ฉบับที่ 173 ซื้อบ้านมือสอง บ้านเกิดชำรุดบกพร่อง ผู้ขายต้องรับผิดไหม ?

ในทุกวันนี้ ราคาของบ้านพัก คอนโด มีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันไปหาบ้านมือสองราคาถูก แต่เมื่อเลือกซื้อแล้ว อยู่ได้ไม่นานบ้านมีปัญหา เกิดความชำรุดต้องซ่อมแซม ผู้ขายมักจะอ้างว่าขายไปแล้ว บ้านเป็นของผู้ซื้อตนเองไม่เกี่ยว ส่วนผู้ซื้อก็มองว่า ตอนซื้อบ้านไม่เห็นความเสียหาย มันเกิดชำรุดจากภายใน ตรวจสอบไม่ได้ ขายของไม่ดี ต้องรับผิดชอบซ่อมให้ใช้อยู่อาศัยได้ เช่นนี้ใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ เคยมีผู้บริโภคฟ้องคดีต่อศาล ฟ้องว่าซื้อบ้าน แล้วพบว่าบริเวณชั้นสองของบ้าน เหล็กเส้นมีสนิมกัดกินคานบ้านชั้นสอง ทำให้บ้านเสียหาย เสื่อมราคาและประโยชน์ใช้งาน ฟ้องให้ผู้ขายรับผิด และศาลก็ได้ตัดสินว่าผู้ขายต้องรับผิดชอบ โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ขณะที่ขายผู้ขายรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของบ้านนั้นหรือไม่ ตามคำพิพากษาฏีกา ดังต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)อีกเรื่อง เป็นกรณีที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วพบภายหลังว่าผนังบางส่วนแตกร้าว เมื่อฝนตกมีน้ำซึมเข้ามาทำให้บ้านเสียหาย เช่นนี้ ศาลเคยตัดสินให้ผู้ขายต้องรับผิดชอบ แม้ว่าก่อนผู้บริโภคจะรับโอนบ้านได้มีการว่าจ้างบริษัทมาตรวจบ้านแล้วก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความจากคำพิพากษาของศาลฏีกาทั้งสองตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความชำรุดที่ไม่สามารถเห็นได้โดยง่าย แต่ต้องระวังว่า ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันพบเห็นความชำรุดบกพร่อง ไม่งั้นจะเสียสิทธิในการดำเนินคดี ซึ่งศาลเคยตีความว่าการทำบันทึกข้อตกลงว่าผู้ขายจะซ่อมแซมบ้านที่ชำรุด ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องคดีกับผู้ขาย โดยไปทำกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ถือว่าเป็นการทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพราะไม่ได้ทำกับผู้บริโภค เป็นผลให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อฟ้องเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ตามตัวอย่างฎีกาต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7053/2540การให้ถ้อยคำของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 เป็นการยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องอันเป็นการแสดงเจตนาจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คือโจทก์แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่นายวิชัย รังนกใต้ผู้แทนของจำเลยได้ทำบันทึกต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคือโจทก์ว่า จำเลยยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ร้องเรียน ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย เป็นเพียงหนังสือบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ถูกร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรปกครองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกรณีที่จำเลยให้ถ้อยคำไปตามหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนและมิใช่กระทำต่อเจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ ทั้งยังเป็นการยอมรับจะชำระหนี้ คือ ซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่อง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริโภคต้องไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกด้วย กรณีจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ซึ่งใช้บังคับขณะยอมรับจะชำระหนี้ (มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งการนำกฎหมายเอกชนมาปรับใช้กับกรณีนี้เพราะฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ที่ให้จำเลยชำระหนี้นั้นเป็นการฟ้องร้องที่โจทก์อ้างอิงสิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้บริโภคตรวจพบความชำรุดบกพร่องของบ้านที่จำเลยก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับสิทธิเรียกร้อง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2534 จึงเกิน 1 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601  

อ่านเพิ่มเติม >