ฉบับที่ 126 เสียหายจากการรักษา ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการฟ้องเสมอไป

  “การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา...” คุณปภาวี รอดแก้ว วัย 49 ปี เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เธอมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ผลการรักษาทำให้ตาบอด ต่อมาภายหลังโรงพยาบาลฯ ได้ยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเธอจำนวนหนึ่ง   ดวงตาที่เริ่มมองไม่เห็นคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง จึงได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องทำทั้งหมด 4 ครั้ง  โดยทำการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 ส่วนอีก 3 ครั้ง จำเป็นต้องย้ายไปทำการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคู่กรณี โดยเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553  การผ่าตัดตาทั้งสองข้างนั้นคุณปภาวีทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง ซึ่งเธอบอกว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้ปกติหลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย “ตอนเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลแรกเพื่อรักษาตาข้างขวาพี่เริ่มมองไม่เห็นแล้วนะ ส่วนตาข้างขวายังพอมองเห็นอยู่หลังผ่าตัดเช้าวันรุ่งขึ้นคุณหมอเปิดผ้าปิดตา พี่เริ่มจะเห็นแสงแล้วนะ วันต่อมาก็เริ่มเห็นหน้าหมอ หมอเองก็ยังแปลกใจเลย วันต่อมาอาการก็ดีขึ้น จนมองเห็นเป็นปกติ ซึ่งมันต่างกันมากจากการผ่าตัดตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เช้าวันรุ่งขึ้นนักศึกษาแพทย์ก็มาเปิดตาพี่แล้วก็ตรวจตาก่อนอาจารย์หมอจะมาตรวจ แต่ครั้งนี้พี่มองเห็นเป็นภาพขาวดำ หลังจากนั้นก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านจังหวัดพิษณุโลก 1 เดือนให้หลังตาก็มองไม่เห็นอะไรเลย”   เลือกเพราะวางใจ คุณปภาวีบอกว่า เหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. อีกแห่ง ก็เพราะโรงพยาบาลแรกนั้น เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์เจ้าของไข้จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น “มาที่โรงพยาบาลนี้เพราะใกล้กับโรงพยาบาลแรก และเชื่อมั่นว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์ก็เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง” คุณปภาวีซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาล เธอมีข้อสังเกตหลายอย่างที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่า โรงพยาบาลคู่กรณีอาจมีข้อบกพร่องในขั้นตอนการรักษา เธอบอกว่า “ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์....... ซึ่งพี่ก็ไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว เราฟังแล้วก็เอ๊ะทำไมพูดแบบนี้ แล้วการผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.แรกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) มันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่มเพราะมันหมดฤทธิ์ยาชา  เราไม่ได้สลบนะ ก็จะได้ยินทุกอย่างที่ทั้งหมอและพยาบาลคุยกันในห้องผ่าตัด เราก็จะรู้” เธอย้อนบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งวัดดวงกับการผ่าตัดครั้งนั้น หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า “ตาบอด” ปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกกับเธอว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอประสาทตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าหากว่าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะช่วยรักษาได้บ้าง ที่เป็นอย่างนั้นแพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้   ร้องเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ“เราก็ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา ก็เลยทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เรียกเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านเองไม่มีอำนาจ ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้ เรารีบปฏิเสธเลย ผ่ามา 3 ครั้งยังไม่ดีขึ้นเลย  แล้วการที่เราตาบอดมันส่งกระทบกับเรามากทั้งครอบครัว ทั้งการงานของเราด้วยเนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้ รับเดือนละ 2,000 บาท ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า คืนมันเปลี่ยนไปหมดเลย” เธอจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังศูนย์ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว โรงพยาบาลยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้  ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา “การเยียวยาของโรงพยาบาลก็ถือเป็นการดี แต่เป็นการเยียวยาในระยะสั้น อยากให้ทางโรงพยาบาลได้เฝ้าระวัง การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก  อยากจะฝากบอกถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยว่า เมื่อได้รับความเสียหายก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่าเงียบเฉยๆ หรือจะร้องเรียนที่โรงพยาบาลก็ได้เพราะในแต่ละโรงพยาบาลก็มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนแล้ว” คุณปภาวีกล่าว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point