโคลน เนื้อปลาไม่มีความเหนียวและเนื้อไม่ขาว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สั่งซอสปรุงรสออนไลน์ ไม่พบฉลาก

แม้การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จะช่วยอำนวยความสะดวกหลายประการ แต่อุปสรรคหนึ่งที่ผู้บริโภคหลายคนต้องพบ มักหนีไม่พ้นเรื่องคุณภาพหรือมาตรฐานของสินค้านั้นๆ หากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับเรา จะสามารถจัดการได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูกันคุณสมชายเป็นคนชอบทำอาหาร และเห็นว่าพิธีกรรายการอาหารที่ตนเองชื่นชอบทำซอสปรุงรสขาย เขาจึงตัดสินใจสั่งซื้อมาทดลองประกอบอาหารดู เพราะเห็นการโฆษณาว่าซอสนี้ปรุงอาหารอะไรก็อร่อย อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับสินค้าแล้วเรียบร้อย เขากลับพบว่าสินค้าดังกล่าวมีเพียงฉลากชื่อยี่ห้อที่ระบุว่าเป็น “ซอสตราไก่” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่นๆ เช่น เลข อย. ส่วนประกอบหรือวันเดือนปีที่ผลิต/ หมดอายุ ทำให้คุณสมชายไม่มั่นใจว่า ซอสที่ได้รับมาเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดเกี่ยวกับโฆษณาขายซอสดังกล่าว พร้อมภาพถ่ายหรือสินค้าตัวจริงมาให้ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบพบว่าไม่มีเลขการจดทะเบียน อย. ฉลากโภชนาการ หรือวันเดือนปีที่ผลิต/ หมดอายุตามที่ผู้ร้องร้องเรียนจริง จึงช่วยทำจดหมายไปยัง อย. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบซอสดังกล่าวเนื่องจากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 200) พ.ศ. 2543 เรื่องซอสในภาชนะบรรจุปิดสนิท กำหนดให้ซอสเป็นอาหารที่ถูกควบคุม และซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทเป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก โดยต้องแสดงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากพบว่าการผลิตซอสและจำหน่ายซอสที่ไม่มีฉลากและข้อความบนฉลากที่ถูกต้อง จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เสน่ห์ปลายจวัก...แต่อย่าลืมเหยาะผงปรุงรสด้วยล่ะ

  คนโบราณเคยกล่าวเอาไว้ว่า เสน่ห์ที่ปลายจวัก จะทำให้ผัวรักผัวหลงกันเลยทีเดียว อันอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยแบบนี้ ก็น่าจะมีที่มาอยู่ว่า ผู้หญิงที่จะมัดใจสามีเอาไว้ได้ ในอดีตนั้นต้องอาศัยรสมือปรุงอาหาร และจัดสำรับคาวหวานไว้ให้เพียบพร้อม ไม่ต้องดูอื่นใดไกลเกิน แม้แต่ในตำนานของนางนาคพระโขนง ที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ขนาดว่านางได้เสียชีวิตเพราะคลอดลูกตายทั้งกลมไปแล้ว แต่ดวงวิญญาณของนางก็ยังพันผูกว่ายเวียนคอยปรุงสำรับน้ำพริกให้กับพี่มากผู้เป็นสามีด้วยใจภักดียิ่ง   และฉากคลาสสิกของตำนานนางนาคพระโขนง ที่ใครๆ ต่างก็จดจำและพูดถึงกันอยู่เสมอ ก็คงหนีไม่พ้นฉากที่นางเอื้อมมือยาวๆ ไปเก็บลูกมะนาวที่กลิ้งหล่นไปอยู่ใต้ถุนเรือน ขณะตำน้ำพริกมื้อเย็นให้กับพี่มากสุดที่รัก   แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อเวลาเปลี่ยน กาลสมัยเปลี่ยน นางนาคพระโขนงที่เคยเป็นตำนานเรื่องเล่าก็มีเหตุให้ต้องปรับเปลี่ยนตาม   เพราะฉะนั้น เมื่อนางนาคให้ต้องมาปรากฏตัวอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ของยุคปี 2011 ในวันนี้ แม้แต่เสน่ห์ปลายจวักที่เคยมัดใจพี่มากไว้แต่ครั้งโบราณกาล ก็มีเหตุให้ต้องปรับตัวตามความเป็นไปของยุคสมัยปัจจุบัน   โฆษณาในปี ค.