ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >