ฉบับที่ 172 คุยปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชนกับ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

ฉลาดซื้อวันนี้จะพาท่านมาพบกับนักสู้มือเปล่า  จากชีวิตแม่บ้านคนหนึ่ง  ที่ลุกมาสู้เพื่อลูก   จนวันนี้สิ่งที่เธอสู้เรียกได้ว่า เพื่อทุกคน “ ปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา”จุดเริ่มต้นที่พี่มาทำประเด็นเกี่ยวกับ รพ. เอกชน มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องอะไรคะ พี่ทำหน้าที่ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มานาน 13 ปี รับเรื่องร้องเรียนจากคนไข้ที่ได้รับความเสียหายทั้งจากรพ.รัฐบาลและรพ.เอกชน  แต่คนไข้รพ.เอกชนมักพ่วงเรื่องค่ารักษาแพงเกินจริงมาด้วย  ยกตัวอย่าง คนไข้ชายเจ็บหน้าอกเข้ารพ.เอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอหัวใจ 24 ชม. เข้าไปตั้งแต่สองทุ่มจนถึงเช้าก็ไม่มีหมอหัวใจมาดู  เมื่อคนไข้ตายญาติฟ้องคดีต่อศาล หมอผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจไปเบิกความเป็นพยาน พบว่าในบิลค่ารักษามีการเก็บค่าอะดรีนาลีน 148 หลอด หลอดละ 200 บาท เป็นเงิน 29,600 บาท  แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้จริงประมาน 30 หลอด (ต้นทุนขณะนั้นหลอดละไม่ถึง 10 บาท) เมื่อญาติไปร้องเรียนแพทยสภา  กลับไปพบเจ้าของรพ.เอกชนแห่งนั้นซึ่งเป็น กรรมการแพทยสภา นั่งเป็นประธานสอบสวนกรณี รพ.ของตนเอง  จึงเกิดคำถามในใจว่า  ถ้าไม่เป็นคดีความจะรู้ไหมว่ามีการโกงค่ายา  และในประเทศไทยมีเพียงกรณีเดียวนี้หรือไม่  นี่ยังไม่นับรวมมีการเก็บค่ามอร์ฟีน และค่าฟอร์มาลีนฉีดศพขณะที่คนไข้ยังไม่ตายอีกด้วยประเทศไทยกลไกที่มีหน้าที่ตรวจสอบไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว  บิลค่ารักษาใบเดียวต้องให้คนไข้และญาติวิ่งไปหลายหน่วยงาน  เช่น ค่าตรวจรักษาที่สงสัยว่าสูงเกินจริงต้องไปร้องแพทยสภา, ค่ายา-ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ต้องไปร้องกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, ไป สคบ., อย. หรือสำนักสถานพยาบาลฯ กระทรวงสาธารณสุข  เมื่อไม่มีหน่วยงานกลางที่เป็น one stop service จึงทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ  ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้ยาก เท่ากับเอื้อให้มีการโกง การคิดค่ายาและค่ารักษาเกินจริงได้อย่างเสรีต่อมาปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ไม่ต้องถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย สปสช. จะเป็น clearing house จ่ายให้ทั้งหมด(ฟรีภายใน 72 ชม.) แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ รพ.เอกชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ  มีการเรียกเก็บค่ามัดจำและให้ญาติเซ็นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  ตลอดจนเซ็นรับสภาพหนี้หลักแสนถึงหลักล้าน  แม้ทาง สปสช.จะจ่ายแทนคนไข้ในอัตราที่คิดว่ารพ.เอกชนมีกำไรแล้ว  แต่รพ.เอกชนก็ปฏิเสธที่จะรับในอัตราที่ สปสช.จ่ายและยืนยันจะเก็บในราคาเต็ม ตัวอย่างที่พี่คิดว่าควรจะเป็นกรณีศึกษาได้เลย ความเดือดร้อนของประชาชนมีอย่างต่อเนื่อง  เช่น -กรณีคนไข้สิทธิฉุกเฉินถูกรพ.เอกชนฟ้องเรียกค่ารักษา พี่ไปศาลด้วยก็ไปพบคนไข้รายอื่น นำโฉนดที่ดินไปมอบให้ทนายของรพ.เอกชนแห่งนั้นเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่มีศักยภาพที่จะจ่ายได้  ทั้งที่เข้าเงื่อนไขเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประการ  -กรณีที่รพ.เอกชนให้สามีคนไข้สำรองจ่ายไปก่อน  พี่พาไปฟ้องเรียกค่ารักษาคืนที่ศาลปกครอง  ผ่านมา 2-3 ปีคดีความก็ยังไม่จบ  สร้างความทุกข์ให้กับครอบครัวคนไข้อย่างแสนสาหัส  กรณีนี้สามีคนไข้เป็นครูเงินแสนยังไม่เคยมี  แต่ต้องวิ่งหยิบยืมเงินครึ่งล้านมาจ่ายให้รพ.เอกชนแห่งนั้นภายในครึ่งวัน  ไม่เช่นนั้นก็ย้ายภรรยาออกไปรพ.ตามสิทธิไม่ได้  หรือบางรายถ้าไม่จ่ายก็นำศพออกไปบำเพ็ญกุศลไม่ได้-กรณีรพ.เอกชน ให้ลูกชายคนไข้ ที่มีเงินเดือนเพียง 7 พันบาท เซ็นรับสภาพหนี้จำนวนเกือบ 8 แสนบาท  ทั้งที่เข้าเงื่อนไขสิทธิฉุกเฉินทุกประการ พี่เรียกนโยบายนี้ว่า “นโยบายลวงโลก”  แม้รัฐบาลจะยุบสภาไปแล้ว  แต่ก็ทิ้งกองไฟที่ก่อเอาไว้ล่อให้แมงเม่าบินเข้าไปตาย  พี่เรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะเชื่อว่ามีคนเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกวัน  และทุกๆ วันจะต้องมีคนสิ้นเนื้อประดาตัวจากการหลงเข้าไปรพ.