ฉบับที่ 193 ผลประโยชน์ทับซ้อน

หลายครั้งที่ผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งดูมีประโยชน์มากต่อประชาชน จากนั้นความรู้ดังกล่าวก็ได้ถูกใช้ในแวดวงวิชาการอย่างแพร่หลาย ตราบจนวันหนึ่งก็พบความจริงว่า ความรู้ที่ได้จากบทความเหล่านั้นถูกต้องแบบมีการปกปิดซ่อนเร้นความบกพร่องในการเผยแพร่ผลงานวิชาการนั้น อาจเกิดเพราะผู้เผยแพร่ต้องการละเว้นในการแสดงผลงานที่ได้ประจักษ์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจาก ถ้าแสดงผลงานครบแล้วอาจไม่ถูกใจผู้ให้ทุนทำวิจัย และยิ่งถ้าเป็นงานวิจัยที่ทำในหน่วยงานของเอกชนที่หวังผลกำไร (Profit organization) การตีพิมพ์ผลงานนั้นต้องผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรว่า ไม่กระทบถึงสิ่งที่องค์กรได้ประโยชน์ การปกปิด/เบี่ยงเบน/ละเว้นในการแสดงความจริงในผลงานวิชาการนั้น หลายท่านคงเดาได้ว่ามันคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้น โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา หรือบางเรื่องเป็นการปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนไม่เห็นว่าเป็นสิ่งผิดแต่อย่างใด พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกระทำความผิดทางจริยธรรมเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์หรือความอยู่รอดของตนเองตัวอย่างของผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของพลเมืองอเมริกันและพลเมืองในหลายประเทศของดาวโลกดวงนี้คือ การก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อต้องการลดการได้รับพลังงานในอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจนั้นให้กำจัดไขมันแล้วเปลี่ยนไปรับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะน้ำตาลทรายแทน เรื่องราวเป็นอย่างไรนั้นขอท่านผู้อ่านโปรดติดตามวารสารออนไลน์ของนิตยสาร Time ได้เสนอบทความของ Alexandra Sifferlin เรื่อง How the Sugar Lobby Skewed Health Research เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2016 ซึ่งกล่าวถึงบทความของนักวิจัยท่านหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดลำดับเลขตัวเดียวของสหรัฐอเมริกาว่า ในช่วงต้นปี 1950 ถึงปลายช่วงปี 1960 อุตสาหกรรมน้ำตาลนั้นได้มีส่วนในการเบี่ยงเบนความเชื่อทางโภชนาการของผู้บริโภคเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือ coronary heart disease (CHD) โดยให้นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัยแนวหน้าแห่งหนึ่งทำวิจัยแล้วกล่าวว่า โรคนี้เกิดเนื่องจากไขมันและโคเลสเตอรอล ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหลายยอมเออออห่อหมกว่า การกินอาหารที่มีไขมันต่ำน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต้นตอของบทความที่ Alexandra Sifferlin นำมาเขียนนั้น เป็นบทความทางวิชาการเรื่อง Sugar Industry and Coronary Heart Disease Research: A Historical Analysis of Internal Industry Documents ของทันตแพทย์ Cristin E. Kearns และคณะ ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อมูลออนไลน์ใน JAMA Internal Medicine เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 บทความนี้ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนในวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากระบุว่า ก่อนปี ค.ศ. 1980 นั้นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดให้ระบุถึงการที่ผู้ทำวิจัยมีผลประโยชน์ทับซ้อนประการใดหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนี้วารสารที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ได้กำหนดให้ผู้เขียนบทความวิจัยต้องระบุเสมอว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า ผู้ทำวิจัยไม่ได้รับทรัพย์มาทำวิจัยเพื่อกำหนดให้งานออกมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้เงินทุนเป็นการเฉพาะทันตแพทย์ Kearns กล่าวว่า ความจริงแล้วได้มีงานวิจัยที่ส่งสัญญานเตือนว่า น้ำตาลทรายนั้นส่อว่าเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตั้งแต่ในช่วงปี 1960 ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้กระตุ้นให้องค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้ค้าน้ำตาลทรายในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งทันตแพทย์ Kearns ระบุชื่อไว้แต่ผู้เขียนไม่ประสงค์จะออกนาม) อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเริ่มตั้งทุนเพื่อทำการทำวิจัยถึงสาเหตุว่า อะไร (ซึ่งต้องไม่ใช่น้ำตาลทราย) คือตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดโรคที่บั่นทอนสุขภาพนี้ กว่า 60 ปีมาแล้วที่องค์กรผู้ค้าน้ำตาลในสหรัฐอเมริการณรงค์ให้ประชาชนกินอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยใช้พื้นฐานความรู้ที่ได้จากนักวิจัยด้านโภชนาการที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่มีไขมันสูงและการเพิ่มขึ้นของโคเลสเตอรอลว่า เป็นต้นเหตุของการตีบตันของเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ซึ่งทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลกแนะนำให้ประชาชนลดปริมาณไขมันในอาหาร ความจริงคำแนะนำนี้ไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการค้นพบว่าผักและผลไม้นั้นให้ประโยชน์อย่างมหาศาลต่อร่างกาย ดังนั้นส่วนของไขมันในอาหารที่ถูกลดไปจึงถูกจับจ้องจากกลุ่มผู้ค้าน้ำตาลว่า เป็นโอกาสที่พลังงานจากน้ำตาลทรายจะเข้าไปแทนที่ ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์อันมหาศาลที่ตามมาท่านผู้อ่านหลายท่านคงพอทราบว่า ด้วยน้ำหนักที่เท่ากันนั้นไขมันให้พลังงานกว่าสองเท่าของคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นการเข้าไปแทนที่ไขมันด้วยน้ำตาลทรายนั้น จำต้องใช้น้ำตาลทรายในน้ำหนักที่เป็นสองเท่าของไขมัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้พลังงานเท่าที่ร่างกายต้องการ ประเด็นสำคัญคือ วันหนึ่งเราต้องการพลังงานเท่าไร เว็บของคนไทยบางเว็บกล่าวว่า ผู้หญิงไทยต้องการพลังงานเฉลี่ยวันละ 1500 กิโลแคลอรี ส่วนผู้ชายไทยต้องการ 2000 กิโลแคลอรี ส่วนเว็บฝรั่งมักแนะนำให้ผู้หญิงได้รับพลังงานวันละ 2000 กิโลแคลอรี และผู้ชายควรได้รับวันละ 2500 กิโลแคลอรี ความแตกต่างนั้นมีผู้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากฝรั่งมีโครงสร้างร่างกายใหญ่กว่าคนไทย ในความเป็นจริงนั้นค่าความต้องการพลังงานของร่างกายคนเราจริง ๆ นั้นไม่ควรเป็นตัวเลขตัวเดียวโดด ๆ  แต่ควรเป็นช่วงของตัวเลข เพราะความต้องการพลังงานในแต่ละวันของมนุษย์นั้นขึ้นกับ ขนาดของร่างกาย อายุ และอุปนิสัยการใช้งานร่างกายว่า ขยับเขยื้อนมากน้อยเพียงใดดังนั้นสิ่งที่น่าจะบอกว่า เราได้รับพลังงานและสารอาหารจำเป็นในแต่ละวันพอหรือไม่นั้นน่าจะสังเกตุได้จากน้ำหนักตัวว่า อยู่ในช่วงที่เหมาะสมของค่า BMI (ดัชนีมวลกาย) ระหว่าง 18.5-24.9 หรือไม่ แม้ว่ามีนักวิชาการไทยบางคนกล่าวว่า คนไทยมีโครงสร้างเล็กกว่าฝรั่ง ค่า BMI ควรเป็น 18.5-22.99 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้คนไทยซึ่งมีค่า BMI 23-24.99 หมดกำลังใจในการลดน้ำหนักเพราะกลายเป็นคนท้วมไปก็อย่าไปสนใจมากนักเลย เพราะถ้าใช้เกณฑ์สากลเขาเหล่านี้จะยังเป็นผู้มีค่า BMI ปรกติอยู่ ค่า BMI ควรเป็นเท่าไรนั้นไม่ใช่เรื่องตายตัว เนื่องจากหลายคนที่มีค่า BMI สูงเกิน 25 ก็ยังปรกติได้เพราะมีมวลกล้ามเนื้อสูงกว่าปรกติ เนื่องจากเขาผู้นั้นเป็นนักเพาะกายหรือเล่นกีฬาที่จำเป็นต้องมีความหนาของกล้ามเนื้อเพื่อความแข็งแรงในการปะทะ ดังนั้นการพิจารณาค่า BMI ควรมองพร้อมไปกับเส้นรอบเอว ซึ่งเป็นตัวบอกความจริงบางประการเกี่ยวกับไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้อง อย่างไรก็ดีปริมาณไขมันหน้าท้องก็แปรเปลี่ยนไปตามอายุ เนื่องจากคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปนั้นหายากที่หน้าท้องแบนดังนั้นเมื่อร่างกายต้องใช้พลังงานเพื่อดำรงชีวิต เราจึงต้องได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันจากอาหาร แต่เมื่อมีข้อมูลที่กล่าวว่าไขมันและโคเลสเตอรอลเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน จึงเปิดทางสะดวกให้มีการใช้น้ำตาลทรายและน้ำตาลอื่นเป็นแหล่งพลังงานแทน จึงทำให้หลายคนมีโอกาสได้น้ำตาลสูงกว่าความต้องการ เพราะความหวานของอาหารนั้นก่อให้เกิดการเสพติด น้ำตาลนั้นเมื่อถูกกินมากเกินความต้องการ ร่างกายสามารถเปลี่ยนมันเป็นไขมันและโคเลสเตอรอลได้ ดังระบุไว้ในงานวิจัยเรื่อง Dietary fats, carbohydrates and atherosclerotic vascular disease.ของ R.B. McGandy และคณะ ซึ่งตีพิมพ์มานานแล้วในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับที่ 277 หน้าที่ 186-192 ปี 1967นอกจากนี้ในปี 1972 J. Yudkin (ซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของน้ำตาลทรายต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ) ได้พิมพ์หนังสือเรื่อง Pure, White and Deadly: The Problem of Sugar (สำนักพิมพ์ Davis-Poynter แห่งกรุงลอนดอน)  ออกมาเพื่อกระตุ้นสังคมให้นึกถึงน้ำตาลทรายบ้างไม่ใช่กลัวแค่ไขมันและโคเลสเตอรอลเท่านั้นสรุปแล้วการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและความอ้วนในปัจจุบันนี้  ควรต่างไปจากเดิม เพราะการระวังเพียงพลังงานจากอาหารอย่างเดียวนั้นดูจะไม่ได้เรื่องเท่ากับการมองว่า พลังงานนั้นมาจากอาหารชนิดใดในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ การเน้นประเด็นเพื่อลดพลังงานลงโดยไปจัดการกับไขมันเป็นหลักนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่นของชาวอเมริกันในปัจจุบัน เพราะแม้จะพยายามกินอาหารที่มีไขมันต่ำลงเพียงใด (แต่เพิ่มน้ำตาลเป็นแหล่งให้พลังงาน) ก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้สักที จนสุดท้ายต้องปล่อยไปตามยถากรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ประโยชน์จากเกลือ ตอน 2

ดังได้ร่ายยาวย้อนยุคไว้ในคราวก่อนว่า เกลือไม่ได้เค็มอย่างเดียว เกลือยังเป็นยาสมุนไพรที่ดีถ้ารู้จักใช้  ซึ่งได้นำเอาความรู้ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่พูดถึงเกลือเป็นยาไว้ 5 ประเภท คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และเกลือวิก ซึ่งได้สาธยายไว้แล้วถึงเกลือสินเธาว์ (ตามหาอ่านฉบับก่อน) แต่ขอกล่าวย้ำถึงวิธีเตรียมเกลือ ที่เป็นรากฐานในการปรุงยาจากเกลือที่เหลืออีก 4 ประเภทไว้ที่นี้อีกครั้ง คือ เอาเกลือสมุทรมาตำให้ละเอียด เอาน้ำใส่พอสมควร แล้วนำไปต้มด้วยหม้อหม้อดินให้แห้ง แล้วสุมไฟจนหม้อแดง แล้วนำเกลือที่ได้มาแบ่งเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนนำมาปรุงเป็นเกลือแต่ละประเภท มาถึงเกลือพิก(บ้างที่เขียนว่าเกลือพริก) นำเกลือที่เตรียมและแบ่งไว้แล้ว มากวนผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ความอดทนหน่อย เพราะต้องกวนไปเรื่อยๆ ประมาณว่า 3 วัน เกลือกับน้ำผึ้งจะเข้ากันจนแห้ง เกลือพิกจะมีรสขมเผ็ด (จึงเรียกตามรสเผ็ดของพริก) มีสรรพคุณเด่น ช่วยให้ลำคอชุ่มชื่น ช่วยให้เสียงดีไม่แหบแห้ง เกลือฝ่อ นำเกลือที่เตรียมไว้แล้วเช่นกัน มากวนกับน้ำนมวัวและน้ำมันงา กวนไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 วัน เกลือกวนจะแห้ง เกลือฝ่อมีรสยาสมุนไพร รสเค็มมัน สรรพคุณแต่โบราณว่าใช้บำรุงธาตุไฟ แก้กุมารพรรดึกหรือแก้อาการท้องผูกให้กับเด็ก แก้อาการมูกเลือดด้วย   เกลือสมุทรี นำเกลือที่เตรียมไว้ แต่เกลือชนิดนี้คนรุ่นใหม่อาจตั้งข้อรังเกียจเพราะตำราโบราณท่านให้เอากวนกับเยี่ยววัว โบราณท่านถือว่าเป็นการปรุงยา เมื่อกวนไป 3 วัน เกลือนี้มีรสหวาน ใช้แก้ท้องผูก แก้อาการระส่ำระสาย บำรุงธาตุทั้งสี่ บำรุงน้ำเหลือง เป็นต้น เกลือวิก ประเภทสุดท้าย นำเอาเกลือที่เตรียมไปกวนกับสุราให้แห้งใน 3 วันเช่นกัน เกลือนี้มีรสเค็มร้อน สรรพคุณ แก้อาการท้องมาน แก้ไส้พองท้องใหญ่ และช่วยให้ชุ่มชื้น  อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ หลายคนรู้สึกว่าเข้าใจยากเพราะเป็นความรู้ที่สืบทอดมาและใช้ในภาษาโบราณ ขณะนี้ผู้รู้หลายท่านกำลังศึกษาเพื่อสื่อสารกับคนรุ่นปัจจุบัน หากมีความคืบหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป อย่างไรเสียเกลือแกงหรือเกลือสมุทรที่คุ้นเคยนั้น สามารถนำมาเป็นยาใกล้ตัวถ้ารู้จักใช้ เช่น แก้ตะคริว เพียงละลายน้ำเกลือดื่ม หรือก่อนลงว่ายน้ำถ้าได้ดื่มน้ำเกลือก็ช่วยป้องกันการเกิดตะคริวได้ แก้คลื่นไส้ และเมาสุรา ใช้เกลือ 1/2 ช้อนกาแฟต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกันแล้วดื่ม  แก้แผลปากเปื่อย หรือแผลร้อนในในปาก ให้ใส่เกลือบริเวณแผลแล้วอมไว้ ตอนแรกจะรู้สึกแสบ แต่ครั้งต่อไปจะดีขึ้น และแผลหายได้เร็ว  แก้เป็นลม หรืออ่อนเพลีย ใช้เกลือละลายกับน้ำร้อนหรือน้ำเย็นก็ได้ดื่ม ช่วยแก้อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียน ตาลายได้ผลดี  และใช้ แก้เผ็ด (ไม่เกี่ยวกับบาดหมางใครแล้วเอาคืนนะ) แต่กินอาหารรสเผ็ดๆ จนรู้สึกแสบที่ปาก ให้ลองอมเกลือแล้วทิ้งไว้สักครู่ช่วยคลายเผ็ดและร้อนที่ปากได้ดี ขอย้ำว่าใช้เกลือเพื่อเป็นสมุนไพร ไม่แนะนำให้ใช้เกลือปรุงอาหารมากเกินไป เพราะเกลือมีผลต่อความดันโลหิต จึงควรใช้ด้วยความพอดี  ไม่ใช่เพราะ “เกลือ เค็ม แต่ดี” แต่ที่ถูกต้องคือ “เกลือ เค็ม ใช้แต่พอดี”.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 น้ำไป แล้งมา มารู้จักใช้ประโยขน์จาก เกลือ ดีกว่า

หายลุ้น หายใจได้ทั่วท้อง เพราะฟ้าฝนไม่หนักเท่าปีกลาย ภาคกลางโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ (กลัวน้ำ) รอดพ้นภัยพิบัติจากน้ำไปได้อีกปี ที่หนักกว่ากำลังมาคือ น้ำแล้งในพื้นที่เกษตรกรรม เหมือนเพลงที่ขับขานว่า “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง....” เมื่อทำท่าแล้งผืนดินแห้ง เลยนึกถึงประโยชน์จากเกลือเค็มๆ ขึ้นมาว่ามีประโยชน์อย่างไร ? โดยเฉพาะในมุมยาสมุนไพร เกลือมีประโยชน์เหลือหลาย แม้ว่าวงการสุขภาพในปัจจุบันพบว่า การบริโภคเกลือ(อาหารรสเค็มๆ) มีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงในร่างกาย แต่เกลือที่จะแนะนำต่อไปนี้ ไม่ใช่นำมาปรุงอาหารกินกันทุกมื้อทุกวัน จึงไม่ต้องกลัวความดันโลหิตกำเริบ อันดับแรก ความรู้เชยๆ ดูโบร้านโบราณแต่ใช้ดีข้ามกาลเวลา คือ เกลือเป็นยาสีฟัน รักษาเหงือและฟันอย่างดี ไม่เชื่อก็ต้องร้องเรียกให้ อย.(คณะกรรมการอาหารและยา) สั่งให้ยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งหยุดโฆษณา แต่ใครที่เคยลองแปรงฟันด้วยเกลือย่อมรู้ดีว่าฟันสะอาด แม้ว่าไม่มีฟองและรสกลิ่นหอมชื่นใจก็ตาม ยิ่งใครเคยลองยาสีฟันผงข่อยผสมเกลือ ยิ่งรู้ดีว่ายาสีฟันโบราณนั้นรักษาเหงือกและฟันดีจริงๆ   ที่อยากแนะนำในที่นี้ คือ สรรพคุณเกลือในตำรายาไทย โดยเฉพาะตำราสรรพคุณยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเมื่อ ปี 2541 ให้เป็นบุคลสำคัญของโลก ตำราที่ท่านเขียนถึงประโยชน์และโทษของสมุนไพรไทย ไว้ 166 ชนิด ถือเป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่ เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ แจกแจง และวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ในตำรับยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท พูดถึงเกลือที่ใช้เป็นยามี 5 ประเภท คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และเกลือวิก (อ่านแล้วมึนตึ้บไหมหละ) ไม่ต้องตกใจ เกลือแต่ละชนิดเกิดจากการปรุงที่แตกต่างกัน เริ่มจากให้เอาเกลือสมุทรมาตำให้ละเอียด เอาน้ำใส่พอสมควร แล้วนำไปต้มด้วยหม้อหม้อดินให้แห้ง แล้วสุมไฟจนหม้อแดง แล้วนำเกลือที่ได้มาแบ่งเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนนำมาปรุงเป็นเกลือแต่ละประเภท ประเภทแรก เกลือสินเธาว์ ได้จากเกลือที่เตรียมไว้ 1 ส่วนแล้วมาผสมน้ำนมวัว 1 ส่วน นำไปเคี่ยวไปจนแห้งประมาณ 3 วัน เกลือสินเธาว์ ที่ใช้เวลาปรุงเป็นยานี้ ใช้แก้โรค 3 อาการ คือ 1) พรรดึก (อ่านว่า พันระดึก) หมายถึงอาการท้องผูกมาก มีอุจจาระเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แพะ ใครท้องผูกขั้นรุนแรงลองใช้ระบายท้องดู 2) แก้ระส่ำระสาย หมายถึงอาการที่เกิดจากการหมุนเวียนของโลหิตไม่ปกติ ทำให้เกิดความผิดปกติของลมในร่างกายทำให้เกิดอาการระส่ำระสาย และ 3) แก้ตรีโทษ คือ โรคที่เกิดจากปิตตะ วาตะและเสมหะร่วมกัน ใครเป็นตรีโทษมีทั้งอาการเบาไปจนหนัก คือ ธาตุในร่างกายแปรปรวนขาดสมดุลมาก ตำราโบราณท่านก็ว่าไว้ให้ใช้เกลือสินเธาว์ได้ และเกลือประเภทนี้ยังใช้แก้นิ่วด้วย น่าเสียดายหน้ากระดาษหมด โปรดกลืนน้ำลายคอยเกลือเค็มๆ ฉบับต่อไป.  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ประมูล 3 G อย่างไรผู้บริโภคได้ประโยชน์

ตื่นเต้นไปตามๆ กันเมื่อทุกคนเริ่มเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะมีโอกาสประมูลให้ใบอนุญาต 3 G ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจกันนักว่าเจ้า 3G นี้แตกต่างจากระบบปัจจุบันที่เป็น 2 G อย่างไร  ฟังแนวทางจากคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าไม่อยากให้ประมูลราคาสูงมาก เพราะจะเป็นภาระแก่ผู้บริโภคประมูลสูงเป็นภาระผู้บริโภคจริงเหรอ ?? ลองดูรูปข้างล่างเรื่องนี้กันเล่นๆ แล้วให้ทายว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร เหตุที่มูลค่าการประมูลที่ราคาสูงไม่เกี่ยวข้องกับภาระกับผู้บริโภคในกรณีนี้เนื่องจาก หากราคาประมูล 3 G ได้ไม่เกิน 6,500 ล้านบาท หรือถึงแม้จะสูงแต่หากยังไม่เกินมูลค่าการจ่ายสัมปทานให้กับรัฐ (ระบบ 2 G) แสดงว่าค่าใช้จ่ายบริษัทลดลง เพราะเดิมค่าใช้จ่ายส่วนนี้คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานและหากประมูลใบอนุญาต 4 ใบจริง ผู้ให้บริการแทบจะไม่ต้องแข่งขันเพราะปัจจุบันมีเจ้าใหญ่ 3 ราย หากรวมทศท. และกสท. เป็น 5 ราย แต่หากทศท.ไม่ได้รับอนุญาตให้ประมูลก็จะเหลือเพียง 4 ราย ทุกบริษัทก็จะได้รับใบอนุญาตกันถ้วนหน้า เพราะกติกากำหนดไว้ว่าบริษัทหนึ่งจะได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 1 ใบ โอกาสฮั้วให้ประมูลไม่สูงเกินราคาที่ตั้งไว้ ย่อมน่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่  การประมูลในครั้งนี้หากจะให้รัฐได้ประโยชน์ก็ควรตั้งราคาที่จะทำให้รายได้รัฐไม่ลดไปจากเดิมมากนัก หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องรับประกันคุณภาพและราคาให้กับผู้บริโภคว่า ระบบ 3 G ราคาต้องไม่สูงกว่าระบบ 2 G ในปัจจุบัน หรือห้ามคิดเกินนาทีละบาท ทั้งเสียง ข้อความและภาพ ซึ่งก็มีกำไรมากกว่าระบบเดิมแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >