ฉบับที่ 215 วิธีจัดการเมื่อบ้านเอื้ออาทรกำลังถูกยึด

          แม้บ้านเอื้ออาทรจะมีราคาไม่สูง แต่สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งเป็นกลุ่มคนรายได้น้อย ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้พวกเขาอาจขาดส่งค่างวดได้บ่อย อีกทั้งยังขาดข้อมูลเพื่อการจัดการที่ดี ทำให้หลายคนที่ซื้อบ้านเอื้ออาทรไว้ อาจถูกยึดบ้านไปโดยไม่รู้ตัว        คุณเดียร์มีอาชีพขายก๋วยจั๊บ ทำสัญญาซื้อบ้านในโครงการเอื้ออาทรที่รังสิต คลองเก้าไว้ ตั้งแต่ปี 2555 ในราคา 600,000 บาท ผ่อนค่างวดเดือนละ 3,000 บาท คุณเดียร์ไม่ได้พักอยู่ในโครงการฯ เพราะไม่ใช่ทำเลของการค้าขาย แต่ต้องการมีบ้านไว้สำหรับอยู่ตอนที่ชราค้าขายไม่ไหวแล้ว        ในระยะแรกคุณเดียร์สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติโดยให้ทางการเคหะแห่งชาติ หักบัญชีธนาคาร แต่เมื่อการค้าขายไม่ค่อยดี คุณเดียร์ก็ขาดส่งบ้าง งวดถึงสองงวด แต่ก็ยังรวบรวมเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ที่ค้างไว้ได้ จนล่าสุดขาดสภาพคล่อง คุณเดียร์ค้างชำระไป 5 เดือน และตกใจมากเมื่อคนรู้จักกันนำประกาศของการเคหะฯ มาให้ที่ร้าน บอกว่าเป็นประกาศที่ปิดไว้ที่บ้านในโครงการฯ  เนื้อหาคือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากขาดส่งเกินสามเดือนและให้มอบคืนบ้านภายใน 7 วัน เมื่อติดต่อไปเพื่อขอชำระหนี้ทั้งหมดและต่อสัญญา ทางเจ้าหน้าที่การเคหะฯ บอกว่า “ทำไม่ได้แล้ว เพราะบ้านได้ขายไปแล้ว”         คุณเดียร์จึงขอคำปรึกษามาว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง เพราะหนึ่งไม่มีจดหมายแจ้งถึงตน แต่ทางการเคหะฯ อ้างว่า ส่งหนังสือไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 แต่ไม่มีผู้รับหนังสือจึงถูกตีกลับมา ซึ่งคุณเดียร์สอบถามทางบ้านแล้วไม่มีใครเห็นหนังสือดังกล่าว สอง ถ้ายกเลิกตั้งแต่เดือนมกราคม ทำไมตอนที่ผู้ร้องชำระเงินค่างวดไปเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทางการเคหะฯ ก็ยังคงหักเงินในบัญชีออกไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        ขณะนี้เรื่องของคุณเดียร์ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่มีประเด็นที่อยากฝากไว้คือ ผู้บริโภคไม่ควรละเลยกับเรื่องของการผ่อนค่างวด หากพบว่าตนเองไม่มีสภาพคล่อง ควรหาวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้ค้างชำระเกินสามงวดติดกัน และควรใส่ใจเรื่องข้อมูลที่ทางการเคหะฯ แจ้งแก่ผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >