ฉบับที่ 132 พลิกแฟ้มประวัติศาสตร์ 10 ปี กับ “คดีฟ้อง” ของผู้บริโภค

  “ฟ้องร้อง” “ขึ้นโรงขึ้นศาล” ... แน่นอนว่า สำหรับประชาชนคนเดินดินธรรมดาๆ ย่อมไม่มีใครอยากข้องแวะกับเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะในสถานะ “โจทก์” หรือ “จำเลย” ก็ตามที แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในปีที่ผ่านมา “คดีผู้บริโภค” มีมากกว่า 3 แสนคดี!!! อะไรหรือที่ทำให้ผู้บริโภคอดรนทนไม่ได้จนต้องลุกขึ้นมา “ฟ้อง”? โจทย์ตั้งต้นที่ต้องไข ”ไฉนจึงต้องฟ้อง”? เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเก็บเงียบไว้ บ่นกับเพื่อน หรือหากคิดว่าถ้าดำเนินการแล้วไม่คุ้มก็จะเลิกดำเนินการ การฟ้องคดี มักเป็นหนทางสุดท้ายที่ผู้บริโภคใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับตนเอง  หลังจากที่เริ่มต้นจากการคุยกับผู้ประกอบการ การร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นตัวกลางในการเจรจา และช่วยเหลือให้ปัญหาถูกแก้ไขได้โดยเร็ว รวมทั้งพัฒนามาตรการในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ แต่หลายครั้งกลับพบว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลกำกับการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ต้องประนีประนอมมากกว่าการจัดการขั้นเด็ดขาด การเจรจาแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรือหากมีผลสำเร็จ ผู้บริโภคก็ต้องทนยอมรับมากกว่าจะต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดกลับมา นอกจากนี้ การให้องค์กรผู้บริโภคช่วยเหลือ มีหลายครั้งที่เจรจาไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ สภาพเหล่านี้นำมาซึ่งการตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีในที่สุด   ----------------------------------------------------------------------------------------------   “สิทธิสุดขอบฟ้า” มี...แต่คว้าไม่ถึง แม้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่การตัดสินใจฟ้องคดีกับการคลี่คลายปมไม่เป็นธรรมนั้นมีเส้นทางที่ห่างไกลกันอย่างยิ่ง ข้อมูลจากประสบการณ์รับเรื่องร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียน ส่วนใหญ่จะต้องเจอกับอุปสรรคหลายประการ  จนทำให้การทวงถามความเป็นธรรมจากระบบยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก ยากลำบากเพียงไร...ค้นหาคำตอบบางส่วนได้จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ บังอร มีประเสริฐ ที่สรุปอย่างย่นย่อได้ดังนี้ ต้นเดือนเมษายน 2545 บังอร มีอาการอึดอัด แน่นท้อง และท้องโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่เนื่องจากกินยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปีเศษ โดยไม่มีประจำเดือนตลองช่วงเวลานั้น จึงไม่คิดว่าตนเองตั้งครรภ์ได้ สถานีอนามัยได้ตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น แต่เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ จึงใช้การคลำท้อง พบก้อนเนื้อ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลให้ทราบผลแน่ชัด ที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจปัสสาวะ ตรวจปากมดลูก เอกซเรย์ปอด แล้ววินิจฉัยว่า เป็นเนื้องอก จึงนัดมาผ่าตัด เมื่อถึงวันผ่าตัด กลับพบว่า “ก้อนเนื้องอก” ในท้องเป็นทารกแฝด จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บังอร ได้ร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข ขอความเป็นธรรมให้ชดเชยความเสียหายที่ถูกผ่าท้องฟรี ตามสิทธิในพระราชบัญญัติความรับทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย จำนวน 6 คน ซึ่งลงความเห็นและมีคำสั่งในขั้นสุดท้ายว่า “การผ่าท้องเป็นการวินิจฉัยโรค” หลังจากนั้น เธอฟ้องต่อศาลปกครองกลาง 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การผ่าท้องเป็นการกระทำละเมิด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเยียวยาความเสียหาย ประเด็นที่สอง คือ ขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาข้อร้องเรียนไม่ให้โอกาสผู้เสียหายได้ชี้แจงและมีส่วนร่วมในกระบวนการ ผลคือ บังอรแพ้คดี เนื่องจากศาลปกครองมีคำสั่งว่า กระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขวินิจฉัยเรื่องนี้ดีแล้ว แต่ไม่ได้พิจารณาว่า เป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ต่อมา บังอร ได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่    โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า คดีนี้เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จริง แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ให้โอนคดีไปที่ศาลยุติธรรมหรือจังหวัดสมุทรสงครามแทน ขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ว่าการผ่าตัดฟรีเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ใช้เวลาถึง 7 ปี นับตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนลูกแฝดไปโรงเรียนชั้นประถม และภาระต่างๆ ในการการพิสูจน์ความเสียหาย การหาข้อมูล หาพยานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้รับบริการจากระบบบริการสาธารณสุข ตกเป็นของบังอรแต่ผู้เดียว สภาพเช่นที่เกิดขึ้นกับบังอรเป็น “เรื่องธรรมดาสามัญ” ที่พบได้ในแฟ้มคดีผู้บริโภค นั่นคือ ก่อนฟ้องคดีมักเริ่มต้นจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อฟ้องแล้ว ยังพบมีขั้นตอนมากมาย และใช้ระยะเวลานาน...โดยไม่เกิดอะไรขึ้นเลย นี่คือเหตุสำคัญอันนำไปสู่ผลที่สอดคล้องกับงานวิจัยของ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่พบว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมีเพียง ร้อยละ 2 เท่านั้น ที่มีการดำเนินการจนถึงกระบวนการสุดท้ายของการใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน ---------------------------------------------------------------------------------------------- ถามหาความเป็นธรรม เส้นทางแสนทุรกันดาร ความทุกข์ของผู้บริโภคในการใช้ “สิทธิอันพึงมีพึงได้” นั้นมีอยู่มากมายหลายด้าน ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ประมวลและสรุปออกมาได้ 5 ข้อหลัก ดังนี้ • ไม่รู้จะไปร้องที่ไหน ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ หรือแม้แต่หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนที่มีจำนวนมาก จนยากที่ผู้บริโภคธรรมดาจะรู้เท่าทันว่าจะต้องใช้สิทธิกับหน่วยงานใด • ไม่ใส่ใจนำพา ความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นธรรม และไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ • ไม่มีปัญญาเดินเรื่อง การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และระยะเวลาในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ล่าช้า ภาระในการพิสูจน์ความผิดความเสียหาย การเข้าถึงข้อมูลของผู้ผลิตและผู้ให้บริการ รวมทั้งขาดพยานผู้เชี่ยวชาญ (ก่อนมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551) • ไม่ได้รับการชดเชยความเสียหาย ถึงแม้จะชนะคดีก็ยังพบปัญหานี้บ่อยๆ  เช่น เมื่อซื้อบ้านแล้วเจ้าของโครงการล้มละลายบ้านนั้นถูกขายทอดตลาด นับว่ามีโอกาสน้อยมากที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยแถมบางคนถูกไล่ออกจากบ้านของตนเอง สามีติดคุกเพราะตนเองดื้อเพ่งที่จะอยู่บ้านที่ซื้อมากับมือ • ไม่ถือประโยชน์ผู้บริโภคใหญ่ ปัญหาความทุกข์ ความเสียหายของผู้บริโภคในปัจจุบัน มาจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น รัฐคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยมากกว่าผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยจำกัดไม่น้อยกว่าล้านคน และเกิดผลต่อเนื่องทั้งผู้บริโภคทุกฝ่าย อู่คู่สัญญา และกลุ่มพนักงานบริษัท   “ฟ้องแทนผู้บริโภค” บทบาทอีกด้านของ มพบ. เมื่อปี 2544 ได้เกิดปัญหาและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค กรณีการควบรวมกิจการของธุรกิจเคเบิ้ลทีวี 2 รายใหญ่ คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ไอบีซี” และ บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ “ยูทีวี” ได้รวมตัวเป็น กลุ่มบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ยูบีซี” ทำให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพบริการ ราคาแพง และมีโฆษณาในผังรายการเหมาจ่ายรายเดือน มูลนิธิ ฯ จึงร่วมมือกับ โครงการสื่อสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ส่งต่อข้อร้องเรียนนี้ไปยังศาลปกครองกลาง ข้อร้องเรียนกล่าวถึง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ทำให้เกิดผู้ให้บริการรายเดียว และ อสมท.ได้ประโยชน์จากการอนุมัติให้ขึ้นราคา เพราะได้ส่วนแบ่งรายได้โดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย ข้อร้องเรียนนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปรับเพิ่มราคาค่าสมาชิกของ อสมท. แม้ท้ายที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาว่า เป็นอำนาจที่ อสมท.สามารถทำได้ และโจทย์เป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ศาลปกครองกลางก็ได้พิพากษาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้มูลนิธิฯ เริ่มต้นเดินหน้าในการ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” อย่างจริงจังมาจนถึงวันนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า คดีปฐมบท “พ่ายแพ้” แต่กลายเป็น “อิฐก้อนแรก”   404 คดี ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิฯ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” เป็นจำนวน 404 คดี แม้ดูเหมือนเป็นจำนวนไม่น้อย แต่หากพิจารณาคดีผู้บริโภคทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 336,549 คดี  ในปีที่ผ่านมาของศาลแล้ว คดีที่มูลนิธิฯฟ้องแทนผู้บริโภค จำนวน 404 คดี คิดเป็นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น! การดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ของมูลนิธิฯ เกี่ยวข้องกับ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น กรณีการถูกเรียกเก็บเงิน 107 บาท จากบริษัทโทรคมนาคม เมื่อผู้บริโภคไม่จ่ายค่าบริการโทรศัพท์ติดต่อกันสองเดือน อันจะทำให้ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ต่อเมื่อไปจ่ายค่าบริการและขอใช้บริการใหม่จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มทันทีจำนวน 107 บาท ทั้งๆ ที่ประกาศมาตรฐานสัญญาในการให้บริการของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เดิม ระบุไว้ชัดเจนว่า บริษัทฯ ไม่สามารถเก็บเงินเพื่อการนี้ได้ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังฟ้อง คดีที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ปัญหาสาธารณะ อีกหลายต่อหลายคดี เช่น กรณีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของบริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังไม่รับรู้สิทธิของตนเองในฐานะผู้ใช้บริการ และเมื่อเกิดปัญหา แทนที่จะได้รับการเยียวยาหรือชดเชยอย่างเป็นธรรม กลับมักถูกผู้ให้บริการรถโดยสารข่มขู่หรือหาทางปิดคดีโดยเร็ว รวมทั้ง การฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการฟ้อง คดีสาธารณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้เอกชนขึ้นค่าทางด่วนจาก 50 บาทเป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ หรือการฟ้องคดีเพื่อสนับสนุนการทำงานของขบวนการทำงานขององค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ในการกรณีการผลักดันการเข้าถึงยาจำเป็นต่อชีวิต เช่น การฟ้องศาลปกครองกลางกรณีคำสั่งสำนักงานแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มีมติว่า การกระทำของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (มหาชน)(ABBOTT) จากสหรัฐอเมริกา ที่ได้ขอให้บริษัทในประเทศถอนทะเบียนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน 10 รายการจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ขัดต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้า เนื่องจากบริษัทไม่พอใจที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ทำให้สามารถมียาราคาถูกในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุในการถอนทะเบียนยา ปัจจัยในการฟ้องคดีต่างๆ ข้างต้น เกิดจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยธุรกิจข้ามชาติ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นข้อพิพาทของผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งกระทบต่อสาธารณประโยชน์ ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับข้อพิพาทส่วนใหญ่มีความสลับซับซ้อน ยากที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจะมีโอกาสและความสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง บางกรณีเป็นเรื่องผลกระทบที่เกิดจากผลประโยชน์ทางนโยบายของรัฐ นักการเมือง หรือภาคเอกชน ที่มีอำนาจและอิทธิพลเหนือผู้บริโภค และเป็นฝ่ายที่มีความรู้และสถานะที่เหนือกว่าในเรื่องข้อมูลข่าวสารและความเชี่ยวชาญ รวมถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดี มากกว่าผู้บริโภค   “แพ้ชนะ” ไม่ใช่เป้าหมายสิ่งที่ได้คือก้าวไปข้างหน้า เมื่อถอดบทเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเรื่องของการฟ้องคดีของผู้บริโภค พบว่า ผลคดีไม่ว่าลงเอยด้วยการแพ้หรือชนะก็ตาม ได้สั่งสมเป็นคลังประสบการณ์ ที่ส่งผลในภาพรวมให้ขบวนการผู้บริโภคไทยก้าวไปข้างหน้าในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ สามารถหยุดกระบวนการที่ทำให้รัฐและสาธารณะประโยชน์เสียหาย หรือเกิดผลเสียต่อผู้บริโภค รวมทั้งปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ สาธารณะและประชาชน เช่น กรณีการฟ้องการแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สามารถหยุดการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ และทำให้ต้องยกเลิกนำการไฟฟ้าเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ หรือการมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน รอนสิทธิ เวนคืนหรือใช้เงินลงทุนของรัฐคืนให้กับกระทรวงการคลัง ประการต่อมาคือ ทำให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการได้รับการชดเชยความเสียหาย เช่น สิทธิของคนเล็กคนน้อยที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมักจะไม่รู้ว่าตนมีสิทธิ หรือหากลุกขึ้นมาใช้สิทธิก็จะต้องยุ่งยาก ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เกิดบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีที่ได้รับความเสียหายแบบเดียวกัน สำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังทำให้ ผู้บริโภคเท่าทันข้อมูลและมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคถูกบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น การเก็บเงิน 107 บาท ในการต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือการรับรู้ว่าการขึ้นรถโดยสารสาธารณะเป็นผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และตัวอย่างของการฟ้องคดีที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังทำให้ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ กล้าที่จะลุกขึ้นหรือใช้สิทธิหรือใช้การฟ้องคดีในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้น เพราะขั้นตอนและการใช้สิทธิไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย ไม่ต้องใช้เงินในวางศาล และไม่จำเป็นต้องใช้ทนาย ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและมีความกล้าในการพิทักษ์สิทธิตนเอง ผลด้านอื่นๆ ก็คือ บทบาทในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดความระมัดระวังในการดำเนินงานของข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การฟ้องคดีปกครองกรุงเทพมหานคร และที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ บทเรียนการฟ้องคดีสาธารณะในหลายกรณี นำมาซึ่งการยกระดับนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสมจริงจัง เช่น กรณีการฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข หรือกรณีการถอนทะเบียนยาของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เป็นต้น   ประมวลอุปสรรคที่ผ่านมาเมื่อ “ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค” การดำเนินการฟ้องคดีของมูลนิธิฯ แทนผู้บริโภค เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ ดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการ นักกฎหมายและกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา ประมวลปัญหา อุปสรรค เพื่อใคร่ครวญยกระดับงานด้านนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้ดังนี้ • แม้ว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะมีบทบาทต่อสังคม ในฐานะองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดำเนินการปกป้องสิทธิผู้บริโภคในทุกๆด้าน รวมถึงการฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกฎหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เป็นองค์กรที่สามารถฟ้องคดีได้แทน ตามมาตรา 40 ให้เป็นองค์กรหรือสมาคมให้มีสิทธิและอำนาจฟ้องคดีได้ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันหรือตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 เป็นต้น • ขาดนักกฎหมายหรือทนายความที่ปฏิบัติงานภายในองค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเจ้าหน้าที่ประจำไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ไม่มีนักกฎหมายและทนายความในระดับเจ้าหน้าที่ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นระบบอาสาสมัครที่เข้ามาสนับสนุนการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้เกิดความจำกัดในการดำเนินคดีด้วยตนเอง รวมทั้งขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดำเนินคดี เช่นการเงินการธนาคาร บริการสาธารณะ สื่อและโทรคมนาคม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดีให้ประสบความสำเร็จ • งบประมาณที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นงบประมาณโครงการ ที่ไม่ต่อเนื่อง แต่ขณะที่การดำเนินคดีใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ถึงแม้มูลนิธิฯ จะใช้ระบบทนายอาสาที่ใช้ระบบค่าตอบแทนที่เป็นเพียงค่าตอบแทนวิชาชีพ แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากต่อปีในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนวิชาชีพ การสืบค้นข้อมูลในการดำเนินคดี การคัดถ่ายเอกสาร ค่าพาหนะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินคดี การวางแผนการประชุมผู้เชี่ยวชาญ และหากเป็นการดำเนินคดีสาธารณะ หรือผู้บริโภคที่ยากจนก็ต้องรับภาระในส่วนนี้แทนทั้งหมด • นโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าและทันสมัยยังขาดความเข้าใจและรับรู้โดยหน่วยงาน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  อาทิ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ที่มุ่งหมายจะก่อให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่สมบูรณ์ทั้งในด้านการป้องกันความเสียหาย และเยียวยาความเสียหาย เช่น การระงับการจำหน่ายสินค้าอันตราย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองตนเองของผู้บริโภค การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล การพิจารณาคดีเชิงลงโทษ ความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดี แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติกลับยังมีข้อติดขัดหลายประการ ที่ยังไม่สามารถใช้ได้จริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ถูกคัดค้านจากผู้ประกอบวิชาชีพ จนกระทั่งต้องออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย หรือรวมถึงปัญหาการยอมรับและการร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรเอกชนต่างๆ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการสนับสนุนข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่อการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   แปลงปัญหา สู่ ปัญญานำพาพลังแห่งการ “ฟ้อง” จากประสบการณ์ การประมวลบทเรียนที่ผ่านมา และการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะต่อการฟ้องคดีสาธารณะเพื่อผู้บริโภคในอนาคต ดังนี้ ประการแรก เร่งให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า “ สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ในการตราและบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระด้วย ประการที่สอง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคควรมีอำนาจในการฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินคดีโดยผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค ยังขาดแคลนทั้งความเชี่ยวชาญ ทรัพยากรบุคคล และงบประมาณ    ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์การอิสระที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในการเยียวยาความเสียหาย ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน หรือนักการเมือง ที่จัดตั้งขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  และมีบทบาทในการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้อย่างโปร่งใส และมีความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และการบังคับใช้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  และเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้มีสามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะได้จริง ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ประการที่สาม หน่วยงานรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำคดีผู้บริโภค ข้อเสนอระยะสั้น รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนว่า หากมีการดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดๆ ของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นควรสนับสนุนงบประมาณให้แก่ องค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยผู้บริโภคดำเนินการฟ้องร้องคดี ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ และสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเกิดความเข้มแข็งและช่วยเหลือฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ประการที่สี่ เร่งอุดช่องโหว่ปัญหาการบริหารกิจการของรัฐโดยไม่ตอบสนองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง จากกรณีคดีตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านมาตรการหรือนโยบายของรัฐ การกำกับดูแล และการใช้กฎหมายที่ถูกละเลย รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับประโยชน์สาธารณะ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งเน้นประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผลประโยชน์กับธุรกิจบางประเภท   โดยที่หลายคดีทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในประเทศอย่างมหาศาล   หรือเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อคนบางกลุ่มบางประเภท แต่ภาพโดยรวมของความเสียหายแล้วเกิดได้กับคนทุกคน จะเห็นได้ว่า ปัญหาหรือข้อพิพาทต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยองค์กรของรัฐเอง และส่งผลต่อระบบธรรมาภิบาลของการบริหารราชการแผ่นดิน และมีผลต่อทุกภาคส่วนในสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อม ที่เป็นผลจากนโยบาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเลยการใช้กฎหมาย ที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ประการสุดท้าย เผยแพร่บทเรียนสู่สังคมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันเผยแพร่บทเรียน ความสำเร็จในคดีสำคัญเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค ให้เกิดความเข้าใจ ปลุกกระแสความตื่นตัว เป้าหมายปลายทาง คือ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการคุ้มครองตนเอง และให้ทุกๆ ฝ่ายมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และร่วมกันตรวจสอบ นโยบายและการดำเนินการของรัฐ และหยุดการดำเนินการที่เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ รวมถึง การยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาคเอกชนที่มีผลต่อประโยชน์สาธารณะด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point