ฉบับที่ 274 ค่าปรับจอดรถหลังเวลากำหนดแพงเกินไปไหม

        ปัญหาเรื่องที่จอดรถนั้นช่างคลาสสิกเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อต้องไปติดต่อทำธุรกรรมหรือดำเนินการเรื่องอะไรก็ตามในสถานที่ที่ไม่มีที่จอดรถรองรับ ที่พึ่งหนึ่งซึ่งไม่ต้องทำให้เกิดการละเมิดกฎจราจรโดยการจอดในที่ห้ามจอด คือ เข้าจอดในสถานที่หรืออาคารที่เปิดให้นำรถเข้ามาจอดได้แต่จะเรียกเก็บเงินตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ถ้าใช้เวลาทำธุรกรรมไม่นานราคาก็ไม่แพงมาก แต่ถ้าเกิดเผลอลืมหรือใช้เวลานานจนล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้จอด เช่น ไม่อนุญาตให้จอดเกินเวลา 24.00 น. ราคาค่าปรับจะสูงโด่งจนน่าตกใจ                คุณพูนทรัพย์ นำเรื่องมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองนำรถเข้าจอดในอาคารแห่งหนึ่งใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ตนเองเดินทางสะดวกขึ้นไม่ต้องเสี่ยงรถติดในบริเวณที่การจราจรหนาแน่น ปกติแล้วก็เข้าใช้อาคารจอดรถแห่งนี้บ่อยจนตัดสินใจจ่ายในลักษณะรายเดือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง         แต่วันหนึ่งมีเหตุให้เกิดความล่าช้า ตนเองกลับมาเอารถที่จอดไว้หลังเวลา 24.00 น. ทำให้ถูกเรียกเก็บค่าปรับสูงถึง 400 บาท คุณพูนทรัพย์เองก็เพิ่งทราบว่า ค่าปรับหลังเวลานี้โหดมาก จึงพยายามต่อรองกับทาง รปภ.แต่ไม่ได้รับความยินยอม จึงต้องจ่ายค่าปรับเพื่อนำรถออกมา ที่มาขอคำปรึกษาคือ ตนเองสามารถต่อรองให้ค่าปรับลดลงมาได้ไหม ทางอาคารจะยินยอมหรือไม่และทำไมค่าปรับจึงสูงเกิดจากอะไร  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้แจ้งต่อคุณพูนทรัพย์ว่า ทางมูลนิธิฯ จะนำเรื่องของคุณพูนทรัพย์ไปต่อรองกับทางอาคารดังกล่าวให้ เพราะคุณพูนทรัพย์เองก็เป็นลูกค้าประจำ ทางอาคารอาจพิจารณาลดราคาค่าปรับให้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการคิดราคาที่จอดรถ ค่าปรับ ฯลฯ  เป็นไปตามวิธีการให้บริการสำหรับอาคารดังกล่าวซึ่งไม่มีการบังคับจากกฎหมายเพราะเป็นการทำธุรกิจของอาคารดังกล่าว ถือเป็นการเสนอขายบริการ หากคุณพูนทรัพย์ไม่พอใจราคา ก็ปฏิเสธไม่เข้าใช้บริการได้ ส่วนของค่าปรับที่แพงหลังเวลา 24.00 น. น่าจะเป็นเพราะทางอาคารไม่ต้องการให้มีการจอดรถในลักษณะค้างคืน จึงเรียกค่าปรับสูง เมื่อนำสัญญาที่คุณพูนทรัพย์ได้ทำกับทางอาคารไว้มาพิจารณา ก็พบว่ามีการระบุเงื่อนไข ราคาและค่าปรับต่างๆ ไว้ชัดเจน จึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านอ่านรายละเอียดของสัญญาต่างๆ ให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่รู้ (แต่จริงๆ ควรต้องรู้)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม

        ย้อนไปกว่า 60 ปีแล้วที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม (fabric softener) กันในครัวเรือน เหตุผลหนึ่งคือเพื่อลดปัญหาผ้าแข็งหลังซักด้วยผงซักฟอก โดยมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ 2 ส่วนหลักคือ ส่วนที่ทำให้ผ้านุ่ม ได้แก่ กรดไขมันที่ได้จากสัตว์ เมื่อสัมผัสผิวผ้าจะทำให้เกิดความนุ่ม ไม่แข็ง และสารที่ให้กลิ่นหอมติดทนนาน ปัจจุบันน้ำยาปรับผ้านุ่มที่จำหน่ายในประเทศไทยโดยทั่วไปจะเป็นชนิดน้ำที่ใช้ใส่ผสมในน้ำล้างสุดท้ายที่ซักผ้า มีทั้งสูตรมาตรฐานและสูตรเข้มข้น จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยม         แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลส่งต่อกันถึงผลกระทบต่อสุขภาพหลังการใช้ แต่ทาง อย.ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าถึงน้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนทำให้เกิดสารตกค้างในผ้า แต่มีปริมาณที่น้อยมาก การสวมใส่เสื้อผ้าบนผิวหนังจึงไม่มีสารที่ซึมเข้าสู่เลือดจนส่งผลต่อฮอร์โมนได้ ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ เกิดผื่น         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางคนยังมีคำถามคาใจว่า เราจำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มจริงๆ หรือเป็นอิทธิพลของสื่อที่กระตุ้นให้ต้องซื้อใช้กันแน่ ?         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสิรมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม (สูตรมาตรฐาน) จำนวน 10 ตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อปรียบเทียบความคุ้มค่า และข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาว่าจะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อต่อไป ผลสำรวจฉลาก         ·     จากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มทั้งหมด 10 ตัวอย่าง มีปริมาณสุทธิตั้งแต่ 450 – 650 มิลลิลิตร และมีราคาขายปลีกแบบถุงชนิดเติมตั้งแต่ถุงละ 10 – 59 บาท         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุด = 0.09 บาท คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ ถูกสุด = 0.02 บาท ได้แก่ ยี่ห้อโปร กลิ่นการ์เดน สวีท ยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ และยี่ห้อเฟรช แอนด์ ซอฟท์ กลิ่นเลิฟลี่ คิส        ·     เมื่อดูวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์             Ø มีอายุเก็บไว้ได้นานตั้งแต่ 1- 3 ปี นับจากวันผลิต            Ø มี 2 ตัวอย่างที่ระบุเฉพาะวันผลิต คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์         ·     เมื่อพิจารณาข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุเบอร์โทร.ติดต่อศูนย์บริการลูกค้า ได้แก่ ยี่ห้อไฟน์ไลน์ สูตรพิงค์ บลอสซั่ม และยี่ห้อสมาร์ท กลิ่นเลิฟลี่ พิงค์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ ได้แก่ ยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ ข้อสังเกต        ·     ทุกตัวอย่างผลิตโดยบริษัทในประเทศไทย เป็นสูตรมาตรฐาน ที่ระบุคุณสมบัติไว้คล้ายๆ กัน คือ เมื่อใช้แล้วจะช่วยให้เสื้อผ้านุ่มฟู หอมนาน ถนอมสีผ้า ใส่สบายไม่ลีบติดตัว รีดเรียบง่าย และลดกลิ่นอับ         ·     ส่วนใหญ่มีคำเตือนหรือคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยว่า เก็บให้พ้นมือเด็ก ห้ามรับประทาน ระวังเข้าตา หากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรสวมถุงมือยางขณะใช้         ·     มี 2 ตัวอย่างที่มีรูปแม่และเด็กอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยไม่มีข้อความระบุไว้ชัดเจน เช่น ซักเสื้อผ้าเด็กได้ไร้สารตกค้าง เป็นต้น จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเสื้อผ้าเด็ก  ฉลาดซื้อแนะ        ·     ก่อนใช้ ควรอ่านคำเตือนต่างๆ วิธีใช้และปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละยี่ห้อที่แนะนำไว้บนฉลาก        ·     หากใช้ครั้งแรก ควรซื้อแบบซองเล็กๆ มาทดลองใช้ก่อนว่าเป็นกลิ่นหอมที่ชอบ ใช้แล้วตอบโจทย์ และไม่เกิดอาการแพ้ทั้งทางผิวหนังและทางเดินหายใจ แล้วจึงเลือกซื้อขนาดใหญ่เพื่อให้คุ้มราคากว่า        ·     ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าบางชนิด เพราะอาจทำให้คุณสมบัติของผ้าลดลงหรือเกิดการระคายเคืองจากการสัมผัสสารตกค้างได้ง่าย เช่น ผ้าขนหนู ชุดกีฬา ชุดเด็กอ่อน และชุดชั้นใน เป็นต้น        ·     เสื้อผ้าที่แช่น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว ไม่ควรนำไปตากแดดจัดนานๆ หรือเข้าเครื่องอบผ้า เพราะความร้อนจะทำให้กลิ่นหอมจางหายไปจนหมดได้ ผลคือใช้ก็เหมือนไม่ได้ใช้นั่นเอง          ·ห้ามทิ้งบรรจุภัณฑ์และน้ำล้างสุดท้ายที่ผสมน้ำยาปรับผ้านุ่มลงในแม่น้ำ คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศไทยไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมนำถุงชนิดเติมมารีไซเคิล เช่น เย็บกระเป๋า แผ่นรองนั่ง หรือส่งไปทำอิฐบล็อก แผ่นหลังคา ตามหน่วยงานที่รับบริจาคได้ที่มาhttps://www.consumerreports.org/appliances/laundry/why-fabric-softener-is-bad-for-your-laundry-a5931009251/https://www.choice.com.au/home-and-living/laundry-and-cleaning/laundry-detergents/buying-guides/fabric-softeners

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 209 ค่าเช่าบ้านปรับราคาทุกปี จะต่อรองอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ

ทุกข์จากที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขได้โดยง่ายอย่างการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วๆ ไปเพราะเกี่ยวพันกับความรู้สึกที่ผูกพัน หรือทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม ยิ่งเป็นเรื่องของการเช่า ซึ่งมีเรื่องของอำนาจการต่อรองที่ผู้ให้เช่ามีมากกว่าผู้ขอเช่านั้น ยิ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจได้อย่างมาก ดังเช่น คุณสำราญ ที่กำลังกลัดกลุ้มใจ เพราะบ้านที่ตนเองเช่าเพื่ออยู่อาศัยกับครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2559 นั้น ถูกผู้ให้เช่าเรียกร้องค่าต่อสัญญา(ทำใหม่ทุกปี) อัตราใหม่ เพิ่มค่าเช่าห้อง และขอเก็บเงินค่าประกันเพิ่มขึ้น ลองมาดูรายละเอียดกัน- ค่าเช่ารายเดือน ห้องละ 2,000 บาท (จำนวน 2 ห้อง )- เงินประกัน จำนวน 30,000 บาท- ค่าภาษีโรงเรือน (ปี 2559 = 3,800 ปี 2561 เพิ่มเป็น 4,000 บาท)- ค่าทำสัญญา ปี 2559 ห้องละ 18,000 บาท (รวม 2 ห้อง 36,000 บาท) โดนขอปรับค่าทำสัญญาเพิ่มเป็น ห้องละ 25,000 บาท หรือเท่ากับ 50,000 บาท)- ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ จ่ายกับผู้ให้บริการเองเมื่อคุณสำราญถูกขอปรับค่าทำสัญญาใหม่ ในเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงรู้สึกอึดอัด  และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ ว่าจะเจรจากับผู้ให้เช่าอย่างไรดี สามารถอ้างเรื่องใดได้บ้าง เพื่อผ่อนเพลาค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ฝ่ายผู้ให้เช่าไม่พอใจจนยกเลิกสัญญาเช่า เพราะคุณสำราญค่อนข้างพอใจกับทำเลที่อาศัยในตอนนี้ ไม่อยากย้ายไปที่อื่น แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเรานำเงื่อนไขเรื่องที่ต้องทำสัญญาใหม่ทุกปีมาคำนวณเป็นรายเดือน ตอนปี 2559 มีค่าทำสัญญาที่ 18,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 1,500 บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าห้อง เดือนละ 2,000 บาท ก็เท่ากับว่าค่าเช่าห้องตกที่ห้องละ 3,500 บาท โดยเก็บเป็นเงินค่าทำสัญญาไปก่อนแล้ว 18,000 บาท (คุณสำราญเช่าสองห้อง เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเบ็ดเสร็จที่เดือนละ 7,000 บาท) มาปีนี้ 2561 ถูกเรียกค่าทำสัญญาใหม่ที่ 25,000 บาทหรือตกเดือนละ 2,083 บาท ถ้าบวกกับฐานค่าเช่าเดิมคือ 2,000 บาท เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเดือนละ 4,083 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาอีกราว 15% วิธีการแบบนี้คือ การบอกให้เช่าโดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าไปก่อนล่วงหน้าเป็นรายปี โดยเรียกมันว่าการทำสัญญาใหม่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง “ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น  ห้ามมิให้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกินกว่า 1 เดือน หรือถ้าเรียกมันว่า ค่าทำสัญญา ตามประกาศฉบับนี้ ข้อ 4 (9) ระบุว่า กรณีเงินค่าทำสัญญา / ค่าต่อสัญญา ไม่ให้ใช้ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บค่าต่อสัญญาเช่าอาคารจากผู้เช่ารายเดิม  ดังนั้นเท่ากับว่า ค่าทำสัญญาหรือค่าต่อสัญญาเช่าผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ซึ่งข้อนี้ ผู้เช่าหรือคุณสำราญ น่าจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองได้ โดยอาจขอให้เรียกเก็บค่าเช่าแบบตรงไปตรงมา ว่าผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บที่ราคาเท่าไร โดยไม่ต้องเรียกเก็บล่วงหน้าเป็นรายปีอย่างที่ทำอยู่ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับเรื่องเงินค่าประกันความเสียหาย ตามประกาศระบุว่า ผู้เช่าจะต้องจ่ายผู้ให้เช่าหลังจากเซ็นสัญญาเช่า โดยเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าจะต้องคืนให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ทำความเสียหายให้กับห้องเช่าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ระบุในสัญญา ภายใน 7 วัน หลังจากการเช่าหมดสัญญา สำหรับกรณีคุณสำราญที่ต้องต่อสัญญาทุกปี ผู้ประกอบการอาจเก็บเงินประกันก้อนดังกล่าวไว้ก่อนได้ และหากต้องการเพิ่มก็เรียกให้จ่ายเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้ตามประกาศ ในข้อ 4 (4) นั้นระบุว่า เงินประกันค่าเสียหายห้ามเรียกเก็บเกินกว่า 1 เดือนของอัตราค่าเช่ารายเดือน เมื่อคุณสำราญมีค่าเช่าห้องที่เดือนละ 2,000 บาท ค่าประกันความเสียหายจะเรียกเก็บได้ไม่เกิน 2,000 บาท   คุณสำราญจึงควรหาราคาค่าเช่าห้องที่พอเหมาะกับรายได้ของครัวเรือน และเจรจากับทางผู้ให้เช่า ให้เรียกเก็บในอัตราที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า ด้วยการคิดเป็นค่าต่อสัญญาและไม่เรียกเก็บเงินค่าประกันความเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 จ่ายหนี้ไม่ไหว ปรับโครงสร้างหนี้ดีไหม

หลายครั้งเมื่อลูกหนี้แสดงทีท่าว่าจะจ่ายหนี้ไม่ไหว แหล่งเงินกู้ต่างๆ มักเสนอการประนอมหนี้ หรือที่เรียกว่าการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอที่ลูกหนี้ได้ประโยชน์ แต่อาจทำให้ลูกหนี้ต้องมีหนี้เพิ่ม หรือผูกพันกับหนี้ก้อนใหม่แทนคุณสมพลโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยผ่อนชำระที่เดือนละกว่า 5,000 บาท ต่อมาเกิดปัญหาการเงินภายในครอบครัว จึงเป็นเหตุให้เขาต้องชำระหนี้ล่าช้าติดต่อกันหลายเดือน ภายหลังทางบัตรเครดิตจึงโทรศัพท์มาเสนอให้เขาเปลี่ยนยอดชำระจากเดือนละ 5,000 บาทเหลือเพียงเดือนละ 1,000 บาทแทน แต่คุณสมพลไม่แน่ใจว่าหากเขายินดีรับข้อเสนอดังกล่าว จะส่งผลต่อยอดหนี้อย่างไรบ้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ถือเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยในอัตราสูง โดยหากเรานำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า แต่ไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวนที่กำหนดไว้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรา 20 % ต่อปี หรือหากมีการกดเงินสดจากบัตรกดเงินสด และชำระไม่ตรงกำหนดก็จะเสียดอกเบี้ยในอัตรา 28 % ต่อปี ซึ่งจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่มีการกดเงินสดออกมาจากบัตร ส่งผลให้ผู้บริโภคหลายคนที่ชำระหนี้เต็มจำนวนไม่ไหว และมักชำระหนี้ขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 5-10 % ของยอดหนี้ จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะชำระหนี้จนหมดสิ้น เพราะเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากนั่นเอง ดังนั้นเมื่อถูกเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้ หลายคนจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว แต่อาจลืมไปว่าแม้การประนอมหนี้ จะมีข้อดีคือสามารถปรับตามกำลังหรือความสามารถของเราที่จะชำระหนี้ได้ แต่จะถือเป็นการทำสัญญาใหม่ที่จะรวมทั้ง เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เบี้ยทวงถาม เบี้ยค่าติดตาม ทั้งหมดมารวมกันและกลายเป็นหนี้ใหม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังให้ระยะการชำระหนี้นานขึ้นอีกด้วยศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำผู้ร้องว่า ในกรณีนี้หากผู้ร้องหยุดพักชำระหนี้และพยายามเก็บเงินก้อนให้ครบจำนวนยอดหนี้เดิม เพื่อชำระให้หมดภายในครั้งเดียวจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า หากผู้บริโภคท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 อันตรายจากการปรับปรุงพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

ห้างสรรพสินค้า แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบัน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องระวังมาก นอกจากจะระวังการซื้อสินค้าแล้ว การใช้บริการอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ลิฟต์  บันไดเลื่อน หรือแม้แต่ทางเดินปกติ ก็อาจเกิดอันตรายได้ เพราะห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการจัดแสดงหรือจัดงานต่างๆ  เพื่อดึงดูดลูกค้า อาจต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ ซึ่งทำให้แม้จะเดินในเส้นทางที่ใช้ตามปกติ ก็ยังอาจเกิดอันตรายและบาดเจ็บได้อย่างคาดไม่ถึงคุณดวงพรและครอบครัว ได้ไปใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางแค  ปรากฏว่าระหว่างที่เดินหาร้านเพื่อรับประทานอาหาร คุณดวงพรพลาดเดินไปสะดุดกับรางรถทามิย่า ที่ห้างสรรพสินค้าได้ให้ร้านค้าเช่าพื้นที่เข้ามาจัดทำเป็นสนามแข่งรถทามิย่า โดยที่ห้างสรรพสินค้าเองไม่ได้กั้นเขต หรือปิดป้ายประกาศเตือนไว้แต่อย่างใด เป็นเหตุให้คุณดวงพร ซึ่งมีอายุมากแล้วและสายตาไม่ดี พลาดไปเดินสะดุดกับรางรถทามิย่านี้เข้า ในขณะที่กำลังมองหาสามี ซึ่งเดินตามมาทีหลังเพราะไปหาที่จอดรถอยู่ การสะดุดล้มครั้งนี้ เป็นเหตุให้กระดูกแขนร้าว 1 ข้าง  หัก 1 ข้าง  ขนาดต้องผ่าตัดใส่โลหะด้ามกระดูก และมีรอยแผลบวมช้ำที่เบ้าตาขวา หลังจากไปรับการรักษาพยาบาลแล้ว คุณดวงพรจึงมาทราบภายหลังว่า ทางห้างฯ จึงค่อยมีการจัดหาที่กั้น มากันพื้นที่ในบริเวณที่จัดวางรางรถทามิย่า แนวทางแก้ไข คุณดวงพรได้มาคุยกับทีมศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา โดยก่อนหน้านั้น ทางคุณดวงพร ได้มีเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางห้างฯ แล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นความผิดของห้างฯ โดยบ่ายเบี่ยงว่า คุณดวงพรตั้งใจเดินข้ามเข้าไปเอง แล้วสะดุดรางล้มเอง ซึ่งกล้องวงจรปิดไม่สามารถจับภาพเอาไว้ได้ แต่ห้างฯ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ขณะที่คุณดวงพรต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปแล้วถึง  169,792 บาท และหลังออกจากโรงพยาบาลก็ยังต้องมีการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องด้วย ทางคุณดวงพรต้องการให้ห้างฯ และผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่การจัดวางรางรถทามิย่า ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวน 100,000 บาท และได้ยื่นข้อเสนอนี้เมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แต่ทางห้างฯ ยังคงยืนกราน ไม่ยินยอมช่วยเหลือในเงินจำนวนดังกล่าวเช่นเดิม  เมื่อทางห้างฯ ไม่ยินดีช่วยเหลือตามข้อเสนอ จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า อาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป เหตุเกิดในห้างสรรพสินค้าคราวนี้ อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ผู้ร้องทุกข์รายหนึ่ง ซึ่งเดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน สุดท้ายจึงจบลงที่การฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคในครั้งนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้ และศาลพิพากษาให้ห้างฯ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่โจทก์ร้องขอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 สวัสดีปีใหม่ แก๊สหุงต้มจะปรับขึ้นราคา ?

เรื่องนี้ยังไม่มีใครร้องเรียน เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่า แก๊สหุงต้มกำลังนับถอยหลังดีเดย์ปรับขึ้นราคา ในเดือนมกราคม ปี 2556 หน้าค่อนข้างแน่นอนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้สรุปแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เสนอนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน โดยอาศัยการคาดการณ์ราคา LPG ในตลาดโลกปี 2556-2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาใช้อ้างอิง ซึ่งจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้ราคา LPG ขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 18 บาท/กก. สำหรับก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนสนพ. ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้นอย่างนี้ราคาก๊าซที่ขายในประเทศก็ต้องสูงตามไปด้วย แต่เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ จึงเสนอให้ใช้วิธีขึ้นราคาแบบนวดคลึง คือค่อยๆปรับ ค่อยๆเจ็บ สู่ราคาเป้าหมายที่ 36 บ./กก. ภายใน 2 ปี จากเดือนมกราคม 2556-ธันวาคม 2557โดยภาคครัวเรือนจะทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 บ./กก. ภาครถยนต์จะปรับขึ้นเดือนละ 1.20 บ./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 21.38 บ./กก. และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจะปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 30.13 บ./กก.คาดว่ารัฐบาลจะลดแรงต้านด้วยการเสนอมาตรการบรรเทาความด้วยร้อนด้วยการแบ่งแยกกลุ่มประชาชน ผ่านกลไกบัตรเครดิตพลังงานที่จะให้ส่วนลดแก่ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 6 ล้านครัวเรือน และร้านค้า หาบเร่ แผงลอย อีกราว 2 แสนกว่าราย ซึ่งจะมีลักษณะให้ไปลงทะเบียนคล้ายกับบัตรเครดิตพลังงานที่ใช้กับกลุ่มรถแท๊กซี่และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในช่วงที่ผ่านมา   ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ผลกระทบโดยตรง สำหรับบ้านที่ใช้แก๊สถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 50 สต./กก.ราคาแก๊สจะขยับจากถังละ 290 บาท ขึ้นเป็น (0.50 x 15) + 290 = 297.50 บาท/ถังหลังปรับขึ้นราคาครบปีที่ 1ราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x 12) + 290 = 380 บาท/ถัง (สูงขึ้น 31%)หลังปรับราคาครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x24) + 290 = 470 บาท/ถัง (สูงขึ้น 62%)หมายเหตุ : ราคายังไม่รวมค่าบริการส่งก๊าซถึงที่อยู่อาศัย   สำหรับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงราคาแก๊สปัจจุบันอยู่ที่21.38 บ./กก. หรือ 11.56 บ./ลิตร (LPG 1 กก. = 1.85 ลิตร)ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 1.20 บ./กก.ราคาแก๊สจะขยับจาก21.38 บ./กก. ขึ้นเป็น (21.38 + 1.20 ) = 22.58บ./กก. (12.20 บ./ลิตร)หลังปรับขึ้นราคาครบ 1 ปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 12) + 21.38 = 35.78 บ./กก. (19.34 บ./ลิตร) หรือ สูงขึ้น 67.35%หลังปรับขึ้นครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 24) + 21.38 = 50.18 บ./กก. (27.12 บ./ลิตร) หรือสูงขึ้น 134.7% ผลกระทบโดยอ้อม ประชาชนอาจจะใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือนและในรถยนต์น้อยลง แต่ในทางเดียวกันประชาชนก็ไม่มีทางเลือกการใช้พลังงานมากขึ้น ป่าไม้อาจถูกทำลายมากขึ้น จากการที่ประชาชนหันกลับมาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ไม่มีหลักประกันใดว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะสามารถดูแลราคาสินค้าเครื่องใช้อุปโภค บริโภค ต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมกับผู้บริโภคได้ เพราะจากอดีตที่ผ่านมาในการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ NGV แม้รัฐบาลจะมีมาตรการบัตรเครดิตพลังงานให้ส่วนลดค่าเชื้อเพลิง มาตรการเปิดร้านค้าธงฟ้าที่ต้องใช้งบประมาณมากมาย หรือมาตรการประกาศราคาแนะนำข้าวแกงขึ้นมา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำให้ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นไปแล้วทยอยลดราคากลับคืนมาแต่อย่างใด แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาก๊าซ LPG ขาดแคลน โดยอ้างว่ามีการใช้ผิดประเภทในภาครถยนต์และในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป จนทำให้มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจ่ายชดเชยราคาส่วนต่างของราคานำเข้า LPG ตลาดโลก นับแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบันรวมเกือบ 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนแก่ประชาชน เนื่องจากในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้ก๊าซ LPG ในราคาประมาณ 18 บ./กก. ส่วนผู้ใช้รายอื่นใช้ในราคาที่สูงกว่านี้อีก แต่ปรากฏว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมของตนกลับใช้ LPG ในราคาเพียง 16 บ./กก. เท่านั้น และมีสัดส่วนการใช้มากถึง 33-34% ของกลุ่มผู้ใช้ทั้งหมด (รถยนต์ใช้เพียง 14% )และยังเป็นการใช้ก๊าซโดยตรงจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิต จึงมีราคาถูกที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน หรือก๊าซนำเข้าด้วยเรื่องนี้เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับประชาชนทั้ง 70 ล้านคน  จึงน่าจะมีกระบวนการประชาพิจารณ์ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเปิดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนทั่วไปเสียก่อน หากตรวจสอบแล้วว่า มีข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือมีการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม จะได้มีมาตรการจัดการปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 คอนโดมิเนียมหรูเสร็จช้า ลูกค้าขอเรียกค่าปรับ

เดอะกรีน คอนโดมิเนียม @ สุขุมวิท 101 เป็นคอนโดมิเนียมความสูง 8 ชั้น มีจุดขายสำคัญตรงที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี ประมาณ 800 เมตร มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรถสองแถวซูบารุ ให้บริการวิ่งรับส่งปากซอยตลอด 24 ชั่วโมง มีตลาดคึกคัก ที่สำคัญมีของกินเยอะมาก ถูกใจสาวๆ ออฟฟิศเป็นที่สุดแม้ราคาจะสูงถึง 1,073,000 บาท แลกกับพื้นที่ใช้สอย 31.50 ตารางเมตร แต่คุณนุสราก็บ่ยั่นเมื่อเทียบกับทำเลที่ตั้งที่น่าสนใจของคอนโด ตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เลือกอยู่ชั้น 8 ชั้นบนสุดเลยทีเดียวหน้าที่ตามสัญญาฯ ฝั่งคุณนุสราจะต้องจ่ายเงินดาวน์ร่วม 2 แสนบาท โดยแบ่งเป็นเงินจ่ายในวันจอง 5 พันบาท จ่ายในวันทำสัญญา 2 หมื่นบาท ยอดที่เหลืออีก 1 แสน 7 หมื่นกว่าบาทแบ่งจ่ายเป็นงวด 20 งวด เริ่มจากเดือนมิถุนายน 2553 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2555  ส่วนที่เหลืออีก 8 แสน 7 หมื่นกว่าบาทต้องหามาจ่ายให้ได้ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิห้องชุดที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ในขณะที่ฝั่งกรีนคอนโดสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างคอนโดให้เสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2554คุณนุสรา ได้ชำระเงินตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างนั้นก็ต้องใจระทึก เพราะช่วงเดือนสิงหาคม 2553 โครงการยังไม่เริ่มตอกเสาเข็ม และได้มีอีเมล์ชี้แจงมายังลูกค้าว่า บริษัทยังอยู่ในช่วงการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีคำสั่งให้มีการแก้ไขในบางจุดอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการทำอีไอเอนี้ราว 60 วัน และใช้เวลาอีกไม่เกิน 2 อาทิตย์ในการขอใบอนุญาตในการก่อสร้างได้ ส่วนเรื่องเงินทุนนั้นไม่มีปัญหาเพราะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งทั้งโครงการ พร้อมกับยืนยันว่า อาคารเสร็จตามกำหนดแน่นอน ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ หรือว่าลูกค้าจะหยุดผ่อนค่างวดเงินดาวน์ก่อนจนกว่าทางโครงการจะเริ่มตอกเสาเข็มก็ได้ แต่ก็จะไปหนักในการผ่อนเงินงวดท้ายๆ เพราะว่าโครงการสร้างเสร็จ พอเห็นคำยืนยันของโครงการเกิดความมั่นใจว่า “เสร็จแน่” คุณนุสราจึงเดินหน้าจ่ายค่างวดตามสัญญาต่อไป โครงการสัญญาว่าจะเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2554 ก็ยังไม่เสร็จ ส่วนคุณนุสราก็ทำตามสัญญาจ่ายค่างวดจนครบงวดที่ 20 เดือนมกราคม ปี 2555 ปรากฏว่า โครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ“งานนี้โครงการมันไม่เสร็จ แต่ฉันเสร็จแน่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง” คุณนุสราคิดในใจ พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงโครงการ เรียกค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้เข้าอยู่อาศัยนับแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 เท่ากับค่างวดที่ได้จ่ายไปรวม 4 งวด เป็นเงิน 43,900 บาทเศษ ส่งจดหมายไปแล้วโครงการไม่ตอบว่า จะจ่ายชดใช้ให้หรือไม่ แต่มาถึงเดือนมีนาคม 2555 ถึงได้มีจดหมายจากโครงการเชิญให้ไปตรวจรับห้องชุดคุณนุสราไปตามคำเชิญ พร้อมว่าจ้างวิศวกรไปช่วยตรวจรับห้องชุดด้วย พอไปถึง ได้ตรวจได้ดูสภาพห้องแล้ว สรุปได้ว่าห้องยังไม่เรียบร้อยที่พร้อมจะให้เข้าตรวจรับ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงได้มีหนังสือไปถึงโครงการอีกครั้งเพื่อยืนยันที่จะเรียกค่าเสียหาย และแจ้งเรื่องความไม่เรียบร้อยของโครงการ และขอให้โครงการแจ้งวันที่โครงการดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาในรายละเอียดต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้วกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับสำทับว่า การไปตรวจรับห้องชุดแต่ละครั้ง ตนต้องมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างวิศวกรเพื่อตรวจรับห้องชุด  หากเมื่อถึงวันนัดกันแล้ว  โครงการยังดำเนินการไม่เรียบร้อยอีก โครงการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนด้วยส่งจดหมายไปแล้ว สิ่งที่ได้รับคือ ความเงียบ ไม่มีปฏิกิริยาโต้กลับใดๆ มาจากโครงการ ถึงเดือนเมษายน 2555 คุณนุสราจึงส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2543 มีเนื้อหากล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ไว้ 2 แนวทางแนวทางที่ 1 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเลยก็ได้ และมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับที่ทางผู้ประกอบธุรกิจกำหนดในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ และไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วยแนวทางที่ 2 หากผู้บริโภคไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.01 และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกัน แต่ถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิในการปรับครบร้อยละสิบของราคาห้องชุดแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารชุดได้ทันกำหนดตามสัญญาอีก ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียได้ตามแนวทางที่ 1 เช่นกันในกรณีของคุณนุสรา เธอไม่บอกเลิกสัญญา แต่ต้องการเรียกค่าปรับ เมื่อราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกันอยู่ที่ 1 ล้านบาท ดังนั้นค่าปรับรวมจึงอยู่ที่ไม่เกิน 1 แสนบาท  ซึ่งคุณนุสราได้ยืนยันที่จะเรียกค่าปรับจำนวนสี่หมื่นกว่าบาท โดยใช้ข้อเสนอของโครงการที่เขียนแจ้งทางอีเมล์ว่า ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ มูลนิธิฯ ได้ช่วยแจ้งความประสงค์ของคุณนุสราไปยังโครงการให้อีกทางหนึ่ง โดยผู้บริโภคจะขอหักเป็นส่วนลดในค่าโอนกรรมสิทธิห้องเลย ซึ่งต่อมาทางโครงการได้ทำการก่อสร้างโครงการและแก้ไขรายละเอียดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้ จนสามารถรับโอนกันได้ และขอต่อรองค่าปรับให้ลดลงเหลือ 25,000 บาท คุณนุสราเห็นว่าจะได้ห้องอยู่แล้ว จึงตกลงยินดีไม่มีปัญหา ตอบตกลงรับโอนกรรมสิทธิในเวลาต่อมา ส่วนค่าปรับก็หักจากเงินที่ต้องชำระในวันโอนกรรมสิทธิ และได้อยู่สวรรค์ชั้นแปดของเดอะกรีนคอนโดมิเนียมสมใจปรารถนา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กระแสต่างแดน

  จับจริงปรับจริง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม เขาจะเพิ่มความเข้มข้นของการปราบปรามการทำผิดกฎจราจรขึ้นอีกระดับ อย่างแรก ถ้าคุณทำผิดกฎจราจร คุณจะต้องเสียค่าปรับแพง อย่างที่สอง ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 4 เส้นทางหลักในการเข้า/ออกตัวเมืองดานัง ซึ่งมีความวุ่นวายจอแจไม่ธรรมดา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกคนละ 5 ล้านด็อง (ประมาณ 7,400 บาท) จากอัตราเงินเดือนปกติ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) ในขณะที่สารวัตรจราจรจะได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) แถมด้วยส่วนแบ่งอีกร้อยละ 10 จากค่าปรับที่เรียกเก็บจากพวกที่ทำผิดกฎจราจรอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ เขาจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดตรวจเพื่อลดการติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกด้วย ใครมีภาพตัวเองรับสินบน ไม่ว่ามากหรือน้อย จะต้องถูกไล่ออกทันที อีกหน้าที่หนึ่งของตำรวจจราจรที่ดานังคือการตรวจคุณภาพของหมวกกันน็อคของบรรดาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เพราะเมืองนี้กำลังมีปัญหาหมวกกันน็อคปลอมระบาด ที่คนนิยมซื้อมาใช้เพราะราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง   ข่าวบอกว่าตำรวจเขาจะเชิญสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปนั่งรอการตรวจหมวกกันน็อคในที่ร่มๆ ให้สบายใจ ถ้าพบว่าเป็นชนิดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เขาก็จะเก็บไว้ แล้วให้ซื้อหมวกกันน็อค ที่ทั้งคุณภาพดี มีมาตรฐาน และราคาเพียงใบละ 80 บาทใส่กลับบ้านไปด้วย เหตุที่ผลิตออกมาได้ถูกนั้นก็เพราะ เทศบาลเมืองดานังเขาให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย (ประมาณ 11.7 ล้านบาท) กับผู้ผลิตหมวกกันน็อค เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตหมวกนิรภัยให้กับเทศบาล 100,000 ใบ ภายในระยะเวลา 2 ปี   รถไฟสายพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 1,500 ยูโร (ประมาณ 60,000 บาท) ให้กับสาวนางหนึ่งที่ไปทำงานสายถึง 6 ครั้งในช่วงทดลองงาน เพราะรถไฟที่เธอใช้เพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสำนักงานในเมืองลียงนั้นมาไม่ตรงเวลา เธอคนนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก SNCF หรือ Société Nationale des Chemins de fer Français (ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเจ้าใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการรถไฟความเร็วสูง TGV ด้วย) ไปทั้งหมด 45,000 ยูโร (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) โทษฐานที่ทำให้เธอต้องได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และสูญเสียรายได้ที่อาจเกิดขึ้นถ้าเธอผ่านการทดลองงานด้วย เธอบอกว่าระยะเวลาที่ต้องรอนั้นมีตั้งแต่ 10 ถึง 75 นาที และสำนักงานกฎหมายที่เธอเข้าทดลองงานในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ก็ยืนยันว่าการมาสายของเธอเป็นผลเสียต่อกิจการของบริษัท ศาลเห็นด้วยว่าการที่รถไฟมาไม่ตรงเวลานั้น ทำให้เธอเกิดความเครียด จึงสั่งให้ SNCF จ่ายเงินชดเฉยให้กับเธอเป็นเงิน 1,500 ยูโร แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ได้ค่าชดเชยทั้งหมดที่เรียกร้องไป แต่ข่าวบอกว่านี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่การรถไฟฝรั่งเศสจะต้องเตรียมตัวรับมือต่อไป สองปีก่อน การรถไฟฝรั่งเศสเคยถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ทนายคนหนึ่งเป็นเงิน 5,000 ยูโร (ประมาณ 200,000 บาท) เพราะรถไฟมาสายและทำให้เขาพลาดรถที่จะต้องต่อไปพบลูกความที่เมืองนีมส์ มาแล้ว     วันนี้ห้ามขาย สำนักงานเทศบาลของ 25 เขตในกรุงโซลลงความเห็นร่วมกันว่า แต่นี้ต่อไป ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสาขาย่อยที่เรียกกันว่า SSM (super supermarkets) ของห้างเหล่านั้น จะต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ที่สองและสี่ของเดือน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะช่วยให้ร้านค้าแบบดั้งเดิม (หรือที่บ้านเราเรียก “โชว์ห่วย”) ให้สามารถอยู่ควบคู่กันไปกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องปิดกิจการนั่นเอง กรุงโซลเป็นหนึ่งในหลายๆ เมือง ที่กำลังปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่ให้อำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น ในการสั่งให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และสาขาย่อย ปิดทำการได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง และการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 30 ล้านวอน(ประมาณ 800,000 บาท) ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับห้างที่ยอดขายเกินร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและปศุสัตว์ ร้าน Hanaro Club ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่ดำเนินงานโดยสหพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติของเกาหลีก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน และแน่นอนที่สุด สมาคมร้านค้าปลีกของเกาหลี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพราะ “มันเป็นการละเมิดสิทธิของห้างในการประกอบธุรกิจ และละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการจับจ่าย”  นอกจากนี้ยังบอกว่าจะล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ สมาคมฯ โอดครวญว่า ทีพวกขายของทางโทรทัศน์หรือทางอินเตอร์เน็ทยังขายได้ทุกวัน วันละ 24 ชั่วโมงเลย (ว่าแต่ร้านโชว์ห่วยเขาขายของแบบเดียวกันกับร้านพวกนี้หรือไงนะ?)     แคลอรี่ บลา บลา? เนื่องจากประชากรของเขามีอัตราการเกิดโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป รัฐบาลอังกฤษเลยตัดสินใจประกาศแผนลดความอ้วนระดับชาติ ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารสำเร็จรูปลง เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 17 ราย ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่าที่ประกาศว่าจะลดปริมาณแคลอรี่ในเครื่องดื่ม (บางชนิด) ของตนเองลงร้อยละ 30 เช่นเดียวกับ Mars ที่บอกว่าจะทำขนมหวานรสช็อคโกแล็ต แต่ละชิ้นให้มีแคลอรี่ไม่เกิน 250 หรือห้าง Asda ที่ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่จะผลิตเฉพาะอาหารแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น เรื่องนี้จะว่าดีก็ใช่ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด พรรคแรงงานออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่คิดถึงทางเลือกอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่านี้ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการปรับปรุงฉลากอาหาร หรือจำกัดการโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายที่เด็กๆ พบเห็นบ่อยเกินไปในโทรทัศน์ เป็นต้น อีกความพยายามที่น่าสนใจของรัฐบาลอังกฤษคือการขอให้ผู้ผลิตทำบรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการเก็บไว้รับประทานในคราวต่อไปได้ด้วย     ถนนนี้เราจอง คุณอาจเคยได้ยินชื่อ เอมิเรตส์ สเตเดียม ในกรุงลอนดอน หรือถ้าคุณเป็นแฟนของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ คุณก็คงจะรู้จักคิง พาวเวอร์ สเตเดียม แต่ “แบรนด์” ต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เพราะเขาประกาศขายสิทธิในการตั้งชื่อถนน ทางหลวง สะพาน ฯลฯ ให้กับใครก็ตามที่ยินดีให้ราคาสูงสุดในการประมูล เวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา ตัดสินใจผ่านกฎหมายดังกล่าวเพื่อหางบประมาณมาซ่อมแซมถนน ซึ่งแต่ละสายก็อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นักการตลาดบอกว่านี่เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในยุคที่ “แบรนด์” ทั้งหลายแข่งกันสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค แทนที่จะไปทุ่มเทเงินให้กับนักกีฬาหรือทีมกีฬาที่รวยอยู่แล้ว บริษัทต่างๆ ควรใช้เงินเพื่อสนับสนุนการดูทรัพย์สินสาธารณะดีกว่า ในทางกลับกัน ฝ่ายที่คัดค้านมองว่ามันเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องถูกแวดล้อมไปด้วยโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 กระแสต่างแดน

ขึ้นฟรีแบบมีประเด็นที่ปารีสมีคนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะขึ้นรถโดยไม่ซื้อตั๋ว เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐจัดบริการขนส่งมวลชนในปารีสให้ฟรี เหมือนกับบริการการศึกษา หรือบริการสุขภาพ  กลุ่มนี้เขารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นระบบ ใครโดนจับได้และถูกเรียกเก็บค่าปรับ เขาก็มีกองทุนเอาไว้จ่ายให้ด้วย หนังสือพิมพ์ เลอ ปาริเซียง รายงานว่าปัจจุบันมีกองทุนแบบนี้อย่างน้อย 10 กองทุน โดยสมาชิกร่วมอุดมการณ์นั่งรถฟรีแต่ละคนจะร่วมลงขันคนละ 5 – 7 ยูโร (ประมาณ 200 - 300 บาท) เพื่อสำรองไว้จ่ายค่าปรับ ปารีสเมโทร หรือ ขนส่งมวลชนปารีส เขาบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 4 ของคนที่ขึ้นรถนั้นไม่ได้ซื้อตั๋ว ถ้าแยกดูตามเส้นทางจะพบว่า อัตราการขึ้นรถฟรีอยู่ที่ร้อยละ 10 สำหรับรถทางไกล และร้อยละ 6 สำหรับรถที่วิ่งในปารีส แต่ทั้งนี้ขนส่งฯ เขาบอกว่ารายได้จากตั๋วโดยสารนั้นเป็นเพียงแค่ร้อยละ 30 ของต้นทุนการดำเนินงานเท่านั้น เรียกว่าแทบจะไม่พอสำหรับการจ่ายเงินเดือนให้กับนายตรวจซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 968 คน (กลุ่มที่รณรงค์เพื่อรถฟรีเขาตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการไล่ล่านั้นน่าจะแพงกว่าราคาตั๋วด้วยซ้ำ)  ชาวปารีสต้องจ่ายค่าตั๋วถึง 1.70 ยูโร (ประมาณ 68 บาท) ในขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ 1 ยูโร (40 บาท) เท่านั้น อันที่จริง หลายเมืองในฝรั่งเศสเขามีรถฟรีให้ขึ้นกัน เมืองกงปิแอง ก็มีรถฟรีมาแล้ว 33 ปี นอกจากนี้ยังมีเมือง โอบาง กูโลเมีย วิตร หรือชาโตรู ซึ่งทางเมืองเขาคำนวณแล้วว่ารายได้จากการขายตั๋วนั้นไม่ได้มากอะไรเลย เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของการจัดการขนส่ง  ไม่รู้ว่า ขสมก. ของเราสนใจจะไปเยี่ยมชมดูงานของเขาหรือเปล่า จะได้รู้กันไปว่าการจะขึ้น “รถเมล์ฟรี จากภาษีของประชาชน” ที่ฝรั่งเศสนี่มันต้องเตรียมตัวออกสตาร์ทกันให้ดีเหมือนที่บ้านเราหรือเปล่า --------------------------------------------------------------------- ของ (ไม่น่าจะ) เสีย ปัญหาที่อเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกามีเหมือนกันคือการสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์  อัฟริกายังขาดแคลนเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาพืชผล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 1 ใน 4 ต้องเน่าเสียไปก่อนจะได้กลายเป็นอาหาร เพราะสภาพอากาศที่รุนแรง โรคพืช และศัตรูพืช เป็นต้น ในแต่ละปีมีผลิตผลอย่างพืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลา นมวัว เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชากรกว่า 265 คนอยู่ในภาวะอดอยาก  ส่วนอเมริกานั้น แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นเทพก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารที่ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน ในแต่ละวันคนอเมริกันหนึ่งคน จะทิ้งอาหารประมาณ 1.5 ปอนด์ (เช่น ผักกาดที่เฉาไปนิด เบอร์เกอร์ที่กินไปเพียงครึ่ง หรือแอปเปิ้ลที่ช้ำๆ ดูไม่น่ากิน) รวมๆ แล้วทำให้เกิดเป็นขยะปริมาณเท่ากับสะพานโกลเด้นเกท 74 สะพาน ที่ต้องเป็นธุระนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เผาอีกต่างหาก  ร้อยละ 34 ของก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ ก็เกิดจากขยะมหึมากองนี้  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แหล่งผลิต จะพบว่ามีผลผลิตถูกทิ้งให้เสียไปไม่น้อยเหมือนกัน องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ส่งอาสาสมัครไปตามฟาร์มต่างๆ เพื่อเก็บผลผลิตสภาพดีที่เหลือทิ้ง ปรากฏว่าเขาสามารถเก็บมาได้ถึง 15.7 ล้านปอนด์ (ข้อมูลปี 2552) ฟู้ด รันเนอร์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จัดหาอาหารสัปดาห์ละ 10 ตัน ให้กับคนไม่มีบ้านอยู่ หรือบ้านพักคนชรา โดยอาหารเหล่านั้นคือของที่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ใช้แล้วนั่นเอง สถาบัน Worldwatch ฟันธงแล้วว่า อันตรายหมายเลขหนึ่งของโลกเราทุกวันนี้ ได้แก่ “วัฒนธรรมกินใช้อย่างเหลือเฟือ” นี่แหละ ซึ่งไม่ได้ระบาดเฉพาะในหมู่คนอเมริกัน ผู้บริโภคทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะหย่าขาดจากมันให้ได้ --------------------------------------------------------------------- รถสะดวกขาย ในนิวยอร์กมีรถบรรทุกเร่ขายอาหารกว่า 3,000 คัน รถเร่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นไปแล้ว และเทคโนโลยีอย่างทวิตเตอร์ก็ทำให้ธุรกิจนี้มีสีสันขึ้นด้วยการช่วยให้แฟนพันธุ์แท้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถเจ้าประจำได้ ว่าขณะนี้ไปจอดอยู่ที่ไหน   รถเร่เหล่านี้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านความหลากหลายและราคา เรียกว่ามีอาหารนานาชนิดขาย ตั้งแต่ ไอศกรีม ฮอทดอก วอฟเฟิล บราวนี่ และอื่นๆ ด้วยสนนราคาเฉลี่ยเพียง 10 เหรียญ แต่ปัญหาคือเดี๋ยวนี้รถเร่บางคัน กลับจอดปักหลักขายตามหัวมุมถนนที่คนจอแจเสียนี่ บางคันจอดยึดพื้นที่ตั้งแต่ 10.00 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน บางเจ้าก็ถึงขั้นทำใบปลิวเมนูของร้านพร้อมระบุตำแหน่งที่จอดไว้ด้วย(มั่นใจขนาดนั้นเลย) หลังจากมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือคราบน้ำมันที่รถเร่เหล่านี้ทิ้งไว้ ปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ การถูกบดบังหน้าร้าน (สำหรับร้านที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาธ) เป็นต้น สมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์ก เจสสิกา แลพพิน จึงนำเสนอร่างกฎหมายให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตที่กรมสุขภาพออกให้รถเร่เหล่านี้ ถ้าพวกเขาได้รับใบสั่งจราจรมากกว่า 2 ใบ ในระยะเวลา 1 ปี จากการจอดติดเครื่องหรือหยอดเหรียญในมิเตอร์เพื่อซื้อเวลาจอดรถ ต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างนี้จะผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอย่างไร ในวันที่มีการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกลุ่มผู้ค้ารถเร่และบรรดาขาประจำรวมตัวกันเพื่อยื่น 4,000 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว สมาชิกสภาฯ คนดังกล่าวยืนยันว่า ถ้ารถเร่เหล่านี้ต้องการพื้นที่ขายถาวร ก็ควรจะไปหาพื้นที่เปิดเป็นร้าน ถ้าจะเป็นรถเร่ ก็ต้องเร่ให้ตรงคอนเซ็ปต์ --------------------------------------------------------------------- ไม่ซ่อมก็จ่ายมา ที่อังกฤษนั้นถ้าคุณขับรถตกหลุมบนถนน สิ่งแรกที่ควรทำคือกลับบ้านไปเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเว็บไซต์ www.fixmystreet.com หรือ www.potholes.co.uk เพื่อตรวจสอบว่าหลุมที่ไปตกมานั้นมีคนแจ้งซ่อมเข้าไปหรือยัง ถ้ามีแล้ว ก็หมายความว่าคุณมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ทุกวันนี้มีผู้เดือดร้อนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้จริงๆ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ เช่น Highways Agency หรือเทศบาลท้องถิ่นจ่ายค่าชดเชยให้โดยอ้างอิงจากหลุมบ่อที่ “ขึ้นทะเบียน” หรือมีการแจ้งซ่อมแซมไว้แล้วแต่รัฐยังไม่ดำเนินการให้เท่านั้น สถิติระบุว่าในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐซ่อมไปแล้วกว่า 1.4 ล้านหลุม (ในลอนดอนอย่างเดียว ก็ปาเข้าไป 120,000 หลุม) ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์ บ้านเราน่าจะลองเอาไอเดียนี้มาใช้ดูบ้าง ดูท่าทางการแจ้งผ่านรายการทำนอง “ทุกข์ชาวบ้านชาวช่อง” หรือ “ช่วงนี้ชี้ให้ดูนะ” คงจะไม่พอเสียแล้ว ---------------------------------------------------------------------   เย็นอย่างพอเพียง เทศบาลเมืองไทเป ไต้หวัน ออกกฎหมายให้อาคารสำนักงานและห้างร้านใหญ่ๆ ที่บริโภคไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ใครเย็นไปกว่านี้มีปรับกฎหมายว่าด้วยการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีช่วงเวลาให้ปรับตัว 6 เดือน หลังจากนั้นถ้าใครตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ก็จะถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 10,000 บาทถึง 50,000 บาท ช่วงแรกเขาจะบังคับใช้กับธุรกิจที่ใช้ไฟมากกว่า 100,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อเดือน หรือจ่ายค่าไฟเดือนละมากกว่า 300,000 บาท ปัจจุบันในเมืองหลวงของไต้หวันมีองค์กรประเภทนี้ (ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน) 540 แห่ง ธุรกิจเหล่านี้บริโภคไฟร้อยละ 38 ของพลังงานไฟฟ้าในไทเป ถ้าแต่ละแห่งลดการบริโภคไฟลงร้อยละ 1 ก็จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สามารถใช้ได้กับ 7,000 ครัวเรือนต่อปีเลยทีเดียว ---------------------------------------------------------------------   หมูย้อมแมว บริษัท Primo SmallGood ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารจากเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ โดนปรับเป็นเงินประมาณ 6 ล้าน 7 แสนบาท โทษฐานที่ติดฉลาดผลิตภัณฑ์เบคอนของตนว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ของออสเตรเลีย” สาเหตุที่โดนค่าปรับแพงที่สุดตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้มาก็เพราะเบคอนที่ว่านั้นทำจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเดนมาร์กและแคนาดา นี่เป็นอีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภค ..แม้สินค้าจะไม่ได้เป็นอันตราย แต่ก็ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อย. ของนิวเซาท์เวลส์เขารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008 เลยเริ่มทำการสืบสวนบริษัทผู้ผลิตอาหารภายในรัฐ และพบว่าบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากผิดทั้งหมด 100 ตัน จึงแจกไป 63 ข้อหาภายใต้กฎหมายอาหารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทั้งนี้ข่าวเขาบอกว่ายังต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าบริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการติด “ฉลากผิด” ที่ว่าด้วยหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ใครช่วยคุณประหยัดไฟ (ฟ้า) ที่สุด