เอกชน  แต่ก็ไร้ผล  จึงคิดว่าเมื่อหยุดนโยบายนี้ไม่ได้  ก็จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบ และกำหนดกติกาที่เป็นธรรม   อีกประการคือพี่สังเกตมานานว่า ในโลกโซเชียลออนไลน์ เมื่อใดที่มีคนโพสต์เรื่องค่ารักษาแพง จะเป็นประเด็นร้อนที่สังคมมีอารมณ์ร่วมอย่างมาก  พี่คิดว่าการบ่นไม่ได้ทำให้ความเป็นธรรมเกิด  จึงตัดสินใจทำแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org ให้ผู้คนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ “ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคา รพ.เอกชน”   นั่นคือจุดเริ่มต้น หลังจากเคลื่อนไหวมีกระแสตอบรับอย่างไร ( ตอนนี้ทราบว่าก้าวแรกของเครือข่ายสำเร็จ ภาคประชาชนได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาค่ารักษารพ.เอกชนแพงแล้ว) เพียง 2 สัปดาห์ มีประชาชนร่วมลงชื่อมากถึง 3.3 หมื่นชื่อ  สะท้อนให้เห็นว่าปัญหามีอยู่จริง  และกลไกปกติยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงก่อให้เกิดปัญหาสะสม เรื่องนี้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งและเป็นเรื่องใหญ่ ทันทีที่นายกรัฐมนตรีออกมาขานรับทุกข์ของประชาชน  ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อว่าค่ารักษารพ.เอกชนแพงจริงและสั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา ส่งผลให้ทุกหน่วยงานต่างกระตือรือร้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  ทำให้ประชาชนอุ่นใจและมีความหวังอย่างยิ่ง ว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ภายใต้รัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน   แต่ในระยะแรกภาคประชาชนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม  ซึ่งเราเห็นว่าปัญหานี้ถูกสะท้อนโดยประชาชน  การแก้ไขปัญหาควรจะให้เราเข้าร่วมวงด้วย  จึงมีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ล่าสุดพวกเราได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมแล้ว  แต่อยู่ระหว่างรอคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการข้อเสนอหลักๆ ของทางเครือข่ายที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้มีอะไรบ้าง 1. เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมงห้ามรพ.เอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำหรือให้ญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษา  เมื่อพ้น 72 ชั่วโมงให้ส่งตัวไปรพ.ตามสิทธิ โดยห้ามให้ญาติสำรองจ่าย หรือเซ็นรับสภาพหนี้ กรณีที่รพ.ตามสิทธิเตียงเต็ม จำเป็นต้องอยู่รพ.เอกชนต่อ ให้หน่วยงานตามสิทธิรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  2. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติ ที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากหน่วยงานเดิม ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจรพ.เอกชน  ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทำหน้าที่ตรวจสอบ กำหนดนโยบาย ตั้งกติกา ที่จะให้ค่ายา ค่ารักษา ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และต้องมีอำนาจที่จะลงโทษผู้ทำผิดได้3. ให้ยุบบอร์ดแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ที่แม้จะมีคนดีอยู่บ้างแต่กลุ่มที่มีอำนาจมากคือเจ้าของและผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรพ.เอกชน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความเป็นธรรมของประชาชน แล้วตั้งคนกลางจริง ๆ เข้าไปทำหน้าที่แทน รวมทั้งต้องแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อคานอำนาจในสัดส่วน 50 : 50 และให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ป้องกันการมีอิทธิพลครอบงำหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับนโยบาย  และให้ยกระดับมาตรฐานรพ.รัฐบาลให้เทียบเคียงรพ.เอกชน ที่สำคัญต้องปกป้องสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน  ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้เรื่องนโยบายเมดิคัล ฮับ ของรัฐบาล พี่มีความคิดเห็นอย่างไร , และนโยบายนี้ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร จำได้เมื่อปี 45 รัฐบาลจัดงาน “เมดิคอลฮับ” ที่เมืองทองธานี พี่ไปให้ความเห็นว่าปัดกวาดบ้านเราให้สะอาดก่อนไหมแล้วค่อยเริ่มนโยบายนี้  แต่ไม่มีใครฟัง  วันนี้นโยบายนี้ส่งผลกระทบชัดเจนต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว  นั่นคือบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐถูกดูดไปฟรี ๆ แบบชุบมือเปิบโดยไม่ได้ลงทุนผลิตเอง  เอาไปรักษาชาวต่างชาติ โกยกำไรเข้ากระเป๋าคนกลุ่มเดียวปีละนับแสนล้าน  ทำให้บุคลากรภาครัฐขาดแคลน  คนไข้รอคิวนาน  ส่งผลถึงมาตรฐานการตรวจรักษา  อีกทั้งเมื่อค่ารักษาในรพ.เอกชนแพง  ทำให้ภาครัฐต้องปรับขึ้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ตาม ส่งผลกระทบต่องบประมาณของกองทุนต่างๆ ซึ่งในที่สุดผลร้ายก็จะตกแก่ประชาชนคนไทยโดยรวม”รัฐบาล” ควรพิจารณาทบทวนนโยบายระดับชาติ ที่มุ่งขับเคลื่อนให้มีการหารายได้จากต่างประเทศผ่านระบบรักษาพยาบาล เพราะการรักษาพยาบาลเป็นการประกอบวิชาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และบรรทัดฐานอันดีงามของสังคม  ไม่ใช่สินค้าที่จะหากำไรอย่างไร้ขีดจำกัด  แม้จะเน้นให้มีการหารายได้ผ่านระบบของเอกชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ ทั้งในเรื่องโครงสร้างราคา ปริมาณการใช้เวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ รวมถึงปัญหาเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ  ทั้งในเรื่องปริมาณ คุณภาพ และเจตคติในระยะยาว ประชาชนทั่วไปจะมีส่วนร่วมกับเรื่องสิทธิการบริการสุขภาพอย่างไร พี่เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรเพิ่มรายวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคลงไปในการเรียนการสอน ให้ประชาชนรู้สิทธิของตนเองตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ว่าควรส่วนร่วมในการปกป้องสังคมอย่างไร  มากกว่ารอให้ความเลวร้ายนั้นมาเคาะประตูหน้าบ้านตนเอง แล้วไม่รู้จะจัดการปัญหานั้นอย่างไร แต่เฉพาะหน้าไม่ว่าเรื่องค่ารักษารพ.เอกชนแพงก็ดี  เรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ก็ดี  อยากให้ประชาชนตระหนักว่านี่คือสิทธิของเรา  เมื่อขณะนี้มีคนช่วยจุดประกายและนำเรื่องเข้าสู่ระดับนโยบายให้แล้ว  ประชาชนทั่วไปต้องหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร  และหากมีการเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก็ต้องเสียสละแรงกายออกมาช่วยกันทำให้เป็นจริง   เพราะความเป็นธรรมใดๆ ก็ตามไม่ได้มาด้วยการบ่นเพียงอย่างเดียว  ต้องช่วยกันออกแรงด้วยค่ะพี่ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน เวลาเกิดความท้อแท้ ให้กำลังใจตัวเองอย่างไร อยากให้พี่ช่วยให้กำลังใจแก่คนเล็กคนน้อยที่สู้เพื่อตัวเองและครอบครัว ทำอย่างไรให้จิตใจเข็มแข็งการต่อสู้ในเรื่องยากๆ  เหมือนว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรไม่รู้เมื่อไหร่จะถึงฝั่ง  ความท้อแท้นั้นมีบ้างยามเหนื่อยล้า แต่หากเรายืนหยัดบนความถูกต้อง และคิดเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน นานวันเข้าจะมีแนวร่วมมากขึ้นๆ และเราจะไม่สู้อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป  วลีอมตะที่นักต่อสู้เพื่อสังคมควรท่องไว้ในใจเสมอคือ “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว”  ต้องทั้งอึด อดทน และยืนหยัดประกอบกันค่ะจึงจะไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุดปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์  คุณแม่ลูก 2 ซึ่งประสบปัญหาจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดขณะทำคลอดลูกคนแรก น้องเซ้นต์ เป็นเหตุให้น้องต้องกลายเป็นคนพิการ ใช้ชีวิตอย่างลำบากจนถึงปัจจุบัน นับจากวันที่เริ่มต้นลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเพียงลำพัง ความมุ่งมั่นของเธอสร้างกำลังใจต่อเนื่องให้กับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอีกหลายคน และร่วมกันทำงานในนาม เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ (ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2545)  ด้วยจิตอาสาเสียสละเต็มรูปแบบ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นเครือข่ายภาคประชาชนโดยแท้ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด ลงขันช่วยเหลือกันเอง และมีกฎเหล็กห้ามรับเงินบริจาค ห้ามเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้เสียหายด้วยกัน และห้ามเรียกเก็บค่าหัวคิวจากทนายความ แต่มีเงื่อนไขว่า ”เราช่วยคุณ คุณต้องช่วยสังคม” แค่นั้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point