ศ.2011 ได้แปลงเรื่องเล่าของนางนาคที่เคยสยองขวัญแกมรักโรแมนติก ให้กลายเป็นเรื่องโรมานซ์ในแบบฉบับชวนหัวชวนขัน  โฆษณาเปิดฉากมาด้วยนางนาคในชุดห่มสไบนั่งอยู่ในเรือนไทยโบราณ แม่นาคกำลังบรรจงปรุงเสน่ห์ปลายจวักลงในมื้อสำรับอาหาร และแสดงฝีมือทำสะตอผัดกุ้งให้กับชายคนรัก โดยมีชายหนุ่มอย่างอ้ายมากแอบดูเจ้าหล่อนผ่านร่องประตู ด้วยแววตาชื่นชมความเป็นเบญจกัลยาณีของศรีภรรยา  ไฟในเตาที่ลุกโชน บวกกับรอยยิ้มของนางที่บรรจงจัดเตรียมสำรับเย็นอยู่นั้น ยิ่งชายหนุ่มได้สัมผัสเห็นและสูดกลิ่นอายของอาหารเข้าไปเต็มปอด เขาก็ยิ่งดื่มด่ำในรสเสน่ห์ปลายจวักและรสชาติแห่งภักษาหารอันปรุงผ่านรสมือของนาง แต่สักพัก นางนาคก็บังเอิญทำซองผงปรุงรสหล่นลงในร่องพื้นเรือน และก็มาถึงฉากคลาสสิกที่เธอเอื้อมมือยาวๆ ลงไปใต้ถุนเรือน แต่คราวนี้ไม่ใช่เพื่อเก็บลูกมะนาวมาตำน้ำพริก แต่เป็นมือยาวที่เอื้อมไปเก็บซองผงปรุงรส อันเป็นเคล็ดลับความอร่อยคู่ครัวของเธอ  โดยพลันทันใดนั้น พี่มากก็ถึงกับออกอาการตกใจ ผมตั้งฟูกับภาพตรงหน้าของนางนาคที่หันมาทำหน้าตาน่าชวนหัวลุก และแล้วนางนาคก็เปิดประตูเรือนเข้ามา พร้อมถือสำรับอาหารน้อยใหญ่มาเสิร์ฟให้กับสามี ชายหนุ่มลูบศีรษะตัวเองไป และชิมอาหารที่เปี่ยมด้วยผงปรุงรสบรรจุซอง ก่อนจะพูดขึ้นว่า “อร่อยจัง ขอทานอีกสิ...” จากนั้น แม่นาคก็ปิดท้ายโฆษณาด้วยการยื่นมือยาว ๆ ของนางไปหยิบซองผงปรุงรสสำเร็จรูป ก่อนจะพูดขึ้นด้วยเสียงที่ลากโหยหวนว่า “จัดให้...”  แม้จะล่วงเลยมาจนถึงปี 2011 แล้วก็ตาม แต่ทว่าดวงวิญญาณของนางนาคก็มิอาจหลุดพ้นไปสู่สัมปรายภพได้เลย ตรงกันข้าม ในโฆษณาโทรทัศน์นั้น ก็ยังมีการจำลองภาพของเธอมาใช้ “เสน่ห์ปลายจวัก” ผัดผักต้มแกงและตำน้ำพริกป้อนปรนเปรอภัสดาสามีอยู่ไม่สิ้นสุด  แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเวลาที่เปลี่ยนไป กับรูปแบบวัฒนธรรมงานครัวแบบใหม่ที่เอื้อให้ชีวิตคนยุคนี้สะดวกสบายมากขึ้น โฆษณาก็เลยเนรมิตซองผงปรุงรสมาช่วยเพิ่มรสเสน่ห์ปลายจวักที่ประทินแต่งอาหารได้อย่างสำเร็จรูปมากยิ่งขึ้น ทั้งรวดเร็วขึ้น แถมยังสะดวกทันใจแม่บ้านยุคใหม่ที่ชีวิตเร่งรีบยิ่งกว่าศรีภรรยาในอดีตยิ่งนัก  แม้บรรยากาศของฉากในโฆษณาจะถูกวาดให้เป็นเรือนไทย ที่ดูเหมือนกับสถาปัตยสถานในยุคโบราณกาลนานมา แต่ทว่า ด้วยซองผงปรุงรสที่หลุดเข้ามาเป็น “prop” หรือของประดับที่แปลกปลอมอยู่ในฉากบ้านเรือนไทยนั้น ก็ทำให้นางนาคแห่งปี 2011 ได้กลายเป็นวิญญาณแม่นาคที่ทั้งทันสมัยและก้าวล้ำนำมาตรฐานการปรุงสำรับอาหาร ไม่ต่างจากแม่บ้านร่วมสมัยในยุคนี้  หรือพูดอีกนัยหนึ่ง นางนาคผู้มากับซองผงปรุงรส ดูจะไม่แตกต่างจากตัวแทนของวิญญาณสตรีไทย ที่กำลังจะบุกเบิก “ครัวไทย” ให้เดินทางก้าวไกลไปสู่ “ครัวโลก” เพราะฉะนั้น จากยุคหนึ่งที่ “คาถามัดใจ” ให้สามีหลงรักหัวปักหัวปำ จะเกิดเนื่องมาแต่ “รสมือ” ในการปรุงสำรับคาวหวานมาปรนเปรอความสุขให้ทุกคนในครอบครัว แต่มาสู่ทุกวันนี้ที่การปรนเปรอเมนูอาหารหลากรส ไม่ได้มาด้วยรสมือนางล้วนๆ แต่ต้องมาด้วยผงปรุงสำเร็จรูปคลุกเคล้ารวมกันเข้าไป  เพียงเหยาะผงปรุงจากซองลงไป นอกจากจะไม่ต้องรอนานเหมือนกับการเคี่ยวซี่โครงไก่หรือกระดูกหมูกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงแล้ว ยังได้รสรักแบบปรุงสำเร็จรูปได้ในชั่วกระพริบตาเท่านั้น  แม่นาคที่ว่ากันว่าฝีมืองานครัวเป็นเลิศ ขนาดเป็นผีแล้ว เธอก็ยังต้องยอมสยบให้กับซองผงปรุงรสอันแสนวิเศษด้วยเช่นกัน เพราะในขณะที่ต้นฉบับดั้งเดิมของตำนานนางนาคกับพี่มากนั้น ต้องพลัดพรากกันอีกครั้งในตอนจบ เพียงเพราะค่านิยมที่ว่า “ผีพึงอยู่ส่วนผี คนก็ต้องอยู่ส่วนคน ผีกับคนไม่มีวันบรรจบกันได้”  แต่แม่นาคในยุครักสำเร็จรูปนั้น เพียงแค่ใช้ผงปรุงเหยาะไปไม่กี่ซอง เธอก็ทำให้พี่มากเลิกเป็นกังวล แถมยังช่วยปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้กลายเป็น “คนกับผีอยู่ด้วยกันได้” ร่วมเรียงเคียงคู่แบบไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด หรือกลายเป็นรักมั่นอมตะนิรันดรระหว่างผีกับคนไปโน่นเลย สำหรับผมเองแล้ว ก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า เจ้าผงปรุงรสที่บรรจุอยู่ในซอง จะมีพลังอำนาจสร้างรักแท้สำเร็จรูปได้ขนาดนั้นจริงหรือเปล่า และรสชาติอาหารที่ได้จากผงปรุงรสจะอร่อยจริงหรือไม่ เพราะในโฆษณาโทรทัศน์นั้น คนดูจะไม่เคยได้ชิมอาหารที่เสิร์ฟใส่จานอยู่หน้าจอได้จริง ๆ หรอก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าปรุงอาหารไป และกินอาหารกันไป แล้วทำให้ผีกับคนต้องมากินอยู่คู่เรียงเคียงหมอนเป็น “รักไม่มีวันตาย” กันในแบบโฆษณาด้วยแล้วล่ะก็ คราวนี้ท่าทางจะตัวใครตัวมันกันแล้วนะครับ!!!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 91 ปลาเส้นปรุงรส รสยิ่งเข้มยิ่งมีปัญหา

ปลาเส้นปรุงรส เป็นอาหารว่างอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมาก โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา หลายคนอาจมองว่า ปลาเส้นก็เป็นอาหารว่างประเภทหนึ่ง มันคงไม่มีอะไรนักหนา อย่าประมาทไปนะ ถ้าลองพลิกดูฉลากด้านหลังซองแล้วเพ่งมองดูปริมาณโซเดียมตรงฉลากโภชนาการสักนิด จะรู้สึกถึงความไม่ธรรมดาของมัน เพราะอาหารชนิดนี้มีปริมาณโซเดียมสูงมากๆ ความจริงแล้วถ้ามีการระบุทุกฉลากก็น่าจะดีใช่ไหมคะ เพราะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจให้ผู้บริโภคได้ แต่บางฉลากก็ละเลยไม่มีรายละเอียดอะไรเลย นอกจากแสดงวิธีกินและการดัดแปลงเป็นอาหารแบบต่างๆ ฉลาดซื้อเลยนำผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส ยี่ห้อยอดนิยมบวกด้วยยี่ห้อของห้างสรรพสินค้าที่เรียกว่า โลคอลแบรนด์ มาทดสอบหาปริมาณโซเดียม พร้อมกับปริมาณโปรตีนที่อ้างว่ามีสูง และแถมด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันได้แก่ ปลาหมึกปรุงรส อีก…  ตัวอย่างเพราะเห็นว่ามีคนนิยมชมชอบไม่แพ้กัน ผลทดสอบปริมาณโปรตีนและโซเดียมในผลิตภัณฑ์ ปลาเส้นปรุงรสและปลาหมึกปรุงรส 

อ่านเพิ่มเติม >