วฤษสพร วิริยะประสาท   เครื่องปรับอากาศ เบอร์ 5 ใครช่วยคุณประหยัดไฟ(ฟ้า)ที่สุดคงพอทราบวิธีเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศกันมาบ้างแล้ว ซึ่งหนึ่งในคำแนะนำสำคัญก็คือ ควรเป็นเครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 เพราะจะช่วยให้ประหยัดไฟฟ้าได้มาก แต่ว่าถึงจะเป็นเบอร์ 5 เหมือนกันก็มีความแตกต่างนะคะ เบอร์ 5 มาอย่างไร"โครงการประชาร่วมใจใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟเบอร์ 5 " เป็นผลงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนร่วมใจการประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าและใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจุดมุ่งหมายในการลดการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศ สำหรับเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตสูงและใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดทั้งในบ้านพักอาศัยและในภาคธุรกิจ กฟผ.ได้ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศให้เข้าร่วมโครงการเพื่อกำหนดระดับประสิทธิภาพและพัฒนาเครื่องปรับอากาศเพื่อติดฉลาก แสดงระดับประสิทธิภาพเบอร์ 5 ติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพตามมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ (สฟอ.) เป็นหน่วยงานทดสอบค่าประสิทธิภาพ โดยเกณฑ์ที่ใช้กำหนด ประหยัดไฟเบอร์ 5 หมายถึง ท่านจ่ายค่ากำลังไฟฟ้า 1 หน่วย จะได้ความเย็นไม่น้อยกว่า 10,600 บีทียู (ซึ่งเครื่องปรับอากาศปกติโดยทั่วไปท่านจ่ายค่าไฟฟ้า 1 หน่วย จะได้ความเย็นประมาณ 7,000-8,000 บีทียูเท่านั้น) แสดงว่าถ้าใช้เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 จะประหยัดไฟฟ้าถึงประมาณ 35% ความต่างของเบอร์ 5 ในปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด เพื่อตอบสนองนโยบายการประหยัดพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 จะมีประสิทธิภาพพลังงาน (EER - Energy Efficiency Ratio) สูงกว่า และช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากกว่าเครื่องปรับอากาศที่ไม่ใช่เบอร์ 5 แต่ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่าเครื่องปรับอากาศธรรมดา ดังนั้นผู้ซื้อจึงควรเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับค่าไฟฟ้าในระยะยาว แต่ก่อนจะเปรียบเทียบเบอร์ 5 ของเครื่องปรับอากาศยี่ห้อต่างๆ เรามาทำความรู้จักกับค่า EER กันก่อนนะคะ เพราะตัวนี้คือจุดตัดสินสำคัญ ค่า EER (Energy Efficiency Ratio) หรืออัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศ คือ ค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศว่าดีหรือไม่ อย่างไร มีหน่วยเป็น (Btu/hr.)/W ดูจากหน่วยของค่า EER นี้แล้วก็คงเข้าใจได้โดยง่ายว่าค่า EER นั้นก็คืออัตราส่วนของความเย็นที่เครื่องปรับอากาศสามารถทำได้จริง (Output) กับกำลังไฟฟ้าที่เครื่องปรับอากาศนั้นต้องใช้ในการทำความเย็น (Input) เครื่องปรับอากาศที่มีค่า EER ยิ่งสูงก็แสดงว่า เครื่องปรับอากาศเครื่องนั้นยิ่งมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ดียิ่งขึ้น วิธีคำนวณหาอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงาน (EER) คือ   EER = ขนาดของเครื่องปรับอากาศ(BTU/hr) กำลั งไฟฟ้าที่ใช้(Watt) เช่น ขนาดเครื่องปรับอากาศ 12,000 บีทียู/ชั่วโมง มีกำลังไฟฟ้า 1,200 วัตต์ 12,000 ค่า EER = 10 1,200 การติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพ ที่เราเห็นๆ อยู่ตามเครื่องปรับอากาศนั้น ฉลากแสดงประสิทธิภาพจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จะเป็นแถบโค้งครึ่งวงกลมสีเขียว แสดงตัวเลขบอกระดับประสิทธิภาพตั้งแต่ระดับ 1 ถึงระดับ 5 ซึ่งถ้าฉลากแสดงระดับไหน ตัวเลขและช่องบรรจุตัวเลขในระดับนั้น จะเป็นสีแดงโดยตรงจุดศูนย์กลางของแถบโค้งครึ่งวงกลมนี้ จะมีตัวเลขบอกระดับประสิทธิภาพอยู่ในช่องวงกลมเพื่อเป็นการย้ำบอกระดับประสิทธิภาพอย่าง ชัดเจนส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนตัวเลขการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อปีและค่าไฟฟ้าต่อปี รวมถึงค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศส่วนที่ 3 จะแสดง ยี่ห้อ รุ่น และขนาดของเครื่องปรับอากาศที่ฉลากนี้ระบุระดับประสิทธิภาพอยู่ เปรียบเทียบเบอร์ 5 ใครมีค่า EER สูงกว่ากัน เรามาลองดูกันว่าเครื่องปรับอากาศประหยัดไฟเบอร์ 5 ยี่ห้อใดมีค่า EER สูงกว่ากัน เพราะนั่นหมายความว่ายิ่งมีค่า EER สูงก็ยิ่งประหยัดไฟขึ้นนั่นเองค่ะ ดาวโหลด ตารางเปรียบเทียบ ค่ะ EER ของแอร์แต่ละยี่ห้อ   ผลการจัดอันดับตามค่า EER ของเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดบีทียูในช่วงเดียวกันเป็นไปตามตารางที่นำเสนอไปข้างต้น ฉลาดซื้อขอสรุปว่าเครื่องปรับอากาศยี่ห้อที่มีค่า EER สูงกว่าจะมีแนวโน้มที่จะประหยัดไฟฟ้าได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้เราต้องพิจารณาค่าขนาดบีทียูประกอบด้วยค่ะเช่น ในตารางที่แสดงค่า EER อันดับหนึ่งมีค่าสูงกว่าอันดับสองไม่มากนัก แต่ค่าบีทียูของอันดับสองมีค่าต่ำกว่าของอันดับหนึ่งอยู่มาก แสดงว่า เครื่องปรับอากาศที่มี ค่า EER อันดับสองมีแนวโน้มประหยัดไฟฟ้ามากกว่า ฉลาดซื้อฝากเอาข้อมูลที่เรานำเสนอครั้งนี้เป็นคู่มือประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศด้วยนะคะ สำหรับท่านที่มีความจำเป็นในการซื้อ แต่สำหรับบางท่านที่สามารถใช้วิธีทางธรรมชาติเพื่อให้คลายร้อนได้ฉลาดซื้อขอปรบมือให้ค่ะ ตารางคำนวณอัตราการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบคำนวณแอร์เบอร์ 5 (ที่ EER 10.6 คำนวณที่ 1 เดือนมี 30 วัน) เปรียบเทียบกับเบอร์ 4 จำนวน ชั่วโมงที่ใช้ 8 12 16 20 24 ขนาดเครื่อง No.4 No.5 No.4 No.5 No.4 No.5 No.4 No.5 No.4 No.5 9000 569 516 854 773 1139 1031 1423 1289 1708 1547 10000 633 573 949 859 1265 1146 1581 1432 1898 1718 12000 759 687 1139 1031 1518 1375 1898 1718 2277 2062 16000 1012 917 1518 1375 2024 1833 2530 2291 3036 2750 18000 1139 1031 1708 1547 2277 2062 2846 2578 3416 3093 20000 1265 1146 1898 1718 2530 2291 3163 2864 3795 3437 22000 1392 1260 2087 1890 2783 2520 3479 3151 4175 3781 25000 1581 1432 2372 2148 3163 2864 3953 3580 4744 4296 28000 1771 1604 2657 2406 3542 3208 4428 4010 5313 4812 30000 1898 1718 2846 2578 3795 3437 4744 4296 5693 5155 33000 2087 1890 3131 2836 4175 3781 5218 4726 6262 5671 35000 2214 2005 3321 3007 4428 4010 5534 5012 6641 6015 38000 2404 2177 3605 3265 4807 4354 6009 5442 7211 6530 44000 2783 2520 4175 3781 5566 5041 6958 6301 8349 7561 56000 3542 3208 5313 4812 7084 6416 8855 8020 10626 9624 60000 3795 3437 5693 5155 7590 6874 9488 8592 11385 10311 63000 3985 3609 5977 5413 7970 7218 9962 9022 11954 10826

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point